Skip to main content
sharethis

ความโศกเศร้าเสียใจของประชาชนเกาหลีเหนือหลังจากการเสียชีวิตของท่านผู้นำคิม จอง อิล เป็นไปอย่างลึกซึ้งทุกหย่อมหญ้า หากแต่ประชาชนของเขารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ หรือพวกเขาเพียงแค่ปฏิบัติตามสิ่งที่คิดว่าควรจะทำกันแน่? เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา บีบีซี แม็กกาซีน วิเคราะห์ปรากฎการณ์ความโศกเศร้าในเกาหลีเหนือหลังการเสียชีวิตของท่านผู้นำคิม จอง อิล ที่ซึ่งประชาชนชนต่างร้องไห้คร่ำครวญตามอย่างผู้ประกาศในช่องทีวีรัฐบาล ผู้ซึ่งแต่งกายในชุดดำและกลั้นสายน้ำตาไว้ไม่อยู่ในช่องโทรทัศน์ ต่อจากนั้น ก็มีการหลั่งน้ำตา การคร่ำครวญและการตีอกชกหัวของประชาชนในระดับที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหญิงและชายชาวเกาหลีต่างร้องห่มร้องไห้ตามกระแสอุปทานหมู่ขนาดใหญ่ที่ไม่มีอะไรจะควบคุมได้ \ท่านจากเราไปได้อย่างไร?\" ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวพลางปาดน้ำตาออกจากใบหน้า ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับยุคของการไว้อาลัยการเสียชีวิตของคิม อิล ซุง ผู้ซึ่งเป็นบิดาของคิม จอง อิลในปี 1994 หากแต่ความโศกดังกล่าวนี้จริงแท้เพียงใด? แอนโทนี่ แดเนียลส์ นักจิตวิทยาและนักเขียนชาวอังกฤษ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะรู้ เขาเองเคยเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในปี 1989 ในฐานะคณะผู้แทนจากอังกฤษเพื่อเข้าร่วมเทศกาลเยาวชนและนักศึกษาสากล และเล่าถึงประสบการณ์ดังกล่าว เขากล่าวว่า \"มันเป็นความรู้สึกที่ผสมกันระหว่างความกลัว ความหวาดระแวง และการไม่รู้ถึงอนาคต การอุปทานหมู่ และก็มีความโศกเศร้าเสียใจจริงๆ ปนอยู่ด้วย \"มันเป็นเรื่องยากที่จะรู้ความจริง และผมคิดว่าเราคงไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร เพราะนอกจากกำแพงทางวัฒนธรรมที่มาขวางกั้นแล้ว เรายังต้องคิดด้วยว่า นี่เป็นระบอบการปกครองที่สิ่งต่างๆ ที่ไม่ถูกห้ามนั้นเป็นเรื่องบังคับ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจพวกเขาจริงๆ นั้นเป็นยังไง\" เขาบอกว่า ในปี 1989 ซึ่งเป็นปีที่เขาได้เดินทางไปเกาหลีเหนือนั้น ยังไม่มีการแสดงอารมณ์อะไรที่ชัดเจนมากนัก นอกจากอุปทานหมู่ \"เมื่อตอนที่ผมอยู่ในสนามกีฬาขนาดใหญ่และท่านผู้นำคิม อิล ซุงเดินเข้ามา ทุกคนยืนขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันและก็ทำความเคารพบูชาอย่างจริงจังและก็ปล่อยเสียงอื้ออึงออกมา มันอาจจะเป็นไปได้ว่าคนพวกนี้จำใจจะต้องทำตาม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ว่าหลายๆ คนมีความรู้สึกบูชาท่านผู้นำเช่นนั้นจริงๆ...คล้ายกับตอนที่สตาลินเสียชีวิต ก็มีคนร้องไห้เสียใจบนท้องถนนเช่นกัน ถึงแม้ว่ามันจะเบากว่าของเกาหลีเหนือหน่อยก็ตาม\" แดเนียลส์ ผู้เขียนหนังสือ The Wilder Shores of Marx กล่าวว่า การที่ผู้คนรู้สึกถูกบังคับให้แสดงออกทางอารมณ์ก็มีอยู่บ้างในตะวันตก เช่น หลังจากการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า มีบางคนที่รู้สึกกลัวที่จะแสดงออกแตกต่างไปจากภาวะโศกเศร้าในช่วงการไว้ทุกข์ แต่แน่นอนว่าระดับของการบังคับของที่นั่นและเกาหลีเหนือนั้นมีความแตกต่างกัน ในหนังสือที่ชื่อว่า Nothing To Envy: Ordinary Live in North Korea เขียนโดยบาร์บาร่า เดมิค ชี้ว่า ภายหลังการเสียชีวิตของคิม อิล ซุง ในปี 1994 เป็นการเล่นละครที่แข่งกันโศกเศร้าว่าใครสามารถร้องไห้ได้ดังที่สุด เธอเล่าว่า มีนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งที่ไม่ได้รู้สึกร่วมไปกับคนรอบข้างที่กำลังร้องไห้ฟูมฟายเลย หากแต่อนาคตของเขาขึ้นอยู่กับความสามารถในการร้องไห้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเสี่ยงต่ออาชีพและสมาชิกภาพของเขาในพรรคแรงงานเท่านั้น แต่ความอยู่รอดของเขาก็อยู่บนเขียงด้วย มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตายเลยทีเดียว เธอเขียนว่า สุดท้าย หนุ่มคนนั้นก็สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยการถ่างตาไว้นานๆ จนกระทั่งรู้สึกแสบตาและทำให้เขาสามารถหลั่งน้ำตาออกมาได้ เมื่อคนอื่นๆ เริ่มร้องไห้ เขาก็สามารถสะอึกสะอื้นได้ตามที่คนอื่นทำ เคอรรี บราวน์ หัวหน้าฝ่ายโครงการเอเชีย ของ Chatham House ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของอังกฤษด้านยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้ว่า สำหรับชาวเกาหลีเหนือบางส่วน เป็นไปได้ว่าการร้องไห้เศร้าโศกนี้เป็นปฏิกิริยาธรรมชาติ เนื่องจากการรับรู้การเสียชีวิตของท่านผู้นำ ทำให้พวกเขากังขาถึงอัตลักษณ์ ความมั่นคง และความสามารถในการมีชีวิตอยู่ของตนเอง เขากล่าวว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่รู้สึกว่าตนเองกำลังเตรียมทำสงครามสู้รบอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ประชาชนรู้สึกว่าเขาไดรับการดูแลโดยท่านผู้ที่แสนดีของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่รู้แน่ว่าความรู้สึกจริงๆ ของประชาชนเกาหลีเหนือเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับที่เราไม่รู้การช่วงชิงอำนาจภายในกลุ่มชนชั้นนำ \"การควบคุมข้อมูลนั้นสูงมากจนอาจจะเป็นไปได้ว่าพวกเขาเกิดความรู้สึกช็อคอย่างแท้จริง ฉะนั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็นอุปทานหมู่ในระดับหนึ่ง แต่มันจะเป็นสิ่งเดียวกับที่เราเรียกว่าความโศกเศร้าในโลกตะวันตกได้หรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง\" บราวน์กล่าวว่า ประชาชนที่นั่นจะถูกกรอกหูอยู่ตลอดเวลาว่าพวกเขาถูกโจมตีอยู่ตลอดเวลาในสงครามกับอเมริกา และ \"ชัยชนะ\"ในอดีตที่ได้มาเป็นเพราะมีผู้นำที่เข้มแข็ง ฉะนั้นการสูญเสียประมุขในระบอบพ่อปกครองลูกเช่นนี้จึงเป็นที่กระทบจิตใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม บราวน์คิดว่าความโศกเศร้าในปี 1994 หลังจากการเสียชีวิตของคิม อิล ซุงเป็นเรื่องที่น่าช็อคยิ่งกว่านี้มากเพราะสถานะของเขาในสังคมเกาหลียิ่งใหญ่กว่า ฉะนั้น ภาวะโศกเศร้าในครั้งนี้จึงไม่น่าจะลึกซึ้งหรือกระทบจิตใจมากเท่าคราวที่แล้วเท่าใดนัก แปลจาก Tom Geoghegan. How genuine are the tears in North Korea?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net