น้ำตาสลิ่ม#2: กรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่ชนชั้นกลาง

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ” ชี้กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นแค่ที่อยู่ชนชั้นกลางแต่เต็มไปด้วยผู้ใช้แรงงานและคนที่อยู่ล่าง สุดของสังคม และคนที่เจอผลกระทบน้ำท่วมก่อนคือคนชั้นล่างในชุมชนนอกคันกั้นน้ำ พร้อมอธิบายสภาพชนชั้นกลางที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจจึงไม่มั่นคงในอุดมการณ์ ทางการเมือง อาจเป็นเหลืองหรือแดงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองว่าฝั่งไหนเข้มข้นกว่ากัน

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ร้าน 9 บรรทัด จ.เชียงใหม่ มีการจัดเสวนา: น้ำตาสลิ่ม: ชนชั้นกลางเป็นภัยต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจริงหรือ? โดยประชาไทได้เสนอการอภิปรายของวิทยากร บุญเรือง นักวิจัยศูนย์วิจัยหมูหลุมไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมาเป็นการนำเสนอของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ จากกลุ่มประกายไฟ โดยมีรายละเอียดการอภิปรายต่อไปนี้ (หมายเหตุ: ตัวเน้น เป็นการทำเครื่องหมายโดยประชาไท)

 
000

“เวลา ที่เราพูดถึงกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีแต่ชนชั้นกลาง ในความหมายแบบแคบ กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยผู้ใช้แรงงานและคนที่อยู่ระดับล่างที่สุดในสังคม นี่ไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทุกเมือง”

“อย่า พยายามมองว่าคนที่ใช้อินเตอร์เน็ต คนที่ช็อปปิ้ง คนที่ขับรถมา คนที่ใช้แบรนด์เนม เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างก็ใช้แบรนด์เนมได้ เพราะแบรนด์เนมอย่างน้อยก็คุณภาพดี ถ้าพอมีตังค์เราก็อยากจะซื้อใช่ไหมครับ ไอแพด ไอโฟนถ้ามีตังค์ผมก็อยากซื้อ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงชนชั้นล่าง ชนชั้นล่างไม่ได้ด้อยในทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ชนชั้นล่างไม่สามารถควบคุมการผลิตของสังคมนี้ได้ ถูกกีดกันออกจากการควบคุมการผลิต แต่เขาไม่ได้เป็นคนจน เพราะฉะนั้นการเรียกคนเสื้อแดงเป็นคนจนจึงเป็นมายาคติที่สำคัญมากที่นัก วิชาการต้องรื้อมายาคตินี้ทิ้งไป”

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

 

ถ้าปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ
คนที่จะตาย-่าก่อนคือคนชั้นล่างไม่ใช่ชนชั้นกลาง

งานนี้ เกิดจากการที่เราคุยกันในหลังจากที่มีงานเสวนาน้ำท่วม(ปาก) ที่ร้าน Book Re:pulic (ข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2]) ซึ่งโดยส่วนตัวมีผมคนเดียวที่ไปฟัง และผมเกิดความหงุดหงิดมาก เพราะได้ฟังพี่คำ ผกา ซึ่งพูดประโยคหนึ่งซึ่งทำให้ผมโกรธมากจนเกิดงานวันนี้ ก็คือคำ ผกาพูดว่า ไม่เป๊ะๆ นะครับ แต่ความหมายนี้ คือบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ผิดพลาดที่เอาใจคนกรุงเทพฯ มากเกินไป ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ มีแค่ 4 ล้านคน แต่คนชนบทมีตั้ง 40 ล้านคน ทำไมไม่ปล่อยให้กรุงเทพฯ น้ำท่วม รัฐบาลชุดนี้สะท้อนองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาว่าเรามักจะเอาใจคนที่เรา ไม่ชอบมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นข้อเสนอของคำ ผกา ก็คือปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านของชนชั้นกลางสลิ่ม ที่คำผกาเรียก อันนี้ด้วยความเคารพไม่ได้ด่าพี่นะครับ ปล่อยน้ำท่วมบ้านของสลิ่มไป แต่รักษาฐานเสียงพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในชนบท 40 ล้านคน อันนี้เป็นที่มาของการเสวนาในวันนี้ ผมรู้สึกว่าเราในฐานะที่มีนักพูดหรือนักเขียนเสื้อแดงหลายๆ คนที่เป็นปัญญาชน สิ่งที่เขาพูดหลายๆ อย่าง รู้สึกมันสามานย์เกินไปในการอธิบายสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำว่าสลิ่มว่าหมายถึงคนกรุงเทพฯ

ผม อยากจะตั้งข้อสังเกตนิดหนึ่งก่อนที่จะพูดเชิงทฤษฎีก็คือว่า ถ้าเราดูกรณีข่าวน้ำท่วมกรุงเทพฯ สิ่งที่เราจะเห็นเลยก็คือรัฐบาลและ กทม. จะประกาศตลอดว่า "ให้ระวังชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ" คนพวกนี้คือไม่ได้รับการป้องกันจากกรุงเทพฯ เวลาที่รัฐบาลประกาศให้ชุมชนที่อยู่นอกคันกันน้ำระวังน้ำ ให้รีบอพยพ เวลาที่เราใช้คำว่าชุมชน เรารู้แล้วว่าคือสลัม อันนี้พูดง่ายๆ ในภาษาชาวบ้าน นั่นหมายความว่า มีคนจำนวนมากในกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจ หรือไม่ได้อยู่ในสถานที่ โลเคชัน หรือบ้านที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมอย่างดีเลิศ อย่างที่คำ ผกา หรือคนอื่นๆ จะพูดถึง

เพราะฉะนั้น สิ่ง ที่เราจะเห็นจากปรากฏการณ์น้ำท่วมคือคนที่จะตายห่าก่อนเมื่อเกิดน้ำท่วม อยุธยาและกรุงเทพฯ ก็คือคนที่เป็นคนงานที่อยู่ตามหอพัก ตามโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเช่าต่างๆ นั่นคือคนชั้นล่างที่สุดของสังคม และเป็นผู้ผลิตจริงๆ ของสังคมไทย หรือของสังคมระบบทุนนิยมในประเทศไทย

เพราะฉะนั้นการปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ แล้วมีคนแค่ 4 ล้านคนท่วมนี้ เป็นคำพูดที่สามานย์ที่สุดสำหรับคนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย

 

กรุงเทพฯ ที่มีมากกว่าชนชั้นกลาง

คราว นี้ผมจะพูดถึงทฤษฎีในทางสังคมศาสตร์ที่อธิบายชนชั้นกลาง ผมจะพูด 3 กรอบแนวคิดในทางสังคมศาสตร์ หนึ่งในฐานะที่ผมเป็นนักรัฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์กระแสหลักโดยทั่วไปมักจะเชื่อว่า ชนชั้นกลางไม่ว่าเขาจะหมายความว่าอะไรก็ตาม ชนชั้นกลางคือคนที่เป็นพลังของประชาธิปไตย คนพวกนี้จะรู้ดีที่สุดว่าประชาธิปไตยคืออะไร ส่วนคนชั้นล่างก็เป็นคนโง่ คนจนก็จะเป็นคนโง่ เพราะฉะนั้นยิ่งเรามีการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็จะเกิดชนชั้นกลางมากขึ้น เมื่อเกิดชนชั้นกลางมากขึ้นก็นำไปสู่การเกิดประชาธิปไตยมากขึ้น

การ ดีเบทในประเด็นนี้ นักรัฐศาสตร์กระแสรองจะโต้นักรัฐศาสตร์กระแสหลัก โดยการพิสูจน์ผิดว่า ชนชั้นกลางไม่ได้เป็นพลังที่นำไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ อันนี้ถ้าเราดูงานคลาสสิกของมาร์กซ์ (Karl Marx) นะครับ มาร์กซ์จะพูดว่าการขยายตัวหรือการพัฒนาของระบบทุนนิยม นอกเหนือจากจะสร้างผู้ประกอบการ หรือชนชั้นกลาง หรือชนชั้นนายทุนน้อย (Petty Bourgeois) แล้ว มันยังนำไปสู่การขยายตัวหรือการเพิ่มจำนวนของคนงาน หรือชนชั้นผู้ใช้แรงงานด้วย ซึ่งชนชั้นนี้จะกลายมาเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและนี่เป็นประเด็นที่รัฐศาสตร์ไม่ค่อยพูดถึง

เพราะฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic development) หรือพูดอีกอย่างคือการพัฒนาทุนนิยม (Capitalism) จึงไม่ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการในระบบทุนนิยม อย่างเดียวอย่างที่ อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอ แต่ยังนำไปสู่การขยายตัวของจำนวนผู้ใช้แรงงานในเมือง และในบริเวณต่างๆ ที่การพัฒนาแบบทุนนิยมเข้าไปถึง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักรัฐศาสตร์กระแสรองจำนวนมากที่ด่าชนชั้นกลางไม่ได้พูดถึง ก็คือไม่ได้พูดถึงการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ที่ไม่มีปัจจัยการผลิต คนที่ทำงานในภาคบริการทั้งหลาย แม้กระทั่งการขายบริการทางเพศ หรืออื่นๆ เยอะแยะที่อยู่ในเมือง และเอาเข้าจริงคนจำนวนมากที่ทำงานในภาคบริการ เมื่อทำงานเสร็จก็กลับไปอาศัยในสลัม ในหอพักด้วย นั่นคือสิ่งที่ กทม. เรียกว่าชุมชน จริงๆ ก็คือสลัม ไว้รองรับกรรมกรที่มาจากต่างจังหวัดที่มาอยู่ในเมือง

เวลา ที่เราพูดถึงกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีแต่ชนชั้นกลาง ในความหมายแบบแคบ กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยผู้ใช้แรงงานและคนที่อยู่ระดับล่างที่สุดในสังคม นี่ไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทุกเมือง เรา อาจไม่คิดว่าเชียงใหม่มีขอทาน แต่ผมก็เจอขอทานที่เชียงใหม่ ประเด็นคือเชียงใหม่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชนชั้นทุกชนชั้นในสังคม คนที่รวยที่สุด จนถึงคนที่จนที่สุด และอยู่ในสลัม (เสียงแทรก: ต่างด้าวด้วย) ใช่ แรงงานต่างด้าวด้วย

 

ชนชั้นกลางผู้มีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
และอุดมการณ์ทางการเมืองที่แปรผันตามกระแส 

ประเด็น ต่อไปที่จะพูดถึงคือ การศึกษาชนชั้นกลางจากมุมมองสังคมวิทยา มันจะเริ่มต้นจากสำนักคิดสองสำนักคิดหลักๆ สำนักแรกเป็นสำนักคิดกระแสหลักของแม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) สำนักคิดที่สองคือ Marxist ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซ์ดั้งเดิมหรือรุ่นใหม่ๆ

ไม่ ว่าสองสำนักนี้จะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้องค์ความรู้เกี่ยวกับชนชั้นกลางในมุมมองสังคมวิทยาทั้งสอง สำนัก มีความใกล้เคียงกัน ในการศึกษาชนชั้นในสังคมทุนนิยม เขายืนยันว่าชนชั้นกลางมีอยู่จริง แต่ชนชั้นกลางไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่คนเชื่อ ชนชั้นกลางไม่ได้มีจำนวนมากมายขนาดนั้น

ชนชั้นกลางประกอบด้วยใครบ้าง ชนชั้นกลางประกอบด้วยคนสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง หลาย อย่างบ้านผมเป็นร้านขายเสื้อผ้า แม่ผมมีลูกจ้าง 1 คน คือมีปัจจัยการผลิตแต่มีปัจจัยการผลิตน้อยมาก จนกระทั่งไม่สามารถไปสะสมทุนได้มาก คนพวกนี้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ขึ้นลงตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

คนกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เรียกว่าManagerial Class คน พวกนี้คือคนที่ไม่ได้มีปัจจัยการผลิต เป็นลูกจ้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เช่น พวกผู้จัดการ คนคุมงานที่รับคำสั่งนายจ้างแล้วมาสั่งงานคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าเราไปถามคนงาน คนงานก็จะบอกว่าที่เขาเกลียดอาจไม่ใช่นายจ้าง แต่เป็นโฟร์แมนที่คุมงานเขาทุกวัน

เราจะเห็นว่า ในระบบทุนนิยม ทุกวันนี้ CEO กับ เจ้าของ หรือแม้กระทั่งคนคุมงานกับเจ้าของก็แยกออกจากกัน สิ่งที่คนงานจะเจอในชีวิตประจำวันคือคนคุมงานคือผู้จัดการ เราจะเห็นว่าสถานะของชนชั้นผู้จัดการเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ มีคนลักษณะนี้มากขึ้น ซึ่งในงานสังคมวิทยาจะพบว่ามันเกิดคนสองกลุ่มนี้ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ใน ปัจจุบัน

และคนสองกลุ่มนี้มีสถานะไม่มั่นคง ผมยกตัวตัวอย่างง่ายๆ เราบอกว่าคนงานกรรมกรโรงงานชุดชั้นในไทรอัมพ์โดนไล่ออกจากงานพันเก้าร้อย กว่าคน แต่หลังจากที่คนงานโดนไล่ออก ผู้จัดการโรงงานโดนไล่ออกทันที เพราะว่าไม่สามารถควบคุมคนงานไม่ให้ประท้วงได้นั่นหมายความว่าแม้กระทั่งผู้ จัดการก็ไม่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในการทำงาน

นั่นหมายความว่า ชนชั้นเหล่านี้ทั้งผู้ประกอบการ และ Managerial Class มัน มีสถานะที่ไม่มั่นคงในทางเศรษฐกิจ ถ้าสามารถเก็บเงินสะสมทุนได้อาจไปทำธุรกิจเอง คุณก็อาจจะผันตัวไปเป็นนายทุน แต่ถ้าคุณถูกไล่ออกจากงาน หรือธุรกิจเจ๊ง ก็อาจจะผันตัวเป็นกรรมกร หรือส่งลูกไปเป็นกรรมกร ส่งลูกไปทำงานในโรงงาน บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ในฐานะที่เป็นแรงงานเหมือนแรงงานปกติ

นั่นหมายความว่า ใน ทางทฤษฎีสังคมวิทยา ชนชั้นกลางทั้งสองประเภทนี้มีลักษณะที่สำคัญคือไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเมื่อไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็จะไม่มีความมั่นคงในแง่อุดมการณ์ทาง การเมือง อาจจะเป็นคนที่อนุรักษ์นิยมก็ได้ เหลืองก็ได้พูดง่ายๆ อาจจะเป็นแดงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองว่าฝั่งไหนเข้มข้นกว่ากัน ถ้าฝั่งแดงเข้มข้นกว่า ชนชั้นกลางอาจจะผันตัวมาเป็นเสื้อแดงก็ได้ ถ้าฝั่งเหลืองเข้มข้นกว่าอาจเป็นเสื้อเหลือง นี่เป็นในทางสังคมวิทยา

ในแง่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ขอยกตัวอย่างงานของอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ซึ่งอยากให้อ่านดูคือหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5" นิธิศึกษาเกี่ยวกับลัทธิบูชารัชกาลที่ 5 เคยเห็นไหมครับ ที่คนเข้าทรงรัชกาลที่ 5 แล้วไปถวายดอกไม้ เอาวิสกี้ไปถวายพระบรมรูป ร.5 ทุกวันอังคารตอนกลางคืน

นิธิเริ่มต้นโดยการบอกว่า สังคมไทยมันมีชนชั้นที่เราเรียกว่าชนชั้นกลางเกิดขึ้นในเมือง ในเมืองไม่ได้แปลว่ากรุงเทพฯ เท่านั้นนะครับ เชียงใหม่ ภูเก็ตก็เป็นเมือง นั่นหมายความว่ามีชนชั้นเหล่านี้เกิดขึ้นซึ่งไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คนพวกนี้ หนึ่ง ไม่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ คนพวกนี้จำนวนหนึ่งเป็นคนจีน และต้องการยึดโยงตัวเอง อัตลักษณ์ตัวเองเข้ากับรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้เกิดในตระกูลล่ำซำ จิราธิวัฒน์ หรือตระกูลใดๆ ก็ตามที่เป็นไฮโซ เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่คนเหล่านี้จะยึดโยงกับชนชั้นสูงได้ก็คือ "บูชาเสด็จพ่อ ร.5"

นิธิเสนอว่าชนชั้นเหล่านี้เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้น ล่าง เพราะคนเหล่านี้พยายามต่อสู้เพื่อที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากเลียผู้มี อำนาจรัฐ โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ และศาสนาที่งมงาย

ผมรีวิวให้เห็นว่ามีการศึกษาจากรัฐศาสตร์ การเมืองเปรียบเทียบ สองจากสังคมวิทยา และจากแง่มุมประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

 

คนจนในใจกลางระบบทุนนิยม

ก่อน ที่ผมจะย้ายไปพูดถึงพี่คำ ผกาอีกรอบ ผมอยากจะขอพูดถึงงานเขียนชุดหนึ่งที่ผมอยากให้อ่าน เขาพูดถึงไอเดียอันหนึ่งไม่รู้ว่าภาษาไทยแปลว่าอะไร เขาเรียกว่า "Metropolis" (ในหนังสือชุดไตรภาค คือ Empire, Multitude และ Commonwealth) งานของไมเคิล ฮาร์ท (Michael Hardt) และอันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) เสนอว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกเข้าสู่ความเป็นทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่

เมือง เมื่อก่อนแนวคิดเรื่องเมืองที่เป็นศูนย์กลาง มันจะแยกออกจากบริเวณที่เป็นชายขอบ มันจะพูดถึงเมืองที่ต่างสองประเภทเช่น กรุงเทพฯ กับชนบท อย่างเช่นแนวคิด Classic Marxist จำนวนหนึ่งจะบอก ว่า ชนบทเป็นชายขอบ เมืองกรุงเทพฯ คือศูนย์กลาง กรุงเทพฯ จะขูดรีด แย่งชิงทรัพย์กรจากชายขอบ ทฤษฎีพึ่งพิง ทฤษฎี World System ก็จะพูดแบบนี้

แต่งานของ ฮาร์ทกับเนกรี เสนอว่าปัจจุบันนี้ไม่สามารถแยกได้ระหว่างเมือง Metropolis กับ ชายขอบ Periphery เพราะว่าคนที่จนที่สุด ถูกยัดเข้าไปอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางที่สุดของทุนนิยม ซึ่งต้องการแรงงานที่ Flexible หรือยืดหยุ่นที่สุด ซึ่งนั่นคือคนที่จนที่สุดและเป็นแรงงานระดับล่างสุดของสังคม

เพราะ ฉะนั้น คนที่บอกว่า กรุงเทพฯ มีคนแค่ 4 ล้านคน แล้วต่างจังหวัด 40 ล้านคนแล้วปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้นี้ คือคำพูดที่ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยม ก็คือว่ามันมีคนจำนวนมากซึ่งเอาเข้าจริงคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะประมาณ 10 กว่าล้านคน เพราะฉะนั้นอีก 6 ล้านคนที่ไม่ได้พูด ก็คือคนที่อยู่ในสลัม คนที่เป็นกรรมกร ที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาหรือทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นนี่คือความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น และฮาร์ทกับเนกรีเรียกว่าเป็น Metropolis เพราะฉะนั้น Metropolis คือทุกที่ในโลกมีลักษณะแบบนี้เหมือนกันหมดแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่สหรัฐอเมริกา หรืออยู่อุดรธานีก็ตาม อุดรธานีผมก็เชื่อว่ามีเสื้อเหลืองเยอะแยะไปหมด

ฮาร์ทกับเนกรีเสนอว่า การเกิดขึ้นของ Metropolis หรือ การที่คนทุกระดับเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ในศูนย์กลาง มันไม่ได้เป็นเรื่องในทางลบอย่างเดียว ระบบทุนนิยมอาจจะเอาเปรียบกรรมกร อาจจะขูดรีดคนที่ถูกดึงเข้ามา ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าคนจนหรืออะไรก็ตามในเมือง

แต่การเปลี่ยน แปลงเข้าสู่เสรีนิยมใหม่ หรือการทำให้แรงงานมันยืดหยุ่นมากขึ้น มันยังมีบทบาทสำคัญในการปลดปล่อยคนจำนวนมากออกจากสังคมที่ล้าหลัง อันนี้สอดคล้องกับสิ่งที่มาร์กซ์พูดก็คือว่า ดึงเอาคนที่อยู่ในส่วนที่ล้าหลังที่สุด เข้ามาอยู่ในจุดที่ก้าวหน้าที่สุดของระบบ นั่นคือคนเหล่านี้ที่เข้ามาเป็นคนจนเมืองทั้งหลาย เป็นคนที่มีพลังมาก และเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาของระบบทุนนิยม ไม่ได้มีแต่ชนชั้นกลางเท่านั้นที่เกิดขึ้นของระบบทุนนิยม

เพราะ ฉะนั้น ฮาร์ทกับเนกรี รวมถึงมาร์กซ์จึงมองว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นพลังบวกของการเปลี่ยนแปลง ทางสังคม พลังของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้อยู่ในชนบท ไม่ได้อยู่ในส่วนที่ล้าหลังที่สุด ไม่ได้อยู่ในต่างจังหวัด แต่พลังของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคืออยู่ในเมือง และคนเหล่านี้ไม่ว่าคุณจะเรียกว่าอะไรก็ตามคือคนที่ขายแรงงาน ไม่ว่าคุณจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คุณจะทำงานภาคบริการ ขับแท็กซี่ คุณจะร้องเพลงในบาร์ คุณก็คือกรรมกรที่ทำงานแลกเงินเดือนอยู่ในเมือง นั่นคือพลังที่สำคัญที่สุดของระบบทุนนิยมในทัศนะของมาร์กซ์และพวกมาร์กซิสต์

พูด อีกทีหนึ่งก็ไม่ใช่อย่างที่พี่แขกพูดนะครับ ว่าคนพวกนี้อยู่ต่างจังหวัด 40 ล้านคน โอเคอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะอาจจะทำวิจัยว่าไปจังหวัดนั้นจังหวัดนี้แล้วพบว่าคนเสื้อแดงคือผู้ ประกอบการ ตัดผม เย็บผ้า ขายของชำในหมู่บ้าน แต่ถามจริงๆ ว่า รายได้หลักอยู่ที่ไหน ผมคิดว่ารายได้หลักอยู่ที่ลูกทำงานในเมือง เข้าไปอยู่ Metropolis ส่งเงินกลับไปให้มากกว่า เพราะฉะนั้นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ได้อยู่ในการตัดผมหรือการขายของชำ แต่อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการที่ Function อยู่ใน Metropolis หรือเมือง

โดยสรุปผมคิดว่าชน ชั้นกลางมีอยู่จริง อย่างที่ผมพูด คือพวกผู้ประกอบการ และชนชั้นที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ คนคุมงาน แต่ชนชั้นกลางไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่นักรัฐศาสตร์กระแสหลัก หรือหลายๆ คนเชื่อทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองเชื่อว่าเขามีมวลชนมหาศาล

 

ชี้เรียกคนเสื้อแดงเป็นคนจน คือมายาคติต้องรื้อทิ้ง

และ ข้อสรุปอีกอันหนึ่งก็คือว่า การที่เราบอกว่ามีชนชั้นล่าง รวมถึงผู้ใช้แรงงานจำนวนมากซึ่งไม่ใช่ชนชั้นกลางนี้ การพูดว่าเขาเป็นชนชั้นล่างไม่ได้แปลว่าเขาด้อยในทางการเมือง ไม่ได้แปลว่าโง่ ไม่ได้แปลว่าจน ไม่ได้แปลว่าเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอย่างที่นักวิชาการหมูหลุมพูด ก็คือว่านักวิจัยจากหมูหลุมได้เสนอไปแล้วว่า เอาเข้าจริง คนเสื้อแดงจำนวนมาก ผมยกตัวอย่างแบบนี้ก็แล้วกัน ตอนที่มีการต่อสู้ของนิคมอุตสากรรมลำพูน คนงานใช้อินเตอร์เน็ตในการต่อสู้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง แล้วคนเสื้อแดงจำนวนมากก็ยึดโยงกันผ่านเฟซบุค หรือ Social Network ต่างๆ

เพราะฉะนั้นการพูดว่าคุณเป็น เสื้อแดง และคุณเป็นคนชนบท คุณเป็นชนชั้นล่าง ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องโง่เสมอไป นั่นคือสิ่งที่มาร์กซ์ยืนยันมาตลอดว่า ยิ่งระบบทุนนิยมพัฒนามากเท่าไหร่ คุณจะถูกดึงเข้าไปสู่จุดที่ก้าวหน้าที่สุดของระบบ หรือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด

คืออย่าพยายามมองว่าคนที่ใช้ อินเตอร์เน็ต คนที่ช็อปปิ้ง คนที่ขับรถมา คนที่ใช้แบรนด์เนม เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างก็ใช้แบรนด์เนมได้ เพราะแบรนด์เนมอย่างน้อยก็คุณภาพดี ถ้าพอมีตังค์เราก็อยากจะซื้อใช่ไหมครับ ไอแพด ไอโฟนถ้ามีตังค์ผมก็อยากซื้อ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงชนชั้นล่าง ชนชั้นล่างไม่ได้ด้อยในทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ชนชั้นล่างไม่สามารถควบคุมการผลิตของสังคมนี้ได้ ถูกกีดกันออกจากการควบคุมการผลิต แต่เขาไม่ได้เป็นคนจน เพราะฉะนั้นการเรียกคนเสื้อแดงเป็นคนจนจึงเป็นมายาคติที่สำคัญมากที่นัก วิชาการต้องรื้อมายาคตินี้ทิ้งไป

ผมขอพูดถึงการศึกษาเสื้อแดงของนัก วิชาการ 3 กลุ่มสั้นๆ คือเวลาที่เสื้อแดงพูดถึงสลิ่ม เราพูดถึงสลิ่มเพียงเพื่อจะบอกว่าคนพวกนั้นไม่ใช่เสื้อแดง และเพียงเพื่อจะยืนยันว่าคนเสื้อแดงคือใคร กลุ่มแรกคืออาจารย์อรรถจักร์และอภิชาต สถิตนิรามัย บอกว่าคนเสื้อแดงคือชนชั้นกลางระดับล่าง คือผู้ประกอบการ กลุ่มที่สองคือคำ ผกา บอกว่าคนเสื้อแดงคือคนต่างจังหวัด ชนบท 40 ล้านคน กลุ่มที่สามคืออาจารย์ปิ่นแก้ว (เหลืองอร่ามศรี) และอาจารย์ทามาดะ โยชิฟูมิ เสนอว่าคนเสื้อแดงข้ามชนชั้น มีหลายชนชั้น เป็นพหุชนชั้น

(โดย สรุปผมจะวิจารณ์วิธีคิดทั้งสามอันนี้โดยสรุปอีกทีหนึ่ง) เวลาที่เราพูดว่าคนจน เราพูดคำว่าชนชั้นกลางระดับล่าง แบบที่อาจารย์อรรถจักร์ และอาจารย์อภิชาตพูดมันอธิบายคนเสื้อแดงได้ไหม

อันที่สอง จะพูดถึงงานของอาจารย์ปิ่นแก้ว ซึ่งบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นพหุลักษณ์ Plural Identity อะไร ก็ตามนี้ เวลาที่เราบอกว่า "คนเสื้อแดงคือทุกๆ คนนี่แหละ" มันมีความหมายไหมครับ คนเสื้อแดงคือใครก็ได้ที่อยากจะเป็นเสื้อแดง ที่มีความเห็นเหมือนเรา มันเป็นคำพูดที่นักวิชาการพูดไม่ได้ เพราะนักวิชาการพูดแบบนี้มันมักง่าย ทำไมถึงบอกว่ามักง่าย คือกูไม่ต้องเป็นนักวิชาการส้นตีนก็ได้ ก็พูดได้ว่าคนเสื้อแดง “หลากหลาย” เพราะทุกคนก็ไม่มีใครหน้าตาเหมือนกันถูกไหมครับ อาชีพประกอบก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดคำว่าหลากหลาย โดยตัวมันเองในทางวิชาการมันไม่มีความหมาย เราต้องระบุได้ว่า คนที่มาอยู่ในคนกลุ่มไหน Social Class หรือ Social Group อันไหนของสังคม มันถึงจะอธิบายได้ เพราะฉะนั้นการพูดแบบอาจารย์ทามาดะ หรืออาจารย์ปิ่นแก้ว โดยตัวมันเองมันไม่ Make Sense และมีลักษณะตีขลุม

ประเด็นสุด ท้าย การศึกษาเรื่องคนเสื้อแดงในปัจจุบัน ในทุกๆ กลุ่ม สิ่งที่สำคัญมาก ผมคิดว่าคนเสื้อแดงจำเป็นต้องรู้ว่าพวกเราคือใคร นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจและคิดว่าเรายังต้องทำต่อไป ที่หลายๆ ท่านทำไปแล้วก็มีคุณูปการ ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยแต่ก็มีคุณูปการ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ขาดไปที่สุดของการศึกษาเรื่องขบวนการเสื้อแดงก็คือไม่ได้ เข้าใจขบวนการเสื้อแดงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างทางชนชั้นที่มันกำลังเปลี่ยนไป

งานของอาจารย์ ปิ่นแก้วปฏิเสธตั้งแต่แรกเลยบอกว่าดิฉันไม่เอาเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยว ดิฉันจะเอาเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งแล้วคุณจะเอาเรื่องวัฒนธรรมไปวางอยู่บนบริบทของการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไทย สังคม Southeast Asia สังคมโลกได้อย่างไร ในเมื่อโลกมันกำลังเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงคือพลังทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมอย่างเดียว วัฒนธรรมไม่ได้งอกออกมาจากยานอวกาศมันถึงเกิดขึ้นได้

ผมอยากจะให้ลองดูงานศึกษาทางวัฒนธรรมซึ่งมีคุณค่ามาก นั่นคืองานของอาจารย์นิธิ ผมคิดว่างานของนิธิเรื่อง “ลัทธิ พิธีเสด็จพ่อ ร.5” มีความสำคัญมาก คืออาจารย์นิธิตั้งต้นคนละแบบกับอาจารย์ปิ่นแก้ว อาจารย์ปิ่นแก้วตั้งต้นงานวิจัยโดยการไปถามว่าทำไมคนเสื้อแดงถึงมาร่วมม็อบ เสื้อแดง ทำไมคนเสื้อแดงมาร่วมเมื่อไหร่ เพราะอะไร แต่งานของอาจารย์นิธิเริ่มต้นโดยการบอกเลยว่า ไอ้คนที่นับถือลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 ก็คือพวกชนชั้นกลาง นายทุนน้อยที่อยู่ในเมือง คนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่นิธิเริ่มคือเล่าว่าโครงสร้างทางสังคมและการเมือง ทางเศรษฐกิจ คนพวกนี้คับแค้นใจอย่างไรบ้าง อยู่จุดตรงไหน โดนเอารัดเอาเปรียบ หรือพยายามต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอะไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นจากโครงสร้าง ซึ่งผมเห็นด้วย ซึ่งวิธีการวิเคราะห์แบบนี้เป็นการวิเคราะห์ทางวัฒนธรรมก็จริงแต่ไม่ได้ ละเลยมิติในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคม แบบที่อาจารย์ปิ่นแก้ว และหลายๆ คนในขบวนละเลย ไม่ให้ความสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท