Skip to main content
sharethis

แรงงานนอกระบบบุกกระทรวงแรงงานขอความช่วยเหลือหลังวิกฤตน้ำท่วม ชี้เป็นกลุ่มเปราะบางสุดในสังคม ขณะ รมว.แรงงาน รับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (21 ธ.ค.54) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ พร้อมด้วยแรงงานนอกระบบกว่า 20 คน เข้าพบเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม หลังวิกฤตน้ำท่วม 12 ข้อ โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นใหญ่ คือ (1)การชดเชยและฟื้นฟูค่าเสียหายของบ้านเรือนจากน้ำท่วม (2)การช่วยเหลือคุ้มครองทางสังคม อาทิ การประกันสังคม (3)การชดเชยด้านอาชีพ การสร้างงานและการชดเชยความเสียหายของเครื่องมือทำกิน และ (4)การมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการภัยพิบัติในอนาคต (อ่านที่ด้านล่าง) รมว.แรงงานระบุว่า ข้อเสนอส่วนใหญ่นั้นไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน แต่รับจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ อาทิ เรื่องเงินช่วยเหลือค่าเสียหายที่อยู่อาศัย การควบคุมราคาสินค้า การให้ใช้ไฟ-น้ำฟรี เป็นต้น ทั้งนี้ เผดิมชัย กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบเช่นเดียวกับแรงงานในระบบว่า ส่วนนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและมนุษย์ซึ่งจะจ่ายให้ผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม 2,000 บาท ขณะที่กระทรวงแรงงาน จะดูแลแรงงานในระบบประกันสังคม โดยมีการทำสัญญากับนายจ้างของแรงงานเหล่านั้นให้จ่าย 75% ของค่าจ้างระหว่างยังไม่เปิดงาน เพื่อรักษาสภาพการจ้าง อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นนี้ เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่า ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไม่ได้มีเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมโดยตรง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือนี้มีมติจากทางคณะรัฐมนตรีไม่ให้ผ่าน เพราะจะซ้ำซ้อนกับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ของทางกระทรวงมหาดไทยแต่เงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ทาง พม.ได้มีเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว สำหรับผู้ยากจน ซึ่งเป็นงบประมาณของทาง พม.ที่เป็นงบจำนวนไม่มาก ส่วนเรื่องที่ขอให้ยกเว้นการเก็บเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 40 ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดส่งเงินสมทบและได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม รวมถึงลดเงื่อนไขให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านได้รายละไม่เกิน 50,000 บาทนั้น รมว.แรงงานได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมไปพิจารณาอนุโลมเรื่องสิทธิประโยชน์และลดเงื่อนไขการกู้ต่างๆ ลง เช่นเดียวกับให้กรมการจัดหางานพิจารณาลดเงื่อนไขของการขอกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านด้วย ขณะที่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชี้แจงกรณีขอให้จ้างงานคนในชุมชนเพื่อซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไม่สามารถทำได้ แต่มีส่วนที่น่าจะช่วยได้คือ การจัดคลีนิกเคลื่อนที่เบื้องต้น และจัดฝึกอบรมซ่อมสร้างบ้านซึ่งจะรับได้ 100 รุ่นรุ่นละ 20 คน โดยมีค่าอาหาร 120 บาทต่อวัน นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ยังได้ทวงถามความคืบหน้าเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ด้วยเนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ล่วงเลยมา 7 เดือนก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ ซึ่ง รมว.แรงงานได้ขอให้กรมสวัสดิการและสังคมเร่งดำเนินการ อนึ่ง จากการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนผู้ทำงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือแรงงานนอกระบบ จำนวน 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นผู้ทำงานในระบบหรือแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.7 /////////// ข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานนอกระบบและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ 1.ขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนเงินช่วยเหลือค่าเสียหายเรื่องที่อยู่อาศัย ให้เป็นการช่วยเหลือ โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่น้ำท่วมขัง เพราะระยะเวลาที่น้ำท่วมขังมีผลต่อความเสียหายมากหรือน้อยต่างกัน ได้แก่ น้ำท่วมขัง 7 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท น้ำท่วมขัง 8-15 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท น้ำท่วมขัง 16-30 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 15,000 บาท น้ำท่วมขังตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป จ่ายเงินช่วยเหลือ 20,000 บาท 2.ขอให้มีการกำหนดรายละเอียดในการขอรับความช่วยเหลือกรณีทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพและหรือทุนประกอบอาชีพเสียหายให้ชัดเจน ควรให้ความช่วยเหลือเท่าที่เสียหายจริง และควรเพิ่มวงเงินช่วยเหลือจากครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาทเป็นครอบครัวละไม่เกิน 30,000 บาท 3.แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ควรได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ รัฐควรชดเชยการขาดรายได้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามจำนวนวันที่ได้รับความเสียหาย โดยขอให้พิจารณาช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ไม่มีน้ำท่วมขังในบ้านเรือน แต่มีน้ำท่วมขังปิดล้อมเส้นทางคมนาคม จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ด้วย 4.หลังน้ำลดควรมีการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาสูงขึ้น และมีการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง 5.รัฐควรให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ใช้น้ำ และไฟฟรี โดยไม่มีเงิ่อนไข เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 54-มีนาคม 55 6.ผู้สูงอายุและผู้พิการควรได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมเป็นพิเศษจากภาครัฐ โดยขอให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยยังชีพคนพิการ เพิ่มขึ้น 3 เท่าตามระยะเวลาที่มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากผู้สูงอายุและผู้พิการมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในระหว่างน้ำท่วมขัง 7.ขอให้สำนักงานประกันสังคมยกเว้นการเก็บเงินสมทบประกันสังคมตามาตรา 40 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยไม่ถือเป็นการขาดส่งเงินสมทบและไม่ขาดสิทธิในการรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ 8.ขอให้สำนักงานประกันสังคมเจรจากับทางธนาคารพิจารณาลดเงื่อนไขที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะสามารถกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านรายละไม่เกิน 50,000 บาท และคงไว้เพียงผู้มีรายได้ตั้งแต่เดือนละ 7,500 บาทเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถเข้าถึงเงินกู้นี้ได้จริง 9.ขอให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครกำหนดให้มีนโยบายกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ให้เงินยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยแก่กลุ่มอาชีพต่างๆ ของแรงงานนอกระบบที่รวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เช่น กลุ่มแม่ค้า คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน จำนวนไม่เกินกลุ่มละ 100,000 บาท เป็นเวลา 6 ปี โดยให้ปลอดเงินต้นเป็นเวลา 3 ปี และเริ่มส่งเงินคืนในปีที่ 4 10.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครควรส่งเสริมให้คนในชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อทำงานซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายระหว่างน้ำท่วม รวมทั้งงานอื่นๆ ของหน่วยงานนั้นๆ เช่น การปูตัวหนอนใหม่ งานลอกท่อ การตีกรอบไม้ตามต้นไม้ในสวนสาธารณะ หรือการทาสีใหม่พื้นที่สาธารณะ งานตัดชุดนักเรียน ชุดกีฬา หรือเครื่องแบบของหน่วยงาน เป็นต้น 11.กระทรวงแรงงานควรเป็นเจ้าภาพในการประสานงานและส่งเสริมให้โรงงาน บริษัทต่างๆ พบปะกับกลุ่มอาชีพในชุมชนเพื่อให้เกิดการจ้างงานและให้กระทรวงฯ จัดมาตรการพิเศษแก่โรงงานหรือบริษัทที่จ้างงานกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประสบอุทกภัยนี้ 12.ภาครัฐต้องให้มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมอยู่ในคณะกรรมการที่วางแผนจัดการภัยพิบัติที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผน และการตัดสินใจในการจัดการน้ำ หรือการกำหนดเส้นทางน้ำในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net