นักข่าวพลเมือง: เปิดฎีกาชาวบ้านแม่ตาว หมดหวังรัฐเยียวยาพิษแคดเมี่ยม

เรียบเรียงจากจดหมายยื่นฎีกา ได้รับผลกระทบจากสารพิษแคดเมียมปนเปื้อนในเมล็ดข้าว แหล่งน้ำ สภาพแวดล้อม และในร่างกาย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ของ นางภิรมย์ ใจรุณ นายสมบูรณ์ จำปาทอง ราษฎรค้างภิบาล หมู่ 1 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ภาพจาก enlawthai.org ปลายปีทีผ่านมา นางภิรมย์ ใจรุณ และนายสมบูรณ์ จำปาทอง ราษฎรค้างภิบาล อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ยื่นขอถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากประสบความยากลำบากทุกข์แสนสาหัสมาเกือบครึ่งชีวิตกับพิษภัยแคดเมี่ยม จนตัดสินใจยื่นฎีกาขอความเป็นธรรมที่สำนักพระราชวัง เพราะหมดหวังไร้ทางพึ่งกับทุกหน่วยงานภาครัฐ เนื้อหาฎีการ้องทุกข์ดังกล่าวระบุถึง การดำเนินงานการทำเหมืองแร่สังกะสีบนดอยผาแดง ในเขตตำบลพระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด และ บริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2520 แต่ปัจจุบันเหลือบริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียว “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านมีความรู้สึกดีใจที่บ้านเมืองของเรานั้นมีเหมืองแร่สังกะสีเกิดขึ้น ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง แต่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2541 – 2546 มีการตรวจวัดระดับสารแคดเมียมในดินและข้าวบริเวณตำบลพระธาตุผาแดง แม่ตาวและแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบว่ามีการปนเปื้อนในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนแถบนั้นกว่า 6,000 คน ที่บริโภคข้าวที่ผลิตได้จากบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศแห่งหนึ่ง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2546 มีการตรวจพบสารแคดเมียมระดับที่เป็นอันตรายในร่างกายประชาชนในเขตตำบลพระธาตุผาแดง แม่ตาวและแม่กุ โดยโรงพยาบาลแม่สอดได้ออกบัตรผู้ป่วยแคดเมียมให้กับประชาชนที่มีสารแคดเมียมปริมาณสูงในร่างกายด้วย (แต่ในระยะหลังที่ผู้ป่วยแคดเมียมไปตรวจสุขภาพและรักษาโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับแคดเมียมหรือโรคภัยไข้เจ็บอื่นก็จะถูกยึดบัตรผู้ป่วยแคดเมียมคืนไปโดยไม่แจ้งเหตุผล) ในปี พ.ศ. 2547 พบการปนเปื้อนแคดเมียมในดินและข้าวในปริมาณสูง โดยรัฐบาลสั่งให้ชาวบ้าน 3 ตำบล 12 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ปลูกข้าวและพืชอาหารอื่น 13,237 ไร่ มีเกษตรกรรวม 862 ราย ตัดทำลายข้าวและพืชอาหารอื่นให้หมดสิ้น เพื่อควบคุมข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมไม่ให้จำหน่ายออกสู่ตลาดเพื่อมิให้ผู้บริโภคข้าวในตลาดต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทย โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการจ่ายชดเชยให้ไร่ละ 3,700 บาท ในปี พ.ศ. 2548 ยังคงเกิดเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้วจนรัฐบาลได้สั่งให้ชาวบ้านตัดทำลายข้าวและพืชอาหารอื่นให้หมดสิ้น พื้นที่ 13,439 ไร่ จำนวนเกษตรกร 903 ราย โดยได้รับค่าชดเชยความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 4,220 บาทต่อไร่ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลทำการจ่ายชดเชยค่าเสียหายเป็นปีสุดท้ายให้แก่เกษตรกรจำนวน 835 ราย พื้นที่ 13,205 ไร่ ในอัตราไร่ละ 4,220 บาท พร้อมกับการวางแผนระยะยาวด้วยการให้ชาวบ้านหันไปปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนข้าวในพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมจำนวน 13,237 ไร่ เพื่อหวังที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรจากการปลูกพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงาน” ฎีกาดังกล่าว ระบุว่า ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้บริษัทผาแดงฯ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด และบริษัท เพโทรกรีน (กลุ่มน้ำตาลมิตรผล) จำกัด ร่วมกันจัดตั้งบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด และโรงงานผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ขึ้นที่อำเภอแม่สอด มีกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน ใช้อ้อยประมาณ 6 แสนตันต่อปี เพื่อรองรับผลผลิตอ้อยในพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมในอำเภอแม่สอด ในส่วนของรัฐบาลได้ให้หน่วยงานราชการและบริษัทผาแดงฯ ร่วมกันส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมจำนวน 13,237 ไร่ แต่ปัจจุบันมีชาวบ้านปลูกอ้อยอยู่เพียง 5,000 กว่าไร่ หรือคิดเป็น 40% ของพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมเท่านั้น เนื่องจากเกิดปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้สินจนทำให้ชาวบ้านต้องล้มเลิกการปลูกอ้อยลงไปหลายราย สาเหตุสำคัญเพราะไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและผู้ประกอบการเหมืองแร่อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดฯ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับผลผลิตอ้อยจากพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมในอำเภอแม่สอดเป็นหลักกลับไปทำการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอพบพระและแม่ระมาด จังหวัดตาก แทนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อหวังจะให้ได้พื้นที่ปลูกอ้อยในเขตสองอำเภอดังกล่าวประมาณ 45,000 ไร่ เพียงพอต่อปริมาณสำรองอ้อยเพื่อป้อนกำลังการผลิตที่วางเป้าหมายไว้ และมีความมั่นคงกว่าพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมในเขตอำเภอแม่สอดที่หน่วยงานราชการและบริษัทผาแดงฯ ขาดความมุ่งมั่นส่งเสริมการปลูกอ้อยอย่างจริงจัง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ทำหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรี) มีมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณว่า “สำหรับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงการปรับเปลี่ยนอาชีพ เห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 55,725,100 บาท (ห้าสิบห้าล้านเจ็ดแสนสองหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยบาทถ้วน) เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพของเกษตรกร จำนวน 835 ราย พื้นที่ 13,205 ไร่ ในอัตราไร่ละ 4,220 บาท ตามอัตราที่เคยช่วยเหลือในปีงบประมาณ พ.ศ.2548 โดยเห็นสมควรให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรในปีงบประมาณ พ.ศ.2549 เป็นปีสุดท้าย” เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 และปีงบประมาณ พ.ศ.2548 เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 117,879,622 บาท และขณะนี้เกษตรกรจะเริ่มมีรายได้จากการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอื่นทดแทนแล้ว ทั้ง ๆ ที่ปริมาณแคดเมียมที่ปนเปื้อนในนาข้าวและผืนดินที่ใช้ปลูกพืชอาหารอื่นยังคงมีปริมาณสูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน แต่รัฐบาลและผู้ประกอบการเหมืองแร่ก็ไม่สามารถทำให้เกษตรกรหันไปปลูกอ้อยให้ได้ทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียม 13,237 ไร่ ตามที่วางแผนไว้ โดยปล่อยให้ชาวบ้านต้องปลูกและกินข้าวปนเปื้อนแคดเมียมอยู่ต่อไป “ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือหน่วยงานราชการทั้งหลายที่ทำหน้าที่คอยติดตาม ตรวจสอบ ควบคุม กำกับ ดูแล แก้ไขและเสนอแนะให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่สังกะสี วางเฉยต่อหน้าที่หรือความรับผิดชอบของตัวเองโดยไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อราษฎรอย่างไร มิหนำซ้ำบางหน่วยงานกลับแสดงท่าทีปกป้องหรือแก้ต่างให้ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่สังกะสีว่าการปนเปื้อนของแคดเมียมมิได้มีสาเหตุมาจากกิจกรรมเหมืองแร่สังกะสี แต่เกิดจากสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่บริเวณนี้ที่เป็นแหล่งศักยภาพแร่สังกะสีเกิดการผุพังสลายตัวและพัดพาตะกอนดินและหินจากเทือกเขาที่มีแร่สังกะสีและแคดเมียมปะปนอยู่ลงมาทับถมสะสมตัวในพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในระดับพื้นที่ต่ำกว่าตั้งแต่อดีตกาลหลายล้านปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน เป็นสาเหตุหลักของการปนเปื้อนแคดเมียม” ภาพจาก econ.mju.ac.th ฏีการะบุว่า ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสอบ ศึกษาหรือวิจัยเกือบทั้งหมดที่นำมากล่าวอ้างได้สรุปสาเหตุและแหล่งที่มาของการปนเปื้อนแคดเมียมไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ 1. กระบวนการตามธรรมชาติ เกิดจากกระบวนการผุพังสลายตัวตามธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งศักยภาพแร่สังกะสีพัดพาเอาตะกอนดินและหินจากเทือกเขาแหล่งแร่สังกะสีที่มีแคดเมียมเกิดร่วมอยู่ด้วย ลงมาทับถมสะสมตัวในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตั้งแต่อดีตกาล 1.8 ล้านปี ล่วงมาจนถึงปัจจุบัน 2. จากการทำเหมืองแร่สังกะสี โดยเหมืองอาจปล่อยน้ำทิ้งและตะกอนที่มีการปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานและการชะล้างพัดพาตะกอนจากการเปิดพื้นที่ทำเหมือง 3. การบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดการชะล้างพัดพาตะกอนดิน การทดหรือสูบน้ำจากห้วยแม่ตาวและห้วยแม่กุเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ซึ่งทำให้ตะกอนธารน้ำที่ปนเปื้อนแคดเมียมไหลจากแปลงนาที่สูงกว่าสู่แปลงนาที่ต่ำกว่า และการใช้ยาปราบศัตรูพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต “ข้าพเจ้าทั้งสองสงสัยว่าแท้จริงแล้วการทำเหมืองแร่สังกะสีบนดอยผาแดงมีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยต่อการปนเปื้อนแคดเมียมในแหล่งน้ำและนาข้าวของชาวบ้านในที่ลุ่ม แต่กลับไม่มีการพิสูจน์ให้ชัดเจนลงไปว่าการปนเปื้อนแคดเมียมจากสาเหตุใดมีปริมาณมากน้อยต่างกันเพียงใด และแต่ละสาเหตุควรจะมีส่วนรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบมากน้อยต่างกันอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนแคดเมียมในแต่ละสาเหตุได้อย่างไร” เนื้อหาในฎีการะบุว่า ความพยายามจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการและผู้ประกอบการเหมืองแร่สังกะสีในการระบุว่าผู้ประกอบการทำเหมืองแร่สังกะสีไม่ใช่สาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนแคดเมียมนั้นเป็นการข้อสรุปที่ขัดความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง รีบด่วนสรุปเพื่อที่จะปัดภาระความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความเสื่อมโทรมของสุขภาพร่างกายประชาชนในพื้นที่เกินไป จากการกล่าวอ้างในทางวิชาการถึงสาเหตุการปนเปื้อนแคดเมียม 3 ประการ ตามที่กล่าวไว้นั้นกลับไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเข้าใจได้ จึงเกิดการรวมตัวกันของชาวบ้านใน 3 ตำบล คือ ตำบลพระธาตุผาแดง แม่ตาวและแม่กุยื่นฟ้องบริษัททำเหมืองแร่สังกะสี 2 บริษัทต่อศาลปกครอง (โดยตัวแทนชาวบ้าน 32 ราย) เพื่อให้มีคำสั่งบังคับ 6 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน คณะกรรมการควบคุมมลพิษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุม ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฟื้นฟู เยียวยาสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ป่วยจากการได้รับสารพิษแคดเมียมสะสมในร่างกาย และให้หยุดการประกอบกิจการเหมืองแร่สังกะสีของทั้ง 2 บริษัท และศาลแพ่ง (โดยชาวบ้าน 959 ราย) เพื่อให้มีคำสั่งบังคับให้ 2 บริษัททำเหมืองแร่สังกะสีชดใช้เงินประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท จากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่ทำให้ที่ดินทำกินเสียหายเสื่อมโทรมจากการปนเปื้อนแคดเมียมจนไม่สามารถกินข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นที่ปลูกได้ รวมทั้งให้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจากโรคภัยไข้เจ็บที่ได้รับจากสารพิษแคดเมียมสะสมในร่างกายด้วย “ข้าพเจ้าทั้งสองมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าการขุด ไถ พรวน ยกร่อง ปรับระดับพื้นดินเพื่อทำการเกษตรกับการเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมืองแร่มีความแตกต่างกันลิบลับ เพราะลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่สังกะสีบริเวณพื้นที่ต้นน้ำบนดอยผาแดงและดอยที่อยู่ใกล้เคียงที่มีการทำเหมืองแร่สังกะสีนั้นมีการสะสมตัวของแร่ที่ระดับความลึก 30 เมตรจากผิวหน้าดินลงไป และมีความหนาของชั้นแร่สังกะสีประมาณ 220 เมตร ดังนั้น การทำการเกษตรในระดับหน้าดินไม่น่าจะรบกวนแคดเมียมที่อยู่ร่วมกับแร่สังกะสีในระดับความลึกประมาณ 30 เมตรจากผิวดินลงไปได้ จึงสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าการกล่าวอ้างทางวิชาการที่บ่งบอกว่าสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อน แคดเมียมเกิดจากการทำการเกษตรบนที่สูงมากกว่ากิจกรรมเหมืองแร่ที่ต้องเปิดหน้าดินลึกเข้าไปในชั้นแร่สังกะสีที่มีแคดเมียมร่วมอยู่ด้วยได้อย่างไร” ถ้าจะระบุว่าแคดเมียมมีการสะสมตัวอยู่ในชั้นผิวดินเป็นจำนวนมาก ก็ต้องศึกษาวิจัยให้แน่ชัดว่าแคดเมียมที่อยู่ร่วมกับแร่สังกะสีในชั้นแร่ที่ลึกลงไปในดินนั้นมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าแคดเมียมที่กระจายตัวเป็นอิสระบนผิวดิน เพื่อที่จะคาดการณ์ได้ว่าปริมาณแคดเมียมจากส่วนใด (จากผิวดินหรือในชั้นแร่สังกะสีที่อยู่ลึกจากผิวดิน) เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการปนเปื้อนแคดเมียมในแหล่งน้ำ ดินและพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน แต่ถ้าหากผลการศึกษาวิจัยในส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนข้าพเจ้าจึงเห็นว่ายังไม่สมควรด่วนสรุปว่าการทำเหมืองแร่สังกะสีไม่ใช่สาเหตุหลักของการปนเปื้อนแคดเมียม “ข้าพเจาทั้งสองพยายามคิดใคร่ครวญในข้อกฎหมายแร่มาตรา 131/1 ที่ระบุว่า ‘ผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน ต่อความเสียหาย หรือความเดือดร้อนรำคาญใดอันเกิดขึ้นแก่บุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นในเขตที่ได้รับอนุญาต ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้น’ แต่ก็ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ส่วนราชการใดกระตือรือล้นช่วยเหลือราษฎรที่กำลังตกระกำลำบาก มีข้อมูลในหน้าหนังสือพิมพ์ได้ระบุตัวเลขไว้ว่าปัจจุบันชาวบ้านมีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ในเลือด กระดูกและปัสสาวะในระดับสูงกว่าปกติเป็นจำนวนมากถึง 844 ราย โดย 40 ราย มีอาการไตวายและไตเสื่อม อีก 219 ราย อยู่ในภาวะไตเริ่มเสื่อม นอกจากนี้ยังมีอาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ภาวะกระดูกพรุน และอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างอื่นอีกเป็นจำนวนมาก จากที่กล่าวมาทั้งหมด ถึงแม้ว่าตัวข้าพเจ้าทั้งสองจะร่วมฟ้องร้องดำเนินคดีต่อส่วนราชการที่มีหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังการทำเหมืองแร่สังกะสี และบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด เพื่อขอให้ดำเนินการเอาผิดทางปกครองหรือทางแพ่ง แต่ข้าพเจ้าทั้งสองก็ยังคงทุกข์ใจอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าการดำเนินคดีจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และจะมีผลออกมาเช่นใด ซึ่งข้าพเจ้าทั้งสองก็ไม่รู้ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ทันได้เห็นผลหรือไม่ เนื่องจากว่าข้าพเจ้าทั้งสองอายุมากแล้ว เรื่องการยื่นถวายฎีกาแด่พระองค์ท่าน ข้าพเจ้าก็ใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่นานหลายปี เพราะเกรงว่าจะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและกลัวข้าราชการกับนักการเมืองในพื้นที่มาข่มขู่คุกคาม แต่เมื่อนึกถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยและชราภาพของข้าพเจ้าทั้งสองจึงตัดสินใจทำการยื่นถวายฎีกาเพื่อขอความเมตตาแด่พระองค์ท่าน โดยข้าพเจ้าทั้งสองมิได้มีความประสงค์ขอความช่วยเหลือเพียงลำพังข้าพเจ้าสองคนให้รอดพ้นจากความทุกข์เท่านั้น แต่ข้าพเจ้าทั้งสองขอถวายฎีกาเพื่อขอความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนทั้งหมดในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ถูกผลกระทบจากสารพิษแคดเมียมปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ไร่นาและในร่างกาย สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นห่วงก็แต่ลูกหลานของข้าพเจ้าทั้งสองที่น่าจะมีสารพิษแคดเมียมปนเปื้อนในร่างกายสะสมอยู่ในระดับที่คาดว่าน่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุขัย คงจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบต่อจากรุ่นของข้าพเจ้าทั้งสองต่อไป ข้าพเจ้าทั้งสองคิดใคร่ครวญอยู่หลายปีถึงการยื่นถวายฎีกาแด่พระองค์ท่าน บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งสองได้ทำตามใจปรารถนาแล้ว หากแม้จะตายก็คงนอนตายตาหลับแล้ว”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท