Skip to main content
sharethis

องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) เตรียมประท้วงหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ในไทยวันนี้ (23 พ.ย.) เพื่อยื่นหนังสือต่อปธน. เบนิญโน่ อาคิโน่ เรียกร้องความยุติธรรมให้นักข่าวที่ถูกสังหารในคดี ‘อัมปาตวน’ เนื่องในวันยุติการงดเว้นความรับผิดสากล ในวันที่ 23 พ.ย. 2554 องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ซึ่งเป็นเครือข่ายสากลขององค์การด้านเสรีภาพสื่อ เตรียมจัดงานเพื่อรำลึกการสูญเสียของประชาชนและนักข่าวเนื่องในวันยุติการงดเว้นความรับผิดสากล (International Day to End Impunity) โดยจะมีการชุมนุมหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทยเวลา 14.00 น. และยื่นหนังสือให้กับประธานาธิบดีเบนิญโน่ อาคิโน่ เพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีการสังหารหมู่ ‘อัมปาตวน’ (Ampatuan) ที่เกิดขึ้นในเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อปี 2552 ทั้งนี้ วันยุติการงดเว้นความรับผิดสากล ตรงกับวันที่ 23 พ.ย.ของทุกปี ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. 2552 เพื่อรำลึกถึงประชาชนและผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหาร ‘อัมปาตวน’ ในวันนี้เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์พยายามสังหารผู้สมัครลงแข่งขันการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐมินดาเนา และส่งผลให้ประชาชนที่นั่งติดตามมาด้วยเสียชีวิต 58 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นผู้สื่อข่าวถึง 32 คน นักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อสากลชี้ว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นต่อผู้สื่อข่าวเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เชื่อกันว่า ผู้บงการสังหารมาจากตระกูลอัมปาตวนซึ่งมีอิทธิพลในมินดาเนา ได้แก่ อันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ ผู้ว่าการอำเภอหนึ่งในรัฐมินดาเนา และผู้เป็นบิดา อันดาล อัมปาตวน ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ว่าการรัฐมินดาเนา รวมถึงซัลดี้ อัมปาตวน ซึ่งเป็นผู้ว่าการเขตปกครองตนเองมุสลิมในมินดาเนา โดยพยายามสังหาร เอสมาเอล มังกูดาดาตู ผู้สมัครลงแข่งขันผู้ว่าการรัฐมินดาเนา ด้วยเหตุผลทางการเมือง องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อฯ ระบุว่า จนบัดนี้ กระบวนการยุติธรรมในคดีดังกล่าวยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า และมีการแทรกแซงการสอบสวนโดยผู้มีอิทธิพลในคดีนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ที่เสียชีวิตล่าช้าตามไปด้วย นอกจากนี้ องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อฯ ระบุว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่กระทำต่อคนทำงานด้านสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศ การใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และความล้มเหลวของรัฐบาลในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในกรณีของประเทศไทย องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อฯ ชีด้วยว่า ก่อนหน้านี้ไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวในระหว่างการทำงานลดลงมาก จากราว 2 รายลดลงเหลือ 0 รายในบางปี เนื่องมาจากความโปร่งใสของการปกครองในหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น และยังได้ยกตัวอย่างกรณีของผู้สื่อข่าวต่างชาติสองรายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.และ พ.ค. 2553 คือ ฮิโรยูกิ มูราโมโต้ และฟาบิโอ โปเลนจี มาเป็นตัวอย่างกรณีในการรณรงค์เพื่อยุติการงดเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในปีนี้ด้วย ข้อมูลจาก IFEX เปิดเผยว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวจากหลายทวีปถูกสังหารอย่างน้อย 500 คน หากแต่มีผู้รับผิดจากการกระทำดังกล่าวเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น โดยประเทศรัสเซียและเม็กซิโกถูกจัดเป็นประเทศที่มีความอันตรายต่อนักข่าวมากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net