สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3 - 9 ธ.ค. 2554

ชงตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วย อุ้มคนติดหนี้บัตรเครดิต ปิดแล้ว 39 รง.-ตกงานหมื่นคน มีการประชุมคณะทำงานกำหนดนโยบายและแนวทาง การแก้ปัญหาจากอุทกภัย ซึ่งนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ถึงผลการ ประชุมดังกล่าวว่า ในที่ประชุมทางกรรมการฝ่ายลูกจ้างเสนอให้กระทรวงแรงงานออกมาตรการช่วยเหลือ แรงงานที่ได้รับผลกระทบ จากน้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนชำระสินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานก็จะรับไปศึกษาในรายละเอียดโดยเบื้องต้นจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในเชิงลึกเพื่อหามาตรการ ช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ กรรมการฝ่ายลูกจ้างยังได้เสนอให้ตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินรองรับลูกจ้าง ที่เดือดร้อนในช่วงวิกฤติ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ถึงความเป็นไปได้ โดยให้นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอให้สบายใจได้ว่าลูกจ้าง 90% ใน 3 นิคมอุตสาหกรรมในจ.พระนครศรีอยุธยาได้กลับเข้าสู่ระบบการทำงานแล้วรมว.แรง งาน กล่าว และว่าแต่ยังมีผู้ประกอบการ 39 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นโรงงานเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบ รถยนต์ที่ประกาศเลิกกิจการหลังจากเกิดเหตุอุทกภัยและมีคนงานจำนวน 10,957 คน ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะคนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้าง มีการชดเชยและ สิทธิประโยชน์อื่นๆ และกระทรวงแรงงานก็มีอัตรางานรองรับอยู่แล้วกว่าแสนอัตรา นอกจากนั้นทางกระทรวงแรงงานได้มีการทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการแล้วในการ ขอรับ การช่วยเหลือจากรัฐบาลจะต้องไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งผู้ประกอบการก็ยินดีที่จะเปิดประกอบกิจการเช่นเดิมและจ้างแรงงาน ต่อ วันนี้สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือจะขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำ เพราะแรงงานบางส่วนไม่มั่นใจในสภาพการทำงาน เช่น น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ ผู้ประกอบการจะปิดกิจการหรือเปล่า ด้านนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวตนมีแนวคิดที่เสนอให้จัดตั้งกองทุนประกันการมีงานทำ เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือ ลูกจ้างในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยมีการส่งเงินสมทบ 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาลนายจ้างและลูกจ้างในลักษณะเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ซึ่งจะช่วยให้ลูกจ้างมีรายได้ในช่วงหยุดงาน ทั้งนี้ อาจจะร่วมกับกองทุนประกันการว่างงานในการให้สิทธิประโยชน์เพราะปัจจุบัน กองทุนนี้จะให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่ถูกเลิกจ้างแต่ไม่ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างที่ ต้องหยุดงาน แต่ไม่ถูกเลิกจ้าง โดยอาจมีการแก้พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้สามารถโยกเงินจาก 2 กองทุนนี้มีมาจ่ายสิทธิประโยชน์ร่วมกันได้ รวมไปถึงอาจกำหนดให้มีการจ่ายเงินสมทบทั้ง 2 กองทุนโดยไม่กระทบกับลูกจ้างมากนัก เนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้าในกองทุนนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อหักจากกองทุนรวมของประกันสังคมที่จ่ายอยู่ที่ร้อยละ 5 แล้ว ซึ่งอาจจะจ่ายใน 2 กองทุนรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 0.6-0.7 หรือมากน้อยกว่านั้นตามความเหมาะสม อธิบดี กสร.ยังกล่าวต่อว่า ตอนนี้กำลังศึกษารูปแบบกองทุนประกันการมีงานทำของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีที่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติบ่อยครั้งอย่างเกาหลีก็มีกองทุน ลักษณะนี้และจ่ายให้ลูกจ้างในยามวิกฤติร้อยละ 60-80 ขณะนี้ประเทศไทยก็เริ่มมีเหตุการณ์ ภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีกองทุนลักษณะนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดข้างต้นของผม จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของรัฐบาล สปส.และผู้ประกันตนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก่อนที่จะส่งมอบต่อให้นักวิชาการทำการศึกษาผลดีผลเสียต่อไป อธิบดีกสร. กล่าว นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า อุทกภัยหนนี้ สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยด้านภาคการผลิต ซึ่งประกอบด้วย ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม บริการและการท่องเที่ยว สำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น อยู่ที่ 127,162-254,324 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงาน ซึ่งสอดคล้อง กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติได้รายงานวิกฤติอุทกภัยทำให้อัตราการว่างงาน ในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.8-2.3 หรืออยู่ที่ประมาณ 730,000-920,000 คน และส่งผลให้ประชาชน มีรายได้ลดลงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยคาดว่าอาจมีประชาชนบางส่วนที่หันไปพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบเพิ่มมาก ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สถาบันการเงินต่างๆ 5 แห่ง เปิดจุดบริการสำหรับรับปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนและพิจารณาให้สิน เชื่อแก่ประชาชนในทุกสาขาทั่วประเทศคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย,ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (แนวหน้า, 3-12-2554) ปลัดแรงงาน ย้ำนายจ้างเบี้ยวขึ้นค่าแรง 300 บ.มีความผิดตามกฎหมาย นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทว่า ขณะนี้ประกาศของกระทรวงแรงงาน เรื่องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ในทุกจังหวัด ทำให้ค่าจ้างใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และภูเก็ต เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2555 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ล่าสุดได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ สถานประกอบการต่างๆ จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวอีกว่า หลังจากนี้กระทรวงแรงงานจะเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งแรงงานที่มีอยู่เดิม และแรงงานเข้าใหม่ให้มีพฤติกรรมที่ดีในการทำงาน เช่น ความรับผิดชอบ ความอดทน มีวินัย คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน การลดการสูญเสียชิ้นงาน และมีทักษะในการทำงานตามลักษณะงานแต่ละวิชาชีพ เพื่อให้แรงงานมีศักยภาพเหมาะสมกับการรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ซึ่งแรงงานที่มีอยู่เดิมที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท ก็จะต้องปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทเช่นกัน “กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสมาคมนายจ้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมวิชาชีพต่างๆ จัดทำหลักสูตรและทำการอบรม เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจะให้ภาคเอกชนและแต่ละสมาคมวิชาชีพจัดอบรมในลักษณะแยกเป็นกลุ่มในแต่ละ สาขาช่าง ขณะที่กระทรวงแรงงานจะสนับสนุนในเรื่องค่าวิทยากรอบรม ซึ่งจะใช้งบประมาณส่วนหนึ่งของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ซึ่งได้รับงบประมาณในปี 2555 ทั้งหมดประมาณ 3 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอบรมพัฒนาแรงงานในช่วงเดือน ม.ค.หรือ ก.พ.ปี 2555 “ นพ.สมเกียรติกล่าว (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-12-2554) โฮย่าเจรจานัดแรก ยังไม่ได้ข้อตกลง สหภาพฯ-บริษัทโฮย่า เจรจาไตรภาคีนัดแรก ผู้แทนฝ่ายนายจ้างรอผู้บริหารกลับจาก ตปท. นัดเจรจาอีก 9 ธ.ค. นี้ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ได้นัดให้มีการเจรจากันระหว่าง บริษัทโฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้แทนลูกจ้าง กรณีที่บริษัท โฮย่าฯ จะเลิกจ้างลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2555 นั้น ผลการเจรจานัดแรกปรากฎว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยผู้แทนลูกจ้างต้องการให้บริษัทโฮย่าทบทวนการเลิกจ้างทั้งหมด โดยให้ยกเลิกนโยบายเลิกจ้างนี้ ส่วนฝ่ายผู้แทนนายจ้างจะขอเวลานำข้อเสนอนี้ไปให้ฝ่ายบริหารที่จะกลับมาจาก ต่างประเทศพิจารณา พร้อมทั้งจะแจ้งให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมเจรจาด้วย โดยการเจรจานัดต่อไปกำหนดให้มีในวันที่ 9 ธ.ค. 54 เวลา 9.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน (ประชาไท, 6-12-2554) ก.แรงงาน เผยลูกจ้างกว่า 600,000 คน ยังไม่กลับทำงาน คาดตกงาน 130,000 คน ก.แรงงาน 6 ธ.ค.- อธิบดีกรมสวัสดิการฯ เผยลูกจ้างกว่า 600,000 คน ยังไม่กลับเข้าทำงาน คาดลูกจ้างเอาท์ซอร์สตกงานก่อน 130,000 คน ชี้อยุธยา ปทุมธานี เลิกจ้างมากสุด เตือนคนงานเร่งแสดงตนให้รู้ว่ายังพร้อมทำงาน ขณะที่โครงการชะลอเลิกจ้าง รัฐช่วยจ่ายเดือนละ 2,000 บาท ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 200,000 คน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับสถานประกอบการทั่วประเทศ รวม 31 จังหวัด จำนวนกว่า 28,000 แห่ง ผู้ใช้แรงงานจำนวนกว่า 9.9 ล้านคน ล่าสุดหลายพื้นที่ปัญหาเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยพบว่า มีสถานประกอบการจำนวน 15,474 แห่ง ลูกจ้าง 35,1640 คน กลับมาเปิดกิจการแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือสถานประกอบการ จำนวน 13,205 แห่ง ลูกจ้าง 642,304 คน ยังคงไม่สามารถเปิดกิจการได้ โดยในจำนวนนี้ คาดว่าลูกจ้างประมาณ 130,000 คน อาจต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทจ้างเหมาค่าแรง หรือ เอาท์ซอร์ส ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ซึ่งทางกระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการรองรับโดยเตรียมจัดงานนัดพบแรงงานย่อย ภายในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มต้นในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังเร่งส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับนายจ้าง ให้เข้าร่วมโครงการ ป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการเลิกจ้าง โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างครบร้อยละ 75 ของเงินเดือน โดยมีสัญญาว่าจะต้องไม่เลิกจ้างภายใน 3 เดือน โครงการนี้มีเป้าหมายชะลอการเลิกจ้าง 300,000 คน ล่าสุดมีลูกจ้างเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 200,000 คน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ลูกจ้างไม่รู้ว่าตนถูกเลิกจ้างแล้วหรือไม่ ขณะที่การติดตามตัวลูกจ้าง ยังมีปัญหา เพราะบางส่วนหลบปัญหาอุทกภัยไปอยู่นอกพื้นที่ ดังนั้น จึงขอให้ลูกจ้าง เร่งไปแสดงตนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขต หรือจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและติดตามนายจ้างมาสอบถามให้ชัดเจน เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป (สำนักข่าวไทย, 6-12-2554) ไฟเขียว นำเข้าแรงงานต่างด้าวกว่า 2 แสนคน ใช้เครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน มีแนวคิดนำเข้าแรงานต่างด้าว โดยเฉพาะสัญชาติพม่า ที่ผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า เพื่อนำมาชดเชยแรงงานต่างด้าวที่หนีน้ำท่วมเดินทางกลับประเทศประมาณ 2 แสนคน เป็นแรงงานพม่าประมาณ 1.2 แสนคน จากการหารือล่าสุดกับรัฐบาลพม่าได้ข้อสรุปว่า จะนำเข้าโดยเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับทางกระทรวงการต่างประเทศ ในการตั้งด่านออกเอกสารรับรองที่สนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางาน ได้เปิดให้สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน มายื่นเอกสารขอโควตาแรงงานต่างด้าวได้ตลอดเวลาที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งกรมการจัดหางาน จะส่งเรื่องไปยังรัฐบาลพม่า ให้จัดส่งแรงงานตามจำนวนที่ทางนายจ้างร้องขอ ส่วนสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่หนีน้ำท่วม ขณะนี้แรงงานต่างด้าวได้ทยอยเดินทางกลับประเทศไทยบ้างแล้ว ซึ่งเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย จึงขอเตือนแรงงานกลุ่มนี้ว่า ให้เข้ากลับไปทำงนกับนายจ้างเดิมเท่านั้น หากเปลี่ยนนายจ้างถือว่าจะเป็นแรงงานผิดกฏหมายทันที และถ้าต้องการเปลี่ยนนายจ้าง สามารถมายื่นเรื่องกับกรมการจัดหางานให้ถูกต้อง (มติชน, 6-12-2554) พนง.โรงงานสีปากน้ำประท้วง ขอขึ้นค่าแรง-รับโบนัส เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 ธ.ค. 54 บริเวณหน้า บริษัทสีไทยกันไซเพ้นท์ จำกัด เลขที่ 180 หมู่ 3 ถนนเทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสี สีพ่นรถยนต์และจักรยานยนต์ ยี่ห้อสีตราพัด ได้มีกลุ่มพนักงานลูกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานคัลเลอร์ มอเตอร์ประเทศไทย ราว 200 คน รวมตัวกันชุมนุมอยู่บริเวณหน้าโรงงาน ภายหลังบริษัทปิดประกาศ แจ้งปิดงาน งดจ้างกรรมการสหภาพ และสมาชิกสหภาพแรงงานคัลเลอร์ มอเตอร์ประเทศไทย จึงสร้างความไม่พอใจกับพนักงานและรวมตัวกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สภ.สำโรงเหนือ คอยดูแลความปลอดภัย นายอดิพร ยอดรัก รองสหภาพแรงงานคัลเลอร์ มอเตอร์ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ ระหว่างที่พวกตนเดินทางมาทำงานตามปกติก็เห็นป้ายติดประกาศเลิกจ้างพวกตน จึงสร้างความไม่พอใจให้พนักงานที่เดินทางมาทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ประมาณ 500 คน และพนักงานที่โรงงานของระยองก็มีติดประกาศเช่นกันจึงได้เดินทางมาร่วม ประท้วงด้วย เพื่อให้บริษัทอนุมัติตามข้อเรียกร้อง ซึ่งข้อเรียกร้องที่ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นขอเรียกร้องประจำปี ต่อคณะผู้บริหารโรงงานไป เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น ให้พิจารณาเพิ่มค่าแรงขึ้น จากเดิมอีกคนละ 900 บาทต่อเดือน รวมทั้งขอเงินโบนัสเพิ่มเป็น 6 เดือน พร้อมกับเงินพิเศษอีกคนละ 20,000 บาท และสวัสดิการอื่นๆ อีกรวม 15 ข้อ ซึ่งก็ได้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายผู้แทนนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างมาโดยตลอดรวม 7 ครั้ง แต่ทางนายจ้างไม่อนุมัติตามที่ทางสหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเสนอ โดยอ้างว่า บริษัทขาดทุนเนื่องจากที่ผ่านมา เกิดปัญหาน้ำท่วมยอดการสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงทำให้บริษัทขาดทุน จึงไม่สามารถอนุมัติให้ตามที่ยื่นข้อเรียกร้องได้ นายอดิพร กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบงบดุลของบริษัท พบว่ามีกำไรมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพราะช่วงต้นปีก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม บริษัทมียอดการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก พนักงานในบริษัทฯ ทั้งที่สมุทรปราการและระยอง ทำงานล่วงเวลาทุกวัน โดยในแต่ละเดือนรวมทั้ง 2 โรงงานบริษัทสามารถผลิตสีได้ประมาณ 2,100 ตัน รวมถึงข้อเรียกร้องที่ทางสหภาพแรงงานฯ ยื่นนั้นคิดจากกำไรของปีที่ผ่านมา จึงไม่พอใจที่บริษัทอาศัยช่วงภาวะเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ไม่อนุมัติตาม ที่ทางสหภาพแรงงานฯ ยื่นเสนอ และหากตกลงกันไม่ได้พวกตนก็จะชุมนุมกันอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าทาง บริษัทจะยอมตามข้อเรียกร้อง เบื้องต้น ทางฝ่ายผู้แทนนายจ้างอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างร่วม กับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อหาข้อยุติสำหรับปัญหาดังกล่าว ซึ่งหากได้ข้อยุติ ผู้สื่อข่าวจะรายงานต่อไป (ไทยรัฐ, 6-12-2554) ทีดีอาร์ไอจี้กรมสวัสดิการฯประสานสภาทนายให้ความรู้แรงงาน วันนี้ (7 ธ.ค.) จากกรณีที่มีการเลิกจ้างพนักงานบริษัท โฮยา กลาส ดิสก์ ที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน กว่า 2,000 คน เมื่อวันที่ 11 พ.ย.-30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์และขาดทุน แต่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตัวเลขผลกำไรของบริษัท ที่ผ่านมา ล่าสุด ปี 2553 มีกำไร 591 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนาม ทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายการเพิ่มค่าจ้าง 40% ให้พนักงาน ที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยใช้เครื่องจักรใหม่มาแทนกำลังคน เนื่องจากมีการขนย้ายเครื่องจักรเข้าออกโรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิม บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มตามส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำหากมีการปรับขึ้น ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะแก้ปัญหาด้วยการกู้ เงินหรือลงทุนเพื่อซื้อเครื่องจักรมาแทนแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะต้นทุนด้านแรงงานจะเพิ่มขึ้น 5-6% หากมีการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำขึ้น 40% ทำให้ต้องมีการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดกลางและใหญ่ ทั้งนี้ ทางรัฐต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานและไม่ให้เป็นแบบอย่าง แก่สถานประกอบการอื่นๆ ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า คงไม่เฉพาะบริษัท โฮยา เพราะที่ได้ประเมินไว้จะมีแรงงานกว่า 6-7 แสนคน ที่อยู่ในบัญชีเสี่ยงตกงาน ซึ่งประมาณ 20-30% หรือประมาณ 1.4-2 แสนคน จะตกงานแน่นอน เนื่องจากบริษัท หรือเอสเอ็มอี ที่ฐานไม่แน่นพอ จะอยู่ไม่ได้ ทำสถานประกอบการอาจมีการปรับตัวไปใช้คนงานเหมาช่วง 70% ส่วนคนงานประจำใช้ 30% เหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะในระยะยาวจะประหยัดต้นทุนกว่า เหมาะกับสภาพการสั่งผลิตสินค้าที่ไม่แน่นอน ในตลาดการแข่งขันสูง “สิ่งเหล่านี้ทำให้แรงงานมีความเครียด เพราะขาดความมั่นคง ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาก่อน เช่น เข้าไปให้ความรู้กับแรงงาน ร่วมกับสมาคมทนายความ ด้านแรงงาน ด้านกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของแรงงาน โดยประสานการทำงานร่วมกับกรมการจัดหางานในการหาตำแหน่งงานรองรับและเคลื่อน ย้ายแรงงานไปในภาคส่วนที่ยังขาดแคลนอยู่ เช่น ภาคตะวันออก หรือแถวจ.นครราชสีมา” ดร.ยงยุทธ กล่า ดร.ยงยุทธ กล่าวเพิ่มเติม ว่า ส่วนบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมอยากให้ทางรัฐประสานกับสถานประกอบการ เพื่อให้ข้อมูลกับแรงงานทุกอาทิตย์ โดยอาจจะให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียนไว้ แล้วทางรัฐจะประสานงานให้ เพื่อให้แรงงานทราบอนาคตการทำงานของตัวเอง น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากให้ทางกระทรวงแรงงานเข้าไปตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงที่แรงงานต้องถูกไล่ออก และสถานประกอบการต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมาย เพื่อไม่ให้ลุกลามตัวอย่างให้กับที่อื่น “สิ่งสำคัญคือ ข้อเท็จจริงว่าทำไมแรงงานต้องถูกไล่ออก เพราะตอนนี้แรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกไล่ออกมักจะถูกฉวยโอกาสจากข้ออ้างว่าน้ำ ท่วม ดังนั้นทางกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากผลกระทบไม่ได้เกิดจากแรงงานเพียง 2 พันคน แต่ต้องรวมถึงครอบครัวของแรงงานเหล่านั้นด้วย” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว ด้านนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า บริษัท โฮยา มีพนักงานอยู่ 4,500 คน และประสบปัญหาคำสั่งซื้อลดลง ทำให้ต้องลดพนักงานลงส่วนหนึ่ง ซึ่งบริษัทก็ได้ประกาศเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมายโดยให้มีการเออรี่รีไทร์ตาม สมัครใจและจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย ส่วนที่มีสหภาพแรงงานออกมาประท้วง อาจจะเป็นเพราะความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งได้มอบหมายสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.ลำพูนเข้าไปไกล่เกลี่ยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากสหภาพแรงงานรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถมาร้องเรียนต่อ กสร.ได้ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-12-2554) คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบลดอัตราเงินสมทบปี 2555 ช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ประสบอุทกภัย สำนักงานประกันสังคม เผยมติคณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ม.33 และม.39 ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์อุทกภัยในวงกว้าง โดยลดอัตราเงิน สมทบกองทุนประกันสังคมปี 2555 เตรียมเร่งยื่นเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อออกกฎกระทรวงบังคับใช้ต่อไป นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินต่อบ้านเรือน บริษัทห้างร้านสถานประกอบการต่างๆ และส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับความเดือดร้อนโดยทั่วกัน ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันสังคม โดยคณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแก่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 1 ปี ในปี 2555 โดยลดจากอัตราเงินสมทบที่จ่ายในปัจจุบันฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ดังนี้ ครึ่งปีแรก (1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2555) จ่ายในอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 ลดลงจากเดิม ฝ่ายละร้อยละ 2 ครึ่งปีหลัง (1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2555) จ่ายในอัตราฝ่ายละร้อยละ 4 ลดลงจากเดิม ฝ่ายละร้อยละ 1 ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงจ่ายสมทบในอัตราเดิม คือ 2.75 การลดอัตราเงินสมทบในครั้งนี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละประมาณ 16,700 ล้านบาท ในส่วนของผู้ประกันตนแบ่งเบาภาระ ได้เฉลี่ยคนละประมาณ 1,700 บาท/ปี (คำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยของผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39) การลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมทุกกรณี โดยเฉพาะการรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (8-12-2554) เผยคนใช้สิทธิประกันว่างงานเกือบครบ แรงงานขาดแคลน น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันระบบประกันการมีงานทำ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการประกันว่างงาน สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่มีงานทำให้มีรายได้ช่วงตกงาน เช่น กองทุนประกันว่างงาน และการประกันการจ้างงาน ที่นำเงินกองทุนไปช่วยเหลือนายจ้าง เพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน ซึ่งเป็นระบบที่ไทยและเวียดนามใช้แต่เวียดนามกำลังศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นกองทุนประกันการมีงานทำ ซึ่งการก้าวไปสู่จุดนั้น ต้องมีความพร้อมเรื่องระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากต้องมีความร่วมมือหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนของไทยส่วนใหญ่ ใช้สิทธิกรณีว่างงานจนเกือบเต็มสิทธิ์ คือ 6 เดือน และไม่ยอมกลับไปทำงาน ทั้งที่มีตำแหน่งงานว่างรองรับ และตรงตามคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการ เนื่องจากผู้ประกันตนได้รับเงินชดเชย จึงไม่รีบกลับเข้าทำงาน ส่งผลให้ตัวเลขขาดแคลนแรงงานสูงขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือลูกจ้าง อย่าใช้สิทธิเต็มที่ และกลับเข้าทำงานตามสถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไป ล่าสุดได้มีแนวคิดที่จะเสนอให้ผู้ที่ใช้สิทธิไปแล้ว 1-2 เดือน ให้รับเงินชดเชยส่วนที่เหลือในลักษณะเป็นเงินก้อน เพื่อจูงใจให้กลับเข้าทำงานโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างเต็ม 100 % รวมทั้งได้รับเงินล่วงเวลาและสวัสดิการต่างๆ ด้วย (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8-12-2554) กรมการจัดหางานส่งแรงงานไทย 5 พันคน ทำเกษตรอิสราเอล (9 ธ.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวภายหลังการสุ่มรายชื่อคัดเลือกแรงงานเข้าร่วมโครงการความร่วมมือ ไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Worker : TIC) ซึ่งเปิดรับสมัครรหว่างวันที่ 21 ต.ค.-18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) ว่า จะมีการส่งแรงงานไทยจำนวน 5,000 คน จากโควตานำเข้าแรงงาน จำนวน 27,000 คน ที่ลงนามในเอ็มโอยูร่วมกัน ไปทำงานภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอล โดยมีการคัดเลือกแรงงานด้วยวิธีการสุ่มเรียงด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากแรงงาน ที่สนใจมาสมัครไปทำงานรวมทั้งสิ้น 6,583 คน เพื่อความโปร่งใส ยุติธรรมมากที่สุด นายประวิทย์ กล่าวว่า แรงงานที่ได้สุ่มเลือกในวันนี้จะได้สัญญาจ้างทำงานที่ประเทศอิสราเอลเป็น เวลา 2 ปี ได้เงินเดือน 36,000 บาท เสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าที่พัก ประกันสังคม และภาษี ไม่เกิน 10,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายที่แรงงานต้องจ่ายเพื่อเข้าร่วมในโครงการนี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 69,306 บาท ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมขอรับหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวไป-กลับ ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และค่าธรรมเนียมจัดหางานให้แก่ผู้รับอนุญาตจัดหางานฝ่ายอิสราเอล “โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล ภายใต้โครงการ TIC ซึ่งช่วยให้แรงงานที่ต้องการไปทำงานที่อิสราเอลไม่ต้องถูกนายหน้าหลอก หรือเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินจริงและยังช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ได้อีกทางหนึ่ง จึงขอฝากผู้ที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศว่าอย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างว่าถ้า จ่ายเงินจำนวนหนึ่งแล้วจะสามารถไปทำงานที่อิสราเอลได้” นายประวิทย์ กล่าว ทั้งนี้ ค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศอิสราเอลอยู่ที่ 35,421 บาท ในการทำงาน 186 ชั่วโมงต่อเดือน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-12-2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท