Skip to main content
sharethis

สุเทพ เข้าให้ปากคำ คดีสลายคนเสื้อแดง อ้างชายชุดดำ อภิสิทธิ์ไม่เกี่ยว และเป็นไปตามกฎหมาย 8 ธันวาคม 2554 เวลา 13.45 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พร้อมทนายความส่วนตัว เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ปากคำคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ระหว่างเดือน เม.ย.53 ถึง 19 พ.ค.53 ซึ่งส่งให้มีผู้เสียชีวิต 92 ศพ บาดเจ็บราว 2,000 คน โดยมี พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น.ในฐานะหัวหน้าชุดสอบสวนคดีสลายการชุมนุมเป็นผู้สอบปากคำ เวลา 17.20 น. นายสุเทพ ได้เดินออกมาจากห้องสอบสวน ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมจะให้การในทุกเรื่อง เป็นการทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่เคยได้รับภารกิจให้ปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความวุ่นวายและเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองในช่วงที่เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง โดยการให้ปากคำนี้ เป็นกรณีการออกคำสั่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินเพื่อรองรับการจราจรผ่านสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ภายใต้กรอบของกฎหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พ.ศ.2548 หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้น มอบหมายให้ตนเป็นผู้อำนวยการ กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ เว็บไซต์ข่าวสด รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพว่า นายกฯอภิสิทธิ์ ได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 มาตรา 11 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของตนเป็นผู้ออกคำสั่ง ตนออกคำสั่งปฏิบัติการต่างๆ ได้ถ่ายสำเนาคำสั่งทั้งหลายมามอบให้พนักงานสอบสวนครบถ้วน พร้อมทั้งอธิบายว่า การสั่งการในวันที่ 10 เม.ย.2553 ตนเป็นผู้สั่งการแต่ผู้เดียว ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการด้วย ตนก็สั่งการตามหน้าที่และตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจตนไว้ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานที่รับคำสั่งจากตนก็ได้ปฎิบัติงานอยู่ในกรอบของคำสั่งที่ชอบทุกประการได้ติดตามกำกับตลอดเวลาไม่ได้เกินกว่ากรอบที่กำหนดแต่อย่างใด โดยนัดอีกวันที่ 14 ธันวาคม เวลา 14.00 น. ได้นำภาพบางภาพมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นภาพนิ่งเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ และเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนและเจ้าหน้าที่ โดยก็ถามว่ามีวีดีโอหรือไม่ก็จะหามา ซึ่งภาพที่ได้เป็นภาพที่เคยออกตามสื่อบ้างแล้ว” นายสุเทพกล่าว นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 14 ธันวาคม พนักงานสอบสวนจะเรียกสอบในเรื่องของวันที่ 13 เมษายน วันที่ 14-16-19 พฤษภาคม 2553 โดยนายกอภิสิทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของ ศอฉ. เมื่อมอบหมายก็ไม่ได้ก้าวล่วง ให้แนวนโยบายในฐานะหัวหน้ารัฐบาลตั้งแต่ต้น โดยให้แก้ไขเรื่องปัญหาจราจร การประชุม ศอฉ. ตนก็เป็นประธาน นายกฯอภิสิทธิ์ เข้าไปบางครั้ง ส่วนใหญ่เข้าไปในช่วงการประชุมสรุปสถานการณ์ เพราะใช้เวลาเจรจาผู้ชุมนุม แสวงหาความร่วมมือกับผู้ชุมนุม แนวทางในการปรองดองสมานฉันท์ เป็นคนละหน้าที่กัน ด้าน พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวว่า จากการพูดคุยสอบปากคำ ได้รับความร่วมมือดี แต่รายละเอียดในสำนวนและการสอบสวนคงเปิดเผยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 ธันวาคม จะเชิญตัวนายสุเทพมาสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้งในส่วนของรายละเอียดในเหตุการณ์วันอื่นๆ โดยวันที่ 9 ธันวาคม เวลา 14.00 น. ได้รับการประสานจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาว่าจะเข้าพบพนักงานสอบสวน ที่ บช.น. เช่นกัน ข่าวสดอ้างรายงานข่าวเปิดเผยว่า ในที่ประชุม พล.ต.ต.อนุชัย มอบหมายให้ พ.ต.อ.วัลลภ ประทุมเมือง รอง ผบก.น.9 ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดพิเศษเป็นผู้ตั้งประเด็นคำถามเพื่อสอบถามนายสุเทพ มีคำถามหลักประมาณ 18 ข้อ และคำถามเสริม กรณีมีการสอบถามแล้วแตกประเด็น 8-9 ข้อ โดยก่อนสอบถาม พนักงานสอบสวนได้ถามนายสุเทพว่า หากจะสอบถามเกี่ยวกับภาพรวมในการสลายการชุมนุมได้หรือไม่ แต่นายสุเทพปฏิเสธอ้างว่า ไม่ได้เตรียมตัวมา และพนักงานสอบสวนแจ้งให้มาพบเพื่อสอบถามในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิมูราโมโตะช่างภาพชาวญี่ปุ่นเมื่อ 10 เมษายน 53 เท่านั้น หากจะสอบถามในสำนวนอื่นๆ ให้พนักงานสอบสวนนัดมาสอบสวนใหม่อีกครั้ง รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อถามว่าเป็นผู้สั่งให้สลายการชุมนุมใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า สั่งการในอำนาจหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขอบเขตของกฎหมาย เพราะขณะนั้นมีผู้ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่จึงต้องมีการป้องกันตัวและควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นที่มาของการตั้ง ศอฉ. ซึ่งจากการสอบถามนั้นนายสุเทพ มักจะใช้วิธีการเล่าถึงที่มาที่ไปในแต่ละเรื่องมากกว่าจะตอบคำถามพนักงานสอบสวนตามตรง นอกจากนี้ยังมีการนำภาพเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน มาฉายในห้องด้วย ที่มา: เรียบเรียงจาก โพสต์ทูเดย์, ไทยรัฐ และข่าวสด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net