Skip to main content
sharethis

ประชาชนประท้วงก่อนประชุมสุดยอดจี 20 ที่ฝรั่งเศส 2 พ.ย. 54 - ผู้ต่อต้านทุนนิยมหลายพันคนหลั่งไหลไปยังชายหาดริเวียราในเมืองนีซของฝรั่งเศส เพื่อเดินขบวนประท้วงความโลภของบริษัทใหญ่ก่อนที่จะมีการประชุมผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำและเศรษฐกิจเกิดใหม่ (จี 20) ที่เมืองคานส์ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน ผู้ประท้วงเดินทางมาจากทั่วยุโรปตั้งแต่วันจันทร์ (31 ต.ค.) เดินขบวนส่งเสียงดังไปตามชายหาด พวกเขามาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาชน ซึ่งจะจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดจี 20 ที่เมืองคานส์ อยู่ห่างออกไป 30 กิโลเมตร ตำรวจประเมินว่ามีผู้ร่วมเดินขบวน 5,400 คน แต่ผู้จัดแย้งว่ามีมากถึง 10,000-12,000 คน และหวังว่ารัฐบาลจะฟังเสียงของประชาชน นักเคลื่อนไหวของกลุ่มออกซ์แฟมราว 100 คนจากหลายประเทศ เช่น สเปน เบลเยียม เม็กซิโก มาร่วมเดินขบวนด้วย หลายคนสวมหมวกโรบินฮู้ด ซึ่งเป็นจอมโจรที่ปล้นคนรวยไปแจกจ่ายให้คนจน และถือกระเป๋าผ้ากระสอบเป็นสัญลักษณ์แทนตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีการทำธุรกรรมทางการเงิน การประท้วงต่อต้านทุนนิยมผุดขึ้นกว่า 80 ประเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยได้ต้นแบบมาจากการยึดครองวอลล์สตรีทในสหรัฐ ท่าเรือสำคัญในแคลิฟอร์เนียยังปิดหลังกลุ่มต่อต้านวอลล์สตรีทประท้วงใหญ่ 3 พ.ย. 54 - ท่าเรือโอกแลนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือพลุกพล่านที่สุดในสหรัฐยังคงปิดในเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากกลุ่มต่อต้านวอลล์สตรีทเคลื่อนขบวนประท้วงครั้งใหญ่ เว็บไซต์ของท่าเรือแจ้งเมื่อกลางดึกวันพุธ (2 พ.ย.) ว่า ท่าเรือแห่งนี้ค้าขายกับเอเชียถึงร้อยละ 59 และเป็นท่าเรือพลุกพล่านอับดับ 4 ของประเทศโดยวัดจากปริมาณสินค้า ทางท่าเรือได้ให้พนักงานกลับบ้านเร็วกว่าปกติเพราะผู้ประท้วงจำนวนมากเข้ายึดที่เทียบเรือ ท่าเรือจะหยุดการทำงานจนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัย หวังว่าจะเริ่มทำงานได้อีกครั้งในวันศุกร์และพนักงานจะสามารถเข้าไปทำงานได้โดยไม่เกิดเหตุใด ๆ จนถึงขณะนี้ไม่มีพนักงานถูกทำร้ายร่างกาย ไม่มีทรัพย์สินเสียหาย และไม่มีปัญหาความปลอดภัยขั้นร้ายแรง ท่าเรือโอกแลนด์ปิดหลังจากกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนชุมนุมใจกลางเมืองโอกแลนด์ เพื่อสนับสนุนการผละงานที่มีผู้ปลุกระดมขึ้นหลังจากตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายฝูงชนเมื่อสัปดาห์ก่อนและมีผู้บาดเจ็บ 1 คน การประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ แต่มีข่าวว่าการทำลายทรัพย์สินบางจุด เป้าหมายคือสาขาธนาคารที่ปิดทำการ. กลุ่ม “ออกคิวพาย ซิดนีย์” หลายร้อยคนออกมาชุมนุมประท้วงบนถนนหลายแห่งในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย 5 พ.ย. 54 - กลุ่มผู้ประท้วง “ออกคิวพาย ซิดนีย์” หลายร้อยคนออกมาชุมนุมบนถนนหลายแห่งในนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดของออสเตรเลีย ท่ามกลางการรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวดของตำรวจ กลุ่มนักเคลื่อนไหวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านความละโมบของกลุ่มทุนนิยมทั่วโลกให้คำมั่นว่า จะเข้ายึดศูนย์การค้ากลางใจเมืองย่านธุรกิจของนครซิดนีย์ ขณะที่ตำรวจปราบจลาจล และรถบรรทุก 2 คันของตำรวจเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าในบริเวณที่มีการชุมนุม. สหภาพแรงงานอิสราเอลขู่ผละงานใหญ่ประท้วงการละเมิดสัญญาจ้างงาน 6 พ.ย. 54 - สหภาพแรงงานทรงอิทธิพลในอิสราเอลชักชวนสมาชิกผละงานโดยไม่มีกำหนดเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่จะถึงนี้ เพื่อประท้วงการละเมิดสัญญาจ้างงาน สมาพันธ์สหภาพแรงงานฮิสทาดรุตกล่าวหารัฐบาลว่า หันไปจ้างพนักงานสัญญาจ้างมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ได้สิทธิและความคุ้มครองน้อยกว่าข้าราชการที่ได้รับความคุ้มครองจากข้อตกลงอำนาจการต่อรอง การผละงานโดยไม่มีกำหนดครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อประท้วงการที่ชาวอิสราเอลจำนวนมากในภาครัฐและเอกชนบางแห่งต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง การใช้แรงงานบุคคลเหล่านี้ซึ่งไม่มีสวัสดิการสังคม ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ และถูกเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นโรคระบาดที่จะต้องหาทางหยุดยั้ง สมาพันธ์ไม่สามารถบอกได้ว่า มีแรงงานกลุ่มนี้จำนวนเท่าใดเพราะตลาดขยายตัวรวดเร็วมาก การผละงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 11.00 น.วันจันทร์ตามเวลาในไทย จะกระทบการทำงานของกระทรวง หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลและคลินิกของรัฐ การขนส่งมวลชน ท่าอากาศยานเบนกูเรียน ธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทไฟฟ้าและโทรคมนาคม ก่อนหน้านี้รัฐบาลและสมาพันธ์ได้เจรจากันมาหลายวันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สมาพันธ์ต้องการให้พนักงานสัญญาจ้างร้อยละ 1 ได้รับความคุ้มครองเหมือนข้าราชการ แต่รัฐบาลยืนยันไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะกระทบเศรษฐกิจ แต่พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและสิทธิบางอย่างให้แก่พนักงานสัญญาจ้าง ลูกจ้างโรงพยาบาลในเซี่ยงไฮ้หลายร้อย หยุดงานประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าแรง 7 พ.ย. 54 - ลูกจ้างในโรงพยาบาลเหล่านี้มีหน้าที่ทำความสะอาดและปฐมพยาบาลผู้ป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ส่วนเรื่องการรักษาเขาไม่มีหน้าที่ ต้องปล่อยให้แพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องทำงานให้โรงพยาบาลผ่านการเซ็นสัญญาจากบริษัทเอกชน และมีหน้าที่ลงไปบริการด้านสาธารณสุขแก่ครอบครัวที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ โดยให้ค่าจ้างเป็นรายวันตั้งแต่ 40-80 หยวน โรงพยาบาลฯ เผยว่า การประท้วงหยุดงาน ลูกจ้างได้รวมตัวกันบริเวณระเบียงแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลซินหวา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยซั่งไห่เจียวทง เมื่อเวลาประมาณ 7.00น. ตามเวลาท้องถิ่น บรรดาลูกจ้างไม่มีใครยอมทำหน้าที่ปกติของตนเองเลย ตั้งแต่ทำความสะอาดห้องน้ำ ส่งผู้ป่วยไปห้องผ่าตัด หรือตรวจอาการเบื้องต้น พนักงานเกือบ 500 คนที่ทำงานในโรงพยาบาลนี้ได้ทำสัญญากับผู้ว่าจ้างที่เป็นเอกชน ซึ่งก็คือ ซั่งไห่ จีเฉิน ไฮจีน แอนด์ โลจิสติกส์ เซอร์วิส ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นองค์กรการลงทุนจากกรมอนามัยและศูนย์บริการโลจิสติกส์เซี่ยงไฮ้ พนักงานที่ประท้วงทั้งหมดปกติมีหน้าที่ทำความสะอาด เคลื่อนย้ายผู้ป่วย และส่งอาหารให้กับผู้ป่วย พวกเขาเรียกร้องว่า 1 เดือนได้หยุดงานแค่ 7 วัน ไม่สามารถลากิจในรายปีได้ พร้อมกับเรียกร้องให้จ่ายจ่าจ้างเพิ่ม และบอกรายละเอียดด้วยว่า ในวันเสาร์อาทิตย์พวกเขาจะต้องมาเข้าเวรลำพังเพียงเวรละ 2 คน และไม่ได้ค่าล่วงเวลา พวกเขายอมออกจากระเบียงห้องฉุกเฉินหลังจากเวลา 10.00 น. เพื่อไปต่อรองกับนายจ้าง ฝ่ายโรงพยาบาลเรียกร้องให้นายจ้างแก้ปัญหานี้ให้เร็วที่สุด และให้ชี้แจงเหตุผลและรายละเอียดของการเจรจาระหว่างพนักงานเหล่านี้กับประธานบริษัทฯ นายหวง เฉิน ต่อมา 17.00 น. พนักงานบางคนยอมทำงานตามปกติ หญิงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว xinmin.cn ของซั่งไห่ว่า เธอทำงานให้กับบริษัทนี้มาตั้งแต่ปี 2544 และบริษัทไม่จ่ายค่าประกันสังคมให้เธอมา 18 เดือนแล้ว ลูกจ้างอีกคนชี้ว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ลากิจบ้างเลย หรือไม่ได้รับเงินพิเศษจากการทำงานนอกเวลาตามกฎหมายแรงงานของประเทศด้วย พวกเขาได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 1,280 หยวน เท่ากับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสุด และก็จะมีการลดค่าจ้างลงไปอีกหากพวกเขาลากิจ ส่วนผู้บริหารฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯ เผยว่า ลูกจ้างได้ค่าจ้างตามสัญญา และส่วนการจ่ายประกันสังคมนั้นมีความผิดพลาดเพียงบางรายเท่านั้น มาเลเซียรับจะให้หลักประกันที่ดีขึ้นแก่แรงงานต่างด้าว 15 พ.ย. 54 - นายเอส ซูบรามาเนียม รัฐมนตรีทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย กล่าวว่า รัฐบาลจะมีระบบการตรวจสอบที่ดีขึ้นเพื่อให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว เขาบอกว่า ระบบใหม่ของรัฐบาลจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในด้านการเฝ้าสังเกตเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว นายซูบรามาเนียม กล่าวด้วยว่าแรงงานทั้งหมดในมาเลเซีย รวมถึงคนงานต่างชาติต่างได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันทั้งในด้านค่าจ้างและการจัดสรรงาน แต่ก็ยอมรับว่า แม้กฎหมายของมาเลเซียจะไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานท้องถิ่นและแรงงานต่างด้าว แต่ในบางครั้งก็ยังพบว่ามีการล่วงละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าวเหมือนกัน อินโดนีเซีย-มาเลเซียตกลงเรื่องสิทธิแรงงานต่างชาติได้แล้ว 18 พ.ย. 54 - รัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซียบรรลุข้อตกลงรับประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพของแรงงานอินโดนีเซียแล้ว หนังสือพิมพ์จาการ์โพสต์ของอินโดนีเซียรายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมเรื่องสัญญาการจ้างงาน มาตรฐานและวิธีการจ่ายค่าจ้าง วันหยุดประจำสัปดาห์ การเก็บหนังสือเดินทางอย่างปลอดภัย ระเบียบดูแลบริษัทจัดหางาน โครงสร้างค่าใช้จ่ายของการจัดหางาน การฝึกอบรม การเกลี่ยไกล่ข้อขัดแย้งและการตรวจลงตราหนังสือเดินทางสำหรับพลเมืองนอกกลุ่มประเทศในเครือจักรภพ (เจพีวีซา) นายมูห์ไอมิน อิสกันดาร์ รัฐมนตรีแรงงานของอินโดนีเซียเผยว่า บรรลุข้อตกลงกับมาเลเซียนอกรอบการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่บาหลี ส่วนบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศเรื่องคนทำงานบ้านจะถูกยกเลิกในวันที่ 1 ธันวาคม รัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซียยังได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมขึ้นประเมินและติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ด้วย โดยจะมีสำนักงานตั้งอยู่ในทั้งสองประเทศ และจะประกาศข้อตกลงนี้ให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงโทษผู้ละเมิด อิตาลีประท้วงรับนายกฯใหม่ หลังแถลงนโยบายเดินหน้ารัดเข็มขัด 19 พ.ย. 54 - นายมอนตี มาริโอ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลีประกาศแผนเศรษฐกิจและลดหนี้สิน หลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า รัฐบาลใหม่ของเขามีภารกิจสำคัญในการป้องกันการเลี่ยงภาษี ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อให้มีกำลังในการจ้างพนักงานใหม่ รวมถึงเดินหน้ามาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจและรัดเข็มขัดอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศและกลุ่มยูโรโซนเผชิญวิกฤติทางการเงินเพิ่มเติม ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ จะต้องไม่กระทบต่อความกลมเกลียวของประชาชนในสังคม โดยรัฐบาลของเขาจะต้องเผชิญการลงมติไว้วางใจของวุฒิสภาในวันนี้ ทันทีที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลีแถลงนโยบายเศรษฐกิจให้ประชาชนรับทราบ การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในกรุงโรมและอีกหลายเมืองทั่วประเทศ เช่น มิลาน และซิซิลี นักศึกษาและคนหนุ่มสาวพากันปะทะกับตำรวจปราบจลาจลในเมืองต่างๆ ขณะที่สหภาพแรงงานขนส่งประกาศเดินหน้าแผนหยุดให้บริการรถโดยสารและรถไฟตามที่ได้กำหนดเอาไว้แล้ว ด้านนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับสือมวลชนอิตาลีว่า จะไม่มีวันวางมือทางการเมืองอย่างเด็ดขาด แม้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ลงชิงชัยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกแล้วก็ตาม โดยจะทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์ให้พรรคการเมืองที่ตนตั้งขึ้นมากับมือก้าวสู่ชัยชนะให้ได้ ใครที่อยากให้ตนวางมือแล้วหันไปเขียนหนังสืออัตชีวประวัติอยู่กับบ้านนั้น เลิกคิดได้แล้ว ส่วนที่สหรัฐ กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านทุนนิยมได้พากันเดินขบวนในย่านการเงินสำคัญนครนิวยอร์ก เพื่อขัดขวางนักค้าหลักทรัพย์มิให้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้ ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวผู้ประท้วงไปดำเนินคดีราว 60 คน พร้อมทั้งวางแนวปิดกั้นโดยรอบตลาดหลักทรัพย์ อนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะผ่านเข้าออกได้ การชุมนุมประท้วงครั้งนี้เป็นการฉลองครบรอบ 2 เดือนของการเริ่มต้นประท้วงทุนนิยมในนิวยอร์ก ที่เริ่มครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายนที่ผ่านมา คนงานผลิตชิ้นส่วนให้แอปเปิลในจีน ประท้วงหยุดงานนับพัน 23 พ.ย. 54 - ศูนย์ติดตามแรงงานในประเทศจีนเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยคน บางคนมีอาวุธปราบจลาจล ได้ระดมพลเข้าไปในพื้นที่ หลังจากพนักงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่เซินเจิ้นรวมตัวออกมาประท้วง (23 พ.ย.) พร้อมกับปิดกั้นทางหลวงในช่วงเวลาทำงานเป็นเวลานาน “โดยปกติแรงงานในโรงงานจะทำงานล่วงเวลามากถึง 100 - 120 ชั่วโมงต่อเดือน และนอกจากนั้นพวกเขายังต้องทุกข์ทรมานกับความอันตรายจากสถานที่ทำงาน มีการไล่พนักงานรุ่นเก่าออก และมักได้รับคำด่าทอจากผู้จัดการอีก” ศูนย์ติดตามฯ เผย โรงงานดังกล่าวจ้างแรงงานจำนวน 3,000 คน ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำไข่มุก หรือแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเป็นแหล่งรวมแรงงานอพยพหลายล้านคน โรงงานดังกล่าวเป็นของกลุ่มผลิตชิ้นส่วนจิ้งหยวนของไต้หวัน ซึ่งผลิตชิ้นส่วนให้กับแอปเปิลและไอบีเอ็ม กลุ่มสิทธิเผยในแถลงการณ์ว่า “การประท้วงหยุดงานสิ้นสุดลงหลังจากบริษัทสัญญาว่าจะลดจำนวนการทำงานล่วงเวลาลง และขณะนี้ไม่มีใครในโรงงานกล้าพูดอะไรอีก” ก่อนหน้านี้แรงงานหญิงโรงงานชุดชั้นในที่เซินเจิ้น ซึ่งติดกับฮ่องกง ได้ตัดไฟฟ้าโรงงานและขว้างปาอุปกรณ์ในโรงงานหลังจากผู้จัดการด่าทอพวกเธอว่า “โดดหลังคาตายไปลงนรกซะ” และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แรงงานกว่า 7,000 คนในโรงงานทำรองเท้าของนิว บาลานซ์ อาดิดาส และไนกี้ ที่ตงกวน ออกมารวมตัวประท้วง และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบเนื่องจากปัญหาไล่พนักงานออกและตัดลดค่าแรง. แรงงานอินโดนีเซียประท้วงขอขึ้นค่าแรง 24 พ.ย. 54 - แรงงานชาวอินโดนีเซียหลายพันคนเดินขบวนประท้วงบนเกาะบาตาม เรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้า บรรดาแรงงานเดินขบวนประท้วงไปตามท้องถนนก่อนมาชุมนุมด้านนอกสำนักงานนายกเทศมนตรีของเกาะบาตาม เรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเดือนละ 6,400 บาทในปีหน้า ตามที่บริษัทและนายจ้างได้เคยให้คำมั่นไว้ หลังจากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ค่าจ้างและเงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน บรรดาแรงงานยังประกาศว่าจะนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ หากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถเจรจากับนายจ้างเพื่อให้ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ มีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจประปรายในหลายจุด แต่ไม่มีรายงานเหตุรุนแรงหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ แรงงานโปรตุเกสประท้วงใหญ่ มาตรการรัดเข็มขัด 25 พ.ย. 54 - ผู้ใช้แรงงานในโปรตุเกสชุมนุมบนท้องถนนประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ส่งผลให้การขนส่งสาธารณะหยุดชะงัก สหภาพแรงงานที่สำคัญ 2 แห่งของโปรตุเกสผละงานเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่มีเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งโปรตุเกสกำลังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในฤดูใบไม้ผลิเป็นต้นมา รัฐบาลโปรตุเกสสั่งตัดเงินเดือนข้าราชการ และจะขึ้นภาษีเงินได้และภาษีการบริโภคตั้งแต่ปีหน้า การประท้วงทำให้โรงเรียนและโรงพยาบาลจำนวนมากปิดทำการในวันพฤหัสบดี ส่วนระบบรถไฟใต้ดินในกรุงลิสบอนปิดบริการตลอดทั้งวัน เช่นเดียวกับเที่ยวบินกว่า 400 เที่ยวซึ่งมีเที่ยวบินระหว่างประเทศรวมอยู่ด้วย ได้ถูกยกเลิก ผู้ประท้วงจำนวนหลายพันคนปิดล้อมอาคารรัฐสภาในกรุงลิสบอน และมีผู้ประท้วงอย่างน้อย 3 คนถูกจับในการปะทะกับตำรวจ บริษัทฟิตซ์ เรตติง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินรายใหญ่ 1 ใน 3 แห่งของโลก ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้สาธารณะของโปรตุเกสอยู่ที่ระดับ ดับเบิลบีพลัส แรงงานสิ่งทอกัมพูชายินดีถ้วนหน้ากับประกาศขึ้นค่าแรงอีกเดือนละ 5 ดอลลาร์ 25 พ.ย. 54 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างสิ่งทอของกัมพูชา อยู่ที่ 61 ดอลลาร์ต่อเดือน หากทำงานล่วงเวลา หรือนำกลับไปทำที่บ้านเพิ่มจะมีค่าแรงอยู่ราว 90-100 ดอลลาร์ นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน กล่าวเมื่อวันพุธ ว่า การเพิ่มค่าแรงที่ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายนี้จะมีผลลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนม.ค. และว่าเงินส่วนนี้จะช่วยให้แรงงานมีสุขภาพดีขึ้น “เรามีความสุขมากเกี่ยวกับการเพิ่มค่าแรง สิ่งนี้จะช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ของเรา” นางแก้ว รานี แรงงานหญิงในกรุงพนมเปญ กล่าว ภายในปี 2554 นี้ เกิดเหตุเป็นลมหมู่ขึ้นหลายสิบครั้งกับแรงงานหลายร้อยคนในอุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชา โดยโรงงานบางแห่งผลิตสินค้าให้กับร้านที่มีชื่อเสียงหรือยี่ห้อดัง เช่น พูม่า หรือ H&M เหตุเป็นลมหมู่ที่เกิดขึ้นมักกล่าวอ้างว่ามีสาเหตุมาจากสุขภาพที่ย่ำแย่ของแรงงาน ระบบถ่ายเทอากาศในโรงงานไม่ดี หรือการสัมผัสกับสารเคมีอันตราย แต่นักสังเกตการณ์หลายคนกล่าวว่า แรงงานจำนวนมากทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมงและอดอาหารเพื่อนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือครอบครัวในประเทศที่ยากจนแห่งนี้ นางจิลล์ ทัคเกอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาทางเทคนิคของโครงการ Better Factories Cambodia ของ ILO กล่าวว่า แม้ปัญหาหลายอย่างยังคงมีอยู่แต่รัฐบาล และเจ้าของโรงงานควรได้รับความยกย่องจากความเคลื่อนไหวครั้งนี้ที่ช่วยให้ความเป็นอยู่ของแรงงาน 400,000 คนดีขึ้นและช่วยชีวิตชาวกัมพูชาได้ถึง 1.7 ล้านคน นายเจีย มุนี หัวหน้าสหภาพแรงงานอิสระ กล่าวว่า การเพิ่มค่าแรงจะช่วยแรงงานในส่วนของค่ารักษาพยาบาลสำหรับดูแลสุขภาพตนเอง “เงินจำนวน 5 ดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นแม้จะเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ดีกว่าไม่ได้รับอะไรเลย” นายเจีย มุนี กล่าว ทั้งนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นแหล่งรายได้หลักจากต่างประเทศของกัมพูชา แรงงานอังกฤษประมาณ 2 ล้านคนร่วมการคัดค้านระเบียบบำนาญฉบับใหม่ 30 พ.ย. 54 - พนักงานและลูกจ้างส่วนงานบริการสาธารณะของอังกฤษ จำนวนมากถึง 2 ล้านคน ร่วมกันคัดค้านระเบียบใหม่ของการจ่ายเงินบำนาญซึ่งคนทำงานจะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นและทำงานนานขึ้น ซึ่งจะเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดของคนรุ่นปัจจุบัน โดยมีโรงเรียน โรงพยาบาล สนามบิน ท่าเรือและองค์กรรัฐเข้าร่วมการเดินขบวนครั้งนี้ แต่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า การเดินขบวนประท้วงไม่สามารถทำให้ผู้ประท้วงได้ในสิ่งที่ต้องการ เว้นแต่จะส่งตัวแทนเข้ามาร่วมการเจรจา เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากภาครัฐไม่ใช่การรับฟังคำบอกเล่าจากหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำของสหภาพแรงงานแสดงความไม่พอใจระเบียบใหม่ที่ให้ยืดเวลาไปจนถึงปี พ.ศ. 2569 ที่คนอายุ 67 ปีถึงจะได้รับเงินบำนาญ สำหรับการประท้วงครั้งนี้จะใช้เวลา 24 ชั่วโมงซึ่งนอกจากหน่วยงานรัฐแล้ว พนักงานของสำนักงานทางหลวง และ ตำรวจชุมชนก็จะเข้าร่วมการหยุดงานด้วยเช่นกัน กับทำให้มีความกังวลว่าโรงเรียนในอังกฤษร้อยละ 90 ต้องปิดเพราะครูไปเข้าร่วมการชุมนุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net