Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“วันนี้ลูกทุกคนอยากบอกพ่อว่า ‘ลูกรักและขอเดินตามรอยพ่อตลอดไป’ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” นิตยสารแพรว ฉบับที่ 775 ประจำวันที่ 25 พ.ย. 2554 หน้า 202 

“ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ” พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, นักแสดง, 16 พฤษภาคม 2553 ในงานประกาศผลและมอบรางวัลนาฏราช ณ หอประชุมกองทัพเรือ
 
“พระมหากษัตริย์เป็นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ มหาพรหมของเรา เราก็รัก เราก็ทนุถนอม” หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จาก นิตยสารน่านฟ้า (The Tiger Temple Magazine) ฉบับที่ 32 เดือนธันวาคม 2552 หน้า 9  
 
“It gradually became apparent that this was a religion. To North Koreans, Kim Il-sung was more than just a leader. He showered his people with fatherly love.” 
                 คำแปล: “มันชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่านี่คือศาสนา สำหรับชาวเกาหลีเหนือ คิม อิล ซุง เป็นมากกว่าผู้นำ เขามอบความรักดั่งบิดาให้แก่ประชาชนของเขา” จากหนังสือ Under the Loving Care of the Fatherly Leader โดย Bradley K. Martin, 2006 หน้า 1   
 
หากมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ต้องกลายเป็นอาชญากรรมแล้ว การเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชนย่อมทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การวิพากษ์กษัตริย์เป็นสิ่งเลวร้าย และผิดจารีตความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก 
 
ประชาชนผู้เชื่อว่า กษัตริย์คือพ่อหลวงของพวกเขา มองความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ผ่านแว่นตาของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก เกิดความผูกพันพึ่งพิงทางความคิดและจิตใจ และเสริมสร้างความรู้สึกในหมู่ประชาชน (ลูกๆ) ว่าการคิดเท่าทัน วิจารณ์ หรือไม่รักกษัตริย์ (พ่อ) นั้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เป็นการกระทำที่เลว อกตัญญู เช่นนี้แล้ว มาตรา 112 จึงกลายเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง “พ่อ-แม่” ไปโดยปริยาย
 
การใช้กลไกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เอาเข้าจริงอาจมีอานุภาพมากกว่าการใช้กฎหมายอันไม่เป็นประชาธิปไตยและป่า เถื่อนอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียอีก เพราะการตอกย้ำเปรียบเทียบแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกซาบซึ้งถึงระดับ อารมณ์และจิตใจ และโกรธหากใครจะมาวิจารณ์หรือตั้งคำถามกับพ่อของพวกเขา แถมมันยังช่วยตอกย้ำ (reinforce) ว่า มาตรา 112 นั้นชอบธรรมแล้ว และทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า มี “ลูก” จำนวนหนึ่งที่ต้องการวิจารณ์พ่อ (กษัตริย์) 
 
กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความรู้สึกแบบพ่อลูกนั้น หยั่งรากลึกถึงก้นบึ้งของจิตใจ และเมื่อประชาชนเชื่อว่าเป็นจริงแล้ว มันเปลี่ยนแปลงแทบไม่ได้ ดั่งความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของพ่อ-ลูกที่แท้จริงทางสายเลือด
 
สื่อกระแสหลักและกระแสรองส่วนใหญ่ บริษัทห้างร้านต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอ็นจีโอ มักมีบทบาทสำคัญในการตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ต่อสังคมจนเห็นเป็นเรื่อง “ปกติ” “เป็นจริง” อย่างมิควรต้องสงสัยใดๆ หากคุณเชื่อว่ากษัตริย์คือพ่อ คุณจะไม่รู้สึกอยากตั้งคำถามกับพ่อ แถมหน้าที่ของลูกที่ดีก็คือ การเชื่อฟังพ่อ (พระราชา) และแม่ (พระราชินี) และหากลูกคนใดไม่เชื่อฟัง ก็ดูผิดธรรมชาติ พวกเขาควรถูกประณาม ลงโทษ จองจำ หรือตัดออกจากการนับญาติอย่างถาวร โดยอาจถูกกล่าวหาว่า พวกเขาไม่ใช่คนไทย และเป็นคนที่ต้องการทำลายหรือล้มล้างพ่อแม่ (ดูกรณี 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 เป็นตัวอย่าง) เพราะคนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้อกตัญญู หรือทรพี เพราะไม่ว่าพ่อจะดีหรือไม่ ลูกก็ควรเชื่อฟังและเคารพรัก และในด้านตรงกันข้าม การทำอะไรเพื่อกษัตริย์ (พ่อหลวง) จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้นและสนิทใจขึ้น เหมือนกับการบูชาคุณของบิดาแท้ๆ 
 
นอกจากนี้ การเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชน ยังทำให้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง ซึ่งมีมิติของความไม่เท่าเทียมและมีความตึงเครียดทางชนชั้น ถูกกลบเกลื่อน ลบเลือนให้มองเห็นได้ยากยิ่งขึ้น และพร่ามัว และเปลี่ยนกลายมาเป็นความสัมพันธ์เชิงครอบครัวแบบสมมติ ซึ่งเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความห่วงใยระหว่างพ่อ-ลูกแทน โดยที่ไม่จำเป็นต้องสงสัยในเรื่องชนชั้น หรือความไม่เท่าเทียม แล้วยังไม่จำเป็นต้องคิดเท่าทันหรือเรียกร้องความโปร่งใสเพื่อการตรวจสอบใดๆ เพราะแว่นตาของการมองแบบพ่อ-ลูก ไม่เอื้อให้ประชาชนรู้สึกหรือคิดเป็นอื่น ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ประชาชนอีกมากยากจน แต่กษัตริย์ (พ่อหลวง) ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน หรือผู้คนมักไม่สงสัยว่า ในความสัมพันธ์แบบนี้ ทำไมสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงยังคงเก็บค่าเช่าที่จากประชาชนอยู่
 
นี่ยังไม่รวมถึงการพึ่งพาทางสติปัญญาของประชาชน (ลูกๆ) ต่อ กษัตริย์ (พ่อ) โดยเห็นได้จากการนำคำพูดของพ่อ (พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส) มาเป็นเผยแพร่ซ้ำๆ และเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือของผู้คนจำนวนมากในสังคม ความเห็นของกษัตริย์จึงกลายเป็นคำสอนของพ่อไปโดยปริยาย ลูกๆ ไม่ต้องคิดอะไรเองมากมาย เพราะยึดถือคำสั่งสอนของพ่อที่พวกตนยกย่องว่า เป็นอัจฉริยะในสารพัดด้านก็เพียงพอ 
 
หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า การถ่ายโอน (transplant) ลักษณะความสัมพันธ์พ่อ-ลูก สู่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ถูกตอกย้ำเป็นพิเศษในทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของปี ซึ่งวันเกิดของกษัตริย์กลายเป็น “วันพ่อ” เพื่อตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ คนไทยไม่น้อยถือว่า 5 ธันวา เป็นวันที่พวกเขาจะใช้เวลากับพ่อบังเกิดเกล้าของพวกเขา รวมถึงอาจให้ของขวัญกับพ่อหรือกินอาหารมื้อพิเศษเพื่อทดแทนบุญคุณและเฉลิม ฉลอง “วันพ่อ” จนมีผลให้ แม้กระทั่งบางคนที่คิดว่าตนคิดเท่าทันสถาบันฯก็ยังถือว่า วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันพ่อไปโดยไม่รู้ตัวและโดยปริยาย ถึงแม้พวกเขาจะยืนยันว่า “พ่อ” ของเขามีเพียงคนเดียว ซึ่งได้แก่บิดาโดยสายเลือด ที่พวกเขาจะไปกราบใน “วันพ่อ” วันที่ 5 ธันวาคมอยู่ดี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net