Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าฯ คนเก่าเซ็นต์ทิ้งทวน ประกาศเขตพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ เพียง 1 วันก่อนย้ายไปชลบุรี ด้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ ค้านยกหมู่บ้าน พบปัญหาอื้อรายชื่อหาย-โฉนดไม่ตรง เผย อบต.ในท้องที่ยังไม่ปิดประกาศ วันที่ 3 ธ.ค.54 กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี นำโดยนางมณี บุญรอด พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 10 คน นำเอกสารการปิดประกาศเขตพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และแบบฟอร์มการคัดค้านมาตั้งโต๊ะให้ชาวบ้านโนนสมบูรณ์และหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ร่วมลงชื่อคัดค้านการประกาศเขตเหมืองฯ ที่ศาลากลางบ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 12 ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี โดยวันแรกมีผู้มาร่วมลงชื่อมากกว่า 400 คน บรรยากาศการตั้งโต๊ะเป็นไปอย่างคึกคัก เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ชาวบ้านได้มารอกันอย่างเนืองแน่นที่ศาลากลางบ้าน เพื่อจะดูเอกสารการปิดประกาศเขตเหมือง พร้อมนำหลักฐาน เอกสาร เช่น บัตรประชาชน โฉนดที่ดิน เพื่อมาตรวจเช็คเปรียบเทียบ และกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการคัดค้าน แต่ก็เกิดความโกลาหลตามมาเมื่อชาวบ้านหลาย 10 รายได้ทักท้วงว่าชื่อของตนตกหล่น ข้อมูลตรงตามเอกสาร และบางรายก็ถูกรายชื่อคนอื่นซ้อนทับในที่ดินแปลงของตน นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ พบว่า มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ ในการปิดประกาศเขตเหมืองแร่โปแตชอุดร ซึ่งกลุ่มฯ ก็กำลังรวบรวมประเด็น เพื่อทำการคัดค้าน โดยจะใช้วิธีการเดินสายให้ข้อมูลกับพี่น้องในพื้นที่ และถ้าหากใครที่เห็นด้วยกับเราก็ให้มาตรวจเช็คดูเอกสารและร่วมลงชื่อคัดค้านได้ “ประกาศนี้ผู้ว่าฯ คนเก่าได้เซ็นต์เอาไว้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน แล้วก็เผ่นไปเป็นผู้ว่าฯ ชลบุรี ซึ่งได้สร้างภาระ ปัญหาให้กับชาวบ้านในเขตเหมืองบนเนื้อที่กว่า 2.6 หมื่นไร่ ให้ต้องลุกขึ้นมาคัดค้านเอาเอง แต่ทั้งนี้พวกเราก็จะพิสูจน์ให้เห็นว่าคนอุดรฯ ไม่ต้องการเหมือง และจะทำการคัดค้านในทุกขั้นตอนจนถึงที่สุด” นางมณีกล่าว ด้านนายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า เอกสารการปิดประกาศเขตเหมืองแร่โปแตชอุดรจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้มาถูกส่งมาถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เมื่อวันที่ 17 พ.ย. หลังจากนั้นได้ทำการตรวจสอบก่อนจะนำเรียนให้ผู้ว่าราชการ ในฐานะเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ลงนามปิดประกาศ เมื่อผู้ว่าฯ ลงนามแล้วก็เป็นหน้าที่ของตนเองที่จะปิดประกาศและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป “พื้นที่เหมืองครอบคลุม 5 ตำบล ภายใน 2 อำเภอ คือ อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ฯ ซึ่งผมก็ได้ส่งเอกสารการปิดประกาศไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ในส่วนของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ผมได้นำเอกสารไปส่งให้เองกับมือ ทั้งนี้ หากมีการค้านผมก็จะคอยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและนำเอกสารส่งกรมฯ ต่อไป โดยหน้าที่ของส่วนราชการก็จะจบเพียงเท่านี้ เพราะถ้ามีการค้าน กระบวนการประทานบัตรก็เดินหน้าไม่ได้ จนกว่าบริษัทกับชาวบ้านเคลียร์จะกันลงตัว” นายวรากรกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ได้มีการปิดประกาศเขตเหมือง ณ ที่ทำการกำนันตำบลห้วยสามพาด และตำบลนาม่วง หลังจากที่มีการปิดประกาศไปแล้ว ณ ที่ว่าการอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.53 เพื่อให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้โต้แย้งภายใน 20 วัน ตามมาตรา 49 ใน พ.ร.บ.แร่ 2510 อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการปิดประกาศที่ อบต.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net