Skip to main content
sharethis

ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนโต้พรีม่าสร้างวาทะกรรมผิดๆ จงใจให้ร้ายกล่าวหาต้องการเงิน สปส.ไปรวมกับบัตรทอง ย้ำชัดเงินกองทุน สปส.เป็นเงินสมทบ 3 ฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐ จะเอาไปรวมกับบัตรทองไม่ได้ แจงข้อเรียกร้องคือ ให้นำเงินสมทบรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 1% ไปรวมกับบำนาญชราภาพ และให้รัฐรับผิดชอบแทน ด้านนักวิชาการชี้ข้อเสนอให้สปส.ซื้อบริการสุขภาพจากบริษัทเอกชนเป็นแนวคิดอันตราย จะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการยากขึ้น เหมือนบทเรียนจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถที่เบิกยาก จนต้องเปลี่ยนไปเบิกสิทธิอื่นแทน แต่ละปีมีเงินเข้าบริษัทเอกชนกว่า 4 พันล้าน ระบุพรีม่ากลัวเสียผลประโยชน์จากอำนาจต่อรองที่เพิ่มขึ้นของประชาชน นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า จุดมุ่งหมายการเรียกร้องของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเพื่อให้มีการยกเลิกการร่วมจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพในระบบประกันสังคมนั้น ไม่ใช่การรวมกองทุนอย่างที่นายกเแฑ์ (พรีม่า) กล่าวอ้าง และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะเอาเงินของ สปส.มารวมกับ สปสช. การที่นายกสมาคมพรีม่าพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ เป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง และขยายความเข้าใจผิดไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ในฐานะผู้ประกันตนคนหนึ่งตระหนักดีว่านี่เป็นเงินสมทบของลูกจ้างทุกคนที่ไม่ควรไปรวมอยู่ในกองทุนไหนทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เรียกร้อง เกิดมาจากข้อสงสัยว่า ทำไมผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบสำหรับการรักษาพยาบาลให้กับตัวเองอยู่ ทั้งที่กลุ่มอื่นรัฐบาลรับผิดชอบให้หมด แล้วการที่เรียกร้องให้มียกเลิกการจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพ 1% ในแต่ละเดือนนั้น ก็ระบุชัดเจนว่า เอา 1% ตรงนี้ไปเพิ่มสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพจะมีประโยชน์กับผู้ประกันตนเมื่อยามเกษียณมากกว่า นั่นคือเรายังจ่ายเท่าเดิม นายจ้างและรัฐก็สมทบเท่าเดิม แต่ส่วนที่กัน 1% เพื่อไปใช้สำหรับรักษาพยาบาลนั้นเอาไปเพิ่มบำนาญชราภาพ ส่วนสิทธิสุขภาพของเราให้รัฐบาลดูแล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้สมกับการที่ประชาชนทุกคนเสียภาษีให้รัฐทุกวัน ในนามของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ vat 7% “ดังนั้นขอให้สบายใจได้ว่า ไม่ใช่การยึดหรือฮุบรวมกองทุนแน่นอน วาทะกรรมแบบนี้เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอาคนละเรื่องเดียวกันมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน เรากำลังพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมของสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญอยู่ และตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่เรียกร้องสำนักงานประกันสังคมก็ได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่าบัตรทองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบนั้นด้อยกว่าบัตรทองที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายสมทบแต่รัฐบาลรับผิดชอบทั้งหมด และการที่บอกว่าการทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียวกันจะทำให้ไม่มีการแข่งขันกันนั้น สะท้อนทัศนคติที่อันตรายของพรีม่า เพราะสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลต้องมีมาตรฐานเดียว เป็นเรื่องของชีวิตมีหลายมาตรฐานไม่ได้ เป็นสิทธิมนุษยชน ทำไมคนเราต้องถูกแบ่งว่าถ้าเป็นข้าราชการรักษาแบบนี้ ประกันสังคมระดับนี้ หรือบัตรทองระดับนี้ ส่วนการแข่งขันกันต้องอยู่ที่ระดับรพ.ในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพกับประชาชน” เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าว ด้าน ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การที่พรีม่าเสนอให้ สปส.ซื้อบริการประกันสุขภาพจากเอกชนนั้น ด้านหนึ่งเป็นการยอมรับว่า การบริหารงานของ สปส.เรื่องการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนนั้นเป็นปัญหาที่ภาคเอกชนตระหนักได้ดี ซึ่งสะท้อนถึงการไม่มีความสามารถและศักยภาพของ สปส.ที่ต้องดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 10 ล้านคน แต่ทั้งสำนักงานมีหมอ 2 คนรับผิดชอบเรื่องนี้เท่านั้น ขณะที่ข้อเสนอของพรีม่าเป็นข้อเสนอที่อันตราย ฟังแล้วเหมือนจะดูดีและเป็นประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาคนไทยมีบทเรียนมาแล้วจากกรณีกองทุนผู้ประสบภัยจากรถที่ให้บริษัทประกันเอกชนรับผิดชอบ ซึ่งมีปัญหามาก รพ.เบิกเงินยาก ผู้ประสบภัยไม่ได้ใช้สิทธินี้ จนต้องไปเบิกเงินจากสิทธิรักษาพยาบาลอื่นแทน ซึ่งสร้างภาระให้กองทุนอื่น ทำให้ในแต่ละปีงบกองทุนผู้ประสบภัยจากรถเหลือเป็นเงินให้บริษัทเอกชนไม่ต่ำกว่าปีละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของประชาชนทั้งสิ้น เช่นกันในกรณีของประกันสังคมหากให้บริษัทเอกชนรับผิดชอบแทนจะมีปัญหามากกว่าเดิมแน่นอน ผู้ประกันตนจะเข้าถึงสิทธิยากขึ้น เพราะบริษัทเอกชนมีเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุด และเงินสมทบของผู้ประกันตนก็จะไปตกอยู่ที่บริษัทเอกชน ต่างจากหน่วยงานรัฐหากมีเงินเหลือก็คืนกลับไปสู่สวัสดิการสังคมด้านอื่นๆต่อไป ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเป็นเงินผู้ประกันตน ทำไมต้องเอาไปสร้างกำไรให้บริษัทเอกชน “การที่พรีม่ามีข้อเสนอแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไม พรีม่ากลัวเรื่องอำนาจการต่อรองของรัฐที่จะมีมากขึ้นกับบริษัทยา เพราะการทำให้สิทธิรักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นมาตรฐานเดียวกันจะทำให้พรีม่าเสียประโยชน์จากการที่ต้องมีการใช้ยามาตรฐานเดียวกัน สิ่งที่พรีม่ากังวลไม่ใช่เรื่องประกันสังคมหรือบัตรทอง แต่กังวลเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายยานอกบัญชีของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพราะตรงนี้เป็นจุดที่ทำเงินมหาศาลให้พรีม่าในแต่ละปี ที่ผ่านมาพรีม่าขายยาให้แต่ละกองทุนในราคาต่างกันทั้งที่เป็นยาแบบเดียวกันมาตลอด” ดร.นพ.พงศธร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net