เกษียร เตชะพีระ:“ความฝันในเฟซบุ๊ก”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระดานข้อความบางกระดานในเฟซบุ๊กสะท้อนความฝันของผู้คนพอ ๆ กับความจริงที่พวกเขาดำรงอยู่ การพยายามทำนายไขความฝันจึงอาจช่วยให้เราเข้าใจความจริงที่ป้อนเลี้ยงแวดล้อมความฝันนั้นๆ อยู่ว่า มันขาดหายอะไรไป? พรมแดนแห่งความเป็นไปได้/เป็นไปไม่ได้ของมัน อยู่ที่ไหน? ทำไม? อย่างไร? %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% 1) “เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของหมอประเวศในการให้ประเทศไทยกลับไปปกครองแบบสมัยโบราณ” (เฟซบุ๊ก, 29 พ.ย.2554) ซิกมุนต์ บอแมน มีแต่ชีวิตเสพสุขหรูหราสมัยใหม่เท่านั้นที่มั่งมีล้นเหลือพอจะเหลียวกลับไปมองยุคก่อน สมัยใหม่ด้วยความหวนหาอาลัย แววตาและท่าทีหวนหาอาลัยอดีตของชีวิตดังกล่าวเผยให้เห็นความรู้สึกอึดอัดแปลกแยกจากความเสี่ยงและผันผวนของชีวิตสมัยใหม่แบบไม่รู้ตัวหรือกึ่งรู้ตัวที่ซ่อนแฝงอยู่ ผู้คนพากันหวนหาชุมชนซึ่งสูญสลายไปนานแล้ว แม้ว่าเอาเข้าจริงพวกเขาไม่สามารถตัดชีวิตตัวเองให้หลุดพ้นจากคำสาปและพรอันประเสริฐของเสรีภาพสมัยใหม่ได้ ชีวิตดังกล่าวน่าเห็นอกเห็นใจตรงที่ไม่ตระหนักว่าสภาพเงื่อนไขแห่งการดำรงอยู่แบบสมัยใหม่ของตัวเองนั่นแหละที่เป็นตัวปัดปฏิเสธความเป็นไปได้ของอดีตก่อนสมัยใหม่ของพวกเขาโดยตรง ดังที่ซิกมุนต์ บอแมน นักสังคมวิทยาชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ผู้ถูกขับไสออกมาอยู่อังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า “เสรีภาพที่ปราศจากชุมชน ย่อมหมายถึงความวิกลจริต ขณะชุมชนที่ปราศจากเสรีภาพ ย่อมหมายถึงความเป็นไพร่ข้า” (Zygmunt Bauman, Life in Fragments: Essays in Postmodern Morality) สำหรับผู้เรียกร้องให้เสียสละเสรีภาพเพื่อเห็นแก่ชุมชนที่ไม่มีวันหวนกลับไปถึงได้นั้น เอาเข้าจริงพวกเขาอาจกำลังพลัดตกลงไปในบ่วงแห่งความเป็นไพร่ข้าอันวิกลจริตก็เป็นได้ %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% 2) “เราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการปิดเฟซบุ๊กและยูทูบเพื่อกำจัดเว็บหมิ่น” (29 พ.ย.2554) เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ ปัญญาชนนักศึกษาวัฒนธรรมผู้ล่วงลับ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากครอบครัว พนักงานให้สัญญาณประจำสถานีรถไฟในชนบทแคว้นเวลส์ของอังกฤษ ก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อ จนจบและเป็นอาจารย์ด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษาชื่อดังที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยพูดถึงอาการปลาบปลื้มความวิจิตรดีงามตามประเพณีแต่เก่าก่อนและต่อต้านวัตถุนิยม-พาณิชย์นิยมของปัญญาชนชั้นสูงในมหาวิทยาลัยว่า มีแง่มุมที่สะท้อนความแปลกแยกจากสังคมอุตสาหกรรมอยู่ แต่พวกเขาไม่เข้าใจคนชั้นล่างจริง ๆ แต่อย่างใด เพราะผู้คนในชุมชนของวิลเลียมส์เองนั้นพึงพอใจความก้าวหน้าสะดวกสบายที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาให้ เช่น ระบบน้ำ ประปา, รถยนต์, ยาสมัยใหม่, อุปกรณ์คุมกำเนิด, อาหารกระป๋อง เป็นต้น ที่ได้ให้พลังอำนาจ และปลดเปลื้องคนงานชายหญิงออกจากภาระงานอาชีพและงานในครัวเรือนอันหนักหน่วง ให้มีเวลาว่างและเสรีภาพที่จะทำอย่างอื่นในชีวิต ไม่มีทางที่คนชั้นล่างในชุมชนของเขาจะหันหลังให้ความก้าวหน้าเหล่านี้และกลับไปสู่ชีวิตที่ลำบากตรากตรำหนักหนาสาหัสดังก่อน สิ่งที่ต้องปฏิเสธ จึงไม่ใช่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโดยตัวมันเอง แต่คือระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจและทรัพย์สินที่กำกับยึดกุมมันไว้อย่างไม่เท่าเทียมต่างหาก (Raymond Williams, Resources of Hope: Culture, Democracy, Socialism) หากเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ อยู่ถึงยุคการปฏิวัติไอทีทุกวันนี้ ทรรศนะของเขาต่อเฟซบุ๊กและยูทูบ คงไม่ต่างจากที่มีต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรม..... %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% 3)“สังคมที่ธำรงรักษาความรู้สึกมั่นคงของตัวไว้ได้ก็แต่ในบรรยากาศแห่งความกลัว จะมั่นคงไปได้อย่างไร? คนไทยควรมีสิทธิ์ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความไว้วางใจ ไม่ใช่ความกลัว” (7 ธ.ค.​2554) อานันท์ ปันยารชุน เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2554 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการเปิดตัวหนังสือชีวประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉบับภาษาอังกฤษ โดยสำนักพิมพ์ Editions Didier Millet ชื่อ “King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work” โดยมีอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการ ซึ่งในงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติและผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นอย่างมาก อานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากองบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า งานเขียนซึ่งมีความยาวกว่า 500 หน้านี้ เป็นการรวบรวมบทความและข้อเท็จจริงที่ผ่านการถกเถียงระหว่างผู้เขียนที่หลากหลาย โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศ โดยเขาหวังว่า จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นอิสระ เป็นกลางและรอบด้านแก่ผู้อ่านมากที่สุด หนังสือดังกล่าวยังได้รวบรวมประเด็นอันเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการสืบรัชทายาทด้วย..... ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงาน ผู้สื่อข่าวถามว่า อานันท์เห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เนื่องจากหนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงปัญหาของกฎหมายอาญา ม.112 ด้วย ซึ่งอดีตนายกฯ ได้ตอบว่า แท้จริงแล้วกฎหมายนี้ต้องพิจารณาในบริบทของประเทศไทย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ไทยกับประชาชนเป็นเอกลักษณ์จากที่อื่นๆ ในโลก อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าการบังคับใช้ของกฎหมายนี้รุนแรงเกินไป โดยเฉพาะในแง่ของการฟ้องร้องที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถกล่าวโทษ ทั้งนี้เขาเสนอแนะว่า อาจมีการตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สั่งฟ้องโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงพิจารณาลดบทลงโทษให้ผ่อนคลายลงกว่าเดิมด้วย..... (อ้างจาก http://prachatai.com/journal/2011/11/38077)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท