นักข่าวพลเมือง: เก็บตกงานมหกรรมคลินิกโรคจากการประกอบอาชีพ

‘สมบุญ สีคำดอกแค’ รายงานบรรยากาศงานและเนื้อหาของงานประชุมสัมมนามหกรรมคลินิกโรคจากการประกอบอาชีพ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคชี้ต้องมีบุคลากรที่ดีรวมถึงกองทุนเงินทดแทนควรเข้าไปคุ้มครองบุคลากรด้านการแพทย์ด้วย ดิฉันมีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมงาน ประชุมสัมมนามหกรรมคลินิกโรคจากการประกอบอาชีพบรรยากาศในงาน มีการจัดนิทรรศการรายงานผลดำเนินงานของรพ.ต่างๆ มีทั้งแพทย์และพยาบาลอาชีวเวชศาสตร์จำนวนกว่า ๒๐๐ คน มาจากทั่วประเทศ ในจำนวน รพ.๖๐ แห่ง ที่ได้ดำเนินการเปิดคลินิกโรคจากการทำงาน เจ้าภาพหลักที่จัดงานครั้งนี้ ก็คือ สำนักโรคจาการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข งานประชุมมหกรรมนี้เริ่มจัดงานระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ การจัดงานนี้เท่ากับรายงานผลดำเนินงานและวางแผนดำเนินงานในปีต่อไป มี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคมาเป็นเกียรติกล่าวเปิดการประชุม และมอบโล่ให้กับสถานประกอบการที่ดำเนินโครงการคลินิกโรคจากการทำงานดีเด่น และเป็นหลักในการสนับสนุนให้มีการขยายหน่วยงานไปยังทุก รพ.เพื่อการให้บริการ การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน และการส่งเสริมป้องกัน ทั้งตัวคนงานและสถานประกอบการ แต่ติดขัดปัญหาที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนประกันสังคมยังมีข้อสังเกตว่าในจังหวัดเดียวกันนั้นทำไมต้องเปิดคลินิกโรคจากการทำงาน การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก จะทำให้เป็นข่าวที่จะทำให้ประชาชนคนงานได้ระแวดระวังมีความรู้ และต้องมีบุคลากรที่ดีรวมถึงกองทุนเงินทดแทนควรเข้าไปคุ้มครองบุคลากรด้านการแพทย์ด้วย กรณีติดเชื้อโรคจากคนไข้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เลย ที่มาและข้อมูลการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ สำหรับการบริการทุติยภูมิในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(คลินิกโรคจากการทำงาน) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในนามสมัชชาคนจนตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ให้มีการผลิตแพทย์อาชีเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้มีการตั้งกรมทางด้านนี้ด้วย พร้อมกับให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย จนรัฐบาลมีมติ ครม.ดังกล่าว การเรียกร้องทุกปีกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะปัญหาผู้ป่วยจากการทำงานมีจำนวนมากแต่ขาดแพทย์วินิจฉัย ต่อมาวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง “โครงการศูนย์โรคจากการทำงาน” เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ณ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กระทรวงแรงงานลงนามโดยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุขลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลง ดังนี้ คือ ๑.จัดให้มีระบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการประกอบอาชีพรวมทั้งการสร้างระบบป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ๒.พัฒนามาตรฐานแนวทางการวินิจฉัย การรักษา มีช่องทางการเข้าถึงการวินิจฉัย รักษาและดูแล หลังจากการเกิดโรคและอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางการวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานสามารถนำไปใช้ได้ทั่วประเทศอย่างมีคุณภาพ ๓.พัฒนา “โครงการศูนย์โรคจากการทำงาน” เพื่อเป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการประกอบอาชีพ ทั้งทางกายและจิต โดยหวังจะเป็นเครือขายครอบคลุมทั่วประเทศในอนาคต โครงการศูนย์โรคจากการทำงาน แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ๑. ระดับปฐมภูมิ(ระดับเริ่มแรก) ดำเนินการจัดให้มีแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข ดูแลในระดับโรงงาน หรือสถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำ ตรวจสอบ และค้นหาในเบื้องต้น ๒.ระดับทุติยภูมิ (ระดับที่สอง)ดำเนินการจัดให้มี “คลินิกโรคจากการทำงาน” ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดระบบการดูแลสุขภาพลูกจ้าง การป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ การตรวจรักษา การวินิจฉัยโรคและการฟื้นฟูสุขภาพลูกจ้างที่ป่วยด้วยโรคและอุบัติเหตูจากการทำงาน ๓.ระดับตติยภูมิ(ระดับสูง)ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์โรคจากการทำงาน” ภายใต้คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับผิดชอบด้านอาชีวเวชศาสตร์ระดับสูง การจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงานภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพคลินิกอาชีวเวชศาสตร์สำหรับการบริการทุติยภูมิในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(คลินิกโรคจากการทำงาน) ปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๔ สำนักงานประกันสังคม โดยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพคลินิกอาชีวเวชศาสตร์สำหรับการบริการทุติยภูมิในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (คลินิกโรคจากการทำงาน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจ รักษา ส่งเสริม ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้าง และส่งเสริมหรือป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการทำงาน ดังนี้ ระยะที่๑ (ปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐) ดำเนินโครงการฯนำร่อง ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๙ แห่ง คือ โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่,โรงพยาบาลลำปาง, โรงพยาบาลขอนแก่น, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลบุรีรัมย์,โรงพยาบาลปทุมธานีและโรงพยาบาลราชบุรี โดยจัดสรรงบประมาณโรงพยาบาลแห่งละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ระยะที่๒ (ปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๑) ได้ขยายการดำเนินโครงการคลินิกโรคจากการทำงานเพิ่มอีก ๑๕ แห่ง (รวมระยะที่ ๑ - ๒ จำนวน ๒๔ แห่ง) ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลพุทธชินราช, โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์, โรงพยาบาลระยอง, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, โรงพยาบาลสมุทรสาคร, โรงพยาบาลสุรินทร์ , โรงพยาบาลอุดรธานี, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์, โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า , โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา, โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช, โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต,โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โดยจัดสรรงบประมาณแห่งละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมถึงโรงพยาบาลเดิม ระยะที่ ๓ (ปี ๒๕๕๒) มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก ๑ แห่ง คือ โรงพยาบาลนครปฐม รวมระยะที่ ๑ - ๓ จำนวน ๒๕ แห่ง ในระยะนี้ ใช้รูปแบบการจัดสรรงบประมาณตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาล ที่มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดี ได้รับงบดำเนินการ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนโรงพยาบาลที่มีผลการดำเนินงานปานกลาง พอใช้ รวมถึงโรงพยาบาลใหม่ที่เข้าร่วมโครงการได้รับงบดำเนินการ๑๐๐,๐๐๐บาท สำนักงานประกันสังคมจัดสรรงบประมาณและโอนโดยตรงไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้เน้นให้มีการดำเนินงานสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงาน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง/ลูกจ้าง ฯลฯ โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงานเครือข่ายคลินิกโรคจากการทำงานระดับจังหวัด เพื่อช่วยให้เกิดระบบการดูแล การตรวจวินิจฉัย รักษา การส่งเสริมและป้องกันความปลอดภัยในการทำงานได้อย่างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพิจารณาสนับสนุนงบประมาณเฉพาะกิจกรรมนี้เพิ่มเติมอีกโรงพยาบาลละ ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะทำงานเครือข่ายคลินิกโรคจากการทำงานระดับจังหวัดและค่าตอบแทนคณะทำงานฯดังกล่าว ระยะที่ ๔ (ปี ๒๕๕๓) ขยายการดำเนินงานเพิ่มในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกจำนวน ๑๒ แห่ง (รวมระยะที่ ๑ - ๔ จำนวน ๓๗ แห่ง) คือ โรงพยาบาลลำพูน, โรงพยาบาลพะเยา, โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน, โรงพยาบาลอุตรดิตถ์, โรงพยาบาลกำแพงเพชร, โรงพยาบาลเพชรบูรณ์, โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี, โรงพยาบาลชัยภูมิ, โรงพยาบาลกาฬสินธุ์, โรงพยาบาล พระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรีและโรงพยาบาลตรัง(งบประมาณโรงพยาบาลเดิม ๒๕ แห่งๆละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท โรงพยาบาลใหม่ ๑๒ แห่งๆละ ๑๗๐,๐๐๐ บาท) นอกจากนี้ ในปี ๒๕๕๓ สำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงานระดับตติยภูมิในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยที่มี คณะแพทยศาสตร์ จำนวน ๗ แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล (โรงพยาบาลศิริราช, และโรงพยาบาลรามาธิบดี) , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยบูรพา, และมหาวิทยาลัยศรีนครนรินทรวิโรฒ ระยะที่ ๕ (ปี ๒๕๕๔) ขยายการดำเนินงานเพิ่มเติมในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกจำนวน ๒๓ แห่ง (รวมระยะที่ ๑ - ๕ จำนวน ๖๐ แห่งยกเว้นโรงพยาบาลพระพุทธชินราชไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯในปีนี้) ประกอบด้วย โรงพยาบาลพิจิตร, โรงพยาบาลน่าน, โรงพยาบาลแม่สอด, โรงพยาบาลอุทัยธานี, โรงพยาบาลพระพุทธบาท, โรงพยาบาลสระบุรี , โรงพยาบาลนครนายก, โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช, โรงพยาบาลสิงห์บุรี, โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร, โรงพยาบาลโพธาราม, โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา, โรงพยาบาลเสนา, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว, โรงพยาบาลมุกดาหาร, โรงพยาบาลสกลนคร, โรงพยาบาลนครพนม, โรงพยาบาลหนองคาย,โรงพยาบาลเลย, โรงพยาบาลร้อยเอ็ด, โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์, โรงพยาบาลตะกั่วป่า, โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชและโรงพยาบาลสงขลา ทั้งนี้ โรงพยาบาลฯที่เข้าร่วมโครงการก่อนปี ๒๕๕๔ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณแห่งละ ๒๐๐,๐๐๐ บาทและโรงพยาบาลที่ดำเนินการปี ๒๕๕๔ ได้รับงบประมาณสนับสนุนแห่งละ ๑๗๐,๐๐๐ บาทผ่านสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการประสาน บริหารจัดการและตัดโอนงบประมาณไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว ความคาดหวังการให้บริการของคลินิกโรคจากการทำงาน ๑. ตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล ลูกจ้างในความคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทนที่เจ็บป่วยหรือสงสัยว่าเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ๒.ให้บริการตรวจสุขภาพและจัดบริการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ๓.ประสานและสนับสนุนดำเนินการด้านการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เงินทดแทนและพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ๔.เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคจากการทำงาน/อุบัติเหตุจากการทำงาน ๕.ให้คำปรึกษาและส่งเสริมงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานแก่สถานประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ ๑.ลูกจ้างได้รับการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงของงาน ๒.นายจ้างได้รับการบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค จากการทำงานสามารถลดจำนวนการประสบอันตรายจากการทำงานของสถานประกอบการได้ ๓.กองทุนเงินทดแทน สามารถส่งต่อลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือสงสัยว่าเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานจากสถานพยาบาลอื่น เพื่อตรวจวินิจฉัยหรือเพื่อการรักษาต่อที่เหมาะสม นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมได้คัดเลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อม มีบุคลากรและทีมงานเข้มแข็ง มีผลงานดี เป็นรูปธรรมและมีความยินดีในการเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายภาค เพื่อทำหน้าที่ ให้คำปรึกษา แนะนำ และร่วมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานฯโรงพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ ๕ ภาค ดังนี้ รายชื่อโรงพยาบาลแม่ข่ายและโรงพยาบาลเครือข่ายรายภาค ๕ ภาค โรงพยาบาลแม่ข่ายภาคเหนือ - โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลแม่ข่ายภาคใต้ - โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลแม่ข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลแม่ข่ายภาคกลาง - โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลแม่ข่ายภาคตะวันออก - โรงพยาบาลระยอง นับจากปี 2538 จนถึงปัจจุบันรวมเวลานับ 16 ปี ที่ผ่านมาสถานการณ์ภาพรวมผู้ถูกผลกระทบยังไม่ดีขึ้นมากนักยังถูก บ่ายเบี่ยง โต้แย้ง ทอดทิ้ง และถูกไล่ออกจากการทำงาน เมื่อยื่นเรื่องเพื่อใช้สิทธิ์แม้จะได้รับการวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการทำงานชั้นสูงก็ตาม มีคำถามว่ามันมีข้อชำรุด ในกลไก ของกองทุนเงินทดแทน หรือ พรบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่ทำให้คนงานที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานส่วนมากต้องสูญเสียสิทธิ และต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือว่ากฎหมายเก่าแก่เกินไป มีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้พัฒนาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และคลินิกโรคจากการทำงาน ที่พัฒนาการไปมากมายอยู่ขณะนี้ สามารถยุติปัญหาดังกล่าวได้ โดยแพทย์กล้าวินิจฉัยโรคจากการทำงาน อย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่ทำงานด้านส่งเสริมป้องกันเท่านั้น รวมทั้งมาตรฐานทางการแพทย์ในคลินิกต่างๆ 60 กว่าแห่งเกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ จะอยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกันแลละขยายไปทั่วทุก รพ. ปัญหาการเข้าถึงการวินิจฉัยและการเข้าถึงสิทธิก็ยังต้องอาศัยการเชื่อมโยง ความเข้าใจกับผู้นำสหภาพแรงงาน สถานประกอบการ และกองทุนเงินทดแทน แม้แต่แพทย์ ที่ยังมีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยจากกองทุนเงินทดแทน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ก็ยังมุ่งมั่นผลักดันให้คนงานที่เจ็บป่วยประสบอันตรายจากการทำงาน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้เข้าถึงการบริการด้านอาชีวอนามัยการวินิจฉัยและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะรับเรื่องราวร้องทุกข์ ลงพื้นที่ จัดเวทีให้คำปรึกษาหารือจัดฝึกอบรมสร้างแกนนำขยายเครือข่ายประสานเพื่อผลักดันในระดับนโยบาย แต่ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธินั้นก็ยังเป็นปัญหาเรื่องเรื้อรังอยู่ เพราะมีปัจจัยข้อจำกัดมากมายที่ยังไม่เอื้อต่อผู้ใช้แรงงานที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงาน ได้เข้าถึงสิทธิและเข้าถึงการวินิจฉัย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ จึงได้พยายามเรียกร้องผลักดันกับรัฐบาลทุกสมัยในนามสมัชชาคนจน ให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯร่วมกับขบวนผู้ใช้แรงงาน มาอย่างยาวนานจนใกล้จะเป็นจริงเพื่อมีองค์กรมาทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานพัฒนามาตรฐานและบุคลากรทำวิจัยเชิงลึก รับเรื่องราวร้องทุกข์ แต่ประเด็นการจัดตั้งสถาบันฯ ยังมีข้อขัดแย้งกันระหว่างผู้ใช้แรงงานกับรัฐ ว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันฯเป็นองค์กรอิสระ มีโครงสร้างกรรมการที่มาจากการสรรหาให้ได้มาซึ่งผู้มีความรู้เชี่ยวชาญและมีประการณ์เรื่องสุขภาพความปลอดภัยฯ ซึ่งสภาเครือข่ายฯได้ขอให้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังข้อคิดเห็นสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง โดยให้สำนักงานปฎิรูปกฏหมายเป็นองค์กรกลางจัด สำหรับความสำเร็จในเชิงนโยบายในเรื่องการป้องกันปีนี้ ข้อเสนอของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯได้ถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในหกระเบียบวาระ ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กุมพาพันธ์ 2555ที่สหประชาชาติ(UN)โดยมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิมาจากหลากหลาย ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอนุวิชาการจัดงานเวทีสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 4 เพื่อร่วมกันพัฒนาร่างเอกสารหลักและร่างมติ ในประเด็นการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยสภาเครือข่ายฯเป็นเลขานุการ ของคณะทำงานสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น (สามารถเปิดดูเอกสารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (http://www.nationalhealth.or.th/, www.samatcha.org )

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท