สมมติราชกับเทวราช

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รายการตอบโจทย์ทาง Thai PBS ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ นำเสนอมุมมองต่อข้อเสนอของ “นิติราษฎร์” โดยมีผู้ร่วมรายการคือ สุลักษ์ ศิวรักษ์ ไชยันต์ ชัยพร คำนูน สิทธิสมาน และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา ดำเนินรายการ ผมว่ารายการแบบนี้ดีที่เอาคนที่เห็นต่างมาถกกัน เมื่อทุกฝ่ายเอาเหตุผลมาวางเทียบกันแล้ว สังคมตัดสินเองว่าเหตุผลของใครน่ายอมรับมากกว่า โดยทั่วไปแล้วผมชอบคำถามของภิญโญ แต่พอภิญโญถามอาจารย์วรเจตน์ว่า “ตกลงเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า?” ผมรู้สึกสะดุดทันที เพราะคำถามเช่นนี้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเป็นคำถามในสังคมที่กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนพูดได้ว่า “ไม่เอาเจ้า” และสามารถถกเถียงเหตุผลกันได้บนเวทีสาธารณะเท่านั้น แต่มานึกอีกที ก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้ถามตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้ถูกถามได้อธิบายตัวเอง เพราะอาจมีผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมเข้าใจว่านิติราษฎร์ไม่เอาเจ้า กระนั้นก็ตาม ในบ้านเรายังมีอีกหลายเรื่องที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล ตัวอย่างเช่นหากสังคมเราเป็น “สังคมที่มีเหตุผล” เราย่อมต้องยอมรับว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ” ที่เข้าข่าย ม.112 นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้ความหมาย (คือไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ด้วยเหตุผล) เพราะข้อกล่าวหาเช่นนี้จะมีความหมายได้ ก็ต่อเมื่อกฎหมายอนุญาตให้จำเลยสามารถแสดงพยานหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหานั้นได้ว่าข้อความที่ถูกล่าวหานั้น “ไม่เป็นเท็จอย่างไร” ฉะนั้น การแก้ไขหรือปรับปรุง ม.112 จึงเป็นสิ่งที่ผู้ร่วมรายการทุกคนเห็นว่าจำเป็น แต่อาจารย์วรเจตน์ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องเกี่ยวกับสถาบันไม่ใช่แค่เรื่อง ม.112 แต่ต้องดูทั้งระบบ คือดูทั้งรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูอุดมการณ์เบื้องหลังด้วยว่าเป็นอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย และอาจารย์สุลักษณ์ก็พูดถึงส่วนที่เป็นอุดมการณ์เอาไว้ชัด ดังข้อความช้างล่างนี้ ัตริย์ ดูอุดมการณ์เบื้องหลังด้วยว่าเป็นอุดมการณ์าเจ้า\ ที่มาภาพ:http://farm8.staticflickr.com/7035/6448822839_7beffcd8d4.jpg ที่ว่า “กษัตริย์เป็นสมมติราช” นั้น คือทัศนะของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจาก “อัคคัญญสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 11) ดูจากเนื้อหาในพระสูตรนี้ชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าเสนอ “สมมติราช” เพื่อปฏิเสธ “เทวราช” เพราะเป็นการสนทนากับสามเณรสองรูปที่อดีตเคยอยู่ในวรรณะพราหมณ์ และสนทนาในลักษณะการปฏิเสธความเชื่อที่ว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและกำหนดให้มีวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เอาไว้แล้วอย่างตายตัว ข้อแตกต่างอย่างสำคัญระหว่าง “เทวราช” กับ “สมมติราช” คือ อย่างแรกมีสถานะศักดิ์สิทธิ์เหนือราษฎรทั่วไป และมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งราษฎรจะคำถามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ เพราะสถานะและอำนาจนั้นได้มาจากเจตจำนงของพระเจ้าหรือพระพรหม แต่อย่างหลังได้สถานะและอำนาจมาจากเจตจำนงของราษฎร จึงไม่ได้อยู่เหนือราษฎร และอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจากราษฎร นอกจากจะไม่อยู่เหนือราษฎรแล้วยังต้องมีคุณธรรมของผู้ปกครองอย่างเข้มงวด เช่นทศพิธราชธรรม 10 จักรวรรดิวัตร 12 เป็นต้น พุทธศาสนาให้ความหมายของคำว่า “กษัตริย์” กับ “ราชา” แตกต่างกัน ในอัคคัญสูตรนั่นเองนิยามคำว่า “กษัตริย์” ว่าหมายถึง “ผู้เป็นใหญ่ในเขตแดน” คือผู้ที่มีทรัพย์สมบัติมาก มีอำนาจมาก มีเขตแดนมาก แต่ “ราชา” หมายถึงผู้ที่ทำให้ราษฎรมีความยินดี หรือพึงพอใจในการปกครอง ซึ่งได้แก่ผู้ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่โลภมาก มีทศพิธราชธรรม และอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และคำว่า “ราชา” คือคำที่ราษฎรสมมติเรียกผู้ปกครองที่พวกเขาพึงพอใจ หากเป็นผู้ปกครองที่เลวก็เรียกว่า “ทรราช” จะว่าไปแล้วราชาหรือธรรมราชาตามคติพุทธจะใกล้เคียงกับ “ราชาปราชญ์” (philosopher king) ของเพลโต มากกว่า (เพียงแต่ไม่ถึงขนาดว่าต้องไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวเหมือนราชาปราชญ์) สำหรับอุดมการณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ในบ้านเรา เดิมทีเราถือคติว่ากษัตริย์คือ “พ่อปกครองลูก” มีบางช่วง เราได้รับอิทธิทางการปกครองจากเขมรจึงถือว่ากษัตริย์คือ “เทวราชา” ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะในยุครัชกาลที่ 4 ได้มีการผลักดันอุดมการณ์ “ธรรมราชา” ภายใต้แนวคิดที่ว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ที่เน้นให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ของสยามประเทศทรงขึ้นครองราชย์โดยความเห็นชอบชุมชนการเมือง และพระองค์อยู่เหนือราษฎรเพียงคนเดียว มีการพยายามอธิบายว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ที่จริงหาได้เป็นประชาธิปไตยไม่ เนื่องจากชุมชนการเมืองที่เลือกกษัตริย์ก็จำเพาะชนชั้นนำที่เป็นขุนนางระดับสูงทั้งนั้น และสถานะอำนาจของกษัตริย์ก็อยู่เหนือราษฎรทั้งปวง ซึ่งขัดต่อหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย เวลานี้เราเรียกระบอบการปกครองของเราว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทว่าสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ถูกปลูกฝังในจิตสำนึกของปวงชนนั้น ทรงเป็นทั้ง “พ่อปกครองลูก” ดังที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “พ่อหลวงของแผ่นดิน” “พ่อแห่งชาติ” “บ้านของพ่อ” ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็เป็น “ธรรมราชา” ดังที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม...” แต่ทว่าอีกสถานะหนึ่ง คือทรงเป็น “เทวราช” หรือ “สมมติเทพ” ที่อยู่เหนือราษฎร ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรจึงมีลักษณะ “ขัดแย้งในตัวเอง” อย่างมีนัยสำคัญ คือเป็นทั้งพ่อที่ให้ความอบอุ่นกับลูก เป็นทั้งธรรมราชาที่ราษฎรรัก และเป็นทั้งสมมติเทพที่ราษฎรต้องเกรงกลัว แต่ความอบอุ่นเป็นกันเอง ความรัก และความกลัวคือความรู้สึกที่ขัดแย้งในตัวมันเอง ทำอย่างไรจึงจะให้สิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองเช่นนี้กลมกลืนไปด้วยกันได้ ก็ต้อง “ประชาสัมพันธ์ด้านเดียว” คือปลูกฝังให้เห็นความดีงาม หรือ “คุณวิเศษต่างๆ” ผ่านระบบการศึกษา ศาสนา จารีตประเพณี พิธีกรรมทางราชการต่างๆ และมีกฎหมายห้ามตั้งคำถามห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอย่างเด็ดขาด อุดมการณ์ที่ขัดแย้งในตัวเองอย่างซับซ้อน และไม่เป็นธรรมชาติเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับ “ความเป็นธรรมชาติตามระบอบประชาธิปไตย” เพราะความเป็นธรรมชาติตามระบอบประชาธิปไตย คือธรรมชาติที่สอดคล้องกับ “ธรรมชาติของมนุษย์” นั่นคือธรรมชาติของความเป็น “สัตที่มีเหตุผล” (rational being) และสัตที่มีเหตุผลย่อมต้องการเสรีภาพที่จะรัก-ไม่รัก เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะที่ใช้ภาษีของตน และที่สำคัญคือต้องการความเสมอภาคในความเป็นคน ฉะนั้น นอกจากจะต้องแก้ไข ม.112 จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมเราจำเป็นต้องมีเหตุผลเพียงพอที่จะยอมรับได้ว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ” ที่เข้าข่าย ม.112 นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้ความหมาย (คือไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ด้วยเหตุผล เนื่องจากไม่อนุญาตให้จำเลยพิสูจน์ “ความไม่เป็นเท็จ” ได้) และยอมรับได้ว่าใครก็ตามในประเทศนี้ (ที่เรามีสัญญาประชาคมยอมรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย) ย่อมสามารถเสนอให้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯ ปรับปรุงกติกาเกี่ยวกับสถานะอำนาจ บทบาท และอุดมการณ์เบื้องหลังสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยได้ สังคมต้องมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะยอมรับด้วยเหตุผลที่ชัดแจ้งว่า ข้อเสนอเช่นนั้นไม่ใช่การทำลายสถาบัน แต่เป็นข้อเสนอเพื่อปกป้องสถาบันอย่างสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่มากที่สุด!"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท