Skip to main content
sharethis

25 ธ.ค.54 ที่จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายสภาชุมชนลุ่มน้ำโขง (คสข.) ได้เข้ายื่นหนังสือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการรณรงค์ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมของคณะรัฐมนตรีอาเซียน ที่เสียมเรียบ ประเทศเขมร และมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไป และให้ประเทศญี่ปุ่นทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งยังไม่ชัดเจนในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในลุ่มน้ำโขง เนื้อหาในหนังสือเรียกร้องให้ประชาชนในลุ่มน้ำโขงมีส่วนร่วมในการในการกำหนดกรอบในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี 00000 ที่ คสข.พิเศษ/๒๕๕๔ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง (คสข.) ๒๗๔ หมู่ ๒ ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่อง ขอให้ยุติการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในนามของเครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง อันประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้ทำงานติดตามกรณีเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาว แม้ว่าเขื่อนจะตั้งอยู่ในสปป.ลาว แต่โครงการเขื่อนไซยะบุรีก็เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากมี บริษัท ช การช่าง (มหาชน) จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทย ๔ แห่งในการพัฒนาโครงการ ขณะที่ผู้รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะแสดงเจตจำนงต่อพันธกรณีตามกฎหมายตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.๒๕๓๘ ในการแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ และวิถีชีวิตของประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงทั้งโดยตรง และโดยอ้อม จากข้อค้นพบของการศึกษาต่างๆ จากนักวิชาการ ยังแสดงให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกโครงการนี้ โดยเฉพาะรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่าเขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตการอพยพของพันธุ์ปลา และอาจเป็นเหตุให้มีการสูญพันธุ์ของพันธุ์สัตว์น้ำกว่า ๔๑ ชนิดในแม่น้ำโขง รวมทั้งปลาบึกด้วย ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลได้ตระหนัก และดำเนินการในประเด็น ดังต่อไปนี้ ๑. ควรให้ประชาชนในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำโขง ๘ จังหวัด ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนไซยะบุรี และมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบดังกล่าวนี้ทุกขั้นตอนในกระบวนการศึกษา ๒. ควรมีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนไซยะบุรีใหม่ ให้สอดคล้องกับความคาดหวังในระดับสากลที่มีต่อเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างในแม่น้ำที่ไหลข้ามพรมแดน ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากโครงการนี้ ๓. เนื่องจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีข้อบกพร่อง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบก่อนกระบวนการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชน จึงถือได้ว่ากระบวนการเหล่านี้มีข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ เมื่อจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจนเสร็จแล้ว ก็ควรนำผลการวิเคราะห์นั้นมาเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดให้มีการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในสปป.ลาวและประเทศอื่นๆ อีกสามแห่งในแม่น้ำโขงตอนล่าง ๔. การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีตามโครงการที่เสนอมีแนวโน้มทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมของประเทศต่าง ๆ และยังขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปป.ลาว ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ๕. การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีตามโครงการที่เสนอมีแนวโน้มทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อรัฐเพื่อนบ้าน ซึ่งขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปป.ลาว ในการป้องกันอันตรายข้ามพรมแดน ๖. การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีตามโครงการที่เสนอขัดกับหลักการป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากการตัดสินใจดังกล่าวไม่คำนึงความไม่แน่นอนและข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อน และไม่แสดงให้เห็นว่าจะสามารถนำมาตรการลดผลกระทบเหล่านี้ไปปฏิบัติได้จริง ๗. ประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนามมีสิทธิและหน้าที่ในการป้องกันผลกระทบร้ายแรงจากเขื่อนไซยะบุรีที่มีต่อแม่น้ำโขง รัฐบาลประเทศเหล่านี้มีสิทธิได้รับการเยียวยาด้านการเงินเนื่องจากผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจของตน ๘. ให้รัฐบาลไทยยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังนั้น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง (คสข.) หวังว่ารัฐบาลไทย จะไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เชิงธุรกิจของคนส่วนน้อย แต่ทำลายวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ควรเคารพภูมินิเวศวัฒนธรรมชุมชน โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน เพื่อให้สังคมสุวรรณภูมิอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป ขอแสดงความนับถือ (....................................................) (....................................................) ตัวแทนจังหวัดเลย ตัวแทนจังหวัดหนองคาย (....................................................) (....................................................) ตัวแทนจังหวัดบึงกาฬ ตัวแทนจังหวัดนครพนม (....................................................) (....................................................) ตัวแทนจังหวัดมุกดาหาร ตัวแทนจังหวัดอำนาจเจริญ (....................................................) (....................................................) ตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนจังหวัดเชียงราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net