Skip to main content
sharethis

เมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ / การประชุม COP17/MOP7 [1] ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ที่เมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางแล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของทิศทางการดับร้อนของโลกใบนี้ เนื่องจากพันธะกรณีที่ 1 ของพิธีสารเกียวโต (ประเทศพัฒนาแล้ว ตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณร้อยละ 5 จากระดับที่ปล่อยในปี 2533 ให้ได้ภายในปี 2551-2555) จะสิ้นสุดลงในปี 2555 หรือปีหน้า ดังนั้นหากการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ไม่สามารถหาข้อตกลงใดๆ ในการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในการดับร้อนได้แล้ว อนาคตของโลกใบนี้จะยิ่งเข้าสู่สภาวะสุ่มเสี่ยงต่อหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง เรื่องนี้ไม่ต้องดูอื่นไกล ประเทศไทยปีนี้ เกิดมหาอุทกภัยใหญ่ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง และในภาคใต้ก็ประสบกับอุทกภัยทั้งในช่วงต้นปี และช่วงปลายปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ปีหน้าจะไม่เกิดขึ้นอีก การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อทิศทางการดับร้อนให้กับโลก เนื่องจากประเทศต่างๆ ต้องหาข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นพันธะกรณีที่ 2 ของพิธีสารเกียวโต หรือข้อตกลงหรือพิธีสารใหม่) โดยที่หลายประเทศกำลังพัฒนา (กลุ่ม G77 และ จีน) เรียกร้องให้มีพันธะกรณีที่สองของพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ตามพันธะกรณีที่ 1) เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ แคนาดา สหภาพยุโรปไม่ต้องการ หรือหากจะให้เกิดพันธะกรณีที่ 2 ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่เป็นการเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา การเจรจาที่ Durban ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 อาจบอกได้เพียงว่า โลกจะมีข้อตกลงใหม่ที่มีผลทางกฎหมายได้หรือไม่ และเมื่อใด ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ของคณะทำงานฯ หลายฝ่ายคาดว่าการเจรจาจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางกฎหมายใหม่ได้อย่างเร็วที่สุดอาจจะต้องรอถึงปี 2558 และกว่าที่แต่ละประเทศจะให้สัตยาบันก็อาจจะล่วงเลยไปจนถึงปี 2563 โลกจึงจะได้กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งหากแนวโน้มนี้เป็นจริง โลกจะเกิดสุญญากาศของข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยาวนานถึง 8 ปี และนั่นหมายถึงว่าเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 5 ตามพันธะกรณีที่ 1 ของพิธีสารเกียวโตอาจไม่มีความหมายอะไรเลยก็ได้ ข้อสังเกตจุดยืนรัฐบาลไทยต่อเรื่อง REDD/REDD+ จากการประชุมวันแรก อย่างไรก็ตามเมื่อการประชุมเริ่มต้นขึ้นในวันแรก ผู้แทนประเทศปาปัวนิวกีนี ได้แถลงในนามพันธมิตรป่าเขตร้อน (Alliance of Rainforest Movement) ซึ่งประกอบด้วยหลายประเทศ เช่น ปาปัวนิวกีนี, เอกวาดอร์, มาเลเซีย, ลาว, เวียดนาม, ไทย เป็นต้น ประกาศจุดยืนในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 เรียกร้องให้การประชุมที่ Durban ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการดำเนินการนโยบาย REDD+ [2] โดยทันที โดยพื้นฐานแนวคิดเรื่อง REDD คือ การรักษาป่า เพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ว่า กระบวนการดำเนินการในเรื่องนี้จะเข้าสู่ระบบตลาดคาร์บอนหรือไม่ อย่างไรก็ตามเป็นที่ชัดเจนว่า ที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ได้เริ่มต้นสนับสนุนการศึกษาวิจัยและเตรียมการเพื่อพัฒนา REDD ในประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้เรียกอีกชื่อว่า R-PIN (Readiness – Project Idea Note) ที่ผ่านมาในประเทศไทย แนวคิดเรื่องนโยบาย REDD ยังเป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ ความโปร่งใสในการบริหารจัดการการเงิน, การละเมิดหรือรุกรานสิทธิของคนที่อยู่ในป่า, ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยกระบวนการดำเนินโครงการซึ่งกำหนดโดยรัฐฝ่ายเดียวภาครัฐ, และอาจเป็นเงื่อนไขให้ภาครัฐใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมในการผลักดันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าออกจากพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญคือ แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก (โดยภาพรวมของโลก) ด้วย REDD เป็นแนวทางที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วใช้เงินซื้อเครดิตการปล่อยคาร์บอน โดยที่ไม่ลดการปล่อยมลพิษในบ้านตัวเอง แล้วอ้างว่าจ่ายเงินให้ประเทศกำลังพัฒนารักษาป่าเพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับคาร์บอน (ในส่วนที่ตนปล่อยออกมา) แต่ในความเป็นจริง ถึงไม่มี REDD ชุมชนในป่าก็มีการจัดการรักษาป่า และป่าทำหน้าที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนอยู่แล้ว ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมจากประเทศไทย จึงมีความห่วงใยต่อถ้อยแถลงของตัวแทนประเทศปาปัวนิวกีนีในนามพันธมิตรป่าเขตร้อนซึ่งประเทศไทยมีจุดยืนร่วมนั้น เพราะในประเทศไทยเองยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมในเรื่องนี้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าได้ ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ครั้งการประชุมโลกร้อนที่ โคเปญเฮเกน หรือ COP 15 เมื่อปี 2552 ในครั้งนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคมไทยได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยในแนวนโยบาย REDD ดังนี้ (1) ไม่เห็นด้วยกับการนำป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าที่มีชุมชนจัดการและดูแลอยู่ก่อนแล้ว เข้าไปอยู่ในกลไกตลาด (2) รัฐจะต้องให้การยอมรับ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดิน และป่าไม้ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ให้ชัดเจนก่อน (3) ประชาชนคนยากจน มิได้เป็นสาเหตุของการทำลายป่า และมิได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ดังนั้นจึงไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม จุดยืนสนับสนุนการดำเนินการเรื่อง REDD+ ของรัฐบาลไทยที่พ่วงอยู่กับพันธมิตรป่าเขตร้อน ในขณะที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนภายในประเทศครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการตัดสินใจที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการธรรมาภิบาล และละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง REDD+ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “กรอบการเจรจา” นั้น ยังต้องมีคำถามใหญ่พ่วงท้ายอยู่ด้วยว่า เป็นกรอบการเจรจาที่ผ่านรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แล้วหรือไม่ หากยังไม่ผ่านรัฐสภา ก็มีความสุ่มเสี่ยงในภายหลังว่า การไปประกาศจุดยืนเช่นนี้ในเวทีเจรจาระหว่างประเทศ จะสร้างความร้อนขึ้นมาเองภายในประเทศโดยไม่จำเป็น . เชิงอรรถ [1] COP 17 หรือ Conference of the Parties เป็นการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 17 และ MOP 17 หรือ Meeting of the Parties เป็นการประชุมภาคีสมาชิกพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ครั้งที่ 7 [2] REDD หรือ Reducing Emissions from Deforestation and Degradation คือแนวทางหรือนโยบาย “การลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า” ในประเทศกำลังพัฒนาภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ REDD+ หรือ Reducing Emissions from Deforestation and Degradation, and the Role of Conservation, Sustainable Management of Forests and Enhancement of Forest Carbon Stocks ซึ่งก็คือ REDD ที่เพิ่มไปครอบคลุมประเด็นป่าไม้ในฐานะ “แหล่งเก็บกักคาร์บอน” ได้แก่่ การอนุรักษ์ การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บโดยป่าไม้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net