Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปี 2554 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อ “คนพิการ” อย่างมาก ในฐานะที่ครบรอบ 30 ปีแห่งการประกาศปีคนพิการสากลของสหประชาชาติ (ใน พ.ศ. 2524) ที่ในมุมหนึ่งได้ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับคนพิการของ ไทยอย่างมีนัยสำคัญ ในทางเดียวกับปี 2555 ที่กำลังจะมาถึงก็ถือได้ว่าเป็นจุดครบรอบ 80 ปีที่รัฐไทยได้เริ่มให้ความสำคัญกับ “คนพิการ” อย่างเป็นรูปธรรมและพัฒนา/เปลี่ยนแปลงความคิดมาโดยลำดับ ช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ ให้ทำการรวบรวมและศึกษากฎหมายและนโยบายของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เห็นว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจจึงอยากขอนำมา “เล่า” ให้ฟังอย่างคร่าวๆ ในที่นี้

กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับคนพิการของรัฐในมุมหนึ่งนอกจากจะ เป็นความมุ่งหวังหรือแนวทางในการปฏิบัติต่อคนพิการของ “รัฐ” ในแต่ละช่วงเวลาแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ “รัฐ” (ในระดับหนึ่ง) ที่มีต่อคนพิการด้วย ความคิดดังกล่าวดูจะมีความสัมพันธ์อย่างยากจะแยกขาดกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความรู้ในแต่ละช่วงเวลา จากนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการของรัฐไทยที่ดำเนินอย่างเป็นรูปธรรมมา อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันนั้นได้ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิด 3 ระลอกหลักด้วยกัน โดยทศวรรษ 2520 คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญ อย่างไรก็ดี พึงจะกล่าวด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงในแต่ละระลอกมิได้แยกขาดออกจากกัน หากแต่มีปฏิสัมพันธ์และความสืบเนื่องกัน

ระลอกแรก คือ ช่วงเวลาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ได้เริ่มปรากฏนโยบายและกฎหมายที่มีการพูดถึงคนพิการ และองค์กรในการดูแลคนพิการของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้บริบทของการ “สร้างชาติ” และ “สงครามโลกครั้งที่สอง” ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์และสถานสงเคราะห์ในช่วงกลาง ทศวรรษ 2480 สำหรับดูแลคนพิการที่ไร้ญาติขาดมิตรและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในทางเดียวกันการดำเนินแนวทางการ “สร้างชาติ” ของรัฐบาลในทศวรรษ 2480 ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยังได้มีการประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 12 (24 มกราคม 2485) ที่มีสาระสำคัญหลักอยู่ที่ “การยกย่องคนที่ช่วยเหลือคนพิการ (และเด็ก คนชรา คนทุพพลภาพ) ว่าเป็นผู้มีวัฒนธรรม” อาจกล่าวได้ว่าในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการของรัฐ ไทยนี้ได้สะท้อนให้เห็นกรอบคิดของรัฐที่เน้น “การแยกคนพิการ” ออกจากสังคมปกติ และมองคนพิการในฐานะกลุ่มคนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ (ทางเดียว) จากรัฐ กรอบคิดดังกล่าวนี้ดูจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงทศวรรษ 2490 ภายใต้บริบทหลังสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเกาหลีที่ทหารและพลเรือนเกิด ความพิการจากสงครามส่งผลให้รัฐบาลได้เริ่มดำเนินแนวทางในการช่วยเหลือด้าน ฟื้นฟูความสามารถและการทำงานของคนพิการที่เป็นข้าราชการมากขึ้น อย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวดูจะเป็นรูปธรรมและลงหลักปักฐานมากยิ่ง ขึ้นใน “ยุคพัฒนา” ตั้งแต่ทศวรรษ 2500

ระลอกที่สอง
เริ่ม ตั้งแต่ “ยุคพัฒนา” ในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ที่นอกจากรัฐไทยจะได้ดำเนินการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอัน เปรียบเสมือน “แนวทางนโยบายหลัก” ของรัฐแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังได้รับการสนับสนุนทางด้าน “เงินทุน” และ “ความรู้” ด้านการพัฒนาฯ จากองค์กรระหว่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน “คนพิการ” เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการบรรจุและกล่าวถึงในแผนพัฒนาฯ เกือบทุกฉบับซึ่งสะท้อนให้เห็นกรอบคิดเกี่ยวกับคนพิการที่เปลี่ยนแปลงของรัฐ ไทย จากการ “สงเคราะห์หรืออุปการะทางเดียวจากรัฐ” มาสู่การเน้นหนักในกรอบแนวทาง “การฟื้นฟูสมรรถภาพและความสามารถ” และ “การส่งเสริมด้านการทำงาน” ของคนพิการทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น ในทางเดียวกัน ยังเปิดพื้นที่ในการสนับสนุนบทบาทขององค์กรคนพิการเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการฟื้นฟูสมรรถภาพและความสามารถของคนพิการมากยิ่งขึ้น การปรับเปลี่ยนกรอบคิดต่อคนพิการของรัฐไทยในช่วงเวลานี้ดูจะมีสาเหตุสำคัญมา จาก หนึ่ง การผลักดันแนวคิดทางด้านสิทธิและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในระดับโลก และสอง ปัญหาของการสงเคราะห์คนพิการแบบเดิมผ่านสถานสงเคราะห์ที่ดำเนินการได้ไม่ ทั่วถึงและไม่มีประสิทธิภาพ (การสงเคราะห์ผ่านสถานสงเคราะห์ในช่วงเวลานี้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนพิการที่สิ้น ไร้ไม้ตอกและไม่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพได้เท่านั้น) พึงจะกล่าวด้วยว่าในช่วงทศวรรษ 2510 ยังได้มีการปรับแก้กฎหมายจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนสิทธิและเปิดโอกาสให้กับคน พิการ ดังพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ที่มีสาระสำคัญตอนหนึ่งในการเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเข้ารับราชการได้ กรอบคิดที่เน้นการฟื้นฟูฯ และการสร้างเสริมโอกาสและสิทธิให้กับคนพิการมากขึ้นนี้ดูจะได้รับการกล่าว ถึงมากขึ้นไปอีกในช่วงทศวรรษ 2520 อันจุดเริ่มของความเปลี่ยนแปลงระลอกที่สาม

ความเปลี่ยนแปลงกรอบคิดต่อคนพิการของรัฐไทย ระลอกที่สาม มีสาเหตุหลักสำคัญมาจาก หนึ่ง ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลก อันเป็นผลมาจากวิกฤติน้ำมันทั้งสองครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 2510 และต้นทศวรรษ 2520 และสอง การ เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมของคนพิการในประเทศและระหว่าง ประเทศ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจและทาง สังคมในหลายประเทศ ที่มีจุดเน้นสำคัญอยู่ที่ “การลดรายได้ภาครัฐ” และ “เพิ่มบทบาทภาคเอกชน” รวมถึงการ “เสริมพลัง (empower) กับประชาชนทุกกลุ่มให้เป็นกำลังในการพัฒนาสังคม/ประเทศ” ในแง่นี้ส่งผลให้รัฐบาลไทยได้วางกรอบแนวนโยบายเกี่ยวกับคนพิการที่เน้นหนัก ไปในแนวทางของ “การฟื้นฟูสมรรถภาพ” “การสนับสนุนด้านการศึกษาและการทำงาน” และ “การเสริมบทบาทองค์กรคนพิการเอกชนและชุมชนในการดูแลและสนับสนุนคนพิการ” ผ่านการวางแผนงานทั้งในระดับกว้างและระดับย่อยตามหน่วยงาน รวมถึงได้มีการผลักดันกฎหมายสนับสนุนคนพิการภายใต้การสนับสนุนขององค์กร เกี่ยวกับคนพิการจนปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในกลางทศวรรษ 2530 คือ พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ที่ ได้นำไปสู่การประกาศแผนงานฟื้นฟูสมรรถภาพ การศึกษา และการพัฒนาคนพิการ ตลอดจนกฎหมายลูกหลายฉบับเกี่ยวกับคนพิการ ซึ่งแผนงานและกฎหมายเหล่านี้ดูจะเป็นรากฐานให้กับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสิทธิและความเท่าเทียมกันทางสังคมทุกด้านให้กับคนพิการมากยิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบ

จาก ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น คือ เรื่องราวโดยสังเขปของความเปลี่ยนแปลงทางด้านกรอบคิดต่อคนพิการของรัฐไทยที่ สะท้อนผ่านนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการตลอดห้วงเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นกรอบคิดต่อคนพิการของรัฐที่ “ก้าวหน้า” ขึ้นมาตามลำดับผ่านความมุ่งหวังที่เน้นการสร้างสิทธิและความเสมอภาคทางสังคม และแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันมากยิ่งขึ้นให้บังเกิดกับคนพิการตามลำดับ แต่กระนั้น กรอบคิดต่อคนพิการของรัฐดังที่กล่าวมานี้ในมุมหนึ่งดูจะให้ภาพแต่เพียง “ความมุ่งหวัง” ของรัฐและกลุ่มผู้ผลักดันนโยบายเท่านั้น ซึ่งอาจทั้ง “สอดคล้อง” หรือ “ไม่สอดคล้อง” กับ “ความเป็นจริง” ที่ เกิดขึ้นกับการดำเนินการ เพราะการดำเนินการตามนโยบายและกฎหมายมีปัจจัยจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปัจจัยหลักสำคัญที่จะมีส่วนให้ความมุ่งหวังตามนโยบายและกฎหมายประสบความ สำเร็จดูจะอยู่ที่ “จินตภาพต่อคนพิการ” ของสังคม ชุมชน และกลุ่มคนหรือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการว่าเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและ ความเท่าเทียมทางสังคมของคนพิการมากน้อยเพียงใด?


 

หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรก
ในคอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2554
ภาพประกอบจาก 
MinimalistPhotography101.com (CC BY 2.0)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net