หรือแรงงานนอกระบบจะเป็นประชาชนชั้นสองในสายตากระทรวงแรงงาน ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แรงงานนอกระบบ อันได้แก่ ผู้ที่รับงานจากภาคอุตสาหกรรมมาทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย ผู้ขับขี่แท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่ใช้แรงงานแลกเงินจำนวนน้อยนิดมาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว นับเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมไทย (เพราะทั่วประเทศมีจำนวนรวมกันถึงยี่สิบสี่ล้านคน) ที่การจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเขามีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดทางเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเพราะรัฐไม่ได้ให้การคุ้มครองและสร้างหลักประกันที่เพียงพอในการดำเนินชีวิต แม้พวกเขาจะผ่านการเคลื่อนไหวเรียกร้องมาอย่างยาวนาน น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ซ้ำเติม เพิ่มความลำบากให้แก่แรงงานนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่มีบ้านอยู่อาศัยและที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่รอบนอกที่รัฐบาลปล่อยให้เป็นพื้นที่น้ำแช่ขังเพื่อรักษากรุงเทพฯชั้นใน 21 ธันวาคม 2554 เมื่อน้ำลด และศึกษาดูแล้วว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยที่รัฐบาลประกาศออกมานั้นไม่ได้มีการระบุความช่วยเหลือที่ตรงไปสู่แรงงานนอกระบบ หรือเมื่อพยายามใช้สิทธิตามที่รัฐบาลประกาศก็พบว่าไม่สามารถเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จึงได้นัดหมายเข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บรรยากาศการต้อนรับและแลกเปลี่ยนพูดคุยของท่านรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และหัวหน้าส่วนราชการระดับอธิบดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นไปด้วยไมตรีจิต แต่ผลสรุปความช่วยเหลือเยียวยาที่แรงงานนอกระบบเรียกร้องยังดูเหมือนจะย้ำว่า แรงงานนอกระบบยังคงเป็นประชาชนชั้นสองในสายตากระทรวงแรงงาน เพราะ... ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงาน ไม่มีโครงการเยียวยาแรงงานนอกระบบในเรื่องของการชดเชยการขาดรายได้ หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเงินทุนประกอบอาชีพเสียหาย คำตอบที่ได้รับจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็คือ หากแรงงานนอกระบบต้องการจะเข้าถึงความช่วยเหลือดังกล่าว จะต้องติดต่อที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะผู้ประกันตนตามาตรา 40 ของประกันสังคม ผู้นำแรงงานนอกระบบได้เล่าว่าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 50,000 บาท เพื่อซ่อมแซมบ้าน ตามที่รัฐบาลประกาศ เพราะเมื่อไปยื่นใช้สิทธิได้ถูกเจ้าหน้าที่ประกันสังคมระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า ต้องเป็นผู้ประกันตนมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ในขณะที่ความเป็นจริงการเปิดให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมผ่านมาตรา 40 เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ 1 พฤษภาคม 2554 นี้เอง นอกจากนี้ผู้นำแรงงานนอกระบบได้เรียกร้องให้ยกเว้นการจ่ายเงินสมทบในช่วง 3 เดือนที่น้ำท่วม แต่คำตอบของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ก็คือ จะสามารถทำได้เพียงการจ่ายย้อนหลังภายใน 30 วันหลังน้ำลด กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ข้อมูลว่า ความช่วยเหลือที่พอจะมีให้แก่แรงงานนอกระบบได้จะต้องผ่านการฝึกอาชีพ ซึ่งแรงงานนอกระบบที่เข้ารับการอบรมจะได้รับค่าอาหารและค่าเดินทางวันละ 120 บาท แม้จะเป็นความพยายามที่ดีที่จะปรับงานปกติมาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็น แต่ก็ทำให้ต้องตั้งคำถามกับระบบใหญ่ทั้งระบบของกระทรวงแรงงานว่า เหตุใดจึงไม่สามารถจะมีการตอบสนองต่อปัญหาของแรงงานนอกระบบอย่างจริงจังกว่านี้ นอกจากนี้ผู้นำแรงงานนอกระบบยังได้ทวงถามถึงการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ พฤศจิกายน 2553 และตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายได้กำหนดเวลาเตรียมการของกระทรวงแรงงานไว้ 6 เดือน นั่นคือจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่กระทรวงแรงงานดำเนินการล่าช้า และยังทำ \กฎหมายลูก\" อันได้แก่ ระเบียบ ประกาศต่างๆ ไม่แล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ผู้นำกลุ่มคนทำงานบ้านได้ยกประเด็นปัญหาที่เธอและสมาชิกกลุ่มไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมไม่ว่าจะผ่านมาตรา 39 หรือ 40 ขึ้นมาถามหาความเป็นธรรม แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ แม้จะมีคำตอบในทางบวกอยู่บ้าง เช่น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับปากว่าจะไปประสานกระทรวง กรุงเทพฯมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ ให้ตามข้อเรียกร้อง รวมทั้งการที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้แจ้งว่า ในการขอแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ขอแก้ไขมาตรา 40 ให้รัฐร่วมจ่ายสมทบ จึงไม่เกินเลยความเป็นจริงที่จะกล่าวว่า แรงงานนอกระบบยังเป็นประชาชนชั้นสองในสายตากระทรวงแรงงาน จะต้องมีการเข้าพบรัฐมนตรีอีกกี่คน? จะต้องมีการยื่นหนังสืออีกกี่ครั้ง? หรือจะต้องมีการชุมนุมอีกกี่หน? ประชาชนกลุ่มนี้จึงจะเข้าถึงความเป็นธรรม รัฐจึงจะคุ้มครองและสร้างหลักประกันให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท