Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาสำคัญคือ เรื่องความหลากหลายของประเด็นประท้วง และการขาดผู้นำกลุ่ม แม้จะเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม OWS แต่ในทางกลับกันก็กลายเป็นจุดด้อยในการปฎิรูปขบวนการให้กลายเป็นองค์กรทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ขบวนการยึดวอลสตรีท หรือ Occupy Wall Street (OWS) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มก่อตัวตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ไม่พอใจในสภาพความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอเมริกัน การเดินขบวนประท้วงเริ่มที่บริเวณหน้าตึกวอลสตรีทในมหานครนิวยอร์ก จากนั้น “ปรากฎการณ์ OWS” ก็ได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศอเมริกาและในหลายๆ หัวเมืองใหญ่ทั่วโลก ผู้ประท้วงได้ทำการยึดสวนซัคคอททิ (Zuccotti) ในนิวยอร์กเป็นที่มั่นร่วมสองเดือน จนทำให้เกิดการปะทะกับประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วย กระทั่งตีหนึ่งของคืนที่ 15 พฤศจิกายน ตำรวจหลายร้อยนายได้ทำตามคำสั่งศาลเข้าไปทำการรื้อเต้นท์และจับกุมผู้ประท้วง นายกเทศมนตรีของเมืองนิวยอร์กไมเคิล บลูมเบิร์กกล่าวว่าคำสั่งรื้อที่มั่นของกลุ่ม OWS ก็เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่สาธารณะชนแม้ว่าจะต้องทำให้คนกลุ่มหนึ่งสูญเสียอิสระภาพในการแสดงออกก็ตาม นอกจากการกระทำของตำรวจในนิวยอร์กจะเป็นการทำลายศูนย์กลางของขบวนการ OWS แล้ว สำหรับผู้ประท้วงมันคือการทำลายสิทธิเสรีภาพเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนอเมริกัน หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บจากการยิงระเบิดควันของตำรวจที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอเนีย [i] การจิกผม ลากเสื้อ และกระเป๋าเป้โดยตำรวจที่นิวยอร์ก[ii] การใช้สเปรย์พริกไทยฉีดเข้าใส่นักศึกษามหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย-เดวิสขณะที่กำลังนั่งประท้วงกันอย่างสงบ[iii] การใช้กระบองกระทุ้งและตีนักศึกษามหาลัยแคลิฟอเนีย-เบิร์กคลี่[iv] และมีผู้ประท้วงอื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะของตำรวจระหว่างการเข้าสลายการชุมนุมในหลายๆ เมืองทั่วประเทศ แม้ว่าจะไม่มีใครเสียชีวิต แต่การสลายการชุมชนของตำรวจที่ผ่านมาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการกระทำที่“เกินกว่าเหตุ”ต่อการประท้วงที่สงบและไร้อาวุธ ผลคือยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและเดินขบวนประท้วงกันมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวยังรายงานว่าตำรวจบล็อกไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ระหว่างการรื้นเต้นท์ในคืนวันที่ 15 อีกด้วย สองเดือนที่ผ่านมา หลายคนตั้งคำถามว่าขบวนการOWS ทำเพื่ออะไร สำคัญไฉน และสร้างผลลัพธ์หรือผลกระทบอะไรให้สังคมอเมริกันบ้าง นอกจากก่อความวุ่นวายในย่านธุรกิจที่มั่งคั่ง เดินขบวนปิดถนน ยึดพื้นที่สาธารณะ ตีกลองร้องเพลงส่งเสียงเอะอะทั้งวันทั้งคืน ขบวนการ OWS ให้เหตุผลในการประท้วงอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่การไม่พอใจที่รัฐยกเว้นภาษีให้คนรวย การเข้าอุ้มแบงค์และสถาบันการเงินแต่ไม่อุ้มประชาชนที่ถูกยึดบ้าน การติดหนี้ของเด็กป.ตรี โดยเฉลี่ยแล้วเด็กอเมริกันป.ตรีเป็นหนี้การศึกษาประมาณ 24,600 ดอล์ล่าร์ หรือคราวๆ ประมาณ 767,200 บาท ขบวนการ OWS ยังจับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การค้า และการต่อต้านการย้ายฐานการผลิตไปประเทศกำลังพัฒนาเพราะทำให้คนอเมริกันตกงานเป็นต้น ความหลากหลายของประเด็นที่อาจมีมากเกินไป เลยทำให้หลายคนไม่ค่อยแน่ใจกับจุดประสงค์ของการเดินขบวนในครั้งนี้สักเท่าไร และอาจเห็นว่าขบวนการ OWS ไร้จุดยืนและขาดข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ปัญหาที่สำคัญของขบวนการ OWS คือไม่สามารถแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบของการกระทำได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือเดินขบวนไปแล้วได้อะไร ซึ่งไม่เหมือนกับการประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามหรือต่อต้านรัฐบาล ที่มีความชัดเจนในลักษณะของผลลัพธ์เช่นเรียกร้องให้ถอนทหารออกจากอิรักหรืออัฟกานิสถาน กดดันให้ผู้นำลาออกหรือต้องการให้รัฐยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักหลายสื่อในอเมริกาจึงไม่ให้ความสำคัญกับการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันในบ้านตัวเองนัก แต่กลับทุ่มเวลาส่วนใหญ่รายงานและวิเคราะห์สถานการณ์การประท้วงของชาวอียิปต์ที่จัตุรัสทาห์รีเสียมากกว่า ซีเอ็นเอ็น-อเมริกาเพิ่งถ่ายทอดสดการประท้วง OWS เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นข่าวเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม OWS มีแค่สั้นๆ เพียงนาทีเดียวเหมือนกับการเสนอข่าวน้ำท่วมจากประเทศไทยหรือข่าวอริสมันต์ที่กำลังโหนเชือกลงจากตึก ส่วนข่าวประจำวันจากทีวีสาธารณะก็สรุปสั้นๆ แค่สองสามนาทีเท่านั้น ทีวีสาธารณะช่องPBS ของอเมริกาดูจะมีการสนทนากันมากที่สุดเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งกระแสหลักและออนไลน์เป็นสื่อหลักในการรายงานและวิเคราะห์สถานการณ์ ภาพลักษณ์เป็นปัญหาอีกประการที่ทำให้หลายคนมองขบวนการ OWS ว่าเสมือนเป็นเด็กไร้เดียงสา เฟ้อฝัน เป็นคนไร้บ้าน ไม่มีงานทำ แถมสกปรกไม่อาบน้ำ หรือพูดสั้นๆ คือพวกเด็กมีปัญหา พวกซ้ายจัด หรือพวกอยู่กับโลกแห่งความฝัน นายนิวท์ กิงริช (Newt Gingrich) หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับพริกันกล่าวว่าขบวนการ OWS เป็นการเอาเปรียบสาธารณะ เพราะการประท้วงครั้งนี้ทำให้รัฐต้องใช้เงินจากภาษีประชาชนในการรักษาความปลอดภัยและทำความสะอาดเพิ่มมากขึ้น ผู้ประท้วงควรกลับไปอาบน้ำและหางานทำกันได้แล้ว ยิ่งกว่านั้น พวกขวาจัดในสังคมอเมริกันก็จัดการป้ายสีขบวนการ OWS ให้เป็นพวกต่อต้านทุนนิยมไปซะทั้งหมด แม้ว่าขบวนการนี้จะมีกลิ่นอายของความไม่พอใจทุนนิยมหรือมีอุดมการณ์ซ้ายจัดอยู่จริง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นแค่ส่วนน้อย ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอเมริกันมีอยู่นานแล้ว แต่ปะทุขึ้นมาในช่วงนี้ก็เพราะอเมริกาอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เด็กจบใหม่ว่างงานกันมาก คนมีงานก็ตกงาน บ้านถูกยึด ของแพง ธุรกิจขาดทุน ยอดขายตก กู้เงินยากเป็นต้น แต่พวกเขาก็ยังต้องการที่จะมีงานทำ มีเงินใช้ มีธุรกิจ อยากร่ำรวยเป็นเศรษฐี มีโอกาสกู้เงินเพื่อซื้อบ้านซื้อรถ นักศึกษายังต้องการซื้อเทคโนโลยีทันสมัยเช่น Apple Iphone หรือ Mac แม้ว่าจะติดหนี้การศึกษาหัวโตอยู่ก็ตาม ฉะนั้น นี่คงไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ต่อต้านระบบทุนนิยมกระมั่ง นอกจากวัยรุ่นนักศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นหัวหอกในการเดินขบวนแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือการสนับสนุนของมหาเศรษฐีผู้มีอันจะกินอย่างเช่นดารานักร้องต่างๆ ที่เดินทางมาให้กำลังใจและร่วมเดินขบวนด้วย หรือผู้ใหญ่ที่มีการงานทำแต่มาประท้วงไม่ได้ก็ส่งปัจจัยอาหารการกินและเครื่องนุ่งห่มมาสนับสนุนกองทัพ OWS ด้วย แม้เราไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์จากการประท้วงของ OWS ที่เป็นรูปธรรมเหมือนการประท้วงทั่วไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการ OWS นั้นไร้สาระหรือขาดความสำคัญแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีข้อโต้แย้งใดที่สามารถนำมาหักล้างประเด็นหลักในการเดินขบวนประท้วงของกลุ่ม OWS ได้ พวกเขาไม่พอใจอะไร...ไม่พอใจในเรื่องการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ระบบการเก็บภาษีที่เอื้อประโยชน์ให้คนรวยและธุรกิจใหญ่ๆ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างมากขึ้น การเลือกปฎิบัติของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือแบงค์และสถาบันการเงินมากกว่าประชาชนธรรมดาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเดือนที่ผ่านมา รายงานของสำนักงานงบประมาณของสภาคองเกรส (Congressional Budget Office) แถลงข้อมูลสนับสนุนว่าในปัจจุบันคนที่มีรายได้สูงสุด 1% ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 275% หลังหักภาษีแล้ว ตรงข้ามกับคนที่มีรายได้ต่ำสุด 5% ของประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 18% ข้อมูลนี้จึงตอกย้ำ Slogan ของ OWS ที่ว่า “We are 99%” แม้ว่าบางคนอาจจะเรียกร้องให้ปรับตัวเลขเป็น We are 80% หรือตัวเลขใดๆ ก็ตาม แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการแสดงออกถึงความไม่พอใจของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ขาดที่มาที่ไปหรือไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แม้กระนั้นก็ตาม การแพร่ระบาดของการเดินขบวนเพื่อสนับสนุนกลุ่ม OWS ที่กระจายไปทั่วประเทศและทั่วโลกก็เป็นปรากฎการทางสังคมที่ประจักษ์ชัดถึงความสำคัญในตัวของมันเองอยู่แล้ว คำถามคือขบวนการนี้จะเคลื่อนตัวอย่างไรต่อไปและจะพัฒนาไปเป็นอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ถ้าเรานึกให้ดีการเดินขบวนของคนไม่รักโอบามาและคนที่ไม่พอใจกับบทบาทของรัฐในสังคมอเมริกันหลังโอบามาได้เข้าปกครองประเทศ ก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเดินประท้วงและจัดคอนเสริต์กันในหลายๆ เมืองตั้งแต่ปี 2009 การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นถูกปฎิรูปให้กลายมาเป็นองค์กรการรวมตัวทางการเมืองใหม่ที่เรียกว่า Tea Party ในปัจจุบัน โดยมีกลุ่มทุนของพรรคริพับพริกันให้เงินสนับสนุนกิจกรรมอยู่เบื้องหลัง นักเขียนคอลัมน์ชื่อดังเดวิส คาร์ (David Carr) แห่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้เสนอว่ากลุ่ม OWS อาจจัดตั้งองค์กรเหมือน Tea Party ก็ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประเด็นที่ถกเถียงกันบนถนนจะถูกนำขึ้นมาพูดคุยสนทนากันในระดับชาติอย่างเป็นทางการ[v] ประเด็นเรื่องเงินทุนในการจัดตั้งองค์กรคงไม่น่ามีปัญหา ดารานักแสดงนักร้องที่ปรากฎตัวในกลุ่ม OWS ก็มีอยู่มาก และองค์กรหัวก้าวหน้าที่เห็นด้วยกับกลุ่ม OWS ก็มีอยู่ไม่น้อย คนเหล่านี้น่าจะสามารถให้การสนับสนุนทางด้านการเงินได้หรือช่วยจัดงานแสดงเพื่อหาเงินทุนก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ปัญหาสำคัญคือ เรื่องความหลากหลายของประเด็นประท้วง เรื่องขาดความชัดเจนในข้อเรียกร้องและผลลัพธ์ เรื่องภาพลักษณ์ และปัญหาที่มีความสำคัญมากอีกประการคือการขาดผู้นำกลุ่ม แน่นอน สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ของกลุ่ม OWS ที่แตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ แต่ในทางกลับกันก็กลายเป็นจุดด้อยและสร้างความยากลำบากในการปฎิรูปขบวนการ OWS ให้กลายเป็นองค์กรทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ขบวนการ OWS จะแปลงร่างเป็น Tea Party ได้หรือไม่นั้น ต้องรอดูกันต่อไป .................................. *นักวิจัยอิสระ อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แหล่งอ้างอิง [i] http://www.youtube.com/watch?v=OZLyUK0t0vQ [ii] http://www.rawstory.com/rs/2011/11/17/new-york-cops-drag-young-woman-through-the-street/ [iii] http://www.youtube.com/watch?v=WmJmmnMkuEM [iv] http://www.youtube.com/watch?v=fqQcAz5RQYw [v] http://www.nytimes.com/2011/11/21/business/media/the-question-for-occupy-protest-is-what-now.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net