ปิดแล้วเกือบ 400 ยูอาร์แอล ตั้งอนุฯ-ศูนย์มอนิเตอร์กลางปิดเว็บหมิ่นเบื้องสูง-ไม่เหมาะสม

21 ธ.ค.54 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า คณะกรรมการปิดเว็บหมิ่น โดยครั้งนี้นับเป็นการประชุมครั้งที่ 3 หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.54 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวภายหลังการประชุมเพียงสั้นๆ ว่า ที่ประชุมไม่มีการหารือเรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ขณะที่พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ.10) เลขานุการคณะกรรมการ กล่าวถึงรายละเอียดของการประชุมว่า ตั้งแต่มีการแต่งตั้งกรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการปิดกั้น URLs ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมไปแล้วกว่า 300 URLs และกำลังจะขอคำสั่งศาลในการปิดเพิ่มอีก 87 URLs ซึ่งแต่เดิมกว่าจะผ่านกระบวนการทั้งหมดเพื่อดำเนินการปิดกั้นอาจใช้เวลาเกือบสัปดาห์ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกันภายใต้กรรมการชุดนี้ ทำให้ใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น และยังมีการสืบสวนสอบสวนต่ออย่างเป็นระบบ พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการในส่วนต่างๆ ด้วย คือ ชุดตรวจสอบและติดตามการกระทำผิด มีพล.ต.อ.วรพงษ์ เป็นประธาน ชุดตรวจสอบเนื้อหาว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ มี พล.ต.อ.เอก อังศนานนท์ เป็นประธาน ชุดสืบสวน มี พล.ต.อ.ภาณุพงษ์ สิงหรา ณ อยุธยา เป็นประธาน และชุดสอบสวน มี พล.ต.อ.ปานสิริ ประภาวัต เป็นประธาน เมื่อถามว่าคณะอนุกรรมการนี้จะทำงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีอยู่เดิมหรือไม่ พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากกรรมการชุดนี้เน้นเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ครอบคลุมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เผยแพร่ผ่านสื่ออื่น อีกทั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นที่มีอยู่เดิมนั้นจะพิจารณาเมื่อเป็นสำนวนเรียบร้อยแล้ว สำหรับการทำงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายนั้น ได้มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะบูรณาการเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน รวมแล้วราว 28 คน เพื่อติดตามตรวจสอบเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลร้องเรียนที่ได้จากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวมี 22 คนประกอบด้วยประธานคณะกรรมการคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และมีคณะกรรมการคือ -พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม -นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย -นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม -นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที -นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ -พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ -พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด -นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ -พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ -พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ -นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมการปกครอง -นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ -นายธีระพงษ์ โสดาศรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ -พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล -พล.ต.ท.สมเดช ขาวขำ ผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี -พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง2 -พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ10) -พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ -ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีอำนาจหน้าที่ 1) กำหนดนโยบายป้องการและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 2) อำนวยการและสั่งการให้หน่วยงานรัฐ องค์กร หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และบุคคลอื่นใด ให้ดำเนินการป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม 3) สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ตลอดทั้งขอเอกสารต่างๆ เพื่อประกอบการปฏิบัติภารกิจ 4) ออกระเบียบตลอดจนข้อปฏิบัติอื่นใด เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย 5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใดตามที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อช่วยปฏิบัติงานตามความจำเป็น ขณะที่เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่า ขณะนี้มีเว็บไซต์เกือบ 200 URLs ที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามายังกระทรวงไอซีทีให้ตรวจสอบการเผยแพร่ข้อความหมิ่นเบื้องสูงตลอดเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ยังไม่ทันการ เนื่องจากการกระทำผิดสามารถทำได้เร็วมาก ดังนั้น ความจำเป็นในการจัดหาเครื่องตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อสกัดกั้น URLs ที่ไม่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักป้องกันและปราบปราบการกระทำผิด กระทรวงไอซีที พบว่า การเผยแพร่ข้อความหมิ่นเบื้องสูงในครึ่งปีแรกของปี 2554 พบว่าอยู่ในลำดับ 4 หรือเฉลี่ย 5% ต่อวันของจำนวนที่มีผู้ร้องเรียน ส่วนอันดับสูงสุดยังเป็นเรื่องหมิ่นประมาทส่วนบุคคล 60% รองลงมาคือการเจาะข้อมูลหรือปลอมบัญชี และรหัสผ่านอีเมล 15% ต่อมาคือล่อลวงและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท