Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ชี้ความสำเร็จของการเดินทางเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ควรตัดสินจากข้อเท็จจริงที่ว่าทางการพม่ามีการตอบสนองโดยทันที อย่างเช่นการผลักดันการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและกว้างขวางหรือไม่ หมายเหตุ: แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 29 พ.ย. ต่อกรณีที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนพม่าเป็นเวลาสองวัน นับเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 50 ปีของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ 000 แถลงการณ์แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล 29 พฤศจิกายน 2554 พม่า: ความสำเร็จในการเดินทางเยือนพม่าของนางคลินตัน ควรวัดจากสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ ความสำเร็จของการเดินทางเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ควรตัดสินจากข้อเท็จจริงที่ว่าทางการพม่ามีการตอบสนองโดยทันที อย่างเช่นการผลักดันการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและกว้างขวางหรือไม่ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวในแถลงการณ์วันนี้ นางฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) จะเริ่มการเดินทางไปเยือนพม่าเป็นเวลาสองวัน นับเป็นการเดินทางเยือนพม่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดจากสหรัฐฯ “ที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าดีขึ้นเพียงเล็กน้อยในบางด้าน แต่ในด้านอื่น ๆ กลับเลวร้ายลงมาก” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว “การเดินทางไปเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นับเป็นการท้าทายอย่างชัดเจนเพื่อให้รัฐบาลพม่าต้องตอบสนองด้วยการดำเนินมาตรการอย่างจริงจังและกล้าหาญ รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษด้านความคิดที่เหลืออยู่ทุกคนและยุติการทารุณพลเรือนที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย โดยต้องทำอย่างจริงจังและทันที” พม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 318 คนในปีนี้ แต่ยังมีนักโทษการเมืองอีกกว่าพันคนที่ยังคงถูกจองจำ หลายคนถือได้ว่าเป็นนักโทษทางความคิด การปล่อยตัวคนเหล่านี้ไม่ควรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “กระบวนการ” ตามคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าหลายท่าน แต่ควรเป็นสิ่งที่กระทำโดยทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข ในพื้นที่ชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยหลายแห่ง ในบางส่วนของรัฐ กะเหรี่ยง กะฉิ่น และฉาน ยังคงมีการสู้รบที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น ในขณะที่กองทัพพม่ายังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบต่อไป “นางคลินตันควรแสดงอย่างชัดเจนต่อทางการพม่าว่า ในเบื้องต้นมีความคาดหวังที่จะเห็นการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และการคุ้มครองพลเรือนที่เป็นชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อย” เบนจามิน ซาวัคกี้กล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสากลเพื่อไต่สวนกรณีอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กระทำต่อพลเรือนชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในพม่ามาเป็นเวลานาน มาตรา 445 ของรัฐธรรมนูญพม่าบัญญัติความคุ้มครองให้เจ้าพนักงานไม่ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในอดีต “นางคลินตันควรเน้นย้ำเจตจำนงของสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ในพม่า ทั้งนี้โดยผ่านคณะกรรมาธิการไต่สวนสากล หากทางการพม่ายังคงไม่ต่อต้านการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นมากว่าทศวรรษ” เบนจามิน ซาวัคกี้กล่าว ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าประสบความสำเร็จในการอ้างถึงการมาเยือนประเทศของรัฐบาลจากต่างประเทศและหน่วยงานสากล เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนหรือการตอบสนองต่อข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน “สหรัฐฯ จะต้องไม่ปล่อยให้พม่าบิดเบือนภาพของการเดินทางมาเยือนของนางคลินตันว่าเป็นเหมือนการให้รางวัลกับพวกเขา แต่ควรถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เหมือนกับสหรัฐฯ กำลังเดิมพัน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับความพยายามอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ เองเพื่อกดดันให้เกิดความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า” เบนจามิน ซาวัคกี้กล่าว ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนักโทษการเมือง มีการถกเถียงกันว่าจำนวนนักโทษการเมืองในพม่ามีอยู่เท่าไรกันแน่ และควรมีการนิยามนักโทษการเมืองกับนักโทษทางความคิดอย่างไร มีรายงานข่าวว่า โกโกเลง (Ko Ko Hlaing) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการเมืองของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้กล่าวเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมว่า ยังคงมีนักโทษทางความคิดเหลืออยู่ในพม่า “ประมาณ 600 คน” แต่ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอิระวดีอีกแปดวันต่อมา เขายอมรับว่าเขาเองก็ไม่มี “ตัวเลขที่แท้จริง” มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างตัวเลขนักโทษทางความคิดของรัฐบาลกับตัวเลขที่เสนอโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โกโกเลงยังระบุด้วยว่าความแตกต่างของตัวเลขอาจ “ขึ้นอยู่กับวิธีการนิยามนักโทษทางความคิดกับนักโทษทั่วไป” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน สำนักข่าว Democratic Voice of Burma รายงานว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งได้กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “มีคนจำนวนมากที่อยู่ในคุกเพราะทำผิดกฎหมาย ถ้าเราเรียกพวกเขากลุ่มหนึ่งโดยใช้ถ้อยคำเช่นนี้ (“นักโทษทางความคิด”) มันก็จะไม่เป็นธรรมกับนักโทษคนอื่น ๆ” ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลได้แสดงข้อกังวลว่า ทางการได้จัดให้นักโทษการเมืองบางคนที่เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล ว่าเป็นเหมือน “อาชญากรทั่วไป” เมื่อเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำหลายแห่งในพม่า แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลได้เรียกร้องให้รัฐบาลจำแนกว่าใครเป็นนักโทษการเมืองบ้าง โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับความแตกต่างของตัวเลขและนิยามของนักโทษ ทั้งนี้เพื่อประกันว่าจะครอบคลุมถึงนักโทษการเมืองทุกคน ทางการพม่าควรให้มีตัวแทนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย และขอรับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net