สมบุญ สีคำดอกแค: สถาบันความ (ไม่) ปลอดภัย...

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สถาบันความปลอดภัยฯ ที่จะต้องจัดตั้งขึ้นตาม พรบ.ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๔ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้อย่างแหลมคม ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ฝังตัวอยู่ในระบบราชการของกระทรวงแรงงาน กับ ภาคประชาชนที่ต้องการให้การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และมีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า สถาบันความปลอดภัยฯ จะทำหน้าที่ทางวิชาการในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยราชการ ที่จะใช้อำนาจในการกำกับ ตรวจสอบ ป้องกัน การดำเนินงานในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของคนงาน การดำเนินงานของสถาบันฯ จะอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุมของรัฐมนตรี ปัญหาเกิดจากการตีความ คำว่า “วิชาการ” และ “การกำกับของรัฐมนตรี” ภาคประชาชนเชื่อว่า การค้นคว้าความรู้ทางวิชาการ การจำแนกแยกแยะปัญหา การค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนการบูรณาการความรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้องเชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆที่ซับซ้อน สถาบันฯจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น นอกเหนือจากการค้นคว้าวิจัยความรู้ต่างๆเช่นเดียวกับที่สถาบันการศึกษาจำนวนมากได้ดำเนินการอยู่แล้ว จึงควรมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลทางตรง โดยการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และมีอำนาจใน การเข้าไปในสถานประกอบการ เพื่อศึกษาและตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ อย่างถี่ถ้วน ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อหน่วยราชการที่มีอำนาจในการกำกับ ควบคุม ดูแล ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย หรือตามนโยบายของรัฐ ข้อเสนอแนะที่เกิดจากการค้นพบใหม่ๆ อาจนำไปสู่ การพัฒนา ปรับปรุง ระเบียบ กฎหมายที่ล้าสมัย รวมทั้งนโยบายความปลอดภัย ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน แต่โดยอุดมคติของสถาบันความปลอดภัยฯ ย่อมไม่ฝากความหวังของการแก้ปัญหาที่ใหญ่โต มโหฬาร นี้ไว้กับหน่วยราชการ และโดยที่หน่วยราชการล้มเหลวในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้แรงงาน ด้วยจำนวนคนงานที่เสียชีวิตในระหว่างการทำงานเฉลี่ยปีละเกือบพันคน และบาดเจ็บ พิการ ในรอบสิบปีกว่าล้านคน สถาบันฯจึงต้องมีภารกิจที่สำคัญในการสร้างการรับรู้ และความตระหนักในประเด็นความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับคนในสังคมทุกภาคส่วน การขับเคลื่อนพลังของสังคม ที่จะช่วยปกป้องเหล่าคนงาน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย จึงเป็นภารกิจโดยตรงของสถาบันฯ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ย่อมมาจากฐานความรู้ที่ถูกต้อง และฐานความรู้ที่ถูกต้อง ย่อมมาจากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้ ย่อมหวังอะไรไม่ได้จากระบบราชการ( ไม่ใช่เพราะเกรงว่า ราชการจะปกปิดข้อมูล แต่ตัวราชการเอง ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ) เหมือนกับที่เราหวังอะไรไม่ได้ในระบบไตรภาคี นอกจากนั้น โดยลำพังของความรู้ที่ถูกต้อง ย่อมไม่อาจเปลี่ยนเป็นพลังการขับเคลื่อนของสังคมได้ สถาบันความปลอดภัย จึงต้องเป็นสถาบันฯที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ ปลอดพ้นจากการครอบงำ คณะกรรมการสถาบันฯ ต้องได้รับการสรรหาและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย คณะกรรมการสถาบันฯ จะต้องมีองค์ประกอบที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงสัดส่วนจากภาคฝ่ายต่างๆอย่างเหมาะสม ที่สำคัญ จะต้องมีส่วนที่มาจากราชการไม่มาก และต้องไม่เป็นประธานคณะกรรมการฯ เนื่องจากสถาบันฯจะต้องให้ความเห็น ตรวจสอบ และเสนอแนะต่อฝ่ายราชการอย่างตรงไปตรงมา และเพื่อให้เป็นองค์กรที่ดำเนินการได้อย่างอิสระที่แท้จริง การสรรหาคณะกรรมการสถาบันฯ จึงต้องปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายการเมือง รัฐมนตรี มีหน้าที่ กำกับ และตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันฯ เมื่อไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการใดๆของสถาบันฯ ย่อมใช้อำนาจในการยับยั้งได้ โดยให้รัฐบาล หรือสาธารณะเป็นผู้ตัดสินต่อไป ทั้งการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และความเป็นอิสระที่ปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ เป็นข้อเสนอของภาคประชาชน ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่อาจยอมรับได้โดยสิ้นเชิง การรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งไม่เคยเป็นภารกิจที่สำคัญของฝ่ายราชการ กลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะยอมให้ไม่ได้อย่างถึงที่สุด อนุกรรมการร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันฯ ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน ต่างรู้สึกแปลกใจกับการที่ฝ่ายราชการคัดค้านประเด็นการรับเรื่องราวร้องทุกข์ อย่างที่เรียกได้ว่า ไม่มีการประนีประนอมโดยเด็ดขาด แม้ว่าข้อเสนอของตัวแทนภาคประชาชน จะพยายามประนีประนอมด้วยการลดบทบาทของสถาบันฯให้กระทำการ “ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” (ทำด้วยตัวเองไม่ได้) แต่ก็ได้รับการคัดค้านอย่างเหนียวแน่น ที่น่าผิดหวังเป็นที่สุด คือ ฝ่ายการเมืองที่นั่งเป็นประธานในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความคาดหวังว่า จะเข้าใจสถานการณ์ของคนยากจน และจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการคลี่คลาย กับดำเนินบทบาทเสมือนหนึ่งผู้ปกป้องฝ่ายราชการ เช่นเดียวกับ “ความเป็นอิสระ” ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่อาจจะยอมให้ได้โดยสิ้นเชิง คณะกรรมการสถาบันฯ ต้องมาจาก คณะกรรมการสรรหา ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรี ข้าราชการเป็นประธานคณะกรรมการได้ ใช้ระบบไตรภาคีในการเลือกผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง จึงเป็นข้อสรุปสุดท้ายที่ฝ่ายราชการจะต้องผลักดันต่อไปให้ถึงที่สุด หัวใจสำคัญของการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย เพื่อทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเจตนารมณ์ของเหล่าผู้ใช้แรงงาน คือ ความเป็นอิสระ และ กระบวนการมีส่วนร่วม หมายเหตุ : ปัจจุบันสถาบันฯผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการยกร่างนำผ่านที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งาชาติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 สภาเครือข่ายฯและเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานได้คัดค้านต่อ รัฐมนตรีเผดิมชัย สะสมทรัพย์ จนมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อหารือของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯโดยให้มีการทบทวนในเนื้อหาของกฎหมาย พรฎ.จัดตั้งสถาบันฯของผู้ใช้แรงงานที่เดินทางยาวนานถึง19 ปี จากข้อเสนอเรียกร้องของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯสมัชชาคนจน และมาเข้าสภาฯโดยพลังของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และวันที่ 27 พย.2554 นี้ทางสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยโดยการสนับสนุนงบประมาณของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จะได้จัดเวทีชำแหละเวทีชำแหละร่าง พรฏ .สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฉบับ กระทรวงแรงงานก่อนสู่ขบวนการคลอดเป็นกฎหมาย วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ (เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๓๐ น.)สถานที่ ณ ห้อง Peridot ๒-๓ ชั้น ๓โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรีจึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมงานทำข่าวต่อไป ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ.โอกาสนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท