Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่น-ออกตัว
เพื่อน ๆ ที่รู้จักกันคงเข้าใจเกี่ยวกับจุดยืนของผมที่มีต่อ "ในหลวง" ของเราได้เป็นอย่างดี
>>> ใช่ครับ ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าผมเป็น Royalist (นิยมเจ้าฯ)

 สำหรับผม สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เราคนไทยควรรักและเทิดทูนไว้เหนือสิ่งอื่น ใด และประเทศไทยโชคดีมากที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐถึงเพียงนี้ และแม้ว่าจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของอากง หรือได้ทำความเข้าใจกับมุมมองของฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม (พวกชอบหมิ่นฯ) ต่อกรณีนี้ หรือกรณีอื่น ๆ มามากแล้วก็ตาม  ความรู้สึกของผมที่มี จุดยืนของผมที่มี  ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด  (ยังคงมีน้ำเอ่อ ๆ ตรงเบ้าตาทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง)

ย้อนหลัง
สำหรับคนที่ยังไม่ได้รู้เรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกรณีของ อากง SMS  สามารถสรุปได้สั้น ๆ คือเหตุการณ์นี้เป็นกรณีที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาจำคุกชายวัย 61 ซึ่งเป็น "อากง" ของหลาน ๆ จำนวน 4 คนเป็นระยะเวลา 20 ปีจากความผิดฐานส่งข้อความสั้น (SMS) ที่มีข้อความในลักษณะหมิ่นเบื้องสูง จำนวน 4 ข้อความ (ข้อความดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยในที่สาธารณะ) เรื่องราวของอากงสามารถดูเพิ่มเติมได้จาก Link ดังต่อไปนี้ 

http://blogazine.in.th/blogs/groomgrim/post/3310 
http://www.prachatai3.info/journal/2011/11/37991

จริง-ไม่จริง / ถูก-ผิด >>> อย่างไรกันแน่
คงจะเป็นเรื่องเกินระดับสติปัญญาของผมที่จะสามารถชี้ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงอย่างไร หรือว่าใครถูก ใครผิด ใครสมควรได้รับคำตำหนิในกรณีดังกล่าวอย่างไรกันแน่สำหรับตัวละครทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น "อากง ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทนาย หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ....." รวมถึงขอเพิ่มเติมในที่นี้ว่า ผมก็ไม่ได้อ่าน SMS ที่ว่าแต่อย่างใด และก็ไม่สนใจด้วยว่ามันเขียนว่าอะไร เพราะประเด็นที่ผมมองและเห็นว่ามีความสำคัญกว่าเรื่องดังกล่าวมากก็คือ

>>>> วิกฤต และ โอกาส ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นตามมาจากกรณีของคดีนี้

หลักคิด
ต่อมุมมองที่เห็นทั้ง "วิกฤต" และ "โอกาส" ผมพยายามรวบรวมความคิดเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานที่เราควรยึดถือและนำมาเป็น กรอบในการคิดและกำหนดท่าทีที่เหมาะสม ดังนี้ (ซึ่งยังไม่ค่อยตกผลึกดีเท่าไหร่นัก)

1) ไม่ฆ่า-ไม่แกงกันดีที่สุด คงจะเป็นเรื่องน่าปวดใจที เดียวถ้าเรื่องหมิ่นฯ สถาบันฯ จะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราต้องลุกขึ้นมาฆ่า-แกงกัน  และคงเป็นเรื่องสะใจสำหรับฝ่ายที่ต้องการโจมตีสถาบันฯ ที่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า สถาบันฯ เป็นชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเกลียดชังดังกล่าวขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น พวกเราที่ต้องการปกป้องสถาบันต้องคิดกันให้ดีว่า การปกป้องจะสามารถทำอย่างไรที่ไม่เป็นการเติมเชื้อไฟของความขัดแย้ง เพราะยิ่งเราเอาเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นประเด็นไล่บี้พวกเขา พวกเขาก็ยิ่งโหนกระแสกระพือความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้นอีก สุดท้ายสถาบันฯ ที่เรารักก็เป็นฝ่ายที่บอบช้ำเสียเอง การปกป้องสถาบันฯ ให้พ้นสถานะจากการเป็นคู่ขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ดีสุดที่เราควรจะทำเพื่่อ ธำรงรักษาสิ่งที่เรารักเอาไว้ในระยะยาวตลอดไป ดังนั้น ถึงเราจะอยากปกป้องและหยุดยั้งการจวบจ้วง การโจมตีที่มีต่อสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นมากในเวลานี้ เราก็ต้องคำนึงถึง "วิธีการ" ที่รอบคอบ เหมาะสม และยั่งยืนด้วย ซึ่งหมายถึงการมองถึงเป้าหมายการอยู่ร่วมกันได้ของทุกคนในสังคมในระยะยาว

2) จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้อง "เลือกข้าง (take side)" สำหรับกรณีนี้ อยากให้ลองคิดดูนะครับ ถ้าเราสรุปลงไปดื้อๆ เลยว่า "ใคร ที่ออกมาแสดงความเห็นใจอากง สงสารอากง เป็นพวกโจมตีสถาบันฯ หรือพวกชอบหมิ่นฯ ส่วนถ้าใครมีจุดยืนที่อยากปกป้องสถาบันฯ ต้องไม่เห็นใจอากง ไม่สงสารอากง ต้องบอกว่ากระบวนการยุติธรรมถูกต้องแล้ว" ผมคิดว่าสังคมเราคงจะล้มเหลวมากในการแยกแยะเรื่องของการใช้จุดยืนทางการเมืองในการกำหนดท่าทีต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการล้มเหลวดัง กล่าว สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั้ง 2 กลุ่มพอ ๆ กัน กล่าวคือ ฝ่ายปกป้องสถาบันฯ ก็สร้างกฏเกณฑ์ที่ตื้นเขินขึ้นมาใช้กำหนดกรอบหรือนิยามคำว่าการปกป้อง สถาบันฯ ของพวกเขา เช่น ไม่เอาด้วยทุกประการ ต่อต้านในทุกกรณี ถล่มพวกจาบจ้วงให้จมธรณี ...  ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเรื่องของการใช้ประเด็นสถาบันฯ เป็นบันไดเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองไปซะอย่างนั้น

ส่วนฝ่ายที่โจมตีสถาบันฯ ก็ผูกขาดความสงสารของอากง เอากรณีของอากงมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองของตัวเอง (เหมือนหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา) สร้างกระแสให้สังคมต้องเลือกข้าง (take side) ซึ่งสุดท้ายคนที่ซวยก็คืออากงและครอบครัว ส่วนพวกพี่ ๆ ทั้งหลายนั้นก็ตีกินฟรีไปสบาย สบาย

สุดท้ายการที่เราเอาจุดยืนทางการเมืองไป apply ใช้กับเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่แยกแยะ ก็เป็นเรื่องที่โง่เขลาและสร้างความเจ็บปวดให้กับทุกคนในสังคมของเรา ดังนั้น ความคิดของผมก็คือ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนเราก็มีใจเอื้ออาทร เป็นเดือดเป็นร้อน ต่อชะตากรรมของอากงได้เหมือน ๆ กัน และเท่า ๆ กัน เพราะเหตุผลที่ดีก็คือ ยิ่งสังคมเราฉลาดและเรียนรู้ที่จะแยกแยะเรื่องต่าง ๆ ออกจากกันได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถคาดหวังถึงความผาสุขของการอยู่ร่วมกันได้เร็วขึ้นเท่านั้น

3) ไม่ควรปล่อยให้เป็นพระราชภาระ ต่อคำถามที่ว่าแล้ว สังคมเราสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้างในกรณีนี้ สิ่งที่ผมคิดออกก็คือสังคมเรา (โดยเฉพาะฝ่ายที่รักสถาบันฯ) ไม่ควรปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นพระราชภาระของพระองค์ท่าน หรือปล่อยให้สถาบันฯ เป็นฝ่ายที่ต้องรับแรงกดดันจากปัญหานี้แต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ผ่านมาเราปล่อยให้เรื่องการประคับประคองสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ต้องตก เป็นหน้าที่ของฝ่ายสถาบันฯ มากเกินควร 

จริง ๆ แล้วสังคมเราอาจจะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจ อยู่ค่อนข้างมาก เพราะจากที่ผมได้อ่านข้อมูลมาบ้าง การที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในกรณีหนึ่ง ๆ นั้น ควรจะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง "ทำงาน" กลั่นกรอง เรียบเรียงข้อมูล สอบทาน และถวายความเห็น อย่างเหมาะสมมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งผมเชื่อได้เลยว่าถ้าสังคมเรามีท่าทีอย่างถูกต้อง และเหมาะสม อย่างน้อยก็ช่วยลดแรงกดดันให้กับคนทำงานเหล่านั้นได้มากทีเดียว การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเยียวยา (ถึงแม้ว่าจะมีความผิดจริงก็ตาม) การยั้งปากที่วิจารณ์หรือโจมตีเกี่ยวกับเรื่องความจงรักภักดี ก็เป็นสิ่งที่สวยงามที่เราสามารถสร้างร่วมกันได้ในเวลานี้

ประเด็นข้อเสนอ
จากที่เรียบเรียงมาข้างต้น ผมจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับทั้ง 2 ฝ่ายต่อกรณีของ "อากง" ดังต่อไปนี้

1) สำหรับฝ่ายปกป้องสถาบัน ขอให้พวกเราก้าวข้ามเงื่อนไขทางการเมืองและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนๆ หนึ่งที่มีตัวตนอยู่จริง มีชีวิตอยู่จริงๆ และเขาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมของเรา ช่วยกันระมัดระวังการใช้อคติกระโดดเข้าไปตัดสิน หรือไม่เอาสีไปป้ายหัวใครต่อใครที่จะเข้าไปยื่นมือช่วย ถ้าไม่นิ่งดูดายก็ระดมสรรพกำลังหลายทางมาช่วยกันดูแล เยียวยา และประคองครอบครัวนี้ ถ้าใครมีปัญญาช่วยกันคิดต่อยอดมาตรการช่วยเหลือที่ดีกว่านี้ขอให้ช่วยกันเลย ครับ

2) สำหรับฝ่ายไม่ปกป้องสถาบัน ขอให้เปิดใจกว้างและก็ขอให้ตั้งธงหลักอยู่ที่การเร่งช่วยเหลือ "อากง" เป็นลำดับแรก ถ้าท่านไม่ผูกขาดความช่วยเหลือ ไม่หาประโยชน์ทางการเมืองจากกรณีดังกล่าว ท่านย่อมมีโอกาสที่ดีในการใช้กรณีศึกษานี้เสนอแนะต่อสังคมด้วยท่าทีที่เป็น กัลยาณมิตร และสร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมเราพัฒนาสูงขึ้นไปอีกขั้น

ข้อทิ้งท้าย
ช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วย "อากง" ได้ก็คือการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (เฉพาะราย) แต่ประเด็นก็คือจากวิธีการกลั่นกรองฎีกาที่ปฏิบัติกันอยู่นั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลและถวายความเห็นขึ้น ไปเป็นลำดับ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ถวายฎีกา คือตัวผู้ที่ประสบปัญหา หรือญาติมิตรที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น คนอื่น ๆ ก็ไม่ควรไปร่วมลงชื่อในฎีกาเพราะจะทำให้ต้องเสียเวลากลั่นกรองตรวจสอบราย ชื่ออีกด้วย (เห็นได้จากตอนที่เสื้อแดงรวบรวมรายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ ทักกี้) แต่ควรส่งเป็นหนังสือแสดงความเข้าใจในสถานการณ์และแสดงท่าทีในการสนับสนุน การพระราชทานอภัยโทษด้วยความเคารพต่อความคิดเห็น (ไม่กดดัน) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี สำนักราชเลขาธิการ จะเป็นประโยชน์มากกว่า 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net