Skip to main content
sharethis

“รสนา โตสิตระกูล” พยานจำเลยปากสุดท้าย คดี “วัชรี เผ่าเหลืองทอง” เอ็นจีโอด้านพลังงานถูกฟ้องหมิ่นประมาท เบิกความย้ำกระบวนการโครงการโรงไฟฟ้าขาดธรรมาภิบาล เผย สว.ก็เล็งตรวจสอบ ด้านศาลนัดฟังคำตัดสิน 20 ม.ค.นี้

 
วานนี้ (1 ธ.ค.54) ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยาน นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร พยานจำเลยปากสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อ.3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
คดีดังกล่าวโจทย์ระบุว่า ถูกนางสาววัชรีใส่ความว่าได้ร่วมมือและมีผลประโยชน์กับข้าราชการในกระทรวงพลังงานหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้สัมปทานการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 1,600 เมกะวัตต์ ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา จากการให้สัมภาษณ์ออกอากาศในรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่น ชาแนล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 โดยมีการอ้างถึงเอกสารจากการประชุมของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
 
ยันเอกสารที่ถูกใช้อ้างอิง เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้
 
นางสาวรสนา ขึ้นเบิกความถึงการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาว่า มีการรับเรื่องร้องเรียนกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ขาดธรรมาภิบาลหลายเรื่องรวมถึงกรณีโรงไฟฟ้าบางคล้าด้วย และกระบวนการหลังจากรับเรื่องแล้วจะมีการศึกษาข้อมูล โดยเชิญผู้มีความรู้ ซึ่งรวมถึงเอ็นจีโอด้านพลังงานมาให้ข้อมูล และมีการตรวจสอบข้อมูลโดยเชิญส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย
 
สำหรับเอกสารที่นางสาววัชรีนำไปเผยแพร่ในรายการคมชัดลึกโดยระบุว่าได้มาจากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นั้น เป็นของนักวิชาการอิสระท่านหนึ่งที่ถูกเชิญมาร่วมพูดคุย โดยเป็นข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
 
ย้ำซ้ำกระบวนการขาดธรรมาภิบาล การพูดเป็นประโยชน์สาธารณะ
 
นางรสนากล่าวด้วยว่า จากการอ่านเอกสารถอดเทปรายการคมชัดลึก เห็นว่าสิ่งที่นางสาววัชรีพูดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการในการอนุมัติแผนรับซื้อไฟและข้าราชการที่มีอำนาจในการอนุมัติและทำสัญญา ส่วนการกล่าวถึงบริษัทโจทย์นั้นเป็นเพียงองค์ประกอบการตัดสินใจ และข้อมูลที่นางสาววัชรีนำเสนอในเรื่องการเซ็นต์สัญญารับซื้อไฟทั้งที่ยังไม่ผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ข้ามขั้นตอน ขาดธรรมาภิบาล เป็นประเด็นที่กรรมมาธิการฯ จะตรวจสอบต่อไป
 
ประธานคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา กล่าวแสดงความเห็นว่า การพูดออกรายการของนางสาววัชรีนั้นเป็นประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้สาธารณะชนได้เห็น ทำให้หน่วยงานรัฐตระหนักว่ากระบวนการที่ขาดธรรมาภิบาลต้องถูกตรวจสอบจากสังคม
 
แจงความไร้ธรรมมาภิบาล ในกระบวนการอนุมัติสร้างไรงไฟฟ้า
 
นางสาวรสนา ให้ข้อมูลด้วยว่า จากการศึกษากระบวนการอนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า กระบวนการขาดธรรมาภิบาลเนื่องจาก อีไอเออยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่การการอนุมัติอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟ เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเปิดช่องให้บริษัทเอกชนจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำอีไอเอ โดยมีเงื่อนไขจ่ายเงินค่าจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์หลังจากอีไอเอผ่านการอนุมัติ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าขาดความเป็นกลางในการพิจารณา และได้เสนอไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยน
 
นอกจากนี้ การทำสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าที่ผูกติดกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ไม่สอดรับกับกรณีที่มีการตกลงจัดซื้อไฟฟ้าก่อนที่จะบรรจุในแผน โดยพบว่ามีการตกลงล่วงหน้าและเข้าดำเนินการในพื้นที่ก่อนที่อีไอเอจะผ่านการเห็นชอบ ซึ่งนำมาสู่ข้อขัดแย่งกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ
 
ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน ข้าราชการในบริษัทเอกชน เป็นปัญหาสำคัญ
 
นางสาวรสนา ให้ข้อมูลต่อมาว่า ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศไทย มีปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญคือการที่ข้าราชการระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการรับวิสาหกิจ เข้าไปดำรงตำแหน่งในบริษัทลูกซึ่งเป็นบริษัทเอกชน หรือบริษัทร่วมทุน โดยที่กฎหมายเปิดช่องให้ ซึ่งตรงนี้ผลตอบแทนจากบริษัทเอกชนที่สูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ จึงทำให้เกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นอุปสรรค์ต่อการตรวจสอบ
 
ในประเด็นนี้คณะกรรมาธิการได้จัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยได้มีรายงานการศึกษา “เรื่องการศึกษาและตรวจสอบธรรมาภิบาล กรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานของรัฐ กับบทบาทกรรมการในบริษัทเอกชนด้านพลังงาน” จัดทำเป็นเอกสารผ่านที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว และถูกส่งไปยังสำนักงานและหน่วยงานที่เกี่ยวของเพื่อให้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการสืบพยาน ศาลนัดหมายให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.55 เวลา 9.00 น.
 
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์เดียวกัน บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งนางสาววัชรี เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ให้รอจนกว่าการพิจารณาคดีอาญาแล้วเสร็จ และจะมีการนำผลคำพิพากษานั้นมาแถลงต่อศาลจึงจะนัดพร้อมเพื่อพิจารณาคดีต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net