Skip to main content
sharethis

กรณีความขัดแย้งเรื่องการเผาอัลกุรอานและนิยายเรื่อง Satanic Verses ดังกล่าวนำมาสู่คำถามซึ่งชัยวัฒน์ทิ้งท้ายไว้ให้ผู้ร่วมเสวนาคิดต่อคือ การวิพากษ์วิจารณ์ควรมีขอบเขตหรือไม่  ชัยวัฒน์คิดว่า หากตอบง่ายๆ คือ “ไม่ควรมี”เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิและเป็นการท้าทายอำนาจ ก็อาจจะถูก  แต่เขากลับเห็นว่าปัจจุบันโลกประกอบด้วยซีกสองซีก ซีกหนึ่งเป็นซีกของคนที่เชื่อว่ายังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ และอีกซีกหนึ่งเป็นซีกของคนที่โลกของเขาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว  เราอยู่ในโลกใบนี้ โลกที่ไม่ได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง โลกซึ่งเผชิญหน้ากันอยู่  คำถามคือถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะจัดวางสิทธิหรือปฏิบัติการของการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ตรงไหนในโลกสองโลก ที่ปะทะกัน

สำหรับชัยวัฒน์ สิทธิของการวิจารณ์น่าจะอยู่ระหว่างโลกสองชนิดนี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ โดยการ “อ่าน” ความหมายของอัลกุรอานให้ผู้ร่วมเสวนาฟัง  ชัยวัฒน์กำลังชี้ให้เห็นว่า ในโลกนี้ยังมีคนที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และดังนั้นแล้ว เขาจึงตั้งคำถามว่า อะไรคือเส้นของการวิพากษ์วิจาณ์ของศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้  ถึงกับเผาอัลกุรอานหรือเขียน Satanic Verses เชียวหรือ?  หรือเรามีวิธีอื่นที่ดีกว่าในการดีลกับโลกที่ซับซ้อนแบบนี้? 

ในช่วงสนทนาแลกเปลี่ยน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ขอให้ชัยวัฒน์ขยายความข้อเสนอเรื่องท่าทีหรือจุดยืนที่พอดีของการวิพากษ์ วิจารณ์ระหว่างโลกที่มีความศักดิ์สิทธิ์กับโลกที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ 

ชัยวัฒน์ตอบว่า แม้เขาคิดเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ไม่เคยมีคำตอบ เขาได้แต่สงสัยว่าจะมีกระบวนการทำให้มีอารยะขึ้นของการวิพากษ์วิจารณ์ (civilization process of critique) ได้ไหม  กระบวนการวิจารณ์ที่ยังเน้นความคม เน้นความถูกต้อง เน้นการเอาความจริงมาเผยแพร่ แต่ขณะเดียวกันยังรักษามารยาทของการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ได้ด้วย หรือมีความเข้าใจว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอีกฝ่ายหนึ่งที่เราวิพากษ์วิจารณ์ นั้นต่างจากเรา และมีความหมายสำหรับเขา            

“ผมอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง ผมรู้ว่ามีข้อจำกัดสำหรับตัวผมเอง วันนี้ก็วิจารณ์ในแบบที่ตัวผมเป็น ให้ผมวิจารณ์อัลกุรอานอย่างที่ผมวิจารณ์หนังสืออื่นๆ ผมก็บอกตรงๆ ว่าผมทำไม่ได้ เหตุผลก็คือเพราะว่าผมมีตัวตนของผมในฐานะคนมุสลิม และผมเชื่อในตัวตนนั้นของผม  ผมคิดว่ามีคนแบบผมคือเชื่อเล่มโน้นเชื่อเล่มนี้ ทีนี้เราจะสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นอย่างไร  ผมไม่อยากเห็นโลกที่มีแต่การหน้าไหว้หลังหลอกหรือพูดชมอย่างเดียว  แต่ผมก็ไม่อยากเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่มันไม่คมคาย เพราะผมคิดว่ามันน่าเบื่อ  นั่นหมายความว่าคนที่สนใจศิลปะของการวิพากษ์วิจารณ์จะต้องพัฒนาศิลปะของตน เอง โดยเพิ่มองค์ประกอบอย่างนี้เข้าไป ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก ทำอย่างไรจะไม่ลดความคม ความแม่นยำ ความจริง แต่ขณะเดียวกันก็เคารพคนอื่นได้ด้วย  เหมือนตลก ตลกมีหลายแบบ บางแบบผมไม่รู้สึกขำเลย เพราะมันหยาบ แต่มีตลกบางแบบที่ผมคิดว่าเก่งเป็นบ้า เพราะมันพาเราไปอีกที่หนึ่ง แต่มันไม่ได้เหยียดเพศ ไม่ได้เหยียดเชื้อชาติ มันทำงานอีกแบบหนึ่ง แล้วมันก็เสียดสีด้วย ผมคิดว่าศิลปะการวิจารณ์มันอยู่ในที่แบบนั้น” 

ต่อจากนั้น ภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้ขอให้ชัยวัฒน์แสดงความคิดเห็นเรื่องการนำศาสนามาใช้ในการเมืองการปกครอง เช่น รัฐอิสลาม หรือการนำพุทธศาสนามาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย และตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่ชัยวัฒน์พูดเรื่องสถาบันและความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ทราบว่าชัยวัฒน์พยายามพูดเรื่องสถาบันศักดิ์สิทธิ์อย่างอื่นในสังคมไทย ด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าใช่ ดูเหมือนชัยวัฒน์อาจจะพยายามบอกว่า ในการวิจารณ์ต้องคำนึงถึงคนที่ยังรักสถาบันฯ อยู่ด้วย  ถึงแม้ภัควดีจะเห็นด้วยกับองค์ประกอบเรื่องความคมคายในการวิจารณ์ แต่คำถามสำคัญที่ภัควดีถามคือ

“อย่างที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เคยพูดไว้ว่าในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง บางทีเราจะเห็นว่ามีการใช้คำหยาบกันมาก และคำหยาบเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีเครื่องมืออื่นในการต่อสู้กับอำนาจนอกจากคำหยาบ แล้วเราจะเปิดหูไว้ฟังเขาบ้างหรือไม่ โดยไม่ตัดเขาทิ้งไป เพราะมันไม่ต้องรสนิยมของเรา  ถ้าในนามของความเมตตา (แบบอิสลาม) เราก็ต้องฟัง เพราะก็เป็นเสียงร้องแห่งความเจ็บปวดเหมือนกัน เป็นเสียงของการเรียกร้องอะไรบางอย่างเหมือนกัน”

ต่อคำถามที่สอง ชัยวัฒน์อธิบายว่า ข้อเรียกร้องไม่ได้อยู่ที่คนฟัง แต่อยู่ที่คนพูด  สมมติคนฟังเรียกร้องให้คนพูดพูดอีกอย่าง อาจจะเรียกร้องจากคนละสถานะ เขาเองก็รู้สึกว่าการเรียกร้องคนที่เสียเปรียบอยู่แล้วเป็นสิ่งที่แย่  เช่น การเรียกร้องให้คนที่ถูกน้ำท่วมต้องทนกับความทุกข์ทรมานในนามของอะไร บางอย่าง เขาเองก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง  สำหรับเขา ข้อเรียกร้องจึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องกับคนที่เสียเปรียบ แต่กลับกันคือ ต้องถามว่าคนที่ยังแห้งอยู่ต้องจ่ายอะไรบ้าง เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องคนฟัง แต่เรียกร้องกับคนวิจารณ์ คนวิจารณ์ต้องเรียกร้องกับตัวเองว่าอะไรคือมาตรฐานการวิจารณ์ที่ตัวเองต้อง ไปให้ถึง  ชัยวัฒน์เห็นด้วยกับอาจารย์เบนว่าคำหยาบก็มีความหมาย โดยในโลกของวิชาสันติวิธี คำหยาบ คำนินทา ก็เป็นเครื่องมือของการต่อสู้  เขาเข้าใจว่าคนจำนวนหนึ่งต้องใช้คำหยาบ และเขาเองไม่ได้เรียกร้องกับคนเหล่านั้น แต่เรียกร้องกับคนอื่นที่น่าจะมีวิธีอย่างอื่น เพราะเขาอยากเห็นการพัฒนาศิลปะของการวิพากษ์วิจารณ์ไปอีกระดับหนึ่งในบริบท โลกซึ่งมีคนนับถือของหลายอย่าง

ส่วนคำถามแรก “คิดอย่างไรกับการนำศาสนามาใช้ในการเมืองการปกครองและคิดอย่างไรกับรัฐอิส ลาม”  ชัยวัฒน์อธิบายว่า ในศาสนาอิสลามไม่มีตรงไหนที่พูดเรื่องรัฐอิสลาม เพราะรัฐเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่ เพิ่งจะมีคนพัฒนาแนวคิดเรื่องรัฐอิสลามในยุค 40-50 แต่ถ้าถามว่าสังคมอิสลามมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี และต้องเห็นความแตกต่างระหว่าง state (รัฐ) กับ society (สังคม)

ท้ายที่สุด ชัยวัฒน์เห็นว่าการนำศาสนามาโยงกับการเมือง โดยเฉพาะศาสนาที่เป็นสถาบันนั้น ก่อให้เกิดอันตรายสูงมาก และเกณฑ์ในการวัดความรุนแรงข้อหนึ่งที่เขาใช้พิจารณาคือ institutionalized religion หรือศาสนาที่มีการจัดสถาบันกับอำนาจรัฐ  ยิ่งใกล้เท่าไร ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะมันกำลังทำให้รัฐซึ่งไม่ควรศักดิ์สิทธิ์กลับมีความศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาเป็นของมีคุณค่าแต่ก็อันตรายมากเช่นกัน  เวลานี้เราอยู่ในโลกอย่างนั้น คือโลกที่ทำของบางอย่างซึ่งไม่ควรศักดิ์สิทธิ์ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา 

  ........................................................................

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net