Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทำไม ? ภายหลังการเลือกตั้ง กลุ่มชาติพันธุ์สหภาพพม่าจึงยังคงจับอาวุธต่อสู้รัฐบาล (ทหาร) พม่า คำตอบก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น จำเป็นต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพ อันประชาชนชนชาติหนึ่งพึงมีพึงได้ เช่น สิทธิในความเสมอภาคตามกฎหมาย สิทธิเสมอภาคในการรับการศึกษา สิทธิเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะ สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน สิทธิได้รับข่าวสารข้อมูล สิทธิทางการเมือง และสิทธิอื่น ๆ ในส่วนของเสรีภาพนั้นพวกเขาอยากจะมีเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของตนเองเสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน เสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพอันชอบด้วยกฎหมาย สิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ กลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพพม่า ไม่เคยมีไม่เคยได้รับเหมือนกับประชาชนชนชาติอื่นเพราะว่าถูกทางการพม่ารีดรอน จำกัดและห้าม ไม่ให้มีไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านั้น มาเป็นเวลานานแล้วโดยความเป็นจริงนั้น กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ เขามีภาษาพูด ภาษาเขียนและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีบ้านเมืองมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งบ้านเมือง และการปกครองบ้านเมือง มาช้านานเป็นเวลานับร้อยนับพันปีและพวกเขาไม่ใช่ชนชาติพม่า เขามีความแตกต่างจากพม่า ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมอยากชัดเจนโดยเหตุนี้ พวกเขาจึงอยากจะมีสิทธิและเสรีภาพในการปกครองตนเอง ไม่อยากอยู่ใต้อำนาจการปกครองของชนชาติอื่น(เช่นพม่า) กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ก็คือ ชาวไทยใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาวระไข่ ชาวคะยา ชาวคะฉี่นและชาวชิน พวกเขาเหล่านี้ต่างก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพพม่า ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าอย่างที่หลาย ๆท่านเข้าใจ ในนามของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) ต่อไปนี้ จะกล่าวถึงหรือโฟกัส เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานเท่านั้นชาวฉานและรัฐฉานนั้นเป็นชื่อที่พม่าเรียกชาวไทยใหญ่และรัฐไทยใหญ่ (ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่าสยาม) แต่ชาวไทยใหญ่เรียกตัวเองว่า “ไต” (ไท) เรียกประเทศตัวเองว่า “เมืองไต” (เมืองไท) ชนชาติไทยใหญ่มีประวัติศาสตร์การสถาปนาบ้านเมืองและรูปแบบการปกครองบ้านเมือง มาเป็นเวลานานนับพันปี อาณาจักรไทยใหญ่ในอดีต เช่น อาณาจักรเมืองซู่ หรือเมืองเสอ (เสือ) (T’SU, T’SO) อาณาจักรน่านเจ้า (Nan Chao) อาณาจักรเมืองมาว อาณาจักรแสนหวี อาณาจักรอังวะ ตลอดจนเป็นรูปแบบนครรัฐ หรือหัวเมือง เช่น เมืองนาย เมืองมีด เมืองหนอง เมืองปาย เมืองเชียงตุง (สมัยอังกฤษมีสามสิบสี่หัวเมือง) พม่าเริ่มมีสัมพันธ์ไมตรีกับไทยใหญ่ในสมัยพุกาม คือกษัตริย์อโนรธา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมอนหล้า ราชธิดาของเจ้าฟ้าเมืองมาว ปี ค.ศ.1885 อังกฤษยึดครองประเทศพม่าได้ทั่วหมด โดยไม่รวมกับรัฐฉาน ต่อมาในปี ค.ศ.1887 อังกฤษได้เข้ามายึดครองภาคเหนือและภาคใต้ของรัฐฉาน ในปี ค.ศ.1890อังกฤษยึดได้ภาคตะวันออกของรัฐฉานและเป็นการยึดครองรัฐฉานได้ทั้งหมด สถานภาพรัฐพม่านั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (Colony) สถานภาพของรัฐฉานเป็นรัฐใต้อารักขา (Protectorate) รัฐพม่าและรัฐฉานต่างก็อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ.1941ระหว่างสงครามโลกนั้น ได้มีการประกาศกฎบัตรแอตแลนติค (Atlantic Charter) โดยผู้นำชาติมหาอำนาจ คืออเมริกาและ อังกฤษ โดยประกาศว่า ภายหลังสิ้นสุดสงครามแล้ว จะให้รัฐภายใต้อาณานิคมเป็นอิสระพม่าถือโอกาสนี้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ อังกฤษตกลงจะให้เอกราชคืนกับพม่าโดยมีเงื่อนไขว่า พม่าจะต้องจัดการเลือกตั้งภายในประเทศพม่าเสียก่อน เมื่อพรรค AFPFL (Anti-Fascist People’s Freedom League) ของอูอ่องซานชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น อูอ่องซานจะเป็นตัวแทนไปเจรจาเรื่องเอกราชของพม่ากับอังกฤษ ปลายปี ค.ศ. 1946 ก่อนอูอ่องซานจะไปเจรจากับอังกฤษในปี ค.ศ.1947นั้น อูอ่องซานได้มาเชิญชวนเจ้าฟ้าไทยใหญ่ให้รวมกับพม่าเอาเอกราชโดยให้เจ้าฟ้าลงนามแล้ว อูอ่องซานจะเป็นตัวแทนไปเจรจาเรื่องเอกราชกับอังกฤษให้เองเนื่องจากทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่เองก็มีการเตรียมการจะเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเช่นกัน แต่ไม่มีแผนจะรวมรัฐไทยใหญ่เข้ากับรัฐพม่า ดังนั้นเจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงปฏิเสธที่จะลงนามให้กับอูอ่องซานเป็นตัวแทนไปเจรจากับอังกฤษ โดยโทรเลขถึงรัฐบาลอังกฤษว่า อูอ่องซานไม่ใช่ตัวแทนของรัฐฉาน อูอ่องซานเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าฟ้า ก็หันไปชักชวนนักศึกษาไทยใหญ่ที่เคยศึกษาอยู่ในพม่าคือกลุ่ม SPFL (Shan People’s Freedom League) ให้สนับสนุนอูอ่องซาน 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1947 รัฐพม่ากับรัฐฉานรวมทั้งคะฉี่นและชิน ได้ตกลงทำสนธิสัญญากันที่ปางโหลงโดยมีเงื่อนไขว่าจะรวมกันเป็นสหภาพแค่สิบปี เมื่อครบสิบปีแล้วรัฐใดมีความประสงค์จะแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระก็ย่อมได้ปี ค.ศ. 1948 พม่า ฉาน คะฉี่น ชีน กะเหรี่ยง มอญ ระไข่ และคะยา ได้เอกราชพร้อมกันทั้งหมดภายหลังรวมตัวกันเป็นสหภาพครบสิบปีแล้ว (ค.ศ.1958) ปรากฏว่าไม่มีรัฐใดสามารถแยกตัวออกจากสหภาพพม่าได้ เพราะว่าพม่าเอาทหารของตนเองไปยึดครองดินแดนรัฐเหล่านั้นไว้ กรณีรัฐฉาน พม่าอ้างว่าจะเอาทหารพม่ามาขับไล่กองทัพจีนคณะชาติ (ก๊กหมินตั๋ง) ที่รุกล้ำเข้ามาในรัฐฉาน เมื่อแต่ละรัฐไม่สามารถแยกตัวออกจากสหภาพพม่า มาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง ประชาชนพลเมือง รัฐเหล่านั้น ก็จำเป็นต้องจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับพม่า เพื่อทวงสิทธิของตนเอง เมื่อแต่ละรัฐต่างก็ลุกขึ้นจับอาวุธทวงเอาสิทธิที่จะแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระมากขึ้น พม่าก็ทำรัฐประหารตนเอง ในปี ค.ศ. 1958 โดยมอบอำนาจให้กับคณะทหาร จนกระทั่งปี ค.ศ.1960 พม่าได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และอูนุได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และพยายามที่จะให้มีความปรองดองกันขึ้นในสหภาพแต่ก็ถูกนายพลเนวิน ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี ค.ศ.1962 รวมทั้งจับกุมเจ้าฟ้าไทยใหญ่และแกนนำในการเคลื่อนไหวหลายท่าน เพื่อที่จะปราบปรามรัฐที่จะแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระได้ง่ายขึ้นพม่าได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมแบบพม่า โดยมีพรรคการเมืองพรรคเดียว เรียกว่า พรรคโครงการสังคมนิยมพม่าหรือ BSPP (Burma Socialist Programme Party) ต่อมาได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับคณะกรรมการฟื้อฟูความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐหรือ SLORC (State Law and Order Restoration Council) เมื่อปี ค.ศ. 1988ในปี ค.ศ.1990 พม่าได้จัดการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง โดยพรรค NLD (National League for Democracy) ของนางอ่องซานซูจี ชนะอย่างท่วมท้น แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้กับพรรค NLD หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1997 รัฐบาลพม่าได้เปลี่ยนชื่อ SLORC เป็นสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council) หรือ SPDC SPDC ได้เสนอ โรดแม็พเจ็ดขั้นตอนสู่ประชาธิปไตย (The Seven–Step Roadmap to Democracy) โรดแม็พเจ็ดขั้นตอนสู่ประชาธิปไตยนั้น ได้ถูกปฏิเสธโดยประชาชนชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นสมาชิกสหภาพพม่ามาโดยตลอด ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง คือประชุมสภาแห่งชาติ (National Conference) และขั้นที่สามเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น ยีงกว่านั้นในขั้นที่สี่ ยังบังคับประชาชนให้ลงประชามติรับเอาร่างรัฐธรรมนูญ ในขั้นที่ห้า ก่อนการเลือกตั้งได้มีพรรคการเมืองขอจดทะเบียน 47 พรรคแต่คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งอนุญาต 42 พรรค หลังจากนั้นได้ถอนอีก 5 พรรค คงเหลือ 37 พรรค วันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2510 พม่าได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ในรอบยี่สิบปี โดยผลการเลือกตั้งมี 23พรรคการเมืองได้ผู้แทนเข้าสู่สภารัฐธรรมนูญพม่ากำหนดให้มีสภาสี่สภา คือ สภาแห่งสหภาพ (Union Parliament) สภาประชาชนหรือสภาราษฎร (People’s Parliament) สภาแห่งชาติ (National Parliament) สภาแห่งภูมิภาคและแห่งรัฐ (Regional and State Parliament) สภานี้เป็นสภาท้องถิ่น โดยให้รัฐที่เป็นสมาชิกสหภาพทั้ง 7 รัฐ มีอำนาจเทียบเท่ากับมณฑลหนึ่งของพม่าเท่านั้นเอง จากผลการเลือกตั้ง สภาแห่งสหภาพหรือ ปยีตองซุ ลุตต่อ (Pyidaungsu Hluttaw) มีผู้แทนหรือสมาชิกสภาได้ทั้งหมด 659 ที่นั่ง แต่งตั้งจากนายทหารในกองทัพพม่า 166 นาย พรรคพัฒนาและเอกภาพแห่งสหภาพ (USDP)รือรู้จักกันในนามพรรคเจี้ยงไข่เยได้ไป388 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ รวมกันได้ 105 ที่นั่ง สภาประชาชนหรือ ปยีตุ ลุตต่อ (PyithuHluttaw) มีสมาชิกสภาได้ทั้งหมด 435 ที่นั่ง แต่งตั้งจากนายทหารในกองทัพพม่า 110 ที่นั่ง พรรคพัฒนาและเอกภาพแห่งสภาพ (USDP) ได้ไป 259 ที่นั่ง พรรคที่เหลือได้ 66 ที่นั่ง สภาแห่งชาติหรือ อเมียวตา ลุตต่อ (AmyothaHluttaw) สภานี้กำหนดให้เป็นวุฒิสภา มีสมาชิกสภาได้ทั้งหมด 224 ที่นั่ง แต่งตั้งจากนายทหารในกองทัพพม่า 56 ที่นั่ง พรรคพรรคพัฒนาและเอกภาพแห่งสภาพ (USDP) ได้ไป129 ที่นั่งอีก39 ที่นั่งเป็นของพรรคที่เหลือ สภาแห่งภูมิภาคและแห่งรัฐหรือ ปยีแหน่ ลุตต่อ (PyineHluttaw) มีสมาชิกสภาได้ทั้งหมด 883 ที่นั่ง แต่งตั้งจากนายทหารในกองทัพพม่า 222 ที่นั่งพรรคพัฒนาและเอกภาพแห่งสภาพ (USDP) ได้ไป 494 ที่นั่งพรรคอื่น ๆ รวมกันได้ 167 ที่นั่ง จะสังเกตเห็นได้ว่าแต่ละสภานั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากกองทัพพม่า และพรรคพัฒนาและเอกภาพแห่งสหภาพ (USDP) ซึ่งทั้งสองรวมกันแล้วมากกว่า 80% ของสมาชิกสภาทั้งหมด ส่วนพรรคที่มาจากรัฐที่เป็นสมาชิกสหภาพทั้ง 7 รัฐ คือ รัฐฉาน รัฐกะหยิ่น (กะเหรี่ยง) รัฐมอญ รัฐยะไข่ (อาระกัน) รัฐชิน รัฐคะยาห์ และรัฐคะฉี่น รวมกันกับพรรคการเมืองของพม่าอีกหลายพรรค ได้ไม่ถึง 19% ของสมาชิกสภาทั้งหมดเกี่ยวกับพรรคพัฒนาและเอกภาพแห่งสหภาพ (USDP) หรือพรรคเจี้ยงไข่เยนี้ เป็นพรรคที่สนับสนุนโดยผู้อาวุโสตานส่วย พรรคการเมืองพรรคนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1993 ภายใต้ชื่อสมาคมหรือสันนิบาตพัฒนาและเอกภาพแห่งสภาพ (Union Solidarity and Development Association - USDA) กิจกรรมและการดำเนินการของพรรคสันนิบาตนี้ คือเปิดรับสมาชิกทุกชาติพันธุ์ตั้งแต่อายุสิบเอ็ดปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พรรคจะเข้าไปจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนทั่วประเทศ โดยไม่เลือกพื้นที่และชนเผ่า แม้ว่า พม่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แบบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญของพม่านั้น ไม่เป็นแบบประชาธิปไตย คือกำหนดให้แต่งตั้งบุคคลในกองทัพ 25%เป็นสมาชิกสภาของทุกสภา ยิ่งกว่านั้นยังกีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นดังนี้ การที่เพื่อนบ้านของพม่าหรือชุมชนโลก อยากจะเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในพม่านั้นคงจะเป็นเรื่องยาก โดยเหตุนี้สถานการณ์ในประเทศพม่าภายหลังการเลือกตั้งจึงยังคงมีการจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลพม่าอยู่ทุกวัน เช่นเดียวกันกับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) และกองทัพรัฐฉาน (S.S.A.) รวมทั้งประชาชนในรัฐฉานทั้งหมดก็ยังยืนยันที่จะเรียกร้องเอาสิทธิและเสรีภาพของตนเองจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะโดยวิธีการใด ๆ รัฐฉานเป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพพม่า โดยสนธิสัญญาปางโหลง รัฐฉานไม่ใช่อาณาเขตหรือดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศพม่ามาก่อน รัฐฉานมีภาษา วัฒนธรรมและดินแดนเป็นของตนเอง และพร้อมที่จะปกครองตนเองเช่นในอดีตที่ผ่านมา การเจรจาใด ๆ ที่ทำให้ประชาชนในรัฐฉานได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและสันติภาพนั้น สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานและกองทัพรัฐฉาน ร่วมกับประชาชนรัฐฉานทั้งหมดยินดีที่จะเจรจากับทุกฝ่ายและทุกเมื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net