Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปีรอบปี 2554 นี้ ถือได้ว่าสภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา ปรากฎจากข่าวการช่วยเหลือเด็กขอทานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมเกือบ 20 ข่าวตลอดทั้งปี ซึ่งในแต่ละครั้งนอกจากจะสามารถช่วยเหลือเด็กขอทานได้เป็นจำนวนมากแล้วยังกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดชลบุรี , ระยอง , เชียงใหม่ ,สุรินทร์ , สมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยมีทั้งที่เป็นลักษณะของขบวนการค้ามนุษย์รวมถึงการลักพาตัวเด็กไปตระเวนขอทานยังพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย จากการดำเนินบทบาทในการเป็นศูนย์รับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา มีสถิติการรับแจ้งนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 54 สูงถึง 118 ราย โดยนอกจากพื้นที่ที่มีข่าวการกวาดล้างเด็กขอทานตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีจังหวัดภูเก็ต , สุราษฎร์ธานี , อยุธยา , จันทบุรี , ลำพูนและราชบุรี ซึ่งมีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสเข้ามาเช่นเดียวกัน นั่นยอมแสดงให้เห็นว่าปัญหาเด็กขอทานกระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยแล้ว สำหรับภูมิภาคที่เป็นปลายทางที่สำคัญของขบวนการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น ต้องยกให้กับภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ ประกอบกับการกวาดล้างเด็กขอทานอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อเนื่องจากปี 2553 ที่ผ่านมาด้วยจึงทำให้กลุ่มเด็กขอทานหลั่งไหลเข้าพื้นที่ดังกล่าวในที่สุด ซึ่งจากการลงพื้นที่ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหาเด็กขอทานจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ทำให้ทราบว่ามีนายหน้าที่คอยเรียกรับผลประโยชน์จากขอทานที่จะเข้าไปขอทานในพื้นที่ถนนคนเดินพัทยาใต้ (walking street) และบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งนายหน้าบางคนยังใช้วิธีการหาเด็กจากประเทศกัมพูชามาปล่อยเช่า โดยจะนำเด็กพร้อมครอบครัวมาจากประเทศกัมพูชา จากนั้นก็จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม ซึ่งนายหน้าจะเก็บเด็กไว้เพื่อไม่ให้ถูกจับไปด้วย และนำเด็กมาปล่อยเช่า ซึ่งการคิดราคานั้นก็กำหนดตามอายุ เช่น หากเด็กอายุ 7 ปี ก็จะมีค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท แต่ถ้าอายุ 10 ปี ก็จะคิดค่าเช่า 10,000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคตะวันออกก็มีการออกมาตรการณ์ในการกวาดล้างเด็กขอทานอย่างหนักเช่นเดียวกัน ภายหลังจากเกิดกรณีการลักพาตัว ด.ญ.ศิรินทิพย์ สำอาง หรือ “น้องพอมแพม” ไปจากครอบครัวที่จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนที่จะมีพลเมืองดีไปพบขณะกำลังเดินขอทานอยู่ในตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี จึงทำให้เกิดกระแสการกวาดล้างเด็กขอทานอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมิใช่เพียงแค่ในจังหวัดชลบุรีเท่านั้นแต่ที่จังหวัดระยองก็มีข่าวคราวเกี่ยวกับการจับกุมนายหน้าชาวกัมพูชาที่ลักลอบนำเด็กเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขอทานเช่นเดียวกัน โดยมีลักษณะการเช่าห้องพักเพื่อให้กลุ่มขอทานพักอาศัยอยู่รวมกัน โดยนายหน้าจะพาเด็กออกไปขอทานตามตลาดนัดต่างๆ ในจังหวัดระยอง และมีการเรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มขอทานเพื่อเป็นค่าเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย รายละ 3,500 บาท ซึ่งหากใครไม่มีนายหน้าจะหักจากเงินที่ขอทานสามารถหาได้ในแต่ละวัน วันละ 400 บาท โดยการจับกุมในครั้งนี้สามารถช่วยเหลือขอทานที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ได้รวม 15 คน และจับกุมนายหน้าได้ทั้งสิ้น 4 คน ด้วยกัน และนอกจากนี้โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ต่อคนในสังคมให้เข้าใจถึงวิธีการช่วยเหลือเด็กขอทานอย่างถูกวิธีอีกด้วย เนื่องจากเห็นว่าการนำเด็กมาขอทานในประเทศไทยสามารถทำได้อย่างง่ายดายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามเด็กขอทานละเลยในการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง ในส่วนของปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานที่เข้าข่ายเป็นลักษณะกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์นั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ก็พบกรณีการนำเด็กชายอายุ 12 ปี ที่ร่างกายมีความพิการตาบอดจากประเทศกัมพูชาเข้ามาขอทานในพื้นที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจากการสัมภาษณ์เด็กขอทานคนดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากข้างถนนแล้ว ทำให้ทราบว่าเด็กคนดังกล่าวเคยถูกนำไปขอทานถึงประเทศมาเลเซียมาแล้วก่อนที่จะเข้ามาขอทานในประเทศไทย ซึ่งในแต่ละวันจะถูกนายหน้าค้ามนุษย์ชาวกัมพูชา 2 คนที่เป็นสามี - ภรรยากัน พาตระเวนออกไปขอทานตามตลาดต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า ตั้งแต่ 5.00 น. – 14.00 น. และช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.00 น. – 21.00 น. โดยนายหน้าจะใช้วิธียืนขายลูกโป่งบังหน้า เพื่อเฝ้าเด็กขณะนั่งขอทาน อีกทั้งนายหน้าคนดังกล่าวยังให้ข้อมูลว่าตนเองถูกจ้างวานต่อมาอีกทอดหนึ่ง โดยในแต่ละเดือนจะได้ค่าตอบแทนประมาณ 6,000 บาท ส่วนรายได้จากการขอทานทั้งหมดจะต้องส่งให้กับผู้จ้างวาน นอกจากกรณีการนำเด็กที่มีร่างกายพิการตาบอดจากประเทศกัมพูชาเข้ามาขอทานแล้ว ยังมีกรณีการลักลอบนำเด็กจากประเทศพม่าเข้ามาขอทานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย โดยในคดีนี้สามารถช่วยเหลือเด็กขอทานทั้งชายและหญิงได้มากถึง 7 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 3 – 14 ปี โดยมีนายหน้าค้ามนุษย์เป็นชาวพม่าทั้งหมด 3 คน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะถูกนายหน้าตระเวนขอทานตั้งแต่เวลา 06.00 – 00.00 น. เป็นประจำทุกวัน หากวันใดไม่สามารถขอทานได้ถึง 500 บาท จะถูกบังคับให้ขอทานต่อจนถึงเวลา 04.00 น. นอกจากนี้เด็กบางคนยังถูกนายหน้าล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย ทั้ง 2 กรณีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในประเทศไทยมีขบวนการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเครื่องมือในการขอทานอยู่จริง อีกทั้งยังมีสภาพปัญหาที่มีความรุนแรงอย่างมาก ซึ่งทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงาคาดว่า ยังมีเด็กขอทานที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในลักษณะดังกล่าวนี้อีกเป็นจำนวนมากและยังรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์เด็กขอทานในจังหวัดต่างๆ แล้ว ก็คงต้องกล่าวถึงพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งจากการดำเนินบทบาทในการเป็นศูนย์รับแจ้งเบาะแสเด็กขอทานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าพื้นที่เขตปทุมวันมีสถิติการรับแจ้งสูงที่สุดที่ 14 ราย รองลงมา คือ พื้นที่สุขุมวิท มีทั้งสิ้น 9 ราย ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นี้ล้วนเป็นเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในเวลากลางคืนจึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและสามารถพบเห็นเด็กขอทานได้ตลอดทั้งวัน สำหรับเส้นทางในการเดินทางเข้ามาของขอทานจากประเทศกัมพูชานั้น ยังคงเป็นเส้นทางด่านชายแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เช่นเดิม เนื่องจากมีการพาหนะในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยได้อย่างสะดวก ซึ่งเส้นทางนี้มักปรากฏข้อเท็จจริงตามข่าวการกวาดล้างเป็นอยู่ประจำ แต่ก็มิค่อยมีหน่วยงานใดที่ทำการขยายผลมาจับกุมนายหน้าหรือวางมาตรการณ์ในการสกัดกั้นการเข้ามาของขอทานจากประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด จึงทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กขอทานในประเทศไทยไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร เนื่องจากขอทานที่ได้รับการช่วยเหลือมักเดินทางกลับเข้ามาขอทานในประเทศไทยอีกหลายต่อหลายครั้ง จากสภาพปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะยังคงประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 (Tier 2 watch list) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีสภาพปัญหาการค้ามนุษย์ที่รุนแรงอยู่นั่นเอง หากมองถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กขอทานโดยตรงอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว ในปีนี้ถือว่าทางกระทรวงฯ เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานน้อยจนน่าใจหาย เนื่องจากไม่มีการจัดประชุมเพื่อวางแผนหรือกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานแต่อย่างใด มีเพียงการจัดทำสื่อรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อคนในสังคมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กขอทานเพียงประการเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่ จึงทำให้การทำงานในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานไม่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2554 นี้ ทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา คาดว่าสถานการณ์เด็กขอทานในปี 2555 จะยังคงมีสภาพปัญหาที่มีความรุนแรงเช่นเดิม ซึ่งมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้หน่วยงานที่ทำการปราบปรามเด็กขอทานจะมีการเพิ่มงานรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่คนในสังคมเข้ามาในภารกิจของหน่วยงานบ้างหรือไม่ เนื่องจากการปัญหาเด็กขอทานมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวพันกับรายได้ของเด็กขอทานที่มีมูลค่าสูงมากในแต่ละวัน ดังนั้นการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้เปลี่ยนพฤติกรรมการให้เงินกับเด็กขอทานเป็นการแจ้งเบาะแสแทน จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานได้อย่างยั่งยืนที่สุด....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net