Skip to main content
sharethis

นายลิมกิตเสียง ประชดรัฐบาลมาเลเซียส่งรัฐมนตรีมหาดไทยไปดูงานที่พม่า หลังรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมที่เข้มงวดกว่าฉบับที่พม่าประกาศใช้ ชี้จะเป็นเรื่องอัปยศที่มาเลเซียจะต้องเรียนรู้จากประเทศที่มีรายงานสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ ตารางเปรียบเทียบกฎหมายควบคุมการชุมนุมของพม่า (ขวา) และร่างกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ของมาเลเซีย (ซ้าย) ที่มา: Malaysian Insider นายลิมกิตเสียง ผู้นำพรรคกิจประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านแนวสังคมนิยมของมาเลเซีย แนะนำรัฐบาลมาเลเซียเมื่อ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ให้ส่งนายฮิสฮัมมุดดิน ฮุสเซ็น (Hishammuddin Hussein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเลเซีย ไปดูงานด้านเสรีภาพขั้นพื้นฐานในพม่า หลังจากที่นักกิจกรรมในมาเลเซียมีข้อวิจารณ์มาก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายควบคุมการชุมนุมของพม่าให้เสรีภาพแก่พลเมืองมากกว่ากฎหมายฉบับที่บังคับใช้ในมาเลเซีย การเสียดสีโดยนักการเมืองอาวุโสผู้นี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลของนายนาจิป ราซัก เตรียมนำกฎหมายว่าด้วยการรวมตัวอย่างสงบเข้าสภาในอาทิตย์ที่ผ่านมา “เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าอับอายและอัปยศ ที่มาเลเซียต้องเรียนรู้บทเรียนจากประเทศที่มีรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่” “นาจิปคงต้องการส่งรัฐมนตรีมหาดไทย นายฮิสฮัมมุดดิน ฮุสเซ็น ไปพม่า? เพื่อเรียนรู้การมีความเคารพต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยไปเรียนรู้การเคารพเสรีภาพในการสมาคมของประชาชน” ตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของนาลิมกิตเสียงระบุ “ผมคิดว่าคงไม่มีวันที่ผมจะต้องกล่าวเช่นนี้ว่า - นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและคณะรัฐมนตรีควรเรียนรู้จากพม่าอย่างน้อยในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและสมาคมอย่างสันติวิธี” ถ้อยคำประชดประชันของนายลิมกิตเสียง เกิดขึ้นภายหลังจากที่นางอัมพิกา ศรีนาวาซาน ประธานกลุ่มรณรงค์เลือกตั้งเสรีและยุติธรรมในมาเลเซีย หรือ “เบอร์เซะ 2.0” วิจารณ์กฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ของมาเลเซียว่า ให้เสรีภาพน้อยกว่ากฎหมายควบคุมการชุมนุมของพม่า หนึ่งในประเทศที่มีรายงานด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงประเทศหนึ่งของโลก เธอชี้ว่ารัฐบาลพม่าเพิ่งผ่านกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ที่อนุญาตให้ประท้วงบนถนนและมีเงื่อนไขที่เข้มงวดน้อยกว่ากฎหมายที่รัฐบาลมาเลเซียเตรียมจะออก ทั้งนี้รัฐบาลพม่า ประเทศซึ่งกองทัพยังคงมีบทบาท ได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเต็มด้วยข้อจำกัดการชุมนุม โดยในการชุมนุมแต่ละครั้ง ผู้ประท้วงต้อง “แจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเป็นเวลา 5 วัน” ขณะที่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสมาคมโดยสันติ (Peaceful Assembly Act) ของมาเลเซีย จะเข้มงวดยิ่งกว่านั้น โดยจะต้องแจ้งตำรวจมาเลเซียอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า ขณะที่กฎหมายยังมีข้อจำกัดที่ป้องกันไม่ให้มีการประท้วงตามท้องถนน กฎหมายของพม่าห้ามไม่ให้ผู้ประท้วงเข้าใกล้อาคารที่ของรัฐบาล โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานทูต ขณะที่กฎหมายของมาเลเซียมีข้อห้ามใกล้เคียงกัน แต่ยังห้ามไม่ให้ชุมนุมใกล้ศาสนสถานและปั๊มน้ำมันด้วย นายลิมกิตเสียง ยังกล่าวด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีนาจิป ราซักจะต้องเสียคำพูด” “พม่ามักถูกมองเสมอว่าเป็นประเทศที่ล่าช้าที่สุดในอาเซียน ในแง่ที่ว่าไม่เอาใจใส่และละเมิดสิทธิมนุษยชน” ทั้งนี้นายนาจิปพยายามปกป้องกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” และเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล และยืนยันด้วยว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวพยายามควบคุมเสียยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน และเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจากสภา ทั้งนี้นายลิมกิตเสียงยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายดังกล่าวขัดแย้งกับความตั้งใจของนายนาจีปที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไปสู่ “ประเทศประชาธิปไตยที่สุดในโลก” และดูเหมือนกฎหมายฉบับใหม่นี้จะเข้มงวดยิ่งกว่ามาตรา 27 ในกฎหมายว่าด้วยตำรวจ ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการรวมตัวอย่างสงบนี้ จะถูกนำมาแทนที่มาตรา 27 ในกฎหมายว่าด้วยตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปที่นายนาจีปสัญญาไว้กับประชาชนในสุนทรพจน์ที่เขากล่าวในวันมาเลเซีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (อ่านข่าวก่อนหน้านี้ [1], [2]) นายลิมกิตเสียงกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้รัฐสภามาเลเซียจะเคยเตรียมใช้แบบแผนของกฎหมายว่าด้วยการรวมตัวอย่างสงบของรัฐควีนสแลนด์ของออสเตรเลียในปี 2535 แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนั้นยังมีการเพิ่มอำนาจแก่ตำรวจอย่างไม่จำกัดในการควบคุมการรวมตัวสมาคม ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Kit Siang suggests Malaysia copy Myanmar’s assembly law, By Clara Chooi, themalaysianinside, November 25, 2011

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net