Skip to main content
sharethis

ยืนยันถือเป็นสิทธิของชาวบ้าน เพราะความเสียหายมากกว่า 5 พันต่อครัวเรือน เหตุจากความผิดพลาดล้มเหลวและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ แนะสูตรคิดคำนวณค่าเสียหายอย่างมีเหตุผล นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 มีมติ ยินยอมจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมเกินกว่า 7 วันในครั้งนี้จำนวนครัวเรือนละ 5,000 บาทในจังหวัดต่าง ๆ โดยล่าสุดเมื่อเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ก็มีมติชดเชยให้ประชาชนในพื้นที่30 เขตในกรุงเทพมหานครด้วยนั้น การชดเชย เยียวยาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการชดเชย เยียวยาเบื้องต้นสำหรับครัวเรือนที่ต้องประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้เท่านั้น แต่หาได้ใช่การจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่ประชาชนได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากความผิดพลาด ล้มเหลว ชะล่าใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ เพราะความเดือดร้อนและเสียหายของประชาชนที่ถูกน้ำท่วมในครั้งนี้ มีความเสียหายมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลชดเชยเยียวยาให้ข้างต้นมากมายหลายเท่านัก อย่างน้อยจะมีความเสียหายหลัก 3 ประเด็น ดังนี้ 1)ความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน บ้านเรือน ยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน ที่ต้องถูกน้ำท่วม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ในการป้องกันน้ำท่วม และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ฟื้นฟู ตกแต่งทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกล่าวด้วย 2)ค่าเสียหายทางด้านสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าบริหารทางการแพทย์ ฯลฯ ทั้งต่อตนเองและครอบครัว รวมทั้งค่าปลงศพที่ต้องเสียชีวิตลงอันมีผลมาจากน้ำท่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม 3)ความเสียหายอื่น ๆ เช่น ค่าเสียโอกาสในการทำงาน การขาดรายได้จากการทำงาน การค้าขาย การประกอบอาชีพ ค่าเช่าห้องพัก โรงแรม ค่าน้ำมันรถ ที่ต้องหนีน้ำท่วมไปพักที่อื่น ๆ ฯลฯ ซึ่งหากคิดคำนวณค่าเสียโอกาสจากรายได้จากการทำงานตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด คูณ จำนวนวันที่ถูกน้ำท่วมขังตั้งแต่น้ำเริ่มท่วมจนถึงวันที่น้ำหายท่วม คูณ จำนวนสมาชิกในครอบครัวแต่ละครัวเรือน ก็จะมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การชดเชยเยียวยาแล้ว (สมมุติ : ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 220 บาท x จำนวนวันที่ถูกน้ำท่วม 60 วัน x สมาชิกในครัวเรือนมี 5 คน = 66,000 บาท) ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียสิทธิและโอกาสของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการถูกน้ำท่วมในครั้งนี้ ชาวบ้านสามารถไปติดต่อขอรับเงินชดเชยเยียวยาจากสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นในแต่ละท้องที่ได้เลย และหากชาวบ้านต้องการที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลเพิ่มเติมหลังจากรับเงินค่าชดเชยดังกล่าวมาแล้วก็สามารถทำได้ โดยใช้หลักคิดในเงิน 5,000 บาทที่รับมาไปหักลบกับค่าความเสียหายต่าง ๆ ทั้ง 3 ประเด็นข้างต้น เหลือสุทธิจำนวนเท่าใด ก็สามารถนำตัวเลขค่าความเสียหายสุทธิดังกล่าวไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมทางศาลได้ และหากประสงค์ให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นตัวแทนในการฟ้องคดีให้แบบฟรี ๆ ก็สามารถมอบอำนาจให้สมาคมฯไปดำเนินการให้ได้ทั้งหมด โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มการมอบอำนาจได้ที่ www.thaisgwa.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net