Skip to main content
sharethis

1. ผมเกิดและเติบโตในชุมชนเล็กๆ มีลำน้ำแม่ป๋าม ลำห้วยเล็กๆ เป็นอีกหนึ่งต้นธารของแม่น้ำปิง ไหลเลาะช่องเขา ผ่านหุบห้วย ทุ่งราบ ไหลเลียบหว่างตีนดอยกับทุ่งนา ก่อนไหลโค้งอ้อมลงไปสู่แม่น้ำปิงทางตอนท้ายของหมู่บ้าน ว่ากันว่า ชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นในยุคการสัมปทานป่า ครั้งนั้นรัฐไทยได้อนุญาตให้ บริษัทบอมเบย์ค้าไม้ จำกัด เป็นบริษัทคนต่างชาติเข้ามาสัมปทานตัดโค่นไม้สักทองในป่าผืนนี้ โดยมีลูกหลานเชื้อเจ้าเมืองเชียงใหม่ (หลังจากระบบการปกครองของเจ้าล้านนาถูกรัฐสยามเข้ายึดและปกครอง ระบบเจ้าเมืองเชียงใหม่ล่มสลาย)เป็นคนคุมงาน เป็นเช่นนั้น,เมื่อลูกหลานเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้กลายเป็นลูกจ้าง คนคุมงานของบริษัทต่างชาติ ภาพอดีตบอกผ่านคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านว่า เจ้าน้อยชมพู ณ เชียงใหม่ ได้พาคนงานซึ่งมาจากหลายบ้านหลายเมือง เข้ามาปลูกเพิงในป่าลึก ในขณะนั้น ดงสักทองแน่นหนา ถูกตัดโค่น ถูกชักลากออกจากป่า ปล่อยลงแม่น้ำปิง ผูกติดเป็นแพล่องน้ำปิง แพซุงได้ไหลล่องลงไปข้างล่าง ผ่านตัวเมืองเชียงดาว แม่แตง แม่ริม สันทราย เมืองเชียงใหม่ ผ่านลำพูน ฯลฯ ผ่านปากน้ำโพ ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา...และทะเล จริงสิ, ฟังดูแล้วนึกภาพตาม มันช่างเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่ต้นไม้หลายๆ ต้น จากเชียงดาวสามารถเดินทางไปไกลถึงครึ่งค่อนโลก...ใช่, ท่อนซุง ต้นสักทองขนาดใหญ่ได้ถูกแปรรูป และเดินทางไกลทางเรือไปโผล่แถวยุโรป คนเฒ่าเล่าว่า เมื่อตัดโค่นต้นสักขนาดใหญ่จนหมดเกลี้ยง บริษัทสัมปทานได้เคลื่อนย้ายไปยังอีกเมืองหนึ่ง อีกผืนป่าหนึ่ง แต่มีคนงานกลุ่มหนึ่งไม่ยอมไป เพราะได้เล็งเห็นว่าสภาพภูมิประเทศบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ มีผืนป่า ที่ราบในหุบเขา และมีลำน้ำไหลผ่าน จึงตัดสินใจ ปักหลักและร่วมกันตั้งถิ่นฐานกันที่นี่ จากคนงานตัดไม้ไม่กี่ครอบครัว ได้พากันมาปลูกกระต๊อบ แล้วช่วยกันลงแรง ทำฝายทดน้ำ ขุดลำเหมือง ขุดนา ปลูกข้าว ปลูกผักปลูกไม้ เลี้ยงสัตว์ อยู่กันสืบมา จนกลายเป็นหมู่บ้านแม่ป๋าม นับแต่นั้นจนถึงบัดนี้ ถ้านับถึง พ.ศ.2553 นี้ อายุของหมู่บ้านเกิดของผม ก็ปาเข้าไปได้เกือบร้อยปีแล้ว และจึงไม่แปลกถ้าผมจะบอกว่าเกิดและเติบโตในชุมชนของคนตัดไม้ ทุกครั้ง ที่ผมเดินเล่นในสวน ผมชอบเดินไปทักทายตอสักขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่รอบๆ สวน ผมชอบเอามือลูบคลำสีเทาหม่นซีดพร้อมร่องแตกของมัน ก่อนจะเดินกลับนั่งชิงช้าที่ผมทำผูกติดกับกิ่งไม้สักขนาดใหญ่หน้าบ้าน เป็นต้นสักต้นเดียวที่ผมเข้าใจว่าหลงเหลือและมีชีวิตรอดจากการสัมปทานป่าในยุคนั้น เหตุที่มันรอดตาย อาจเป็นเพราะต้นสักต้นนี้พิการ ลำไม่ตรง บิดงอ แตกกิ่งเติบโตออกเป็นพุ่มด้านข้าง จึงทำให้ชีวิตมันรอดพ้นจากเงื้อมมือของระบบทุน ที่ได้เดินทางมาพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในยุคสมัยนั้น แน่ละ, ทั้งตอสักเก่าแก่ และต้นสักพิการ ที่ผมเห็นและสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ จึงเป็นเหมือนชิ้นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หมู่บ้านที่หลงเหลือ กระนั้น ชุมชนของเราก็เติบโต อยู่ร่วมกันมาอย่างสงบและสันติสุข 2. แต่แล้วในปี พ.ศ.นี้ (2554) หมู่บ้านผมกำลังเจอกับความเปลี่ยนและแปลก จู่ๆ ผมก็ได้ยินข่าวมาว่า พื้นดินผืนป่าต้นน้ำแม่ป๋ามและเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดของผมนั้นกำลังจะถูกนโยบายรัฐไทย ดำเนินโครงการขนาดยักษ์ระหว่างประเทศพม่า-ไทย ใช้งบเป็นหมื่นๆ ล้านบาท โดยมีการผันน้ำกกลงแม่น้ำปิง ด้วยการสูบน้ำดันน้ำกกบริเวณตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย ไหลผ่านท่อ คลองซีเมนต์ขนาดใหญ่ ดันจากเขตพื้นที่อำเภอแม่อาย ผ่านอำเภอฝาง ไชยปราการ กระทั่งมาชนกับดอยหัวโท ซึ่งเป็นภูเขาสูงกั้นกลางระหว่างต้นน้ำฝางกับต้นน้ำแม่ป๋าม ต้นน้ำแม่งัด แน่นอน ดอยหัวโทนั้นสูงและปิดกั้นไม่ให้ทางน้ำกกไหลผ่านไปได้ แต่โครงการดังกล่าวไม่ยอมแพ้ ยังจะเดินหน้าต่อด้วยแนวคิดการเจาะอุโมงค์ขนาดยักษ์ขนาดรถสิบล้อสามารถวิ่งผ่านกันได้ พูดง่ายๆ ก็คือเขากำลังคิดจะเจาะอกภูเขา ให้ทะลุโผล่ที่หมู่บ้านป่าตึงงาม ชุมชนปกาเกอะญอ ของอำเภอเชียงดาว ก่อนจะไหลลงมาถึงหมู่บ้านแม่ป๋าม อันเป็นหมู่บ้านเกิดของผมซึ่งอยู่ทางตอนท้ายโครงการ มิหนำซ้ำ ยังจะมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าแถมให้อีก 1 โรง เพื่อต้องการกระแสไฟฟ้าไปใช้ในการปั่นไฟสูบน้ำให้กับโครงการนี้ แน่ละ โครงการยักษ์ขนาดนี้ เป็นแนวคิดของรัฐส่วนกลางทั้งสิ้น และกำลังขับเคลื่อนเดินหน้าอยู่ ในขณะที่คนในชุมชน หมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการนั้น กลับไม่ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ เลย และเมื่อหลายคนเริ่มหันมาศึกษาค้นคว้าข้อมูลกลับพบว่า โครงการนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับชาวบ้านชุมชนในเขตพื้นที่นี้เลย แถมยังจะก่อผลกระทบมหาศาล ไม่ว่าในเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลาย วิถีชีวิตและสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสุข สงบ จะเปลี่ยนไปอีกมากมายเพียงใด? นี่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังคิดวิตกกังวล และหาทางพูดคุยกันอยู่เงียบๆ 3. “คุณรู้สึกอย่างไรกับการเป็นเจ้าของประเทศคนหนึ่ง” ใครคนหนึ่งเอ่ยถามผม...เป็นคำถามง่ายๆ แต่ดูหนักหน่วง ทำให้ผมต้องครุ่นคิดไปต่างๆ นานา นึกย้อนไปถึงภาพเก่าๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทีละภาพ ทีละเรื่อง เหมือนภาพขาวดำ นึกถึงภาพชาวบ้านโป่งอาง เชียงดาว มีวิถีชุมชน ชีวิตอยู่กันอย่างมีความสุข กลับต้องลุกออกมาปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดของตน เมื่อรู้ว่ารัฐจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ท่วมทับพื้นที่ป่า พื้นที่ทำกินของของพวกเขา นึกถึงภาพพี่น้องชาวบ้านเวียงแหงที่ลุกขึ้นต้านโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์ เพราะทุกคนรู้ว่ามันจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายชีวิต จิตใจของคนเวียงแหง นึกถึงภาพของ จินตนา แก้วขาว แกนนำชาวบ้านบ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ ที่พยายามรักษาชีวิตพี่น้องชาวบ้าน ต้องยอมลงมือทำบางสิ่งเพื่อล้มโครงการขนาดยักษ์ของนายทุนและรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้ กระทั่งถูกศาลสั่งจำคุกสี่เดือนโดยไม่รอลงอาญา แล้วอดนึกถึงคำพูดของชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ไม่ได้ “จริงๆ แล้ว เราต้องการอยู่กันอย่างเรียบง่าย สงบ อยู่กับดิน อยู่กับน้ำ อยู่กับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกัน” “แต่ที่ผ่านมา ชุมชนหลายชุมชนเปลี่ยนไปก็เพราะคนนอกทั้งนั้นแหละ” “รัฐและนายทุนนั่นแหละตัวดี ที่ทำให้ชุมชนเราล่มสลาย” “คุณอย่ามาอ้างว่าทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ ลองคุณลองมาเป็นชาวบ้านที่นี่ดูสิ แล้วคุณจะรู้ จะอยู่ได้ไหม” “ยิ่งนโยบายรัฐยังคงเดินหน้าโครงการแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้เราต้องคิดและฝันกันให้มากขึ้นแล้วละว่า สักวันหนึ่ง ชุมชนหมู่บ้านของเราจะมีสิทธิ เสรีภาพและสันติสุขอย่างแท้จริง เป็นชุมชนที่ปกครองโดยชุมชน ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนที่โลภและเขลาเข้ามาวุ่นวายชุมชนของเรา” ไม่รู้สิ ว่าทำไมชาวบ้านหลายพื้นที่ถึงกำลังตื่นตัว และออกมาปกป้องผืนแผ่นดินเกิดของตนเองอย่างเข้มแข็งเช่นนี้ แต่ก็ทำให้หลายคนเริ่มกระจ่างมากขึ้นแล้วว่า- -ความเป็นประเทศนั้น ไม่ใช่มีเพียงแค่ระบอบการปกครอง สถาบันกษัตริย์ ศาสนา รัฐ กองทัพ รัฐบาล หรือระบบราชการ เพียงเท่านั้น แต่ชาวบ้านเริ่มรู้แล้วว่า ‘คนเล็กๆ’ ในชุมชนแต่ละชุมชนนั้น ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ถ้าไม่มีคน ก็ไม่มีประเทศหรอก”- -ชาวบ้านคิดกันง่ายๆ แบบนี้ นั่นทำให้ผมเชื่อมั่นมากขึ้นแล้วว่า คน ชุมชนสามารถจัดการดูแลกันเองได้ ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้คิดและลงมือทำนั้น เหมือนกับต้องการสื่อและถามกลับไปยังนักปกครองทั้งหลายที่กำลังหลง(และหลอกตัวเอง) คิดว่าเขานั้นคือเจ้าของประเทศ ที่มีอำนาจและสามารถกระทำสิ่งใดก็ได้ว่า... “แล้วคุณรู้จักความเป็นประเทศ ความเป็นรัฐชาติ ความเป็นคนและเผ่าพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ดีพอแล้วหรือยัง” --------------------- หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ ปลายทางเส้นนี้มีดอกไม้ วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 87 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net