ต่างมุมกระแสเลิกจ้างหลังน้ำลด สภาอุตฯชี้ยังต้องการแรงงานจำนวนมาก

สภาอุตฯชี้หลังน้ำท่วมยังต้องการแรงงานจำนวนมาก แนะคนงานอย่าย่ำอยู่กับที่ เร่งพัฒนาฝีมือ ผันตัวคุมเครื่องจักร ด้านนักวิชาการถาม เอาเวลาที่ไหนไปเรียน แค่ทำโอทีประทังชีวิต ก็หมดเวลาแล้ว (16 ธ.ค.54) ในการเสวนาเรื่อง การส่งเสริมการจ้างงานหลังภัยพิบัติ ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค จิระพันธุ์ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า ตลาดแรงงานในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากหลังน้ำท่วม มีการจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เครื่องมือเครื่องจักรเสียหายจากน้ำท่วม ลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น โดยมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ลดภาษีให้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานอย่างสำคัญเนื่องจากจะใช้แรงงานในจำนวนที่ลดลง แต่มีทักษะมากขึ้น รวมถึงมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ก็จะส่งผลต่อการจ้างงานระดับล่างน้อยลง และคนงานที่ตกงานก็ยากจะกลับสู่ระบบอีก ต่อคำถามว่าจะช่วยให้คนงานไม่ตกงานได้อย่างไรนั้น จิระพันธุ์กล่าวว่า ตลาดของไทยเป็นตลาดเสรี เป็นไปตามกลไกตลาดในระบบแพ้คัดออก ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วม ดังนั้น การที่คนงานอายุ 40 ปีขึ้นไป และเรียนน้อย โอกาสที่จะขยับขึ้นไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นจึงเป็นเรื่องลำบาก แรงงานจะต้องพิจารณาตัวเอง เรียนรู้ตลอเวลา หาทางพัฒนาฝีมือ หรือออกไปเป็นเถ้าแก่ เป็นนายตัวเอง จิระพันธุ์ระบุว่า ที่กำลังคิดตอนนี้คือการทำอย่างไรให้คนงานได้อัพเกรดการศึกษาให้สูงขึ้น โดยอาจเอางานที่ทำมาเทียบเกรด เพื่อทำให้สามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้ เอกพร โฆษะครรชิต รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่จริงแล้วขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมกำลังขาดแคลนแรงงาน โดยต่างกำลังมองหาแรงงานเนื่องจากต้องผลิตงานให้ทันตามออร์เดอร์ พร้อมแนะนำให้ผู้ที่กำลังมองหางาน เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยมีอัตราว่างทั่วประเทศ ทั้งนี้ เขามองว่า หลังน้ำท่วม แรงงานหลายแสนคนที่หายไปจากระบบขณะนี้ เกิดจาก หนึ่ง กองทุนประกันการว่างงานของไทยที่ต่างจากประเทศอื่นๆ ตรงที่ให้เงินคนงานใช้ก่อน สอง คนงานกลับสู่ภาคเกษตรกรรมที่ตอนนี้มีความต้องการสูง สาม งานอิสระเข้ามาเยอะมาก เช่น งานก่อสร้าง ทำความสะอาด ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ส่วนการพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น เอกพรเห็นไปในทางเดียวกับจิระพันธุ์ว่า แรงงานไทยจะต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ จะต้องพัฒนาตัวเองเป็นผู้คุมเครื่องจักรให้ได้ โดยยกตัวอย่างว่า หากมีการลงทุนเครื่องจักรราคา 2 ล้านบาทและจ้างคนคุมเครื่อง 2 คน จะแทนคนงานได้ 10-15 คน โดยได้งานที่ได้มีมาตรฐานสม่ำเสมอ ใช้เวลาคืนทุนไม่เกิน 2 ปี ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เสนอว่า หลังน้ำท่วม อยากให้มี Work Fair โดยคำนึงถึงคนที่ตกงานก่อน เทศบาลต่างๆ จะต้องจัดการกับขยะโดยอาจรับซื้อหรือมีค่าตอบแทนให้ผู้ที่เก็บมาส่ง นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับปีหน้า ต้องมีการขุดลอกคูคลองทั้งหมด โดยจ้างคนที่ตกงานก่อน และในระยะยาว จะต้องสำรวจที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเสียใหม่ โดยต้องมีที่ให้น้ำด้วย ไม่ใช่สร้างขวางทางน้ำผ่านอย่างอยุธยาหรือปทุมธานี ในประเด็นการพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น ณรงค์ระบุว่าเขาเห็นด้วย แต่มีคำถามว่า จะให้คนงานเอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้ เนื่องจากค่าจ้างที่ต่ำ ทำให้คนงานต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้สามารถยังชีพอยู่ได้ นอกจากนี้ การที่ต้องทำงานล่วงเวลาก็ส่งผลให้ไม่มีเวลาให้ครอบครัว การเกิดก็ลดลงน้อยลง ซึ่งก็จะส่งผลต่อตลาดแรงงานในอนาคต ดังนั้น การจะแก้ไขอะไรจะต้องคิดทั้งระบบ โดยอาจใช้ช่วงวิกฤตน้ำท่วมนี้เป็นโอกาส ในการรื้อโครงสร้างทั้งหมดใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท