Skip to main content
sharethis

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ ทักษิณให้สัมภาษณ์พบตานฉ่วย – เต็งเส่ง ปูทางยิ่งลักษณ์เยือนพม่า, พม่าอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวในเนปีดอว์ปีหน้า, ชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้านโครงการท่าเรือนำ้ลึกทวาย ทักษิณให้สัมภาษณ์พบตานฉ่วย – เต็งเส่ง ปูทางยิ่งลักษณ์เยือนพม่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้ออกมายอมรับว่าเดินทางเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อปูทางให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยในการเดินทางเยือนพม่าให้ราบรื่นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งกล่าวว่า การเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์ น่าจะได้หารือกับผู้นำพม่าเกี่ยวกับประเด็นเรื่องพลังงาน ที่น่าจะให้ผลประโยชน์กับประเทศไทยด้วย ขณะที่หลายฝ่ายแสดงกังวลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าอาจจะพัวพันเกี่ยวกับผลประโยชน์ของทักษิณอีกครั้ง ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า ได้เดินเยือนพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี(15 ธันวาคม) ที่ผ่านมา เพื่อพบกับนายพลอาวุโสตานฉ่วย และประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทั้งนี้ก็เพื่อปูทางให้กับการเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์ แหล่งข่าวในกรุงเนปีดอว์ยังรายงานว่า ทักษิณยังได้เดินทางไปยังพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย มีรายงานอีกด้วยว่า ประธานบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)และรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อให้การต้อนรับทักษิณ โดยทั้งหมดได้ค้างคืนในพื้นที่เป็นเวลาหนึ่งคืน ขณะที่ทักษิณได้บินมากับสายการบินพิเศษมาจากประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการหารือระหว่างทักษิณและผู้นำพม่า ด้านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เดินทางเยือนพม่าเมื่อวันที่ 19 – 20 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 4 ที่ กรุงเนปิดอว์ ก่อนจะเดินทางมาเพื่อพบกับนางอองซาน ซูจี ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงย่างกุ้งเมื่อวานนี้ โดยทั้งสองได้พูดคุยหารือกันเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง “ทั้งสองดูเป็นกันเองและพูดกันอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผลกระโยชน์ของทั้งสองประเทศ ” โอน ข่าย เจ้าหน้าที่พรรคเอ็นแอลดีกล่าว ขณะที่ก่อนหน้านี้ นางซูจีได้พูดถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า “ฉันชอบที่เธอเป็นผู้หญิง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศและประชาชนของเรา” ขณะที่ทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า พม่าไม่เคยอนุญาตให้มีการพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงเช่นนี้มาก่อน ขณะที่ดูเหมือนการเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์กับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการสานประโยชน์ให้แก่ทักษิณหรือไม่ ด้านกวี จงกิจถาวร คอลัมนิสต์แห่งหนังสือพิมพ์ The Nation ระบุว่า การเจรจาด้านพลังงานครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆของการเยือนพม่าของยิ่งลักษณ์ และสำคัญยิ่งกว่าการเยือนพม่าเพื่อพบปะนางอองซาน ซูจี ในการส่งเสริมความเป็นธรรมทางการเมืองเสียอีก อย่างไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การเยือนพม่าในครั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอนการเตรียมการของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และปฎิเสธทักษิณปูทางให้ได้พบกับนางซูจี พร้อมกันนี้ระบุว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล เพราะการเจรจาทุกอย่างทำภายใต้รัฐบาล และผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนทุกครั้ง ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมระบุ มีความคืบหน้าด้านการเจรจาความร่วมมือในด้านพลังงานก๊าซธรรมชาติกับผู้นำพม่า แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy , Mizzima ,DVB,www.siamintelligence.com 21 ธันวาคม 54 พม่าอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวในเนปีดอว์ปีหน้า สำนักข่าวชินหัวของจีนรายงานว่า รัฐบาลพม่าอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถท่องเที่ยวในกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ได้ในปีหน้า ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลพม่าปฎิเสธไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวในกรุงเนปีดอว์ ยกเว้นนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในพม่าและเดินทางไปเนปีดอว์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น มีรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวพม่าได้ยื่นเสนอให้รัฐบาลพม่าพิจารณาออกวีซ่าท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในฐานะที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ในปี 2556 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2557 ทั้งนี้ มีโรงแรมในกรุงเนปีดอว์จำนวน 24 แห่ง และมีห้องรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 1,600 ห้อง อาจกล่าวได้ว่า กรุงเนปีดอว์นั้นตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของพม่า โดยอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าไปราว 390 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากรัฐฉานและรัฐอื่นๆ ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวตะนุ ไทใหญ่ พม่า ปะโอ ปะหล่อง คะฉิ่นคะเรนนีเป็นต้น โดยมีประชากรอาศัยอยู่ราว 9 แสนคน ชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้านโครงการท่าเรือนำ้ลึกทวาย ชาวบ้านใน 19 หมู่บ้านในเมืองทวาย ภาคตะนาวศรีที่กำลังได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายได้ร่วมตัวกันเปิดแถลงข่าวที่กรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเผยแพร่ข้อเรียกร้องความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในเขตโครงการ รวมไปถึงการเรียกร้องจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น งานแถลงข่าวครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มชาวบ้านในเมืองทวาย ซึ่งเรียกตัวเองว่า กลุ่มพัฒนาเขตทวาย(Dawei Region Development Group) โดยทางกลุ่มได้เรียกร้องให้องค์กรอิสระเข้ามาศึกษาวิจัยผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และในด้านสุขภาพของคนในพื้นที่จากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมทั้งเรียกร้องให้คุ้มครองด้านวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีท่าทีประท้วงทางการพม่าที่ยึดที่ดินของตนไปทำโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมทั้งร้องเรียนว่าไม่ได้รับเงินชดเชยที่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ ขณะที่หมู่บ้านมะยิน จี และหมู่บ้านกะเลาก์ตา ในเมืองทวายกำลังถูกคุกคามจากโครงการท่าเรือน้ำลึกแล้ว จากการเปิดเผย ของกลุ่ม Dawei Region Development Group ชี้ว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจะทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวน 32,279 คน โรงเรียน 21 แห่ง และวัด 23 แห่ง จากทั้ง 19 หมู่บ้านต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของพระอู ออบาตา เจ้าอาวาสวัดมะยิน จี กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ดูแลรักษาสวนผลไม้ของตนเป็นอย่างดี เพื่อหวังให้ผลิตรายได้และเป็นมรดกสืบทอด แต่ต้องมาถูกทางการยึดไปทำโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย “ชาวบ้านได้บอกกับอาตมาว่า ถึงแม้ทางการจะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะพึ่งเงินชดเชยนั่นไปตลอดชีวิต พวกเขาไม่สามารถมอบเงินชดเชยนั่นเป็นเหมือนมรดกให้กับลูกหลาน และพวกเขาก็ไม่ต้องการที่จะย้ายออกไปจากที่ดินของตน พวกเขาไม่ต้องการเงินชดเชยเสียด้วยซ้ำ แต่ต้องการไร่สวนและต้นไม้ที่พวกเขาปลูก ” พระอู ออบาตากล่าว ทั้งนี้จากการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้ายออกจากที่ดินและบ้านของตน ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนักสิ่งแวดล้อมที่ทำงานกับชาวบ้านเปิดเผย ชาวบ้านบางส่วนไม่ได้รับเงินชดเชยจากการถูกยึดที่ดิน กลุ่ม Dawei Region Development Group ยังเปิดเผยว่า บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทของไทยที่เข้าไปลงทุนในโครงการนี้ให้สัญญาว่าจะสร้างงานให้ กับคนในพื้นที่ แต่กลับพบว่า ค่าแรงกลับน้อยกว่าค่าแรงของแรงงานทั่วไป รวมทั้งมีรายงานว่า แรงงานได้ออกมาร้องเรียนปัญหาต่างๆเป็นจำนวนมาก “เงินเดือนของแรงงานพม่าและแรงงานไทยแตกต่างกัน ในขณะที่ตัวเลขแรงงานเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่ นั่นทำให้มีคดีอาชญากรรมและปัญหาเกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ตอนนี้” ขณะที่ท่าเรื่อน้ำลึกทวายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลไทยและพม่าในการพัฒนาอ่าวทวาย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของพม่าติดทะเลอันดามัน ให้เป็นประตูการค้า (Gate Way) และตั้งพื้นที่นี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รอบท่าเรือนำลึกทวาย การตัดถนนและสร้างทางรถไฟจากเมืองทวาย ประเทศพม่า เข้าสู่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ของไทย รวมไปถึงการสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากทวายส่งตรงมายังประเทศไทย ภายใต้เงินลงทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทไทยเข้าไปลงทุนและก่อสร้างในโครงการนี้ แปลและเรียบเรียงจาก Mizzima/DVB 19 ธันวาคม 54 แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ \สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน\"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net