Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrant Day) เป็นวันที่ทางองค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ปฎิเสธไม่ได้ว่า ระบบทุนนิยมที่ขยายตัวทั่วโลก ได้สร้างพลังแรงงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างสรรพสิ่งต่างๆให้สังคมมีความก้าวหน้าขึ้น อย่างไรก็ตาม ชีวิตของผู้ใช้แรงงานจำนวนมากกลับประสบกับชะตากรรมของชีวิตที่ยากลำบากยากเข็ญ ต้องทำงานหนัก จำเจ ซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย มีชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าแปดชั่วโมง ไม่มีวันหยุดพักผ่อน แสวงหาความรู้ ไร้หลักประกันความมั่นคงของงาน ค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไร้สวัสดิการพื้นฐาน และมีอำนาจต่อรองไม่มากนัก อีกด้าหนึ่ง “แรงงาน” จึงกลายเป็น”สินค้า” เป็นกลจักรหนึ่งหรือหุ่นยนต์ของระบบทุนนิยม มากกว่าความเป็น “มนุษย์” …………… “วันแรงงานข้ามชาติสากล” ได้ให้ความหมายว่า แรงงานจำนวนมากในโลกใบนี้ได้เคลื่อนตัวข้ามเหนือความเป็น “ชาติ” เช่นเดียวกับ ทุน ที่ “ไร้พรมแดน” “ไร้สัญชาติ” เพื่อกำไรสูงสุด เพื่อสะสมทุนและขยายทุน (จึงมีนายทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ และนายทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย) ขณะที่ความเป็น “ชาติ” (ที่คลั่งชาติ ) กลายเป็นวาทกรรมที่ครอบงำประชาชนในประเทศหรือรัฐชาติต่างๆ ด้านหนึ่งเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของชาติตนเอง ด้านหนึ่งกลับสร้างความเหยียดยาม ดูหมิ่น ดูถูกชาติอื่นๆ มาแต่ยุคสมัยโบราณกาลก่อน “ความเป็นไทย” เป็นส่วนประกอบหนึ่งของอุดมการณ์ชาตินิยมของรัฐไทย ที่ปลูกฝังประชาชนให้จงเกลียดจงชังประเทศเพื่อนบ้าน มองเป็นดั่ง”ศัตรู” “เป็นอื่น” ผู้รุกราน สร้างความแตกแยก ทำลายความรักความสามัคคีของคนในชาติ ผ่านสื่อสารมวลชน เพลง ละคร ภาพยนตร์ วรรณกรรม เรื่องเล่า สัญญลักษณ์ต่างๆ ฯลฯ และที่สำคัญหลักสูตรประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับทางการ เพื่ออำนาจของผู้ปกครอง โดยเฉพาะพวกอำมาตย์ขุนนางศักดินา “ความเป็นชาติ” ของรัฐไทย ยังมีความหมายที่คับแคบ ไม่ให้ความสำคัญความหมายกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกกดขี่ เสียเปรียบในสังคม รวมถึงผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และเป็นลูกหลานของไพร่ในสมัยก่อนระบบทุนนิยม มิพักพูดถึงแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยซึ่งมีพื้นที่ทางสังคมอยู่น้อยนิด อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้ว “ชาติ” จึงควรหมายถึงมนุษยชาติ ประชาชนผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก หาใช่ความคลั่งชาติ แต่เป็นจิตสำนึกทางสากล ……………….. การพัฒนาทุนนิยมสังคมไทยที่มีอำนาจนอกระบบ เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีผู้ใช้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานและมักเป็นงานที่คนไทยเองขาดแคลนจำนวนประมาณกว่า 3 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานที่อพยพหนีการกดขี่ข่มเหงจากอำนาจเผด็จการทหารพม่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นพลังแรงงานส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย และไม่ต่างจากที่แรงงานไทยอพยพไปทำงานต่างประเทศเช่น แถบประเทศตะวันออกกลางที่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าทำงานในเมืองไทย แต่ชีวิตแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย กลับถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง นายทุนไทยบางคน และข้าราชการบางหน่วยบางคนในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญกฎหมายแรงงานที่ล้าหลังไม่ยอมให้แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานตั้งสหภาพแรงงานและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ภายใต้การครอบงำอุดมการณ์ความเป็นชาติไทยที่สร้างความดูถูกดูแคลนแรงงานข้ามชาติ (แต่จำเป็นต้องมีแรงงานข้ามชาติ) ขณะที่แรงงานไทยก็โดนกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากนายทุนไทยและนายทุนต่างประเทศเช่นกัน โดยที่กฎหมายแรงงานล้าหลังและเข้าข้างทุนมากกว่าผู้ใช้แรงงาน หรือ “รัฐรับใช้ทุน” มากกว่า “ผู้ใช้แรงงาน” อย่างไรก็ตาม ภายใต้การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย เพื่อความยุติธรรมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาทางเศรษฐกิจปากท้องในชีวิตประจำวัน ปัญหาทางกฎหมาย/นโยบายต่อแรงงาน นั้น ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทย และมีจำนวนมากที่สุด ต้องมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และขยายสิทธิเสรีภาพให้มากขึ้น สร้างความเสมอภาคในสังคมด้วยเช่นกัน ตลอดทั้งลดทอนอำนาจนอกระบบที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและกลุ่มทุนล้าหลังอนุรักษ์นิยมสนับสนุนอยู่ (รวมทั้ง สมาคมอุตสาหกรรม นายจ้าง หอการค้า ธนาคาร ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกมาคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ภายใต้บริบทเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่จริงปัจจุบัน ผู้ใช้แรงงานทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติต้องร่วมมือกับชนชั้นต่างๆ กลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย เฉกเช่นการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในโลกอาหรับปัจจุบัน และประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานโลกตะวันตก เพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย และเพื่อสร้างเงื่อนไขที่ดีกว่าในการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net