คนงานข้ามชาติที่เชียงใหม่เรียกร้องเข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

จัดเวทีเสวนาเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลที่ จ.เชียงใหม่ แลกเปลี่ยนทั้งเรื่องแรงงานข้ามชาติ จนถึงวิกฤตเลิกจ้างคนงานในโรงงาน เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลวันที่ 18 ธ.ค.54 ที่ร้านหนังสือ Book Re:public มีการจัดงาน “แรงงาน การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”และ“แสดงความคิดเห็นและเสนอทางออก” ร่วมจัดสหพันธ์คนงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคเหนือ นายอุ้ม เครือตัวแทนสหพันธ์คนงานข้ามชาติ กล่าวว่า คนงานข้ามชาติต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม สิทธิเท่าเทียมทุกชนชั้นมาหลายสิบปี มีการรวมกันในนามสหพันธ์คนงานข้ามชาติเพื่อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิซื้อยานพาหนะ โดยข้อเสนอ 5 ข้อในวันแรงงานข้ามชาติคือ 1.ขอให้ยกเลิกนโยบายการเก็บเงินเข้ากองทุนส่งกลับแรงงานข้ามชาติ ทั้งสามสัญชาติ พม่า กัมพูชา และลาว 2. ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเพิ่มสถานที่ทำงานของลูกจ้างที่ยังคงทำงานอยู่กับนายจ้างคนเดิม หรือบริษัทเดิม ขอให้เป็นภาระของนายจ้าง 3.ให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติสามารถ ขอใบแจ้งออกได้โดยตรงจากสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ตนเองทำงานอยู่ 4.ยกเลิกเงื่อนไข ที่เป็นอุปสรรค ในการเข้าถึงสิทธิทางประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ เช่น ระเบียบของจัดหางานที่ระบุให้แรงงานข้ามชาติต้องหานายจ้างใหม่ ภายใน 7 วัน หรือไม่เกิน 15 เมื่อต้องออกจากงานที่เดิม 5.ให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด อย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ เช่น เรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการ เป็นต้น อัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ กล่าวว่า มีข่าวใหญ่ที่สุด ข่าวดัง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา บริษัทโฮย่า กลาสดิสค์ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน เกือบ 2,000 ชีวิต อ้างคำสั่งประกาศจากสาเหตุขาดทุนตั้งแต่เมษายนปีนี้และน้ำท่วม ทั้งนี้เห็นว่าการเลิกจ้างดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม เป็นการพยายามทำลายสหภาพแรงงาน โดยเลือกเลิกจ้างพนักงานเฉพาะพนักงานโรงงานที่สอง ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีกรรมการสหภาพแรงงาน และมีสมาชิกสหภาพแรงงาน 60-70% โดยเริ่มหยุดออร์เดอร์ตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน และยังไม่ถึงวันที่ 1 ธันวาคม ก็ได้รับจดหมายเลิกจ้าง ถึงบ้านเลย เนื้อความในจดหมายมีแต่ยินยอมให้เลิกจ้าง และวางแผนไว้ก่อนตอนพนักงานกระจายตัวกลับบ้าน ทำให้คนงานรวมตัวกันไม่ติด อัครเดช ชอบดี กล่าวว่า สิ่งที่นายจ้างอ้างเป็นเรื่องของโรงงานที่สองไม่สามารถรองรับการผลิตได้ แต่ทำไมหาวิธีการจัดการ ทำไมเลือกใช้วิธีให้คนงานออก เราได้เสนอว่าให้ยกเลิกประกาศเลิกจ้างไปก่อน แล้วเปิดให้มีการลาออกแบบสมัครใจ ทั้งโรงงานแห่งที่หนึ่งและสอง นอกจากนี้ได้ยื่นหนังสือต่อราชการ ทั้งนี้คนงานยังคงมีความตั้งใจ และจะต่อสู้อย่างถึงที่สุด รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า สิ่งที่เราจะต้องคิดกันคือ ประเทศเราไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรม ทั้งประเทศเราถูกเลี้ยงโดยคนนอกภาคเกษตร คนชั้นนำคิดว่าเป็นประเทศเกษตร และคนทำงานก็คิดอีกแบบ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคิดสำคัญกว่านั้น คือ จัดตั้งทางสังคม และการทำงานในโรงงานจะถูกทำให้ไม่มั่นคงมากขึ้น กรณีโฮย่า มีวิธีผลิตชิ้นส่วนแล้วนำไปประกอบอีกส่วน และตัวระบบโรงงาน ที่หล่อเลี้ยงได้อยู่สองด้านคือ ด้านหนึ่ง คนงานหวาดกลัวตกงาน เลิกจ้าง อีกด้านหนึ่งมันให้ความหวังจากพนักงาน เป็นหัวหน้าแผนกเล็กๆ ถ้าตั้งสหภาพฯ เกิดความเสี่ยง แต่ถ้าประจบนาย ทำให้ก้าวหน้า ทั้งหมดทำให้ความจงรักภักดีจริงๆ ไม่มีแล้ว รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ กล่าวต่อว่า ในระบบเราจะทำอย่างไร ไม่ได้ปฏิเสธว่าจัดตั้งสหภาพ ถ้าเกิดเราคิดกันใหม่ เป้าหมาย เคลื่อนที่มากขึ้น และผมอยากเสนอให้สังคมไทยรู้สึกถึงความอยุติธรรม นอกเหนือเหตุผลทางเศรษฐกิจ ถูกทำให้เป็นทาส ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ กรณีแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติพูดถึงทาส เพื่อให้ทำลายมายาคติของคนไทยเรื่องไม่เสมอภาค ที่เชื่อว่าถ้าลูกจ้างขยันก็ประสบความสำเร็จ ถ้าทลายตรงนี้ไม่ได้ สิ่งที่พูดกันเรื่องสหภาพฯ เครือข่าย ยุทธศาสตร์ เปลี่ยนไม่ได้ก็เดินสู่เหว ในวันเดียวกัน ประชาธรรม รายงานว่า มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ชุมชนแรงงานข้ามชาติ และเครือข่ายแรงงานไทย ร่วมจัดเวทีเสวนาเรื่อง แรงงานข้ามชาติกับโอกาสในการเข้าถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555 และการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นางหาญนวล ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การได้รับค่าจ้างของแรงงานว่า \ตน และเพื่อนแรงงานได้ค่าจ้างวันละ 180 บาทต่อวัน แต่ละวันเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวมากกว่ารายรับที่ได้มา เพราะต้องจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ ซึ่งค่าแรงที่ได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องดำรงชีพ ทั้งนี้ตนรู้สึกดีใจที่มีนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และแรงงานข้ามชาติทุกคนมีความคาดหวังสูงมากสำหรับนโยบายดังกล่าว อย่างน้อยก็สามารถทำให้แรงงานข้ามชาติอย่างเรา พอที่จะดำรงชีพอยู่ได้\"ตัวแทนแรงงานข้ามชาติกล่าว ด้านนางสาวนิลวรรณ ระพีพงษ์ สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า \"ปัจจุบัน มีสถิตินายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในภาคการก่อสร้าง กรณีดังกล่าวมักจะมีเรื่องร้องเรียนมากที่สุด เช่น นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างหลังจากก่อสร้างงานเสร็จ หรือนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย กรณี เลิกจ้าง เป็นต้น ดังนั้นลูกจ้างที่ประสบปัญหาดังกล่าว จะต้องมีข้อมูลพื้นฐานของนายจ้าง เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา แต่หลายครั้งที่ลูกจ้างมักจะไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานของนายจ้าง จึงเป็นเหตุให้เกิดความยาก และล่าช้าในการแก้ปัญหา\" เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานกล่าวอีกว่า \"กรณี การประกาศบังคับใช้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาแล้ว กลุ่มนายจ้างจะต้องปฏิบัติตาม หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนด ถือว่านายจ้างกระทำผิด อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป บังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้น 79 บาท จากอัตราวันละ 221 บาท เป็น 300 บาท ส่วนกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ให้ปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 85 บาท จากอัตราวันละ 215 บาท เป็น 300 บาท สำหรับจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัด ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 โดยให้ปรับค่าจ้างอีกครั้งเป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 อย่างไรก็ตามในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่เอง ค่าจ้างขั้นต่ำจาก 180 บาท จะปรับขึ้นเป็น 251 บาท บังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป\""

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท