TCIJ: ถก พ.ร.บ.แร่ภาคประชาชน จี้ยกเลิกกฎหมายเอื้อนายทุน

เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกับการทำเหมืองแร่ เปิดเวทีระดมสมอง นำเสนอมุมมองต่อ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ที่จะออกโดยประชาชนเจ้าของปัญหา เพื่อยกเลิกกฎหมายเก่าที่เอื้อต่อนายทุนเหมืองแร่ วานนี้ (25 ธ.ค.54) เวลาประมาณ 09.00 น. มูลนิธิสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดเวทีระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการยกร่าง “ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ภาคประชาชน)” ณ ห้องประชุมอาคาร 14 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จ.อุดรธานี เพื่อร่วมกันนำเสนอมุมมองต่อการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ฉบับปี พ.ศ.2510 โดยมีตัวแทนเครือข่ายองค์กรชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการเหมืองแร่เข้าร่วม อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือ จ.นครราชสีมา กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย เป็นต้น ในเวทีมีการให้ข้อของมูลกฎหมายดังกล่าวว่า พ.ร.บ.แร่ ฉบับแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 โดยเริ่มต้นเพื่อให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับแรกอยู่ที่การให้ความสำคัญในการเปิดการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ ให้เกิดการขยายตัวในการขออนุญาตทำเหมืองแร่ และเน้นการผูกขาดการให้อนุญาตอยู่ที่อำนาจรัฐ ต่อมา พ.ร.บ.แร่ (แก้ไข ฉบับที่ 2) ปี พ.ศ.2516 ได้เพิ่มการให้สัมปทานอนุญาตในการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และ พ.ร.บ.แร่ (แก้ไข ฉบับที่ 5) ปี พ.ศ.2545 เพิ่มการให้สัมปทานอนุญาตทำเหมืองใต้ดิน โดยทั้งสองฉบับที่แก้ไขเป็นการขยายขอบเขตอำนาจรัฐเพื่อการรองรับการสัมปทานแร่ที่หลากหลายขึ้น โดยใช้หลักการ แร่อยู่ที่ใด แก้กฎหมายให้สัมปทานได้ที่นั่น ที่ผ่านมามีการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ มาแล้วทั้งสิ้น 5 ฉบับ และปัจจุบันยังคงใช้ พ.ร.บ.กฎหมายแร่ ปี พ.ศ.2510 อ.ศักดิ์ณรงค์ มงคล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่ติดตาม พ.ร.บ.แร่ อย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า เราต้องยกเลิก กฎหมายแร่ ฉบับ พ.ศ.2510 นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจในการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศ ไปตกอยู่กับกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการ และภาครัฐเพียงอย่างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลพื้นฐานของทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในชุมชนตนเอง เพื่อนำสู่การจัดการทรัพยากรแร่ร่วมกัน “ภาคประชาชนต้องร่วมกันออกแบบร่างกฎหมายแร่ ที่ร่างขึ้นจากตัวประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่และจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เอง หากร่างกฎหมายแร่ภาคประชาชนแล้วเสร็จ ก็จะร่วมกันผลักดันสู่กรอบมติของประชาคมทั่วประเทศต่อไป” อ.ศักดิ์ณรงค์กล่าว ในส่วนของชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้มีความเห็นว่า สิทธิของประชาชนในการจัดการทรัพยากรในปัจจุบันมีอยู่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิชุมชน มาตรา 41 สิทธิในทรัพย์สินที่ดิน และ มาตรา 43 สิทธิในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ซึ่งหากประกอบขึ้นร่วมกับร่างกฎหมายแร่ของภาคประชาชนที่จะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรตนเองได้อย่างยั่งยืนและสมดุล นายถาวร เพชรขุนทด แกนนำกลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือ กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายแร่ปล่อยให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการทรัพยากรเพียงฝ่ายเดียวนั้น มักที่จะมีปัญหาตามมา เช่น ในกรณีของ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา ที่ไร่นาของชาวบ้านเสียหายจากการปล่อยน้ำเกลือลงสู่ไร่นาชาวบ้านของอุตสาหกรรมเหมืองเกลือขนาดใหญ่ จนทำนาไม่ได้ คิดเป็นพื้นที่เสียหายกว่า 2,000 ไร่ มิหนำซ้ำกฎระเบียบหรือกฎหมายเองก็ยังเอื้อต่อนายทุนเป็นอย่างมาก “การมีกฎหมายแร่ที่ยกร่างโดยภาคประชาชนนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ผมก็คาดว่าหากเกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยพวกเราเองอย่างแท้จริง” นายถาวรกล่าว ด้าน นายปัญญา โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องตกอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแร่ที่ถูกร่างขึ้นโดย นายทุนผู้ประกอบการผ่านการเอื้อประโยชน์โดยรัฐ ซึ่งชาวบ้านทำได้เพียงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการต่อสู้ หากชาวบ้านมีโอกาสรับรู้และมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายแร่ซึ่งเกิดจากตัว ประชาชนเอง ย่อมจะทำให้สิทธิในการต่อสู้กับทุนที่จะรุกรานทรัพยากรท้องถิ่น มีความเท่าเทียมมากขึ้น “ร่าง พ.ร.บ.แร่ ภาคประชาชนฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้จากการรุกรานทรัพยากรท้องถิ่นของทุนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกฎหมายที่อ้างอิงจากสภาพจริงและความต้องการของชาวบ้านเอง ไม่ใช่ของภาครัฐและนายทุน” นายปัญญากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท