ปราบดา หยุ่น: แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน ความสำคัญของเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกในสังคมไทย และเหตุใดเราจึงมิอาจนิ่งเฉยอยู่กับที่เมื่อเสรีภาพดังกล่าวสั่นคลอน ปราบดา หยุ่น 0 0 0 “...อย่าหลงเชื่อไปว่าเราได้หลุดพ้นจากรอยบาป (ของการเข่นฆ่าผู้คิดต่าง) แม้กระทั่งของการข่มเหงโดยกฎหมาย การลงทัณฑ์ความคิดเห็น หรืออย่างน้อยก็การแสดงความคิดเห็น ยังคงมีอยู่ในทางนิตินัย; และการบังคับใช้ของมัน แม้กระทั่งในยุคสมัยนี้ ก็มิได้เกิดขึ้นน้อยครั้งเสียจนจะสามารถตายใจว่าสักวันหนึ่งการลงทัณฑ์เช่นนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อย่างหนักหน่วงสุดขั้วอีกครั้ง” จอห์น สจ๊วร์ต มิลล์, On Liberty, 1859 ในโลกมนุษย์ยุคต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ดูเหมือนจะมีสังคมเพียงสองประเภทที่สมาชิกในสังคมสามารถถูกกฎหมายตัดสินจำขังเป็นเวลานานสองถึงยี่สิบปี ด้วยข้อหาส่งข้อความสั้นจากโทรศัพท์มือถือของคนคนหนึ่งไปยังโทรศัพท์มือถือของคนอีกคนหนึ่ง ด้วยข้อหาแปลความบางบทบางตอนจากหนังสือภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว และด้วยข้อหาแสดงความเห็นทางการเมืองของตนบนเวทีสาธารณะ สังคมสองประเภทที่ว่าคือ สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ (cult) ที่คลั่งคลุ้มในความเชื่อเบ็ดเสร็จสำเร็จรูปโดยปราศจากการตั้งคำถาม และโดยมิแยแสต่อเหตุผล สิทธิมนุษยชน และความจริง สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ อาจดูเหมือนมีความคล้ายคลึงคล้องเกี่ยวกันอยู่ไม่น้อย ทว่าจุดแข็งทางอำนาจของสังคมสองประเภทนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง สังคมเผด็จการ คือสังคมที่ปกครองโดยกำลัง โดยการบังคับข่มขู่ หรืออาจกล่าวรวมได้หลวมๆ ว่าเป็นการปกครองด้วย “ความกลัว” โดยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่เห็นคนอื่นที่เหลือเป็นเพียงฝูงสัตว์ สมาชิกในสังคมเผด็จการอาจเต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจ และไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ที่คุ้มค่ากับการต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำทรราชย์กับสมุนถืออาวุธ ทว่าไม่มีทางเลือก ต้องดำรงอยู่ในกรอบขังนั้นด้วยความจำทน สังคมลัทธิมีคุณสมบัติแทบตรงกันข้าม สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมลัทธิต่างค่อนข้างสุขีปรีดา ซึ้งซาบในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความมั่นคงกลมเกลียวของความเป็นสาวกภายใต้การปกครองของผู้นำ ซึ่งมักได้รับการยกชูอยู่สูงจนมีสถานะเหนือมนุษย์ หรือมีภาพลักษณ์เป็นวีรชนไร้ผู้เทียมทาน และตราบใดที่สถานการณ์ในสังคมลัทธิดำเนินราบรื่นตามสูตรสำเร็จ ที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยการอ้างอิงความเห็นชอบของผู้นำ หรืออุปโลกน์ว่าเป็นการทำเพื่อผู้นำ สมาชิกส่วนใหญ่ต่างอิ่มเอมภาคภูมิกับการได้เกิดมารับใช้และปกป้องลัทธิของตนโดยถ้วนหน้า และด้วยเชื่อมั่นว่าคำสอนของลัทธิคือสัจธรรมแห่งชีวิต สมาชิกทั้งหลายจึงมั่นใจว่า สิ่งที่ลัทธิสอนสั่งให้ตนเป็นและปฏิบัติคือ “ความถูกต้อง” คือ “ความดี” คือความ “มีศีลธรรม” กระทั่งถึงขั้นให้คุณสืบสานข้ามรุ่นไปยังชาติภพอื่น เมื่อมีสมาชิกหัวแข็ง ริอ่านแตกแถว คิดต่าง ตั้งคำถามสงสัย และหาญกล้าแสดงทีท่าผิดแผกไปจากข้อบังคับหรือความเชื่อของลัทธิ ทั้งในทางรุนแรงและนุ่มนวล ทั้งโดยตั้งใจและโดยไร้เดียงสา สาวกข้างมากมักเกิดอาการใจสั่น หวั่นหวาดว่าฐานความเชื่อของพวกตนจะถูกลบหลู่ดูแคลน กังวลวิตกว่าสมาชิก “กบฏ” ส่วนน้อยนั้นจะสร้างรอยร้าวและส่งผลให้เสาหลักของลัทธิล้มครืนลง ข้อกล่าวหาที่ดีที่สุดเท่าที่สาวกลัทธิจะนำมาใส่ร้ายข่มขู่ผู้คิดต่าง มักมีเพียงข้อกล่าวหาไร้น้ำหนักและปราศจากเหตุผล อาทิ ผู้คิดต่างเป็นคนเลวทรามเพราะตั้งคำถามกับผู้นำหรือกับความศรัทธาในตัวผู้นำผู้ประเสริฐ ผู้คิดต่างต้องการทำร้ายผู้นำหรือทำลายลัทธิเพราะคนหวังดีที่ไหนจะเสือกคิดต่าง การคิดต่างแปลว่าผู้คิดต่างเนรคุณต่อลัทธิซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของผู้คิดต่าง ดังนั้นผู้คิดต่างจึงควรออกไปจากบ้านหรือปลดตัวเองออกจากลัทธิเสีย สาวกลัทธิผู้มีจิตใจเหี้ยมโหดมักมีความเห็นถึงขั้นที่ว่าผู้คิดต่างทั้งหลายสมควรถูกฆ่าล้างโคตร นอกจากนั้นยังมีการกีดกั้นขัดขวาง ประณามความเห็นหรือความช่วยเหลือจากคนนอก โดยประกาศว่าคนนอกไม่เข้าใจในพื้นฐานวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง (ซึ่งไม่ต้องการตรรกะ) ของลัทธิตน ทั้งหมดนั้นล้วนมิใช่ “เหตุผล” ที่เกิดจากการคิด (ตามความหมายของการ “ใช้เหตุผล”) หากแต่เป็นเหตุผลที่เกิดจากการบังคับไม่ให้คิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแม้แต่น้อย เนื่องเพราะกฎข้อที่หนึ่งของการเป็นสมาชิกลัทธิคือ “ถอดสมองส่วนที่ใช้ตรรกะและเหตุผลทิ้งไปเสียก่อน” ตามด้วยกฎข้อที่สอง “กฎระเบียบและคำสอนของลัทธิย่อมถูกต้องหมดจด” และแม้ว่าสาวกลัทธิจะนิยมใช้ถ้อยคำขับไล่ไสส่งผู้คิดต่างให้ออกห่างไปจากลัทธิ ทว่าในทางปฏิบัติพวกเขาพอใจกับการคุมขัง ทำร้าย หรือบังคับข่มขู่ให้ผู้คิดต่างต้องถอนคำพูด กลับใจ หรือปิดปากไว้ด้วยความกลัวเสียมากกว่า เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้มีประสบการณ์เข้าร่วมลัทธิ ว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเป็นเรื่องง่ายดาย ทว่าการลาออกหรือการปลดปล่อยตนเองจากสถานะของความเป็นสาวกนั้นเป็นเรื่องที่แทบต้องเอาชีวิต (ทั้งของตนเองและคนใกล้ชิด) เข้าแลก สังคมลัทธิทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้คิดต่างลอยนวล ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ จึงอยู่ที่สถานภาพทางจิตใจของสมาชิกในสังคม สมาชิกในสังคมเผด็จการส่วนมากมีชีวิตอยู่อย่างจำยอม รอคอยการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการปกครองที่เสรีกว่าอย่างลำบากยากไร้และไม่เห็นอนาคต ในขณะที่สมาชิกของสังคมลัทธิมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกครอบงำ มิหนำซ้ำยังพากันเสนอตัวเป็นผู้ตรวจตราความเรียบร้อยในลัทธิอย่างบ้าคลั่งเสียเอง โดยมิต้องรับคำสั่งจากเบื้องบน นั่นหมายความว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของสังคมเผด็จการอยู่ที่ตัวผู้นำ ในขณะที่ปัญหาสำคัญของสังคมลัทธิอยู่ที่ตัวสมาชิกเอง ทั้งสมาชิก “วงใน” ที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการบริหารลัทธิ และบรรดาสาวกคลั่งจัดที่หลับหูหลับตาศรัทธาลัทธิและพร้อมจะทำการกำจัดผู้เป็นกบฏ (หรือผู้ที่ถูกพวกเขากล่าวหาว่าเป็นกบฏ) ให้ราบคาบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ความเกลียดชัง ความรุนแรง และความอัปรีย์ที่เกิดขึ้นในสังคมลัทธิจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการเห็นชอบหรือจากความประสงค์โดยตรงของผู้นำ บ่อยครั้งมันเกิดจากสาวกผู้เสนอหน้าแสดงความรัก ความภักดี และใช้ข้ออ้างอันปราศจากเหตุผลทั้งหลาย สร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมล่าแม่มดและการข่มขู่ผู้คิดต่างอย่างปลอดซึ่งจริยธรรมหรือความยุติธรรมใดๆ ในยุคสมัยนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ อาจเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดของสังคมที่มีส่วนผสมของทั้งสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิ (บูชาประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้มีสถานะเป็นประธานาธิบดี “ตลอดกาล” แม้ว่าเขาได้ตายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537) ทว่าจากสภาวะที่ปรากฏชัดในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากกรณีการกล่าวหา ใส่ร้าย ข่มเหง ฟ้องร้อง และลงโทษผู้คิดต่างอย่างเกินเลยหนักหน่วง (ยังไม่นับว่าในบางกรณีผู้ถูกลงโทษอาจเป็นผู้บริสุทธิ์) ยังมีกรณีการเกิดรัฐประหารที่ขัดขวางการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงมาหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ จะมีก็เพียงผู้นิยมหลอกลวงตนเองอย่างล้ำลึก หรือสาวกคลั่งจัดในลัทธิ (ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือคนประเภทเดียวกัน) เท่านั้นที่จะไม่สรุปว่าสังคมไทยก็มีคุณสมบัติที่มิเพียงละม้ายสังคมเผด็จการ มิเพียงคล้ายสังคมลัทธิ หากแต่ดูเหมือนจะมีส่วนผสมของสังคมทั้งสองประเภทอยู่อย่างกลมกลืนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คงเกินเลยความจริงและไม่เป็นธรรมนัก หากจะวางสังคมไทยไว้บนแท่นฐานเดียวกันกับเกาหลีเหนือ อย่างน้อยจากภาพบนเปลือกภายนอก สังคมไทยยังคงเป็นสังคมเปิด ให้เสรีภาพในการใช้ชีวิตกับสมาชิกในสังคม มีการถ่ายเทและสานต่อทางปัญญากับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเสรีนิยมที่มีความมั่นคงทางประชาธิปไตยและสนับสนุนสิทธิพื้นฐานทางความคิดและการแสดงออกของปัจเจกชนอย่างเข้มแข็งมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ สังคมไทยยังขึ้นชื่อในสากลโลกว่าเป็นประเทศที่มี “ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” (tolerance) มากที่สุดประเทศหนึ่ง จึงมิอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สมาชิกส่วนใหญ่ตกอยู่ในความหวาดกลัว ถูกปิดหูปิดตา หรือถูกกีดกันกดข่มมิให้ได้สัมผัสการคิดต่างและแนวทางเสรี สมาชิกในสังคมไทยส่วนใหญ่มีิอิสระในการเดินทางออกนอกประเทศ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีอิสระในการนับถือศาสนา มีโอกาสปรนเปรอตนเองด้วยความบันเทิงนานาชนิด (ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย) ด้วยความสุขสบาย หรูหราฟุ่มเฟือย ได้ง่ายดายกว่าสมาชิกในสังคมอื่นหลายเท่า แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งโดยปัญญาชนร่วมชาติว่าสังคมไทยเป็นสังคม “ปากว่า ตาขยิบ” หรือ “มือถือสาก ปากถือศีล” และแม้ว่าจะเป็นคำวิจารณ์ที่น่ารับฟังอยู่มากในหลายบริบท (แต่จะว่าไป สังคมไหนๆก็มีคุณสมบัติของความเสแสร้ง สร้างภาพ ตอแหล ผสมอยู่ทั้งนั้น) ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม สังคมไทยยังถือว่าห่างไกลจากการตกอยู่ภายใต้สภาวะขั้นวิกฤตของความเป็นสังคมเผด็จการและความเป็นสังคมลัทธิสุดโต่งอย่างไม่ต้องสงสัย เช่นนั้นแล้ว เหตุใดเมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อมีการตัดสินลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อสมาชิกบางคนมีพฤติกรรมขัดแย้งกับธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ที่ “สังคม” เรียกร้องแกมบังคับให้ปฏิบัติ (ทั้งที่บางธรรมเนียมมิได้เป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดอย่างเป็นทางการ) บรรยากาศและอารมณ์ของสังคมไทยจึงเคลื่อนเข้าใกล้เส้นขีดของความเป็นสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิได้ทันทีอย่างน่าวิตก ความเป็นสังคม “อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” ดังที่ชาวโลกเยินยอสรรเสริญไว้ เหือดหายในพริบตา ปัญญาชนผู้ชาญฉลาด ได้รับการศึกษาขั้นสูงสุดจากประเทศโลกที่หนึ่ง กลับกลายเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อและพิธีกรรมไร้ตรรกะโดยปราศจากยางอาย ศิลปินผู้ชื่นชม “การมองมุมกลับ” “การแหกคอก” “การคิดนอกกรอบ” ต่างแปรร่างเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้ปกป้องทัศนคติสำเร็จรูปใส่ผงชูรส นักสื่อสารมวลชนที่ดิ้นรนเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ต่างเอาหูฟังไปนา เอาตากล้องไปไร่ มิกล้าเปิดพื้นที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกริดรอนเสรีภาพและผู้ถูกกลั่นแกล้งรังแก ครูบาอาจารย์ นายแพทย์ พระสงฆ์ผู้พร่ำเทศนาวิถีแห่งพุทธอันเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา ต่างกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับสาวกวงในของลัทธิ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม กระทั่งทนายและผู้พิพากษาซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายทางกฎหมายของประชาชน ต่างตัดสินใจแทบเป็นเสียงเดียวกันว่าการปกป้องตรรกะผิดเพี้ยนสำคัญกว่าการรักษาความยุติธรรม หากความ “เป็นคนไทย” คือการอยู่ในศีลธรรมอันดี รักสามัคคี มีความโอบอ้อมอารี ดังที่ป่าวประกาศกันอยู่ทุกเช้าค่ำ เมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา กลับดูเหมือนว่าประเทศนี้จะมี “คนไทย” อาศัยอยู่ไม่มากเท่าไรเลย เหตุใดความเป็น “สังคมอารมณ์ดี” เป็น “สังคมใจกว้าง” เป็น “สังคมไม่เป็นไร” ของไทย จึงบอบบางและผันปรวนได้ง่ายดายเพียงนั้น หากคำตอบคือ “ความรัก” ย่อมเป็นเรื่องวิปริตพิสดารไม่น้อยที่ความรักกลับบันดาลให้แผ่นดินไทยเจิ่งนองไปด้วยอุทกภัยแห่ง “ความเกลียดชัง” หลากล้นท่วมท้นหนทางแห่งเหตุผลจนไม่มีใครเอาอยู่เช่นนี้ หากยังสามารถสันนิษฐานด้วยความหวังว่าสังคมไทยไม่สุดขั้วในความเป็นเผด็จการและเป็นสังคมลัทธิเทียบเท่าเกาหลีเหนือ เหตุผลที่มีความเป็นไปได้ที่สุดข้อหนึ่ง คือสมาชิกในสังคมบางส่วนยังไม่เข้าใจความสำคัญและบทบาทของเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก (freedom of speech) ที่แท้จริงดีพอ ยังไม่รู้ซึ้งว่าอิสรภาพในการเลือก ในการใช้ชีวิต ในการดำรงสถานะของความเป็น “ปัจเจกชน” ในสังคม เป็นอิสรภาพที่งอกเงยขึ้นจากรากแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทั้งสิ้น คุณสมบัติที่น่ายินดีที่สุดของมนุษยชาติไม่ใช่การสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้ครองโลก แต่คือการสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้รู้จักเรียนรู้จนมีเหตุผลเพียงพอที่จะหาหนทางอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดอย่างเป็นธรรมและสันติ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า “เจริญแล้ว” มิได้เจริญเพราะก้าวหน้าทางวัตถุเท่านั้น ตรงกันข้าม การใช้เหตุผล การยอมรับในตรรกะ การให้ความสำคัญกับการมองโลกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การเข้าใจว่าความแตกต่างหลากหลายคือธรรมชาติของโลกและสังคมมนุษย์ (ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แสดงออกตาม “ธรรมชาติ” ของตนได้มากที่สุดโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน) คือความ “เจริญ” ทางปัญญา ที่เอื้อให้เกิดความเจริญทางวัตถุและการพัฒนาด้านอื่นๆตามมาอีกมากมาย ในขณะที่การปิดปาก การเซ็นเซอร์ การบังคับข่มขู่ให้อยู่ในกรอบกำหนดกักขัง คือต้นเหตุสำคัญของความหยุดนิ่ง ความล้าหลัง ความแร้นแค้น จนอาจเลยเถิดถึงการล่มสลายของสังคม แสงสว่างจากไฟฟ้าจะไม่สามารถเกิดขึ้น ไม่สามารถได้รับการแพร่กระจายแจกจ่ายความสะดวกสบายกับมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก หากผู้คิดประดิษฐ์มันไม่ได้รับการคุ้มครองจากแสงสว่างทางปัญญาที่มาพร้อมกับเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก แสงไฟแห่งเหตุผลจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ยิ่งกว่าแสงไฟสังเคราะห์ แสงไฟแห่งปัญญาจึงเป็นแสงไฟดวงสำคัญที่เราจำเป็นต้องยึดมั่นหมั่นดูแลรักษามิให้มอดดับ หากเรายังต้องการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสงบและเสรี กลียุคจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อเสรีภาพของการไม่เชื่อในกลียุคถูกริดรอนไปเท่านั้น ตราบใดที่แสงไฟแห่งเหตุผลยังคงมีช่องทางส่องสว่าง ความหวังที่สังคมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานาไปได้ย่อมยังเรืองรองอยู่เสมอ สมาชิกในสังคมผู้สามารถถือตนเป็น “ปัจเจกชน” อยู่ได้ทุกวันนี้ ล้วนเป็นหนี้บุญคุณบรรพบุรุษที่ต่อสู้โดยเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก นับตั้งแต่การต่อสู้กับทรราชย์ กับอำนาจปกครองของศาสนา กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับเผด็จการทหาร กับทรราชย์ในคราบสังคมนิยม พวกเขาคือสถาปนิก วิศวกร และช่างก่อสร้างตัวจริงของ “บ้าน” เสรี หลังที่เราใช้พำนักพักพิงโดยไม่ต้องสำนึกว่าความเป็นปัจเจกคือความหรูหราฟุ่มเฟือยของสังคมมนุษย์ยุคสมัยใหม่ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมิใช่เพราะการเสียสละและการสังเวยตนของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษที่ว่านั้นไม่จำกัดเฉพาะ “บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ” หากคือบรรพบุรุษของโลก ต่างยุคต่างสมัย ต่างภูมิประเทศ ต่างยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ การออกแบบ และการก่อสร้าง แสงไฟในบ้านหลังนี้จึงใช้เวลาไม่น้อย ใช้สมองไม่น้อย ใช้ความกล้าบ้าบิ่นไม่น้อย และใช้เลือดใช้เนื้อไม่น้อย กว่าที่มันจะทำงานส่องสว่างอย่างค่อนข้างเสถียร ให้เราได้ประโยชน์จากมันอย่างเป็น “ปัจเจก” ในห้องเล็กๆส่วนตัวของเราเอง ท่ามกลางธรรมชาติดิบเปลือย การเป็นปัจเจกอย่างปลอดภัยและสุขสบายมิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมก่อนสมัยใหม่ ผู้ใดประสงค์จะอยู่อย่างเป็นปัจเจกถือเป็นสมาชิกนอกคอก นอกรีต ผิดเพี้ยน และหากยืนยันจะอยู่อย่างปัจเจกจริง ก็จำต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างเรียบง่ายสมถะในสภาพแวดล้อมที่ไร้ความปราณีต่อการอยู่อย่างสันโดษ กาลเวลาได้ดำเนินมาถึงช่วงกลับตาลปัตร เมื่อการเป็นปัจเจกชนคือความปลอดภัย ความสงบ สบาย ไร้รอยด่าง และการแสดงออกร่วมกันทางสังคมกลายเป็นกิจกรรมของนักเคลื่อนไหว น่ารำคาญ ชวนตั้งข้อสงสัยว่ามีนัยยะแฝง เสี่ยงต่อการถูกใช้ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง” ถูกกล่าวหาว่าเป็นกิจกรรมของคนสร้างภาพ เรียกร้องความสนใจ อยากเท่ หรือกระทั่งจิตวิปลาส ถึงกระนั้น ความเป็นปัจเจกก็จะมิอาจดำรงอยู่อย่างถาวร หากรากฐานของมันมีโอกาสถูกสั่นคลอนได้เสมอ เสรีภาพในการใช้ชีวิตของปัจเจกชนจะมืดหม่น หากแสงไฟแห่งเหตุผลถูกละเลยและได้รับการยินยอมให้ถูกกลบดับโดยอำนาจเผด็จการและระบบลัทธิ สมาชิกในสังคมผู้ยังมีสติ ยังมีความหวัง และยังเชื่อมั่นว่าสังคมของตนมิใช่เผด็จการ มิใช่ลัทธิ จึงจำเป็นต้องสละความปลอดภัยและความสงบสบายในห้องส่วนตัวชั่วครู่ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะปกปักรักษาแสงไฟแห่งปัญญา แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มีค่าทว่าเปราะบางดวงนี้ไว้ด้วยกัน หากสังคมจำเป็นต้องสร้างสะพานอย่างเป็นรูปธรรม การกล่าวว่าเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน แต่ขอเก็บตัวอยู่ในห้องเพื่อสร้างสะพาน “ด้วยวิถีทางของตนเอง” จึงเป็นการแสดงออกอย่างผิดเพี้ยนในเชิงตรรกะ โดยสมาชิกผู้ไม่เข้าใจในความหมายของวาระสำนึกทางสังคม ปัจเจกนิยมสร้างสะพานขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ สะพานต้องถูกสร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ลงไม้ร่วมมือ ด้วยการพักวางเรื่องส่วนตัวและเว้นวรรคจากความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆหรืออคติระหว่างกันชั่วขณะ จนกระทั่งสะพานเสร็จสำเร็จสมบูรณ์เสียก่อน ปัจเจกนิยมจึงจะสามารถหวนคืนฟื้นฟู และปัจเจกชนทั้งหลายจึงจะสามารถกลับคืนสู่ห้องหับของตนเพื่อเสพแสงไฟแห่งเสรีภาพในมายาของความไม่เกี่ยวดองข้องกันทางสังคมและการเมืองได้ดังเดิม สมาชิกบางส่วนในสังคมไทยผู้จดจ้องจะกลบดับแสงไฟแห่งปัญญาและเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก คือกลุ่มคนผู้หวังร้ายต่อสังคมและอนาคตของชาติที่แท้จริง พวกเขาก่อตั้งขบวนการให้ร้ายหมายหัวสมาชิกผู้คิดต่าง อ้างว่าความคิดต่างเห็นต่างคือความต้องการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์และระบอบการปกครองของชาติ นำพลังแห่งรักและศรัทธาของสมาชิกจำนวนมากในสังคมมาใช้เป็นเหตุผลและเครื่องมือในการข่มเหงรังแกผู้คิดต่าง บิดเบือนความจริงและข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยสื่อชวนเชื่อและวาทกรรมซ้ำซากที่พยายามฉุดลากความเห็นต่างให้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของความเป็นขบถ เป็นผู้เนรคุณ เป็นคนชั่วช้า เป็นขี้ข้านักการเมือง หากสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อมั่นว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิที่ิมืดบอดทางเหตุผล ทว่าเป็นสังคมเสรีที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และหากความ “เป็นคนไทย” จะเป็นสถานะที่น่าภาคภูมิใจในสากลโลกโดยแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มักถูกหรี่ดับลง ต้องได้รับการกอบกู้ให้หลุดพ้นจากกำมือของกลุ่มคนผู้เป็นปรปักษ์ต่อปัญญาและความก้าวหน้าของสังคม สังคมที่ได้รับการปกครองโดยธรรมไม่มีความจำเป็นต้องหวาดกลัวความจริง ไม่ต้องกักขังผู้เห็นต่าง ไม่ต้องใช้คำว่า “กบฏ” ปรักปรำสมาชิกด้วยกัน การมอบเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกอย่างหมดจดให้กับสังคมคือบทพิสูจน์ที่จะสะท้อนภาพได้แจ่มชัดที่สุดว่า ตัวตนที่แท้ของสังคมนี้เป็นเช่นไร หากสมาชิกในสังคมกล้ายืนยันว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิ วิธีพิสูจน์ที่จะปราศจากข้อกังขาโดยสิ้นเชิง คือต้องปรับระดับแสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกให้เจิดจำรัสถึงขีดสุด ความถูกต้องที่แท้ย่อมกล้าปรากฏตัวในที่แจ้ง ความจริงที่แท้ย่อมกล้าสบตากับแสงไฟ หากสมาชิกในสังคมร่วมแรงร่วมใจรักษาแสงไฟแห่งเหตุผลและปัญญาดวงสำคัญดวงนั้นไว้ด้วยกัน สังคมไทยก็ยังมีหวังที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท