Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พรรคเพื่อไทยให้ “สัญญาประชาคม” ไว้หลายข้อในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และ “สัญญาประชาคม” บางข้อ เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 การเร่งคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลในที่ สุด ทว่าในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมาหลังจากเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยไม่ได้ดำเนินการตาม “สัญญาประชาคม” ที่ให้ไว้อย่างหนักแน่นพอ ขณะที่ “สัญญาประชาคม” บางข้อ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะมีการดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้ ในทางกลับกัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับทุ่มเทให้กับการดำเนินการบางอย่างที่ไม่เพียงแต่ไม่ อยู่ใน “สัญญาประชาคม” ที่เคยให้ไว้ หากแต่ยังมีความขัดแย้งตรงข้ามกับหลักการสำคัญ เช่น สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมที่อยู่ข้างหลัง “สัญญาประชาคม” ดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อกรณีหมิ่นสถาบันตั้งแต่ แรกเข้ารับตำแหน่ง เขากล่าวว่าจะดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างเฉียบขาด โดยเฉพาะหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบาย การป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เขาขอให้เจ้าของเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันเลิกพฤติกรรมเสียมิฉะนั้นจะ ถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด พร้อมกับฝากไปยังนักสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านการกระทำดังกล่าวว่า ต้องเคารพกฎหมายไทย และกล่าวอย่างมั่นใจว่าจะไม่ผิดใจกับ “เสื้อแดง” เพราะเชื่อว่า “คนเสื้อแดงรักพรรคเพื่อไทยชั่วฟ้าดินสลาย” พร้อมกันนี้ เขากล่าวว่าจะให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจัดซื้อเครื่องมือ ตัดสัญญาณมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาทเพื่อจะได้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ต่างประเทศที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ได้ เขากำหนดให้วันที่ 13 ธันวาคม 2554 เป็นวัน “ดีเดย์” ในการปิดเว็บไซต์ในประเทศไทยที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันเพิ่มอีกจำนวน 200 เว็บไซต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็มีทัศนะและท่าทีต่อ กรณีนี้ในทิศทางเดียวกันแม้จะไม่แข็งกร้าวเท่า เขาให้สัมภาษณ์นับแต่วันเข้ารับตำแหน่งว่าจะดำเนินการควบคุม ตรวจตรา และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหมิ่นสถาบันในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด เขาได้ขยายโครงการลูกเสือไซเบอร์ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลชุดที่แล้วด้วยการจัด อบรมหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำ และหลักสูตรผู้บริหารลูกเสือไซเบอร์ ขณะที่ต่อมาเขาได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นการยกระดับจากศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต มีวัตถุประสงค์เพื่อปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเป็นหลัก นอกจากนี้ เขาได้ประกาศห้ามกด Like กด Share หรือ Comment ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันใน Facebook เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อมและมีความผิดเช่นเดียวกับเจ้าของ ข้อความ ขณะเดียวกันเขาได้ขอความร่วมมือไปยัง Facebook และ Youtube ให้ทำการลบข้อความในลักษณะดังกล่าวเสีย เขากล่าวว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลสามารถปิด URL ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันไปได้ประมาณ 60,000 แห่ง เปรียบเทียบกับในช่วงปี 2551 – 2554 ที่สามารถปิดไปได้เพียงประมาณ 70,000 แห่ง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงสามารถปกป้องสถาบันได้มีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลพรรคประ ชาธิปัตย์มาก อย่างไรก็ดี การเผชิญปัญหาการหมิ่นสถาบันของรัฐมนตรีทั้งสองข้างต้นไม่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นกลวิธีทางการเมืองหรือเป็นการเล่นละครตบตาฝ่ายตรงข้าม ก็ตาม) เพราะนอกจากเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำรวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มาตรการดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองในรัฐ ประชาธิปไตยอย่างสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันทำให้การปิด กั้นทำได้ยากมาก ทุกครั้งที่ใครสามารถคิดค้นเทคนิคหรือวิธีการในการปิดกั้นได้ก็จะมีผู้คิด ค้นเทคนิคและวิธีการแบบใหม่ให้ตามไล่จับอยู่เรื่อยไป รัฐบาลจีนทุ่มเงินไปหลายหมื่นล้านบาทก็ยังไม่สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่ รัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยคุกคามตนเองให้หมดไปได้ การที่รัฐบาลไทยจะทุ่มเงินอีก 400 ล้านบาทเพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับปิดกั้นเว็บไซต์จากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่ เทียบกันไม่ได้ และต่อให้รัฐบาลไทยลงทุนด้านเทคโนโลยีจนหมดตัวก็อย่าคิดว่าจะควบคุม ตรวจตรา และปิดกั้นการสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตได้หมด ไม่นับรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมทั้งสังคมและการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมา การแก้ไขปัญหาหมิ่นสถาบันด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวไร้ความ หมายเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสาเหตุที่การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันขยายตัวอย่างมากในโลกออ นไลน์ไม่ได้เป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ หากแต่เป็นความคับข้องใจทางการเมืองที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ทว่าไม่สามารถแสดงออกในที่สาธารณะได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา เพราะความที่มีกฎหมายเช่นมาตรา 112 กั้นขวางอยู่ โลกออนไลน์จึงเป็นช่องทางสาธารณะเพียงไม่กี่ช่องทางที่เหลืออยู่ (นอกเหนือจากการซุบซิบนินทา) ให้ผู้คนสามารถระบายความคับข้องใจนั้นได้ หากรัฐบาลไม่หาวิธีการบรรเทาความคับข้องใจที่ว่านี้ให้ตรงจุด หรือไม่หาที่ทางให้ความคับข้องใจที่ว่านี้ได้แสดงออกอย่างเหมาะสม ก็เป็นการยากที่จะหยุดยั้งกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในโลกออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันการที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกลายเป็นปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ถูกอีกฝ่ายใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดศัตรูทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันจำนวนมากวางอยู่บนข้อเท็จจริง มีเหตุมีผล และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้เป็นการปั้นน้ำเป็นตัว ใส่ร้ายป้ายสี หรือดูหมิ่นถิ่นแคลนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ด้วยความที่กฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาหลายระดับและมีความหละหลวมอย่างมาก ก็เปิดโอกาสให้ถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือในการหมายความการวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันในเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าวให้เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาทหรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันเสีย หากรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่หาวิธีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้มีความรอบคอบรัดกุมกว่านี้ ก็อย่าหวังว่าการกล่าวหาและการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันจะลดจำนวนลง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ การดำเนินคดีผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันในช่วงที่ผ่านมามีความรุนแรงและบิด เบี้ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก “อากง” ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเพียงเพราะถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความหมิ่นสถาบันไปยังโทรศัพท์ของเลขานุการ ส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ แม้ฝ่ายโจทก์จะยังไม่สามารถ “พิสูจน์ให้สิ้นสงสัย” ได้ว่าข้อความดังกล่าวส่งจากโทรศัพท์ของ “องกง” จริงหรือไม่ หรือถึงจะใช่โทรศัพท์ของ “อากง” ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อยู่ดีว่า “อากง” เป็นคนส่ง นอกจากนี้ แม้ “อากง” กระทำการดังกล่าวจริง (ซึ่งเขาปฏิเสธและขออุทธรณ์) โทษที่เขาได้รับก็ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่เขาก่อ ในทำนองเดียวกัน “โจ กอร์ดอน” ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนเพียงเพราะแปลบางส่วนของหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย แต่ด้วยข้อจำกัดของวิธีการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายมาตรา 112 ก็ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาแปลเนื้อหาส่วนไหนและเนื้อหาดังกล่าวเข้าข่าย หมิ่นสถาบันอย่างไร ขณะที่หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Yale ประเทศสหรัฐอเมริกาและได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านในมหาวิทยาลัย หลายแห่งในประเทศนี้ ความรุนแรงและความบิดเบี้ยวของการดำเนินคดีหมิ่นสถาบันด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ข้างต้นละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองรัฐ ประชาธิปไตยอย่างรุนแรง จนกระทั่งทั้งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างพากันออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยพร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไข กฎหมายมาตรา 112 อย่างเร่งด่วน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงไม่สามารถแก้ปัญหาหมิ่นสถาบันด้วยวิธีการที่ผ่านมาได้ อีกต่อไป เพราะวิธีการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาบานปลายอย่างที่เป็นอยู่ใน ขณะนี้ จำเป็นต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” อย่างแท้จริงเสียที เพราะคงไม่มีใครหรือแม้กระทั่ง “คนเสื้อแดง” รักพรรคเพื่อไทย “จนชั่วกัลปาวสาน” อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีโอ้อวดหากพรรคเพื่อไทยบิดพลิ้ว “สัญญาประชาคม” ที่เคยให้ไว้ [บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับวันที่16-22 ธันวาคม 2554]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net