เชียงใหม่ปล่อยโคม 112 ดวง เรียกร้องปล่อยอากง และเหยื่อ กม.หมิ่น

14 ธันวาคม 2554 เวลา 19.00 น. บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กลุ่มทนายความราษฎรประสงค์ กลุ่มญาติผู้ต้องขังคดีการเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษา และเครือข่าย ‘เราคืออากง’ ราว 100 คนได้ร่วมกันจัดกิจกรรม  “ปล่อยโคม ปล่อยอากง” ทำการปล่อยโคม 112 ดวง เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว “อากง” และนักโทษในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมด

บริเวณกิจกรรมมีการจัดวางบอร์ดนิทรรศการ 8 อัปลักษณะของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บอร์ดนิทรรศการเราคืออากง การแจกแผ่นพับให้ความรู้เรื่องมาตรา 112 แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม การเขียนฝ่ามืออากง และการขายที่ระลึกเพื่อช่วยเหลือกลุ่มญาติผู้ต้องขังในจังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการอ่านบทกวีของเพ็ญ ภัคตะ และกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับ “กฎหมายหมิ่นฯ และนักโทษการเมือง” โดยมีอานนท์ นำภา ทนายความสำนักราษฎรประสงค์, มิตร ใจอินทร์ ศิลปินอิสระ, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ, ภัควดี ไม่มีนามสกุล นักเขียนอิสระ เป็นผู้ร่วมเสวนา และมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินรายการ

 

 

อานนท์ นำภา ได้เล่าถึงคดีจากมาตรา 112 ที่มีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งคดีของอากง คดีหนุ่ม เรดนนท์ หรือคดีสุวิชา ท่าค้อ อานนท์เสนอว่า คดีหมิ่นฯตอนนี้มันมีลักษณะเหมือนคำสาป ไม่ใช่กฎหมายเพียงอย่างเดียว ต่อให้คุณจะพูดความจริงทั้งหมด แต่มันมีคนไปแจ้งความจับ ศาลก็อาจตัดสินว่าหมิ่นฯได้ หรือคดีทางสัญลักษณ์ บุคลาธิษฐาน อุปมาอุปมัย อย่างการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ ก็ยังโดนว่าหมิ่นฯ มันเหมือนกลายเป็นคำสาปอย่างหนึ่ง ต่อให้พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ก็ถูกทำให้พูดไม่ได้ ศาลฏีกาวินิจฉัยเลย ต่อให้เป็นเรื่องจริงก็พูดไม่ได้ มันกลายเป็นคำสาปไป

อานนท์กล่าวต่อว่าประเทศเราควรจะเลิกตอแหลกัน อะไรที่สมควรอยู่ก็อยู่ต่อไป แต่อะไรที่ไม่สมควรดำรงอยู่ มันก็ควรจะยกเลิกเพิกถอน ความตอแหลนี้ไม่ได้มีเฉพาะตัวสังคมโดยรวม แม้แต่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็มีความตอแหล อย่างอัยการ ในคำบรรยายฟ้องคดีหนึ่งที่ตนทำคดี อัยการก็ยังแถและตอแหล เพื่อที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงในเนื้อหา เช่น บรรยายว่า บุคคลที่หน้าเหมือนกับพระบรมวงศานุวงศ์ คือจริงไม่จริงไม่รู้ แต่พอบอกว่าหน้าเหมือนนี่จะพิสูจน์ได้อย่างไร หรือในบางคดีก็ยังบรรยายว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีที่ร้ายแรง จำเลยไม่สมควรที่จะได้รับโทษสถานเบา ต้องได้รับโทษสถานหนัก คือเราควรจะเลิกตอแหลกับเรื่องพวกนี้ แล้วลองมองในความเป็นจริงของมัน ยกขึ้นมาพูดในสิ่งที่เป็นจริง แล้วคุณไม่สามารถมาหยุดคนที่เป็นเสรีชนได้ด้วยกฎหมายตัวนี้

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ กล่าวว่าในแง่ของต่างประเทศ กฎหมายหมิ่นฯ เป็นข้อกังวลมาก หลังจากที่มีการตัดสินจำคุก 2 ปีครึ่งในคดีของโจ กอร์ดอน ในข้อหามีการแปลและเผยแพร่หนังสือ ทั้งที่ในคำตัดสินของศาลเท่าที่ตนเข้าใจ ไม่มีการพิสูจน์ว่าข้อความไหน ตรงส่วนไหนของหนังสือเล่มนี้เข้าข่ายการหมิ่นฯ สิ่งที่ต่างชาติกังวลคือ เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ที่เป็นสิทธิพื้นฐานอย่างหนึ่งตามกฎบัตรระหว่างประเทศ อย่างใน ICCPR (ภาคีพิธีสารเลือกรับ) กำหนดไว้ชัดเจนว่า ถึงแม้แต่ในสภาพที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่สามารถยกเว้นเสรีภาพในการแสดงออกได้ ทั้งที่เขาไม่ได้พูดสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็มีการแถลงข่าวระบุว่า ไทยควรมีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ คือเขากังวลว่าการใช้กฎหมายแบบนี้ มันไปกระทบกับเสรีภาพในการแสดงออก

พิภพยังได้เล่าถึงกฎหมายคุ้มครองการหมิ่นพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ ที่บางประเทศในยุโรปแม้จะมีอยู่ แต่ก็แทบจะไม่มีการใช้กันแล้ว หรืออย่างมากก็ถูกปรับเงินจากการกระทำผิด ขณะเดียวกันในระดับโลกก็มีแนวโน้มที่สถาบันกษัตริย์จะถอยออกจากการเมืองมาก ขึ้นเรื่อยๆ การที่ประเทศเรายังคงมาตรา 112 ในข้อหาความมั่นคงของรัฐ ใกล้กับมาตรา 116 ที่เป็นข้อหากบฏ ก็สร้างปัญหาการตีความว่าอันไหนผิดหรือไม่ผิด อันไหนจะดำเนินคดีได้หรือไม่ รวมทั้งอัตราโทษก็สูงมาก การฆ่าคนตายโดยไม่เจตนามีโทษ 3-15 ปี คดีหมิ่นก็ 3-15 ปีเหมือนกัน แต่จะถูกคูณจากหลายกรรม เข้าไปอีกเยอะ

ภัควดี ไม่มีนามสกุล กล่าวว่าเรามักบอกว่าสังคมไทยรักกัน สามัคคีกันมาตลอด ซึ่งมันไม่จริง ถ้ามองย้อนกลับไป เพียงแค่มองย้อนกลับไป อย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็จะมีคนที่คิดไม่เหมือนคนอื่น คนอย่างนายนรินทร์ ภาษิต, กศร.กุหลาบ ก็วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เยอะ วิจารณ์ราชการ เขาก็มีติดคุก ถูกจับ คือสมัยก่อน ถ้าไปทำผิดโดยการหมิ่นต่อสถาบันฯ มันจะมีโทษปรับอยู่ แปลว่าความผิดนี้ในสมัยนั้น แม้แต่สถาบันกษัตริย์เอง ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดอะไรมาก อาจจะแค่ปากเสีย ก็ปรับหรือเอาเข้าคุกก็ไม่กี่เดือน คือถ้าเกิดในสมัยสมบูรณญาสิทธิราชย์ โทษนี้มันยังไม่ได้หนักขนาดนี้ แล้วสมัยนี้ ระบอบนี้ที่เราอยู่จะให้เรียกว่าระบอบอะไร ต้องคิดชื่อขึ้นมาใหม่หรือเปล่า เพราะไม่มีในประเทศไหน

กฎหมายหมิ่นฯ แม้จะมีมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันมาถูกแก้ทำให้หนักขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คือมันมีความสัมพันธ์กันมากกับสงครามเย็นในช่วงนั้น คือใช้กำจัดกวาดล้างคอมมิวนิสต์ หรือคนที่คิดเห็นตรงกันข้าม ผ่านมา 35 ปี โลกไปถึงไหนต่อไหน แต่ชนชั้นนำในไทยก็ยังฝังหัวอยู่กับสงครามเย็น คือประเทศคอมมิวนิสต์สมัยนี้มันแทบนับมือได้ ถ้าจะกลัวคอมมิวนิสต์ก็ไม่มีแล้ว ไม่ทราบว่ายังกลัวอะไร วิธีคิดคือยังติดอยู่ในสงครามเย็น มองประชาชนเป็นศัตรู คนที่มีบทบาทในช่วงสงครามเย็น ก็ยังมีบทบาท มีอำนาจอยู่ แต่แทนที่จะเข้าใจโลก ปรับตัวกับโลกเลย แล้วพูดว่าเราไม่เหมือนใครในโลก เป็นแบบไทยๆ จะเป็น Ulta-royalist ราชานิยมยิ่งกว่าราชา ยิ่งกว่าสมัยสมบูรณญาสิทธิราชย์หรือเปล่า คือถ้าเราจะดำเนินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เราก็ควรจะรักให้พอเพียง รักอย่างมีสติ และรักอย่างไม่ล้นเกินด้วย  

มิตร ใจอินทร์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าคดีอากง ตัดสินนามธรรมมาก จากเจตนาภายใน โดยไม่มองรูปการภายนอก หรือว่าวัตถุพยานภายนอก เขาวัดจากสำนึกด้วย อากงถูกตัดสินว่าไม่มีสำนึกจงรักภักดี ความรู้สึกหรือสำนึกต่างๆ นี้เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งวินิจฉัยหรือตัดสินคุณค่ากันไม่ได้ กลายเป็นว่าตั้งแต่ศาล องค์กรต่างๆ และกลไกของอำนาจใช้ฐานความรู้สึกล้วนๆ ในการพิจารณาและลงโทษคน   

จากนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. ได้มีการเรียงโคมลอยเป็นข้อความคำว่า “อากง 112” และการเขียนข้อความเรียกร้องให้ปล่อยอากงและให้มีการแก้ไขปัญหาจากมาตรา 112 บนโคมลอยที่จะปล่อย ก่อนที่ผู้ร่วมกิจกรรมจะทำการปล่อยโคมจำนวน 112 ดวงขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมมีการเปล่งเสียงตะโกน “ปล่อยอากง” เป็นระยะๆ ระหว่างกิจกรรมการปล่อยโคมลอย

 

 

 

 

 

ขอบคุณภาพถ่ายจาก แม่อุ๊ ดีดี และ Pipob Udomittipong

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท