Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 วงการตุลาการเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน หลาย ๆ คดีถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในคำตัดสิน หลาย ๆ คดีถูกสงสัยในกระบวนการพิจารณาความ หลาย ๆ คดีถูกวิพากษ์ว่าผิดไปจากหลักนิติธรรม จนกระทั่งล่าสุดคดีของอากง ผู้ตัดสินให้จำคุก 20 ปีจากสี่กรรม ศาลตัดสินโดยเชื่อว่าอากงเป็นผู้ส่ง sms ไปยังโทรศัพท์ของเลขาอดีตนายกจริง เขาถูกตัดสินโดยยังคงความสงสัยมากมายต่อวิธีการตัดสินรวมถึงคำพิพากษามากมาย นักวิชาการหลายคนชี้ให้เห็นความบกพร่องของวิธีและตรรกะ ทว่าอีกฟากฝั่งความเห็นก็ยืนคำโต้แย้งว่า คำพิพากษาเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ การวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินและกระบวนวิธีพิจารณาความเป็นเรื่องที่ไม่ควร ยิ่งเป็นคำตัดสินที่กระทำภายใต้พระปรมาภิไธยแล้ว มิใช่สิ่งที่ควร ‘สงสัย’ อย่างยิ่ง แท้ที่จริงแล้วเราสงสัยในคำตัดสินใจของศาลไทยได้หรือไม่ ความสงสัยที่บังเกิดต่อกระบวนการยุติธรรมไทยช่างละม้ายคล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่อง วอทช์เมน (Watchmen) งานดัดแปลงจากการ์ตูนชื่อดังในปี ค.ศ. 2009 แกนของวอทช์เมนที่โดนใจนักอ่านเป็นยิ่งนักคือการตั้งคำถามกับเหล่าบรรดาฮีโร่หน้ากากทั้งหลายว่า ท่านปกป้องจากแหล่งเหล่าร้าย ทว่าใครกันละที่ตรวจสอบว่าท่านเป็นคนดีจริงเปล่า วอทช์เมนเริ่มเรื่องในห้วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังระอุ ความไม่ไว้วางใจในหน่วยงานรัฐถูกสะท้อนออกมาผ่านเหล่าฮีโร่หน้ากากภายใต้ชื่อวอทช์เมน พวกเขาเหล่านี้เป็นบุคคลธรรมดาที่อาจจะมีฝีมือและพละกำลังมากกว่าคนปกติสักหน่อย (เว้นแต่ ดร.แมนฮัตตันคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นฮีโร่เพียงคนเดียวที่มีพลังวิเศษจริง ๆ) ซึ่งประกาศตัวทำหน้าที่คอยเฝ้ามองพฤติกรรมของเหล่าร้าย ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม ทว่าหนังก็แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงคนเหล่านี้ก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร แถมหลาย ๆ คนก็ยังมีปัญหาชีวิต บ้างก็ถูกสังหารเพียงเพราะเป็นเลสเบี้ยน บ้างก็วิกลจริตถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้า พวกเขาล้วนคือคนธรรมดาในคราบคนใส่หน้ากากก็เท่านั้น หลังจากที่เหล่าฮีโร่หน้ากากเหล่านี้ถอนตัวและขอกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนปกติเว้นแต่ เดอะ คอเมเดียน บุรุษผู้ยังคงทำงานช่วยกับทางรัฐอยู่ แต่แล้ววันหนึ่ง เดอะ คอเมเดียนกลับถูกสังหารโดยบุคคลที่มีฝีมือฉกาลฉกรรจ์ อันเลยนำมาสู่การสืบอย่างลับ ๆ โดยอดีตเพื่อนฮีโร่เพื่อหาว่าใครกันแน่ที่เป็นฆาตกร และปฐมบทแห่งความไม่ไว้วางใจ ทฤษฎีสมคบคิดและความหวาดกลัวต่อสงครามเย็นก็เกิดขึ้น ตลอดทั้งเรื่องหนังตอกย้ำแก่นของเรื่องที่ให้เราตั้งคำถามกับสถานะและอำนาจของเหล่าบรรดาฮีโร่ คำโปรยของหนังคือ Who watches the watchmen? ในเมื่อคนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้ามองและเฝ้าระวังอาชญากรรม แล้วใครกันคือคนที่เฝ้าดูพฤติกรรมของพวกเขา ยามเมื่อคนเรามีอำนาจบางอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น เราย่อมมีโอกาสเผลอใช้อำนาจเหล่านั้นมากเกินไปหรือผิดไปจากสิ่งที่ควรเป็น บรรดาวอทช์เมนกับศาลยุติธรรมมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันเพราะต่างเป็นผู้ประกาศตัวว่ารักษาความยุติธรรม (ศาลย่อมมีความชอบธรรมในเชิงอำนาจมากกว่าเหล่าวอทช์เมนแน่เพราะอำนาจของศาลนั้นแยกย่อยมาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ส่วนเหล่าวอทช์เมนก็คืออำนาจนอกระบบที่อุ๊บอิ๊บตัวตนเป็นวีรชนโดยไร้ที่มาที่ไปของอำนาจ) ซึ่งการเป็นผู้รักษาความยุติธรรมนั้นย่อมถูกตั้งคำถามต่อระบจริยธรรมเสมอ ทั้งความโปร่งใสและเที่ยงตรงต่อหลักการ การถูกตั้งคำถามย่อมทำให้เหล่าบรรดา ‘วอทช์เมน’ ได้คิดใคร่ครวญ ครุ่นคิดและไตร่ตรองถึงบทบาทของตนว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นมีอำนาจอื่นใดแทรกแซงหรือไม่ รวมถึงการกระทำเที่ยงตรงต่อหลักการสากลหรือไม่ อย่างไร หากไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามแล้วบทบาทของวอทช์เมนย่อมมีแต่เสื่อมศรัทธาไปเรื่อย ๆ ภาพยนตร์เรื่องวอทช์เมนเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ปุถุชนทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดาที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินผู้อื่นนั้นยิ่งจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ เพื่อความเที่ยงตรง โปร่งใสในการทำงาน และหากการกระทำของบรรดา ‘วอทช์เมน’ ทั้งหลายไร้ข้อสงสัย ศรัทธาจากประชาชนก็ยังบังเกิดขึ้นและสืบต่อไป ‘ศาลไทย’ โปรดระวังเพราะประชาชนกำลังจ้องมองท่านอยู่ชนิดไม่กะพริบตา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net