Skip to main content
sharethis

ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ กระบวนการสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดฉากด้วยการจัดงานใหญ่ ระดมคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 1,000 คน ใช้งบประมาณสูงถึง 1 ล้านบาท ในวันที่ 4 – 5 มกราคม 2555 เริ่มต้นด้วย 2 ประเด็นหลัก หนึ่ง ประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ สอง ประเด็นปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ (กระจายอำนาจ) ในการนี้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นองค์กรจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด เพื่อจัดทำข้อเสนอ สำหรับ ประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้มีคำสั่งที่ 01/2554 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ลงนามโดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาสังคมชายแดนใต้ แต่งตั้งคณะทำงานจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์ มี สมนึก ระฆัง เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ นางโซรยา จามจุรี นางสาวลม้าย มานะการ นางสาวมาเรียม ชัยสันทนะ นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ นายอนุกูล อาแวปูเตะ นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา นางแยน๊ะ สะแลเม นายประยูรเดช คณานุรักษ์ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ นายมะรอนิง สาและ นางกัลยา เอี่ยวสกุล คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่ออกแบบและวางแผนการดำเนินงาน เพื่อจัดเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ สนับสนุนข้อมูลความรู้ ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการเตรียมการและการจัดงานสมัชชาฯ ร่วมขับเคลื่อนงานตามแผนงานที่วางไว้ และเข้าร่วมการจัดสมัชชาฯ ทว่า ภารกิจที่สำคัญของคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์คือ การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ได้แยกออกเป็นประเด็นย่อย 2 ประเด็น หนึ่ง ประเด็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง และผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ สอง ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับต่างๆ ตั้งแต่กฎอัยการศึก 2457 ไปจนถึงพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช 2551 โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ที่ให้อำนาจฝ่ายทหารในการตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ 2 ประเด็นข้างต้น จะมีตัวแทนคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์คือ นางสาวลม้าย มานะการกับนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ขึ้นนำเสนอบนเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ในวันที่ 4 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันแรกของงาน ตัว แทนคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์ทั้งสอง มีกำหนดรายงานรายละเอียดของข้อเสนอทั้งหมด ต่อคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์อีกครั้ง ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ในวันที่ 4 มกราคม 2555 อันเป็นการเปิดฉากสู่กระบวนการปฏิรูป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเริ่มขึ้นและดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net