Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระยะหลังมานี้มีการพูดถึง “สลิ่ม” ในแง่มุมต่างๆ มาก ผมคิดว่าแง่มุมหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็น “ความเป็นสลิ่ม” ได้ชัดขึ้น คือ “มาตรฐานทางจริยธรรมแบบสลิ่ม” หมายถึงมาตรฐานหรือเกณฑ์ (criterion) ในการตัดสินถูกผิดแบบสลิ่ม ซึ่งผมขอสรุปจากปรากฏการณ์จริงให้เห็นบางส่วน ดังนี้ 1. มาตรฐานเสียงส่วนใหญ่ สลิ่มถือว่า ม.112 ไม่ควรแก้ไข ไม่ควรให้มีเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่รักสถาบันกษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันย่อมกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่ในเรื่องการเลือกตั้ง สลิ่มย้ำเสมอว่ามันคือประชาธิปไตยสี่วินาที ไม่ใช่ว่าแค่เลือกตั้งแล้วจะถือว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะเสียงส่วนใหญ่กับความถูกต้องเป็นคนละเรื่องกัน ประชาธิปไตยที่ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ตามวิธีการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่ระบบที่ดีอีกต่อไป มันเป็นการเมืองเก่าที่แก้ปัญหาไม่ได้ จำเป็นต้องเพิ่มระบบการสรรหาโดยคนส่วนน้อยที่มีการศึกษาดี มีคุณธรรมดีกว่า เพราะเสียงส่วนน้อยที่มีการศึกษาดี มีคุณธรรมดีกว่าเป็นเสียงที่มีคุณภาพมากกว่า และหากจะให้ดีควรเป็นประชาธิปไตยภายใต้ธรรมาธิปไตย(?) และควรเพิ่มพระราชอำนาจ ฉะนั้น แม้รัฐบาลที่ผ่านมาและปัจจุบันจะมาจากเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ด้อยคุณภาพ เพราะอาจถูกซื้อหรือถูกหลอกก็ได้ ความอยู่รอดของรัฐบาลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเสียงสนับสนุน แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานความพึงพอใจของเสียงส่วนน้อยที่มีคุณภาพกว่าหรือไม่ หากไม่ เสียงส่วนน้อยย่อมมีสิทธิ์ล้มรัฐบาลนั้นได้ และล้มโดยวิธีใดก็ได้ แม้แต่ “วิธีรัฐประหาร” หมายความว่า สำหรับสลิ่มแล้ว “ความรู้สึก” ของประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องด้วยกฎหมายที่เข้มงวดอย่างยิ่ง เช่น ม.112 แม้ว่ากฎหมายนี้จะละเมิดเสรีภาพในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะของประชาชนก็ตาม แต่ “รัฐบาล” ที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกต้องถูกกำหนดความอยู่รอด-ไม่รอดโดยเสียงส่วนน้อย (ที่มีคุณภาพกว่า?) 2. มาตรฐานความยุติธรรมโดยภาพรวมของสังคม สลิ่มไม่แคร์ว่าจะต้องออกมาเรียกร้องอย่างจริงจังให้ผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่านักศึกษา ประชาชน ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 และเมษา-พฤษภา 53 ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่ “ทักษิณ” ที่เซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดินต้องกลับมาติดคุกให้ได้ และยอมรับได้กับการที่ชายชราคนหนึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์โดยการส่ง “ข้อความ” ทางโทรศัพท์มือถือ หมายความว่า สำหรับสลิ่มแล้ว ใครจะฆ่านักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยไปกี่ร้อยศพก็ไม่สำคัญเท่า หรือไม่ควรถูกประณามสาปแช่ง หรือควรถูกนำมาลงโทษให้สาสมเท่า “ใครด่าพ่อด่าแม่กรู” 3. มาตรฐานหลักนิติรัฐ สลิ่มไม่แม้แต่จะตั้งคำถามว่า รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือไม่ รัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยเป็นการล้มหลักนิติรัฐหรือไม่ ฝ่ายทำรัฐประหารนิรโทษกรรมแก่ตนเองมีหลักนิติรัฐรองรับหรือไม่ แต่สลิ่มยืนกระต่ายขาเดียวว่า รัฐบาลเพื่อไทย (ที่มาจากการเลือกตั้ง)จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมทักษิณ (ที่ถูกทำรัฐประหาร) ย่อมเป็นการทำลายหลักนิติรัฐของบ้านเมือง ถึงอย่างไรก็ยอมรับไม่ได้ ต้องสู้อย่างถึงที่สุด หมายความว่า หลักนิติรัฐของสลิ่มมีได้ในรัฐบาลที่ได้อำนาจรัฐมาด้วยวิธีรัฐประหาร และการนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลเช่นนั้นก็มีความชอบธรรม แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร เพราะไม่มีหลักนิติรัฐอ้างอิงให้ทำเช่นนั้นได้ 4. มาตรฐานการรักษากฎหมาย สลิ่มย้ำเสมอว่ากฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ บ้านเมืองต้องปกครองด้วยกฎหมาย ต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสลิ่มเห็นว่าเป็นความชอบธรรมแล้วที่รัฐบาลรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์แม้ต้องฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมร้อยศพ และชอบธรรมแล้วที่จำคุกชายชราอายุ 61 ปี โทษฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐด้วยการส่ง “ข้อความ” ทางโทรศัพท์มือถือ 4 ครั้ง เป็นเวลา 20 ปี แต่สลิ่มไม่เคยแคร์ หรือไม่ออกมาต่อต้านอย่างจริงจังเลยในกรณีฉีกรัฐธรรมนูญ หมายความว่า ในบ้านเมืองที่ยืนยันหลักนิติรัฐ นิติธรรมแบบสลิ่ม การรักษา พรก.ฉุกเฉิน (ที่ละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ) ที่แลกด้วยชีวิตประชาชนจำนวนมาก และการรักษา ม.112 (ที่ขัดแย้งกับหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย) ที่แลกด้วย \ความเป็นคน\" ของประชาชน สำคัญกว่าการรักษา “รัฐธรรมนูญ” จากการทำรัฐประหาร 5. มาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง สลิ่มมีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะผ่านสื่อ เวทีเสวนา การเมืองบนท้องถนน และนิสัยประจำตัวของพวกเขาคือมักจะอ้างจริยธรรม อ้างคนดี ความดี ใน concept “ธรรมะชนะอธรรม” อยู่เสมอ หรืออ้างธรรม อ้างความเสียสละ อ้างความดีนานาประการนำหน้าในการต่อสู้ทางการเมือง ในทางตรงข้ามก็ประณามอีกฝ่ายว่าไร้จริยธรรม เป็นคนเลว เป็นคนขายชาติ เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ และความมั่นคงของประเทศ แต่จริยธรรมของพวกเขาคืออะไร ธรรมะที่พวกเขาอ้างถึงคืออะไร แม้แต่พวกเขาเองก็ยังดูจะสับสนอยู่ ยกตัวอย่างสลิ่มตัวพ่ออย่างจำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์รายการตอบโจทย์ทีวีไทย เมื่อเร็วๆนี้ สรุปใจความสำคัญได้ว่า “ตัวเอง”เป็นคนที่ไม่ต้องการอะไร ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ ตำแหน่งทางการเมือง ไม่ยึดติดเรื่องโลกธรรม ที่ยอมลำบากนานัปการมานอนมากินกลางถนนหลายๆ ครั้งในการก่อม็อบแบบ “มืออาชีพ” ที่ผ่านมานั้น เพราะต้องการทำความดีใช้หนี้แผ่นดิน เนื่องจาก “ตัวเอง” เรียนโรงเรียนหลวงมาตลอด เจริญก้าวหน้ามาเพราะบุญคุณของแผ่นดิน จึงต้องการต่อสู้เพื่อให้การเมืองดีขึ้นตามความคิดของ “ตัวเอง” คือ การเมืองเก่าแบบเลือกตั้งอย่างเดียวถึงทางตัน ต้องมีระบบอื่นที่นอกเหนือจากการเลือกตั้งด้วย จะเห็นว่ามาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองของสลิ่ม คือการยึด “ตัวเองเป็นศูนย์กลาง” คือยึดว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนได้ประโยชน์จากแผ่นดินมาก่อนจึงต้องใช้หนี้แผ่นดินด้วยการต่อสู้ทางการเมืองตามแนวทางของตัวเองคือ ต้องสร้างการเมืองใหม่ที่ไม่ให้ความสำคัญกับระบบการเลือกตั้งอย่างยอมรับความเสมอภาคของสิทธิทางการเมืองคือ “1 คน เท่ากับ 1 เสียง” ดูเผินๆ เหมือนสลิ่มเคร่งศาสนา มีจริยธรรมสูงส่ง เสียสละ ปล่อยวาง ไม่มีตัวกู ของกู ไม่ต้องการลาภยศชื่อเสียงใดๆ ต้องการทำเพื่อชาติบ้านเมืองเท่านั้น แต่ถ้าดูให้ชัดๆ ในทุกขั้นตอนของสลิ่มมันมี “ตัวกูเป็นศูนย์กลาง” ตลอด คือมี “ตัวกูที่เป็นคนดี” (ตามนิยามของพวกกู) มาทำ “หน้าที่ของตัวกู” คือตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน (ของใคร? ไม่รู้ว่าประชาชนอยู่ไหน?) ด้วยการทำการเมืองตาม “แนวคิดของตัวกู” (เสียงส่วนใหญ่เรียกร้องให้เดินตามครรลองประชาธิปไตยตัวกูไม่สน) (จะว่าไปแล้ว นักต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่อ้างศาสนา อ้างธรรมะ หรืออ้างว่าตนเองเป็นคนดี เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น เขาต่อสู้โดยไม่มีตัวกูด้วยซ้ำ เพราะตัวตนของเขาถูกละลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม เขาจึงไม่เคยยกความเป็นคนดี ยกความมีศีลธรรมสูงส่งของตนเองข่มคนอื่น ฝ่ายอื่น แล้วตั้งหน้าประณามว่าคนอื่นเลวทราม ไร้จริยธรรม ทว่าเขาต่อสู้ด้วยความคิด เหตุผล หลักการ อุดมการณ์เพื่อปวงชนอย่างชัดเจน) 6. มาตรฐานการยืนยันประชาธิปไตย สลิ่มระดับอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำ นักวิชาการแถวหน้า นักกฎหมาย สื่อมวลชน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าที่รับเป็น คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) เป็นสมาชิก สนช. (สมาชิกสภานิติบัญํติแห่งชาติ) และเป็นสมาชิก สสร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ไม่ใช่ว่า “มีความอยาก” ในตำแหน่ง แต่เห็นว่ายังไงรัฐประหารก็เกิดแล้วแม้ไม่อยากให้เกิด ฉะนั้น ควรถือโอกาสเข้าไปพลิกวิกฤตด้วยการช่วยกันคิดช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น ส่วนผลงานของพวกเขาเป็นอย่างไรก็คงไม่ต้องบรรยาย ที่แน่ๆ คือทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และกระบวนการตุลาการภิวัตน์ ล้วนแต่ทำให้ระบบอำมาตย์เข้มแข็ง และทำให้สถาบันการเมืองอ่อนแอ หากจะพูดอย่างตรงไปตรงมา ถ้าไม่มีมวลชนสลิ่มเรียกร้องและสนับสนุนรัฐประหารทั้งในที่ลับและที่แจ้ง อำมาตย์ก็ไม่มีทางกล้าทำรัฐประหาร และหากไม่มีนักวิชาการแถวหน้า สื่อมวลชนสลิ่มร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ก็คงไม่มีทางที่อำมาตย์ และพรรคการเมืองสมุนอำมาตย์จะย่ามใจกล้าสั่งให้ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมจนทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในปีที่ผ่านมา แต่มันเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” อย่างยิ่งที่สลิ่มพวกนี้กระตือรือร้นที่จะทำทุกอย่างที่ว่ามาด้วยข้ออ้างว่าจะแก้ปัญหาวิกฤต พัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น แต่พวกเขากลับดาหน้าออกมาปฏิเสธข้อเสนอของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่ให้รัฐบาลออกกฎหมายล้างผลพวกของรัฐประหาร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกให้เอาผิดกับรัฐประหารได้เมื่อบ้านเมืองกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย จึงหมายความว่า การยืนยันประชาธิปไตยของบรรดานักวิชาการแถวหน้า นักกฎหมาย สื่อสลิ่มเหล่านี้ คือการยินดีเข้าร่วมสังฆกรรมกับฝ่ายทำรัฐประหาร แต่ปฏิเสธ คัดค้านข้อเสนอของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร 7. มาตรฐานการตรวจสอบอำนาจสาธารณะ สลิ่มเรียกร้องให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่ แต่ไม่สนับสนุนให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ กระนั้นพวกเขายังชอบนำนักการเมืองไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์เสมอ เพื่อขับเน้นภาพความดีของสถาบันและภาพความเลวร้ายของนักการเมือง หมายความว่าพวกเขามีทัศนะต่อความดีและความชั่วดังกล่าวนี้ในลักษณะโรแมนติกอย่างยิ่ง ประมาณว่าเพียงเอ่ยคำว่า “บ้านของพ่อ” ก็ซาบซึ้งน้ำตาไหลได้ง่ายๆ ทว่าเพียงแต่เอ่ยถึง “นักการเมือง” ก็สะดุ้ง ขยะแขยงความเลวได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อเอ่ยชื่อ “ทักษิณ” ก็ก็แทบจะหาน้ำบ้วนปากแทบไม่ทัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของมาตรฐานตัดสินถูก-ผิดแบบสลิ่ม ที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีการศึกษา และฐานะการงานดี และมีอิทธิพลชี้นำสังคม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net