Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง แจงข้อกังวลโครงการเขื่อนไซยะบุรี ร้องผู้แทนประเทศไทยยืนยันความเห็น “เปิดเผยข้อมูลไม่เพียงพอ- ควรพิจารณาข้อกังวลของสาธารณะ” ในที่ประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง 7-9 ธ.ค.นี้ ที่กัมพูชา วันนี้ (29 พ.ย.54) เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เข้ายื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีแม่น้ำโขง เรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี และการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง ชี้โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงสายหลักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาว (สปป.ลาว) ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ได้รับทราบอย่างรอบด้าน ขณะที่โครงการกลับมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลใจ โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จดหมายดังกล่าวระบุว่า เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง อันประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้ทำงานติดตามกรณีเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง ในพื้นที่ มาโดยตลอด ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนริมแม่น้ำโขงได้รับรู้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน 4 แห่งในประเทศจีน ที่แม้จะอยู่ห่างไกลแต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน และหากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบประชาชนในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง อีกจำนวนมาก แม้เขื่อนจะตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่โครงการเขื่อนไซยะบุรีก็เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากมีบริษัท ช.การช่างของไทยเป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก 4 ธนาคารของไทย ขณะที่ผู้รับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จดหมายยังได้ระบุข้อเรียกร้อง ให้ผู้แทนประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีแม่น้ำโขง ยืนยันข้อคิดเห็นเดิมตามวันที่ 19 เม.ย.54 ที่ระบุว่า กระบวนการเปิดเผยข้อมูลยังไม่เพียงพอ และควรมีการพิจารณาข้อกังวลของสาธารณะอย่างถี่ถ้วน ในการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีการอภิปรายถึงกรณีเขื่อนไซยะบุรี ในวันที่ 7-9 ธ.ค.54 ที่ประเทศกัมพูชา อีกทั้ง ขอให้ชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จนกว่ากระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขงจะลุล่วง และเป็นที่ยอมรับ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนผู้พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต ทั้งนี้จดหมายดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง อาคารที่ทำการอำเภอเมืองหนองคาย (หลังเก่า) ถ.ประจักษ์ อ.เมือง จ.หนองคาย 43000 29 พฤศจิกายน 2554 เรื่อง ข้อกังวลเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี และการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีแม่น้ำโขง ในนามของเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง อันประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้ทำงานติดตามกรณีเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาว (สปป.ลาว) มาโดยตลอด ประชาชนทั้ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงส่วนใหญ่มองว่าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรียังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ได้รับทราบอย่างรอบด้าน ขณะที่โครงการกลับมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว จึงรู้สึกกังวลใจ โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนริมแม่น้ำโขง ได้รับรู้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน 4 แห่งในประเทศจีนซึ่งกั้นแม่น้ำโขง ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน และหากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ ประชาชนลุ่มน้ำโขงเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง อีกจำนวนมาก ผลกระทบสำคัญซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีคือ การปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาโดยเฉพาะปลาบึก การทำลายระบบนิเวศทั้งระบบของแม่น้ำโขง การสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งโขง ซึ่งจะกลายเป็นภาพใหญ่ในผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ อันเป็นการทำลายวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงโดยตรง แม้เขื่อนจะตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่โครงการเขื่อนไซยะบุรีก็เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากมีบริษัท ช.การช่างของไทยเป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก 4 ธนาคารของไทย ขณะที่ผู้รับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เราจึงใคร่ขอแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ต่อขั้นตอนการแจ้งข้อมูล ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement - PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ในกรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งยังไม่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกทั้ง 4 นอกจากนี้ ตามความตกลงแม่น้ำโขง 2538 การตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรในแม่น้ำ ควรจะอยู่บนพื้นฐานการให้ความสำคัญร่วมกัน ประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ยังได้แสดงความกังวลในที่ประชุมสมัยพิเศษของคณะกรรมการร่วมของ MRC เมื่อวันที่ 19 เมษายน ปีนี้ เกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาและปรึกษาหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เขื่อนไซยะบุรีก่อนจะตัดสินใจ และเนื่องจากบรรดาประเทศสมาชิกขาดซึ่ง “โอกาสอย่างพอเพียง...ที่จะอภิปรายและประเมินถึงประโยชน์ที่จะได้รับ” ด้วยเหตุดังกล่าว ย่อมถือว่า กระบวนการแจ้งข้อมูลยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เราจึงใคร่ขอเรียกร้องมายังท่านในฐานะสมาชิกคณะมนตรีแม่น้ำโขง ให้ผลักดันเพื่อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และปฏิบัติตามกระบวนการ PNPCA อย่างแท้จริง ตามความตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 และต้องถือว่า ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ เกี่ยวกับสถานะของโครงการเขื่อนแห่งนี้ ก่อนหน้าที่จะถึงการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง ในวันที่ 7-9 ธันวาคม 2554 ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งจะมีการอภิปรายถึงกรณีเขื่อนไซยะบุรี เราขอเรียกร้องให้ท่านยืนยันข้อคิดเห็นเดิมตามวันที่ 19 เมษายน ที่ระบุว่า กระบวนการเปิดเผยข้อมูลยังไม่เพียงพอ และควรมีการพิจารณาข้อกังวลของสาธารณะอย่างถี่ถ้วน ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีแม่น้ำโขงของประเทศไทย เราใคร่ขอให้ท่านชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จนกว่ากระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขงจะลุล่วง และเป็นที่ยอมรับ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนผู้พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการโดยเร่งด่วน ขอแสดงความนับถือ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net