โฆษก สปสช. วอนโรงพยาบาลเร่งส่งข้อมูลมาเบิกจ่าย

30 ธ.ค. 54 - โฆษก สปสช.ชี้แจงไม่ใช่เงินค้างท่อ แต่เป็นเงินที่กันไว้ร้อยละ 5 เพื่อใช้ในการจ่ายเงินชดเชยกรณี รพ. ส่งข้อมูลเบิกจ่ายล่าช้าและกรณีการอุทธรณ์ ชี้ปี 55 เป็นปีที่สองที่ สปสช. ปรับอัตราจ่ายเงินล่วงหน้าให้หน่วยบริการสังกัด สธ.เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยโอนเงินไปแล้วในไตรมาสแรกร้อยละ 50 คิดเป็นวงเงินที่จัดสรรรวม 22,500 ล้านบาท ย้ำรพ.สังกัด สธ. ทุกแห่งได้รับมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลส่งผลให้ประชาชนได้บริการมีคุณภาพตามมาตรฐานแน่นอน นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวชี้แจงกรณีข่าว สปสช.บริหารงบประมาณแล้วมีเงินค้างท่อและมีการกันเงินไว้เป็นกองทุนย่อยที่ส่วนกลางเยอะเกินไปว่า สปสช. ได้กันเงินไว้เป็นกองทุนย่อยจริงประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดเพื่อ ปรับปรุงงบประมาณที่จ่ายให้หน่วยบริการตรงตามผลงานบริการจริง ทั้งนี้ในแต่ละปีงบประมาณ ได้มีการประมาณการผลงานจากข้อมูลที่มีการให้บริการจริงในปีงบประมาณก่อนหน้า บวกส่วนเพิ่มตามประมาณการ อย่างไรก็ตามในปี 2554 สปสช เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลสามารถส่งข้อมูลเพื่อเบิกเงินชดเชยได้ถึง 360 นับแต่วันให้บริการ สปสช จึงต้องเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อรอการเรียกเก็บจากหน่วยบริการ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับส่วนที่หน่วยบริการต่างๆได้รับไปก่อนหน้าแล้ว โฆษกสปสช. ยังชี้แจงถึงกรณีการปรับปรุงระบบการจ่ายเงินในปี 2554 ว่า สปสช. ปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยใหม่ โดยคำนวณผลงานที่คาดว่าโรงพยาบาลจะทำได้ทั้งกองทุนผู้ป่วยใน อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายสูง และจ่ายชดเชยล่วงหน้าให้กับโรงพยาบาล และเมื่อมีข้อมูลการให้บริการจริง สปสช จะใช้ระบบการหักล้างทางบัญชีโดยไม่กระทบระบบการเงินของโรงพยาบาล เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้ว สปสช. เหลือเงินงบประมาณอยู่เพียงเล็กน้อย สำหรับรองรับการขอแก้ไขและอุทธรณ์ข้อมูลเท่านั้น จากกรณีผู้ป่วยใน อุบัติเหตุ - ฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2554 จนถึงขณะนี้มีเงินที่กันสำรองไว้สำหรับกรณีนี้อีกไม่เกิน 100 ล้าน เพื่อให้หน่วยบริการที่เรียกเก็บเข้ามา ทั้งนี้ก็ขึ้นกับหน่วยบริการแต่ละแห่งที่จะต้องเร่งจัดทำข้อมูลที่ให้บริการผู้ป่วยในโรคดังกล่าวส่งมาที่ สปสช. เพื่อจะได้นำงบประมาณส่วนที่เหลืออยู่นี้ส่งไป คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือนนับจากนี้ นายแพทย์ปรีดากล่าวต่อว่า สำหรับการเบิกจ่ายของหน่วยบริการที่ส่งมายัง สปสช.นั้น ตั้งแต่ปี 2553 สปสช. ได้ปรับวิธีการจ่ายเงินให้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลรัฐและเอกชนเองที่จะต้องส่งข้อมูลการให้บริการทันตามกำหนดเวลา ซึ่งในปัจจุบัน สปสช.มีการนำเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ โดยบันทึกเฉพาะข้อมูลการให้บริการที่สำคัญ ประกอบด้วยหมายเลขบัตรประชาชนผู้รับบริการ รหัสการวินิจฉัยโรค ฯลฯ ทางเวบไซต์ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถคลิกเข้ามาใส่ข้อมูลได้ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้สะดวกสบายต่อหน่วยบริการมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หน่วยบริการบางแห่งอาจจะยังไม่พร้อมในการใช้คอมพิวเตอร์หรือมีปัญหาในการใช้งาน สปสช. ยังมีสำนักงานสาขาเขต 13 เขตทั่วประเทศที่สามารถติดต่อเพื่อให้การแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้เกิดการคล่องตัวได้มากขึ้น “ปัจจุบัน สปสช อำนวยความสะดวกให้โรงพยาบาลสามารถส่งข้อมูลตามแฟ้มข้อมูลมาตรฐาน (12/18 แฟ้ม) ได้ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมป้องกัน” โฆษกสปสช.กล่าว นอกจากนี้แล้วกรณี ในปี 2555 เป็นปีที่สองที่ สปสช. ได้ปรับอัตราการจ่ายเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพให้หน่วยบริการใหม่ จากเดิมที่จ่ายให้ล่วงหน้าครั้งละร้อยละ 25 จำนวน 4 งวด เป็น จ่ายล่วงหน้าให้ร้อยละ 50 ของประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งปีไปก่อนเลยตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น สปสช.ได้โอนงบประมาณไปแล้ว 22,500 ล้านบาท เชื่อว่างบประมาณจำนวนนี้จะทำให้หน่วยบริการสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิและแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี “ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า โรงพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาด้านคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพต่ำนั้น เท่าที่ทราบเป็นการให้ข้อมูลจากวิทยากรท่านหนึ่งจากกระทรวงสาธารณสุข และไม่ทราบว่าใช้เกณฑ์อะไร คงต้องไปสอบถามผู้พูดเอาเอง” โฆษกสปสช.กล่าวและว่า นอกจากนี้แล้ว สำหรับหน่วยบริการที่อยู่ในโครงการฯ มีการตรวจรับรองมาตรฐานทุกปี ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งก็มีการพัฒนาคุณภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) พบว่าในปีงบประมาณ 2554 มีโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นหน่วยบริการและส่วนมากเป็นรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวน 955 แห่งหรือ ร้อยละ 99.4 ของรพ.ทั้งหมดมีระบบคุณภาพ แบ่งเป็น รพ.ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานร้อยละ 28.4 , รพ.ที่ผ่านขั้นที่ 2 (ระบบบริหารความเสี่ยง ) ร้อยละ 64.7 ทั้งนี้โรงพยาบาลทั้งหมดมีการพัฒนาและการประเมินตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท