Skip to main content
sharethis

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าเมื่อเย็นวันอังคารที่ย่างกุ้ง หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมกล่าวสนับสนุนการพัฒนาปชต.ในพม่า ในขณะที่ไทยเตรียมเดินหน้าโครงการลงทุนด้านพลังงานขนาดใหญ่ที่เมืองทวาย เมื่อเวลาราว 17.30 นาฬิกาของประเทศไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยได้เข้าพบปะกับผู้นำฝ่าย ค้านของพม่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี (National League of Democracy -NLD) ที่สถานเอกอัคร ราชทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำ โขง ครั้งที่ 4 ณ กรุงเนปิดอว์ โดยยิ่งลักษณ์นับเป็นนายกฯ ไทยคนแรกที่ได้พบปะกับออง ซาน ซูจี ไทยหนุนซูจีช่วยพัฒนาประชาธิปไตย นสพ.เดลินิวส์ รายงานว่า นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการพบปะระหว่าง น.ส .ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนางอองซาน ซูจี ที่ทำเนียบเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง ว่า นายกฯ ได้ แสดงความชื่นชมถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของนางออง ซาน ซูจีที่มีต่อการส่งเสริมพัฒนาการ ประชาธิปไตยในพม่า ที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ต่อการพัฒนาการทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจของ นางออง ซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดี ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในพม่าที่คาดว่าจะมีขึ้นในเร็วๆนี้ พร้อมเห็นว่านางออง ซาน ซูจียังมีบทบาทอย่างยิ่งต่อด้านการต่างประเทศของพม่าด้วย นางฐิติมา กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยเป็นพันธมิตรและประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับพม่า และต้องการเห็น พม่ามีความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาในทุกด้านต่อไป เนื่องจากความมั่นคงและมั่งคั่งของพม่าคือความมั่นคงและมั่งคั่ง ของไทยด้วย โดยไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายในพม่า เพื่อพัฒนาพม่าให้ก้าวหน้าต่อไป ในโอกาสนี้ นายก รัฐมนตรียังให้ความมั่นใจกับนางออง ซาน ซูจีว่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทยจะอยู่เคียงข้าง และขอเป็นกำลังใจให้ นางออง ซาน ซูจี และประชาชนชาวพม่าประสบความสำเร็จในการผลักดันให้พม่าเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน และมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยังประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม การพบปะระหว่างน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับนางอองซาน ซูจี มีขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทาง เศษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 เสร็จสิ้นลง ณ กรุงเนปิดอว์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม โดยมี สมาชิกร่วมประชุม 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยเข้าร่วมการประชุม หารือกับรบ.พม่า- เตรียมเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึก นายกรัฐมนตรีไทย ยังได้หารือกับผู้นำรัฐบาลพม่าและนักลงทุนในการประชุมทวิภาคี โดยเฉพาะเกี่ยวกับการลงทุนและ โครงการพัฒนาด้านพลังงานและการขนส่ง ทั้งนี้ รัฐบาลไทยวางแผนจะก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่และสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำหน้าที่ขนส่งแหล่งก๊าซธรรมชาติและเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทยและพม่า โดยจะมีขนาดใหญ่กว่าเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึง 8 เท่า อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถูกวิจารณ์โดยนักสิทธิมนุษยชนและนักสิ่งแวดล้อมว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่หลายหมื่นคน อนึ่ง การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อ การพัฒนาแห่งเอเซีย หรือ ADB ทั้งนี้ ผู้นำ 6 ประเทศสมาชิก ได้ร่วมหารือการนำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่ ปี 2012 - 2022 ไปสู่การปฏิบัติ โดยเน้นประเด็นเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยยืนยันใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ความปลอดภัย และความมั่นคงของประชาชนและทรัพย์สินในอนุภูมิภาค การเกื้อหนุนกับกรอบความร่วมมืออื่นและการสนับสนุนทางการเงินที่มีความเกี่ยวโยงกัน นักวิเคราะห์จับตาผลประโยชน์ด้านพลังงาน ทั้งนี้ นสพ.บางกอกโพสต์รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางไปเยือนพม่าและพบปะกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และพลเอกตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลทหาร โดยทักษิณกล่าวว่าการพบปะดังกล่าวเป็นไปเพื่อปูทางให้การมาเยือนของยิ่งลักษณ์เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การที่ทักษิณเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างไทย-พม่านี้ อาจเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจโดยเฉพาะด้านพลังงาน กวี จงกิจถาวร คอลัมนิสต์นสพ.เดอะเนชั่น ให้สัมภาษณ์กับอิระวดีว่า การไปเยือนพม่าของยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงานเป็นอันดับแรก ส่วนอันดับสอง คือการเพิ่มความชอบธรรมทางการเมืองให้กับตนเองด้วยการพบปะกับออง ซาน ซูจี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net