Skip to main content
sharethis
งานอดิเรก (ที่เคยเป็นงานสำรองเลี้ยงชีพ) ของผมคือตามข่าวดาราเซเลบส์ นอกจากเดวิด-วิคตอเรีย เบคแฮม, เลดี้กาก้า, ลินด์เซย์ โลฮาน ฯลฯ ราชวงศ์อังกฤษก็ถือเป็นเซเลบส์ ได้รับความนิยมจากคนที่ชอบติดตามข่าวดาราและช่างภาพปาปาราซซี โดยเฉพาะเคท มิดเดิลตัน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เจ้าหญิงผู้มาจากชนชั้นกลาง ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งเลยทีเดียว
 
หลังพิธีเสกสมรสบันลือโลก เจ้าชายวิลเลียมกับเคทไม่ได้มีชีวิตสุขสำราญแบบเจ้าชายเจ้าหญิงในเทพนิยาย อย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ปราสาทหลังใหญ่ แต่ประทับอยู่ในบ้านขนาด 2 ห้องนอนชื่อ Nottingham Cottage ในพระราชวังเคนซิงตัน สลับกับประทับอยู่ในบ้านไร่ที่แองเกิลซีย์ ตอนเหนือของเวลส์ ใกล้ฐานทัพอากาศที่เจ้าชายวิลเลียมประจำการอยู่
 
พระราชวังเคนซิงตันไม่ได้เป็นของราชวงศ์ แต่เป็นสมบัติสาธารณะ เชื้อพระวงศ์ที่มาอาศัยอยู่ ถ้าไม่อยู่ในลำดับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของราชวงศ์ต้องจ่ายค่าเช่า เคยมีกรณีของเจ้าชายไมเคิลแห่งเคนท์ ลูกพี่ลูกน้องของควีน มาพักอยู่ในตำหนักขนาด 5 ห้องนอนตั้งแต่ปี 1979 โดยจ่ายค่าเช่าเพียงสัปดาห์ละ 70 ปอนด์ ตั้งแต่ปี 2002 แต่ถูก ส.ส.เอาไปอภิปรายในสภา ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาต้องจ่ายค่าเช่าปีละ 120,000 ปอนด์ตามราคาตลาด
 
 
ล่าสุดมีข่าวว่าควีนอลิซาเบธจะยกพระตำหนักเดิมของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ขนาด 20 ห้อง สูง 4 ชั้น ให้เจ้าชายวิลเลียม โดยต้องใช้เงินบูรณะกว่า 1 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งราชวงศ์ควักกระเป๋าเอง อีกส่วนมาจากกองทุนสาธารณะ แต่ก็ถูกพวก Republic ต่อต้านว่ารัฐบาลยอมให้ควีนยกพระตำหนักให้วิลเลียมได้อย่างไร พร้อมเรียกร้องให้จ่ายค่าเช่าตามจริง ขณะที่องค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร Historic Royal Palaces ที่ดูแลพระราชวังเคนซิงตันอยู่ก็บอกว่าจะต้องเจรจาค่าชดเชยกัน
 
เวลาเราดูภาพข่าวส่วนใหญ่ มักจะเห็นแต่ภาพวิลเลียมกับเคทแต่งตัวหรูหราออกงานพิธี แต่นั่นคือการทำหน้าที่ของราชวงศ์ พ้นจากหน้าที่แล้วทั้งคู่ก็พยายามใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวนายทหารทั่วไป อย่างเช่น หลังเสกสมรสใหม่ๆ ดยุคกับดัชเชสเดินทางไปเยือนแคนาดาและแคลิฟอร์เนีย มีกองทหารเกียรติยศต้อนรับอย่างใหญ่โตสมพระเกียรติ แต่พอกลับมาอยู่บ้านไร่ซึ่งวิลเลียมจ่ายค่าเช่าเดือนละ 750 ปอนด์ ก็มีภาพปาปาราซซีถ่ายดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ไปซื้อของห้างเทสโก้ เหมือนแม่บ้านธรรมดาๆ เพียงแต่มีบอดี้การ์ด 1 คน (แถมบอดี้การ์ดยังไม่ช่วยยกของอีกต่างหาก)
 
 
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงยูยีน พระธิดาของเจ้าชายแอนดรูว์ ก็เคยมาเที่ยวเมืองไทยแบบซำเหมาพเนจร นุ่งบิกินีลงทะเลที่ภูเก็ต แดนซ์กระจายในบาร์ แต่สื่ออังกฤษก็ไม่วายบ่นว่าในขณะที่เจ้าหญิงเที่ยวแบบซำเหมา 6 สัปดาห์ ขึ้นเครื่องบินชั้นประหยัด พักเกสต์เฮาส์ราคาคืนละ 15 ปอนด์กับเพื่อนๆ รัฐบาลอังกฤษต้องจ่ายค่าบอดี้การ์ด 2 คนนับแสนปอนด์ เป็นค่าเครื่องบินชั้นบิสสิเนสและพักโรงแรมชั้นดี พร้อมเบี้ยเลี้ยงวันละ 150 ปอนด์
 
เจ้าหญิงยูยีนซึ่งมีแฟนเป็นบริกรชื่อ แจค บรูกส์แบงก์ ยังเป็นข่าวเฮฮาเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ตอนไปเที่ยวในลอนดอน แล้วปาปาราซซีจับภาพได้ว่าเธอถอดรองเท้าเดิน ใส่แต่ถุงเท้า โบกรถแท็กซี่กับแฟนและบอดี้การ์ด 1 คน
 
 
เจ้าหญิงบีทริซกับเจ้าหญิงยูยีนเป็นขวัญใจหนังสือพิมพ์แทบลอยด์อังกฤษ ซึ่งแม้จะลงข่าวเชิงหวือหวาฮือฮา แต่ก็น่ารักน่าเอ็นดูเสียมากกว่า ถ้าจะมีที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายบอดี้การ์ดอย่างที่ว่า เพราะทั้งสองไม่น่าตกเป็นเป้าปองร้าย แต่รัฐบาลก็ยังต้องจ่ายราวปีละ 250,000 ปอนด์ต่อคน
 
นั่นเป็นภาพสะท้อนด้านหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในแบบอังกฤษ ซึ่งไม่มีกฎหมายหมิ่นราชวงศ์ แถมยังเปิดให้มีพวก Republic ซึ่งก็คือพวกนิยมสาธารณรัฐ ต้องการให้ประมุขมาจากการเลือกตั้ง (พูดง่ายๆว่าพวก “ไม่เอาเจ้า”) เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย มีสิทธิมีเสียงเต็มที่ในระบอบประชาธิปไตย เช่นตอนที่มีพิธีเสกสมรส ซึ่งรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนให้มีปาร์ตี้ปิดถนน พวก Republic ก็จัด “ปาร์ตี้ไม่เอาเจ้า” แข่งกับเขาด้วย
 
อย่างไรก็ดี เนื่องจากราชวงศ์อังกฤษไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง (นอกจากพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นลอร์ด เป็นเซอร์ เช่นเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน) ทหารเสือราชินี (ควีนสปาร์คแรงเยอร์ เพิ่งขึ้นพรีเมียร์ลีก ฮิฮิ) ก็ไม่ถือเอาความจงรักภักดีเหนือกว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลในสมเด็จพระราชินี แม้กระทั่งพระราชดำรัสของควีนอลิซาเบธเมื่อเปิดสภา ก็ยังเป็นรัฐบาลร่างให้ (ไม่มีพระบรมราโชวาท นอกจากคำอวยพรสั้นๆ ในวันสำคัญเช่นคริสต์มาส) พวก Republic เคลื่อนไหวให้ตายก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่วิพากษ์วิจารณ์อยู่เรื่องเดียวคือเรื่องงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ซึ่งราชวงศ์ก็พยายามจำกัดค่าใช้จ่ายลงเรื่อยๆ
 
เช่นเมื่อปีที่แล้ว ค่าใช้จ่ายของราชวงศ์ลดลงจาก 33.9 ล้านปอนด์เหลือ 32.1 ล้านปอนด์ ค่าใช้จ่ายนี้แยกเป็นหลายส่วน เช่น เงินเดือนข้าราชบริพารและค่าใช้จ่ายงานพิธี 13.7 ล้านปอนด์ ค่าดูแลรักษาซ่อมแซมวัง 11.9 ล้านปอนด์ และค่าเสด็จเยือนทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นทางการ 6 ล้านปอนด์ ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งออกกฎหมายใหม่ Sovereign Grant Bill กำหนดค่าใช้จ่ายให้สำนักพระราชวังโดยคิดจากฐานรายได้สำนักงานทรัพย์สินของราชวงศ์ (Crown Estate) ซึ่งมีสินทรัพย์ 6.2 พันล้านปอนด์ และมีกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านปอนด์ (นำรายได้ส่งเข้าคลัง)
 
อย่างไรก็ดี พวก Republic วิจารณ์ว่า ค่าใช้จ่ายนี้ไม่ใช่ตัวเลขจริง เพราะไม่รวมค่ารักษาความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของจริงน่าจะอยู่ราว 200 ล้านปอนด์ เป็นโสหุ้ยของประเทศแลกกับการยังมีราชวงศ์ (แต่มองมุมกลับที่จริงต่อให้อังกฤษเปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดี ก็ไม่ใช่ว่าค่าใช้จ่ายเท่ากับศูนย์ เพราะต้องมีงานพิธีอยู่ดี และยังไงๆ ก็ต้องดูแลซ่อมแซมวังที่เป็นโบราณสถาน)
 
พวก Republic เคยคำนวณว่า ค่าใช้จ่ายราชวงศ์ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ราว 41 ล้านปอนด์ เป็นภาระประชาชนคนละ 69 เพนนี แต่ผู้สนับสนุนราชวงศ์ก็โต้ว่าคิดแล้วราคาของการมีราชวงศ์ เฉลี่ยต่อหัวประชากรยังน้อยกว่าค่านม 2 ไพพ์
 
พวก Republic มีเว็บไซต์ของตัวเอง http://www.republic.org.uk/ มีผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันราว 12,000 คนเท่านั้น แม้ผลสำรวจความเห็นตอนงานเสกสมรสวิลเลียม-เคท ระบุว่าคนอังกฤษ 46% ไม่สนใจ มีแค่ 37% ที่สนใจจริงจัง แต่นั่นก็มองได้ว่า ราชวงศ์อังกฤษไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่ด้วยการที่มีคนรักทั้ง 100% ขอแค่ 37% หรืออาจจะ 40% - 50% ส่วนที่เหลืออาจจะเฉยๆ รู้สึกว่ามีดีกว่าไม่มี รู้สึกว่ามีก็ไม่เดือดร้อนอะไร (แค่ค่านม 2 ไพพ์ แถมยังโบกแท็กซี่เอง) อาจจะไม่รัก แต่ก็ไม่เกลียด ขณะที่มีคน “ไม่เอา” อยู่หยิบมือเดียว ก็ปล่อยให้เคลื่อนไหวไป เพราะถือเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะ “เอาเจ้า” หรือ “ไม่เอาเจ้า” แต่ตราบใดที่เสียงส่วนใหญ่เขาเอา พวกเสียงส่วนน้อยหยิบมือเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็มีด้านดีตรงที่การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพวก Republic ทำให้ราชวงศ์ต้องทำตัวให้เหมาะสมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ พยายามปรับตัวเพื่อให้เป็นที่นิยมของคนชั้นกลาง ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่
 
อังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นควีนหรือรัชทายาท แต่ถ้าใครแสดงกิริยาไม่เหมาะสม สังคมก็บอยคอตต์ เช่นเคยมีดีเจวิทยุปิดคำอวยพรวันคริสต์มาสของควีนอลิซาเบธแล้วแสดงปฏิกิริยาไม่ควร ก็โดนคนฟังรุมด่าจนสถานีต้องไล่ออก การหยามหมิ่นไม่ให้เกียรติบุคคลที่คนจำนวนมากเคารพรัก ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการไม่เคารพเสรีภาพในความเชื่อของผู้อื่น ไม่ต่างจากคนนับถือศาสนาหนึ่งลบหลู่ศาสดาของอีกศาสนาหนึ่ง คนที่ไม่รักก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนที่เขารัก แต่คนที่รักก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนที่ไม่รัก และเปิดใจกว้างรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม
 
อังกฤษก็เลยไม่มีคนชูป้ายทำหน้าสงสัยเต็มแก่ว่า “ทำไมไม่รักควีนอลิซาเบธ” เพราะเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ใครไม่รักก็สามารถอธิบายให้หายสงสัย แต่หายสงสัยแล้วถ้ายังรักอยู่ก็เป็นเสรีภาพของใครของมัน ตราบใดที่ราชวงศ์อังกฤษยังมีคนรักอยู่จำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนมากไม่เดือดร้อนกับการมีพระราชินีทรงเป็นประมุข มีคน “ไม่เอา” แต่ส่วนน้อย ราชวงศ์อังกฤษก็ไม่ต้องกลัวพวก “ล้มเจ้า” และดำรงอยู่อย่างยั่งยืนในระบอบเสรีประชาธิปไตย
 
                                                                        ใบตองแห้ง
                                                                        5 ธ.ค.54

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net