Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง \จากหลังบ้าน ถึงนายกรัฐมนตรีหญิง: ความเป็นหญิง พื้นที่ทางการเมืองและชีวิตทางสังคม\" ในงานธรรมรำลึก 100 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.54 ที่ผ่านมา โดยได้เผยแพร่ไว้ในบล็อกส่วนตัว ประชาไท เห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ 00000 จาก “หลังบ้าน” ถึงนายกรัฐมนตรีหญิง: ความเป็นหญิง พื้นที่ทางการเมือง และชีวิตทางสังคม ภาพจาก http://www.pridi-phoonsuk.org ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถูกจดจำในฐานะผู้หญิงคนสำคัญที่มีตำแหน่งแห่งที่ใน “ประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ไทย” พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวถึงความสำคัญของท่านว่า “มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว” ท่านผู้หญิงพูนศุขทิ้งมรดกเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงในฐานะผู้หญิงที่ยืนเคียงข้างผู้นำทางความคิดและการเมืองคนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับบทบาททางตรงของผู้หญิงในการเมืองให้เราได้คิดใคร่ครวญต่อ วาระ 100 ปีชาตกาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นโอกาสให้ทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในระบบการเมือง ผลกระทบของความเป็นหญิงต่อชีวิตทางสังคมการเมือง ผู้หญิงมีบทบาทหรือส่งอิทธิพลทางการเมืองได้จากหลายตำแหน่งแห่งที่ ผู้คนในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คุ้นเคยกับการมองผู้หญิงในฐานะพลเมืองและ/หรือผู้มีตำแหน่งหรือมีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการกำหนดกติกาและจัดสรรทรัพยากรส่วนรวม แต่ผู้หญิง (และผู้ชายอีกจำนวนไม่น้อย) ส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปของสังคมของตน “โดยอ้อม” ผ่านความสัมพันธ์กับผู้ชายที่พวกเธอเกี่ยวข้อง ในฐานะแม่ เมีย ลูกสาว ฯลฯ คนในหลายสังคมการเมืองได้รับรู้เรื่องราวของผู้หญิงที่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจที่เป็นทางการ แต่สามารถส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปในระบบการเมืองและการกำหนดกติกาและนโยบายสาธารณะ ผ่านความสัมพันธ์กับผู้ชายในตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ ผู้หญิงเหล่านี้ถูกจดจำในทางบวกบ้างลบบ้าง บางคนถูกประณาม บางคนได้รับการยกย่องเชิดชู ขึ้นอยู่กับบทบาทของพวกเธอและภาพที่คนในสังคมมองเห็น สังคมไทยตระหนักถึงบทบาทโดยอ้อมของผู้หญิงในการเมืองเช่นนี้ คนไทยพูดถึง “หลังบ้าน” ในความหมายของภรรยาผู้นำ ผู้มีอำนาจ หรือบุคคลสำคัญ” เพื่อสื่อให้เห็นที่ทางของผู้หญิงและช่องทางในการใช้อำนาจหรือส่งผลกระทบต่อความเป็นไปในอาณาบริเวณสาธารณะของพวกเธอ เมื่อมองชีวิตและทัศนะของท่านผู้หญิงพูนศุขผ่านกรอบความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสภาพในการเมืองเช่นนี้ จะเห็นความพิเศษของท่านผู้หญิงมากขึ้น ทัศนะและประสบการณ์ชีวิตของท่านผู้หญิงสะท้อนแง่มุมน่าสนใจเกี่ยวกับสอนความเชื่อและบทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทย ทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพกับชีวิตทางสังคม และได้ใคร่ครวญถึงฐานคติเกี่ยวกับการเมืองและความเป็นชุมชนทางการเมืองที่น่าสนใจ ท่านผู้หญิงได้ทิ้งโจทย์ไว้ให้เราได้คบคิดต่อในประเด็นเหล่านี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขให้ภาพของผู้หญิงไทยว่า “เมื่อก่อนนี้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเดินนำหน้า แต่ปัจจุบันควรเดินคู่กันไป ผู้หญิงไหนจะต้องช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะต้องเลี้ยงลูก..” “แต่ทั้งนี้ผู้หญิงไทยก็ต้องยกระดับตนเองทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะรับตำแหน่งรับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เข้มแข็ง สามารถผนึกกำลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ เป็นประตูขวางกั้นมิให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตในตำแหน่งหน้าที่การงานของสามีและบุคคลต่าง ๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหาร สิ่งนี้ฉันคิดว่าสำคัญมากที่จะทำให้การเมืองของบ้านเราก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง” ความรู้สึกของคู่ชีวิตของท่านคือ อาจารย์ปรีดี ต่อท่านผู้หญิงพูนศุข บอกเราเกี่ยวกับการทำหน้าที่ “หลังบ้าน” ของท่านผู้หญิง เห็นได้จากข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2512 ถึงท่านผู้หญิงเนื่องในโอกาสครบรอบแต่งงานวันที่ 16 ครบรอบ 41 ปี “พี่มิใช่เพียงระลึกถึงวันนั้นตามพิธีการเท่านั้น หากระลึกถึงคุณความดีของน้องที่ได้ซื่อสัตย์ต่อพี่ทั้งในการงานที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติไทยและในความเปนอยู่ส่วนตัวและครอบครัว น้องต้องพลอยได้รับความลำบากเนื่องจากศัตรูข่มเหงพี่ แต่น้องมิได้เสื่อมคลายในความรักและความเห็นใจพี่ตลอดมา น้องมิเพียงแต่เปนภรรยาที่ดีเท่านั้นแต่เปนเพื่อนที่ดีที่สุดของพี่” ข้อความ/ทัศนะที่ยกมาข้างต้นทำให้เราเห็นแง่มุมสำคัญเกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมการเมืองหลายประการ ที่สำคัญยิ่งคือบทบาทที่ซับซ้อนของผู้หญิง และความสำคัญของ “หลังบ้าน” ในระบบการเมือง บทบาทของผู้หญิงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในครัวเรือน คอยทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านช่อง การดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวและเลี้ยงดูลูก แต่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพดังที่ท่านผู้หญิงพูนศุขได้กล่าวถึงไว้ การให้ภาพบทบาทของผู้หญิงเช่นนี้ดูไม่น่าตื่นเต้นสำหรับคนทั่วไปที่คิดว่าใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่คนคิดว่ารู้กันอยู่แล้วนี้กลับไม่มีผลในการกำหนดนโยบายสาธารณะและทิศทางของสังคมโดยรวม การเคลื่อนไหวเพื่อปรับภาพของพลเมืองในกระบวนนโยบายสาธารณะดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน เพื่อจะทำให้นโยบายของรัฐรองรับบทบาทของผู้หญิงไทยหลายกลุ่มที่ทำงานนอกบ้านและต้องรับผิดชอบการดูแลครัวเรือนไปด้วยพร้อมกัน โดยเฉพาะการเลี้ยงดูเด็ก การทึกทักตามความเชื่อเรื่องการแบ่งบทบาทระหว่างเพศสภาพว่าการดูแลครัวเรือน การเลี้ยงดูเด็กและการดูแลคนป่วย/คนชราทำโดยผู้หญิงในครัวเรือน โดยรัฐ บริษัทห้างร้าน หรือชุมชน ไม่ต้องแทรกแซง ดูจะคลาดเคลื่อนจากประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงจำนวนมาก บทบาทหน้าที่ทั้งในบ้านและนอกบ้านของผู้หญิงทำให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก คนชรา และคนป่วย ทำได้ลำบากมากขึ้น และถูกส่งต่อให้ภาคบริการในระบบตลาด การดูแลเด็ก คนป่วยและคนชรากลายเป็นกิจกรรมที่คนนอกครัวเรือนทำเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้าง กิจกรรมการดูแลจำนวนมากไม่ได้ทำ “ฟรี” โดยผู้หญิงในครัวเรือนอีกต่อไป แม้ว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งจะยังทำหน้าที่ “แม่บ้าน” หรือทำงานอยู่ที่บ้านที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมด้านการดูแลครัวเรือนไปด้วย การพาผู้หญิงหลายกลุ่มออกจากครัวเรือนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การเมืองหรือการศึกษา ด้วยเหตุผลตั้งแต่การเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อบรรลุศักยภาพและการเพิ่มพูนความสามารถในการเลือก (ตามค่านิยมแบบเสรีนิยมที่ยึดกุมความเชื่อของคนมากมายในหลายสังคม) หรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิงต้องทำมาหาเลี้ยงชีพและเกื้อกูลคนในครอบครัว ทำให้กิจกรรมว่าด้วยการดูแลผู้คนในครอบครัวไม่ตรงกับความเข้าใจว่าด้วยการแบ่งบทบาทระหว่างเพศ การคิดใคร่ครวญถึงบริการสาธารณะและสวัสดิการของรัฐควรมีภาพที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย ประเด็นนี้ถูกนำเสนอและแลกเปลี่ยนกันมานาน แต่ผลเชิงการเปลี่ยนแปลงดูจะไล่ไม่ทันการเปลี่ยนในเชิงซ้อนทับของบทบาทผู้หญิง ภาพของผู้หญิงที่ท่านผู้หญิงพูนศุขได้กล่าวถึงไว้ น่าจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักรู้ถึงการแบ่งงานและบทบาทนอกบ้าน – ในบ้านที่ไม่ตรงกับความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับที่ทางและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลครัวเรือนและผู้คนในครอบครัว นอกจากบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงไทยที่ไม่ได้จำกัดแต่ในครัวเรือนแล้ว ทัศนะของท่านผู้หญิงที่ได้หยิบยกมาข้างต้นให้ภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” เรื่องราวของท่านผู้หญิงทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นตัวอย่างของ “หลังบ้าน” ที่ไม่ได้เป็น “ช้างเท้าหลัง” แต่คือคู่ชีวิต (ตามความหมายของคำ ไม่ได้เป็นเพียงคู่สมรสตามพิธีกรรมหรือการรับรองของรัฐ) ของรัฐบุรุษซึ่งมีชีวิตทางการเมืองที่ไม่ธรรมดา ผู้หญิงที่จะเล่นบทบาทเช่นนี้ได้ต้องมีคุณลักษณ์หลายประการที่เอื้อให้ทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจ ความอดทนและอดกลั้น ไปจนถึงความตั้งใจที่จะไม่แทรกแซงหรือใช้อำนาจของสามีในทางเอื้อประโยชน์ของครอบครัวพวกพ้อง แม้ว่าวิถีปฏิบัติเช่นนี้สอดคล้องกับภาพของ “หลังบ้าน” ในอุดมคติ หลายคนคงยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเย็นที่จะทำ ด้วยเหตุนี้ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในฐานะ“หลังบ้าน” ที่เป็นแบบอย่างให้ผู้คน โดยทั่วไป “หลังบ้าน” ที่คนไทยจำได้มักออกไปในทางการแทรกแซงอำนาจที่เป็นทางการของสามีเพื่อแสวงหาประโยชน์ บางกรณี “หลังบ้าน” ใช้อำนาจอยู่ “หลังฉาก” จนกลายเป็นผู้มีอำนาจนอกระบบที่ถูกติฉินนินทาหรือประณามทางสังคมขึ้นอยู่กับการกระทำและผลกระทบ “หลังบ้าน” ที่คนจำได้และกล่าวขวัญถึงมักออกไปในทางร้ายและโกงมากกว่าจะเป็นแง่มุมที่ดีงาม การประณามนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกระทำที่ดูจะละเมิดความเชื่อความเข้าใจว่าด้วยเส้นแบ่งสมมติระหว่างพื้นที่ต่างๆ ของชีวิตทางสังคม และขอบเขตกับรูปแบบของของการแสวงหาและการใช้อำนาจที่เหมาะสมของแต่ละอาณาบริเวณของชีวิต ประเด็นนี้จะได้ขยายความต่อไป ท่ามกลางการติฉินนินทาและประณาม “หลังบ้าน” ของผู้มีบทบาทและอำนาจทางการเมือง การถูกจดจำในฐานะ “หลังบ้าน” ที่มีภาพลักษณ์งดงามเป็นที่เคารพนับถือของท่านผู้หญิงพูนศุข จึงถือได้ว่าพิเศษและควรทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือการไม่หาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่และอำนาจของชายที่เป็นสามี และไม่สนับสนุนให้สามีฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังที่ท่านผู้หญิงให้ภาพของภรรยาในฐานะประตูขวางกั้นคอร์รัปชั่น การเล่นบทบาทที่พอเหมาะพอควรของหลังบ้านในอุดมคติ การเป็น “หลังบ้าน” ในลักษณะนี้ได้ต้องมีคุณลักษณ์หลายประการ สิ่งที่ท่านผู้หญิงพูนศุขพูนศุขทิ้งไว้ให้เรา คือการเป็นตัวอย่างของ “หลังบ้าน” ที่คนให้คุณค่า ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตเฉพาะของ “หลังบ้าน” ของผู้นำทางการเมืองและความคิดคนสำคัญ ทัศนะและประสบการณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุขเกี่ยวกับผู้หญิงกับการเมืองไทย ให้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” ขณะเดียวกันก็ได้ทิ้งโจทย์สำคัญให้ได้คิดใคร่ครวญต่อเกี่ยวกับความเชื่อ/ความหมาย/ค่านิยมที่กำกับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผู้หญิงในการเมือง และเลยไปถึงลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง-ความเป็นชายกับความเข้าใจโลกทางการเมืองของเรา เพศสภาพ: ผู้หญิงกับความเป็นหญิง การทำความเข้าใจ “หลังบ้าน” และบทบาททางการเมืองของผู้หญิงตามโจทย์ที่ท่านผู้หญิงพูนศุขทิ้งไว้ให้เราคบคิด อาศัยกรอบคิดว่าด้วยการแบ่งคนออกเป็นสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด คือผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น โดยการนิยามเชื่อมโยงลักษณะที่ต่างกันเข้ากับแต่ละเพศสภาพ และการให้คุณค่ากับลักษณะเหล่านั้นแตกต่างกัน การแบ่งประเภท บทบาท ที่ทาง และการให้ค่าที่ต่างกันนี้ ส่งผลต่อชีวิตทางสังคมของคน โปรดสังเกตว่ากรอบคิดเช่นนี้ไม่ได้พูดถึงผู้หญิงและผู้ชายในฐานะบุคคลหรือกลุ่มคน และไม่ได้โต้เถียงว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย เพราะหญิงชายแต่ละคนไม่ได้มีลักษณะครบถ้วนเต็มที่ตามการกำหนดลักษณะเพศสภาพเหมือน ๆ กัน แต่ดูจะมีความต่างอยู่มากในหมู่คนที่มองตนเองหรือถูกจัดให้เป็นผู้มีเพศสภาพหญิง แต่การพยายามทำความเข้าใจนี้ดูจากกรอบการแบ่งลักษณะและการให้คุณค่าในระบบสองเพศสภาพ ว่ามีผลต่อชีวิตทางการเมืองของคนอย่างไร ลำดับการชวนคิดในประเด็น “หลังบ้าน” และผู้หญิงในการเมือง จะเริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่ หลักการที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน และการเชื่อมโยงกับความเป็นชายหญิง การจัดแบ่งเช่นนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์และประสบการณ์ของผู้หญิงในฐานะผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะพลเมืองและในฐานะ “หลังบ้าน” อย่างไร ผู้หญิงออกไปมีบทบาทในพื้นที่นอกบ้านเผชิญกับอะไร แล้วจึงยกระดับไปสู่การตั้งคำถามและข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับและเปิดรับหลักการที่ต่างกันของระบบสองเพศสภาพในชุมชนทางการเมือง การแบ่งพื้นที่ชีวิตทางสังคม เพศสภาพและการเมือง แม้ว่ารัฐไทยจะสมาทานหลักการความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชายหญิง โดยใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ฉบับปีพ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ทำให้คนหลายกลุ่มในสังคมไทยเข้าใจว่าผู้หญิงกับผู้ชายทำกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ในชีวิตได้เหมือนๆ กันและถูกตัดสินภายให้มาตรฐานเดียวกัน แต่แท้ที่จริงเราสมาทาน “หลักการ” ความเสมอภาคเท่าเทียม วิถีปฏิบัติและความเชื่อค่านิยมหลายประการของคนไทยไม่ได้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราได้เห็นการหยิบยกหลักการดังกล่าวนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ผลักดันประเด็นทางการเมือง ความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นอุดมคติที่บางคนอยากเห็นปรากฏเป็นจริง แต่หลักการความเสมอภาคนี้ได้รับผลกระทบจากการแบ่งแยกผู้คนบนฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้น ชาติพันธุ์ ศาสนา ฯลฯ โดยมิติของการแบ่งนี้พาดทับกันอย่างซับซ้อนและมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละบริบทและกรณี คนไทยได้เห็นผู้หญิงมากมายออกมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจและการเมือง แต่ดูเหมือนที่ทางของผู้หญิงในระบบการเมืองยังเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดหลายประการ วิธีการมองและตัดสินผู้หญิงในระบบการเมืองผูกพันอยู่กับการมองบทบาทผู้หญิงโดยเชื่อมโยงกับครัวเรือนอยู่มาก ผู้หญิงกับการเมืองดูเหมือนจะเป็นคนละเรืองที่ไม่เกี่ยวกันสำหรับคนจำนวนไม่น้อย ท่านผู้หญิงพูนศุขพูดถึงการเข้าไปมีบทบาทของผู้หญิง หลายคนพูดถึงการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทมากๆในทางการเมือง สะท้อนความเข้าใจว่าผู้หญิงไม่ได้อยู่ในพื้นที่การเมืองมาแต่เดิม (เช่นเดียวกับคนอีกหลายกลุ่ม) แต่ผู้หญิงไม่เคยมีอิทธิพลในทางการเมืองจริงหรือ เราได้ยินเรื่องราวของผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากมายที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในพื้นที่การเมืองอย่างเปิดเผย แต่คนรู้สึกได้ถึงอำนาจ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงตามความเชื่อและวิถีปฏิบัติของผู้หญิงหลายคนที่ไม่สอดคล้องจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ความไม่สอดคล้องนี้ส่งผลอย่างไรบ้างในทางสังคม และกลไกในการกำกับเพื่อให้วิถีปฏิบัติของผู้คนเป็นไปตามอุดมคติเป็นอย่างไร ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยส่งผลต่อการเมืองและความเป็นไปของสังคมมาจากพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่กระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางการ การศึกษาผู้หญิงในการเมืองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับช่องทางในการแสวงหาอำนาจและใช้อำนาจโดยอ้อมของผู้หญิงหลายคน ที่อาศัยความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชายผู้มีอำนาจในฐานะคู่รัก ภรรยา ลูกสาว ฯลฯ ช่องทางเช่นนี้ดูไม่เหมาะควรเพราะเป็นการข้ามพื้นที่และใช้อำนาจโดยคนที่ไม่ได้มีอำนาจโดยตรง นอกจากนี้ยังยากแก่การตรวจสอบที่ทำให้หลักการความโปร่งใสและพร้อมรับผิดของผู้ใช้อำนาจทางการเมืองเป็นไปได้ยาก แม้ว่ากระบวนการตรวจสอบในหลายระบบการเมืองจะพยายามครอบคลุมคู่สมรสและบุตรธิดาของผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่า “หลังบ้าน” จำนวนมากไม่ใช่ “คู่สมรส” ตามกฎหมายหรืออยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบผัวเดียว – เมียเดียว ประกอบกับการแบ่งพื้นที่ที่ทำให้ความสัมพันธ์และการกระทำมากมายซ่อนเร้นอย่างมิดชิดในอาณาบริเวณส่วนตัวที่ไม่ได้เปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ ทำให้การตรวจสอบติดตามบทบาทและอิทธิพลของ “หลังบ้าน” ทำได้ยากเย็น ประเด็นเหล่านี้สะท้อนความเชื่อว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ที่จำกัดความเข้าใจและการให้คุณค่ากับบทบาทและหลักการที่กำกับกิจกรรม/กิจการต่าง ๆ ในพื้นที่นั้น แต่คนและหลักการไม่ได้เคารพการแบ่งและเส้นแบ่งสมมตินี้อย่างเคร่งครัด การข้ามพื้นที่ของคนและหลักการที่กำกับพฤติกรรมของคนเกิดขึ้นเสมอและทำให้หลายคนอึดอัดคับข้องใจอยู่ไม่น้อย การเรียกภรรยาบุคคลสำคัญหรือผู้นำว่า “หลังบ้าน” สะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับที่ทางของผู้หญิง ในฐานะแม่และเมีย บทบาทหน้าที่หลักของผู้หญิงอยู่ในบ้าน ไม่ต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่การงานที่ต้องปะทะสังสรรค์กับโลกนอกบ้าน ความเชื่อนี้เผชิญกับการข้ามพื้นที่ของผู้คนและหลักการที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา - เพศสภาพ การแบ่งบทบาทหน้าที่ทางเพศ และพื้นที่ของชีวิตทางสังคม ความเป็นหญิง – ความเป็นชายเกี่ยวข้องกับการแบ่งบทบาทตามแง่มุมการเจริญพันธุ์ เนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้ตั้งท้อง คลอดลูก และให้นมทารก หน้าที่การเลี้ยงดูเด็กจึงถูกมอบหมายให้ผู้หญิงไปด้วย นักคิดคนสำคัญหลายคนเชื่อมโยงผู้หญิงเข้ากับครัวเรือนโดยดูจากการแบ่งบทบาทตามเพศที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ครัวเรือนเป็นพื้นที่ของผู้หญิงและนักคิดจำนวนมากเห็นว่าผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทในการเมือง ในฐานะกิจกรรมเพื่อจะกำหนดกติกาของชุมชนทางการเมือง เพราะผู้หญิงขาดคุณสมบัติสำคัญสำหรับการแสดงบทบาททางการเมือง[1] ข้อสังเกตที่น่าสนใจของนักทฤษฎี/นักเคลื่อนไหวแนวสตรีนิยมในประเด็นความเป็นหญิง – ความเป็นชาย ได้แก่ การนิยามความเป็นหญิงโดยเชื่อมโยงกับความเป็น “วัตถุทางเพศ” ที่ดำรงอยู่เพื่อสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายและความเป็นแม่[2] สองแง่มุมที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเองนี้ต่างก็เกี่ยวกับการนิยามตัวตนของผู้หญิงในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ใส่ใจกับความต้องการของผู้อื่นการเลี้ยงดูกล่อมเกลาเด็กในระบบที่แบ่งมนุษย์ออกเป็นสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด โดยผู้เลี้ยงดูเด็กมีเพศสภาพหญิง ส่งผลต่อวิธีการเลี้ยงให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงด้วย การเลี้ยงดูทำให้ผู้หญิงหลายกลุ่มมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับอารมณ์และความต้องการของคนอื่น[3] ภาพความเป็นหญิงในใจของผู้คน ณ เวลานี้ยังเกี่ยวข้องกับการใช้อารมณ์ การดูแลและให้ความสำคัญกับความเห็นและความต้องการของผู้อื่นเป็นหลัก ในขณะที่ผู้ชายถูกมองเชื่อมกับการใช้เหตุผล อึดอัดกับอารมณ์และความผูกพันทางอารมณ์ การนำและความเป็นผู้นำ การทำความเข้าใจผู้หญิง-ผู้ชายมักตั้งอยู่บนฐานความต่างนี้และเปรียบเปรยว่าหญิงชายในระบบการแบ่งคนออกเป็นสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัดมาจากดาวคนละดวง แตกต่างกันมากและต้องอาศัยการทำความเข้าใจหลายประการ การเน้นความต่างระหว่างชายหญิงและตีขลุมว่าผู้หญิงเป็นเช่นนั้น/ผู้ชายเป็นเช่นนี้ มักจะเผชิญกับกรณียกเว้นมากมายในชีวิตทางสังคม กล่าวคือคนมีเพศสภาพชายและเพศสภาพหญิงจำนวนมากไม่ได้มีลักษณะ การกระทำและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นหญิงและความเป็นชายอย่างที่ยึดถือกัน ผู้คนในสังคมทำให้เราพอจะเห็นได้ว่าผู้หญิงทุกคนไม่ได้เอื้ออาทรหรือมีความเป็นแม่ ผู้ชายทุกคนไม่ได้ละเลยอารมณ์หรือไม่ใส่ใจกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแล แท้ที่จริงการแบ่งหญิงชายในลักษณะขั้วตรงข้ามไม่สอดคล้องกับการต่อรองของผู้คนที่มีผลให้คนจำนวนมากมีลักษณะผสมผสานหรือไม่เป็นไปตามความเป็นชายหญิงแบบสุดขั้วหรือเต็มร้อย ผลที่สำคัญของระบบสองเพศสภาพต่อชีวิตทางสังคมอาจคือการจำกัดความคิดการมองโลกและการตัดสินตนเองตามความเชื่อแบบสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด จนมองไม่เห็นโลกที่ผู้คนมีความซับซ้อนและเลื่อนไหลมากกว่าจะหยุดนิ่งและชัดเจนด้านลักษณะและบทบาทของเพศสภาพ ดูเหมือนว่าคนจะไม่ได้เป็นชายจริง – หญิงแท้อย่างที่เราเข้าใจเสียเลยทีเดียว สิ่งที่กำกับความเชื่อ การเห็นโลกและวิถีชีวิตของเราคือการนิยามความเป็นหญิงและการให้คุณค่ากับลักษณะที่เราเชื่อมโยงกับความเป็นชายหญิงมาก ความเชื่อเรื่องการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามเพศสภาพและการจัดพื้นที่ให้กับบทบาทเหล่านั้น โดยมีค่านิยมหรือหลักการที่แตกต่างกันเพื่อกำกับกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงในแต่ละพื้นที่ ส่งผลต่อการดำเนินการทางการเมือง รวมไปถึงบทบาทและรูปแบบการส่งอิทธิพลหรือผลักดันความเป็นไปในพื้นที่การเมืองของผู้คนต่างเพศสภาพด้วย ความเข้าใจการเมืองในฐานะกิจกรรมเพื่อกำหนดทิศทาง กติกา และการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขสาธารณะ ทำให้การเมืองดูเหมือนจะไม่ใช่กิจกรรมของผู้หญิง เพราะเป็นเรื่องสาธารณะและเกิดในพื้นที่สาธารณะซึ่งไม่ใช่พื้นที่หลักของผู้หญิง นอกจากนี้ผู้หญิงยังขาดลักษณะสำคัญที่จำเป็นต่อการดำเนินการทางการเมืองในความหมายที่ได้หยิบยกมานี้ การเมืองกับเพศสภาพหญิงจึงดูเหมือนจะต่างคนต่างอยู่ โดยพื้นที่การเมืองให้คุณค่าหรือดำเนินการตามหลักการของการใช้เหตุผล การแข่งขันและอำนาจ หลักการและกติกาของการเมืองในพื้นที่สาธารณะไม่ได้รวมเอาลักษณะที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไว้ด้วย - ครัวเรือนกับการเมือง ถ้าเราเชื่อนักปราชญ์กรีก ผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทในการเมืองซึ่งเป็นกิจกรรมการโน้มน้าวชักจูงด้วยเหตุผลเพื่อให้เห็นด้วยกับแนวทางหรือข้อเสนอของเรา เพราะผู้หญิงด้อยหรือพร่องในเรื่องเหตุผล และไม่มีเวลาในชีวิตเหลือเพื่อจะเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนโต้เถียงด้วยเหตุผลเนื่องจากบทบาทหน้าที่ในครัวเรือนที่เป็นงานต้องใช้เวลาในชีวิตมากมายเพื่อจะปฏิบัติ กิจกรรมทางการเมืองในความหมายนี้จึงเป็นเรื่องของผู้ที่มีเวลาพอจะทำได้ คนหลายกลุ่มรวมทั้งผู้หญิงไม่มีเวลาจะคิดใคร่ครวญและร่วมในการแลกเปลี่ยนโน้มน้าวโดยใช้เหตุลในประเด็นสาธารณะต่าง ๆ ถ้ามองเช่นนี้ผู้หญิงจึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง อาณาบริเวณที่ผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่คือครัวเรือน ซึ่งมีกฎกติกาและหลักการคนละชุดกับการเมือง ในขณะที่การเมืองเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สุขสาธารณะ ครัวเรือนเป็นพื้นที่ที่สมาชิกมีเป้าหมายเดียวกันคือความร่มเย็นเป็นสุขของครัวเรือนเอง[4] เมื่อหลักที่ต่างกันนี้ถูกใช้ในอีกพื้นที่หนึ่งจะถูกมองว่าเป็นปัญหา เช่นคนที่ไม่สนใจช่วยเหลือเกื้อกูลญาติพี่น้อง หรือปฏิบัติต่อพี่น้องเท่าเทียมกับคนนอกครอบครัว จะถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาไหนจากเครือญาติ แต่การเอื้อประโยชน์กับเครือญาติในการทำงาน ในการเมืองหรือระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นบาปผิดใหญ่ที่กฎหมายของหลายรัฐห้าม สังคมประณาม หรือกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ถูกขับไล่ในทางการเมืองได้ ความเชื่อว่าผู้หญิงเหมาะกับบทบาทในบ้าน และหลักของความสัมพันธ์ในครัวเรือนกับการเมืองไม่เหมือนกัน ความเป็นหญิงที่ถูกนิยามตามหน้าที่ของการดูแลและความเอื้ออาทร แต่เป็นความเอื้ออาทรและการดูแลที่จำกัดอยู่เฉพาะสมาชิกในครัวเรือน การคิดถึงประโยชน์สุขของสมาชิกครัวเรือนทำให้ไม่เหมาะกับกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นเรื่องประโยชน์สุขส่วนรวม และเป็นพื้นที่ของหลักการสากลไม่ใช่ความเฉพาะเจาะจง[5] การยึดหลักและค่านิยมที่ต่างกันสำหรับสองพื้นที่ ทำให้การข้ามพื้นที่ของคนหรือหลักการถูกมองว่าเป็นปัญหา ความคาดหวังให้คนต่างเพศสภาพตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตน เคารพการแบ่งบทบาทและพื้นที่ รวมไปถึงการปฏิบัติตนตามเพศสภาพ ตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้าหน้าผม กิริยา และวิถีชีวิต คนจำนวนไม่น้อยไม่ชอบใจเมื่อเห็นหรือได้ยินร่องรอยของการแทรกแซงอำนาจของผู้ชายในตำแหน่งทางการเมือง ราชการหรือธุรกิจ เพราะเห็นว่าอำนาจนั้นเป็นของผู้ชาย (โดยเฉพาะเมื่อผู้ชายขึ้นสู่อำนาจและครองอำนาจโดยการคัดสรรเลือกตั้งของประชาชน) ผู้ชายที่มีตำแหน่งหน้าที่ควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น และในเวลาที่ค่านิยมอย่างความโปร่งใสและพร้อมรับผิดชอบ ยึดกุมความเชื่อของคนจำนวนมาก การใช้อำนาจหน้าที่ต้องเป็นไปในลักษณะที่ผู้คนติดตามครวจสอบได้ ผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” ที่พยายามจะกำกับการใช้อำนาจของผู้ชายที่ตนสัมพันธ์หรือส่งอิทธิพลผ่านผู้ชายในตำแหน่งทีมีอำนาจ ถูกมองอย่างหวาดระแวงเพราะความเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการแทรกแซงกิจกรรมในพื้นที่ที่ไม่ใช่ของตน ถ้ามองจากความเชื่อเกี่ยวกับรูปแบบการได้มาซึ่งอำนาจที่ต้องผ่านการรับรองของพลเมืองในรัฐผ่านการเลือกตั้ง บรรดา “หลังบ้าน” ไม่ได้เป็นผู้ถูกเลือกโดยประชาชน แต่เป็น “ของแถม” ที่มากับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนเองชื่นชอบอยากให้เป็นตัวแทนทางการเมืองหรือเข้าไปทำหน้าที่ในสถาบันทางการเมือง การก้าวก่ายอำนาจของสามีหรือชายที่ใกล้ชิดโดยบรรดา “หลังบ้าน” ถูกมองเป็นเรื่องปกปิดซ่อนเร้นอยู่ใน “บ้าน” ที่สาธารณะไม่มีโอกาสติดตามรับรู้ (แท้ที่จริงพอจะรับรู้ได้บ้างไม่มากก็น้อย ผ่านเครือข่ายการนินทาที่พัฒนาไปตามการเติบโตของสื่อหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าเนื้อหาของการนินทามักจะถูกเติมสี บิดเบือนหรือขยายขอบเขตมากบ้างน้อยบ้าง คนในหลายสังคมมีแนวโน้มจะเชื่อเรื่องราวที่ตนเองได้ยินผ่านการสื่อสารแบบบอกเล่าเชิงกระซิบเช่นนี้ว่าน่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะเรามักเชื่อว่าอะไรปิดๆบังๆ มักมีมูล และการประณามผู้มีอำนาจผ่านการนินทาเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ขัดขืนของผู้มีอำนาจน้อย) แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การก้าวก่ายอำนาจมักถูกมองในทางลบ มาจากฐานความเชื่อว่าผู้หญิงมักใส่ใจกับครอบครัวมากกว่าจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม ความเป็นหญิงที่นิยามโดยมอบหมายหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลครัวเรือนให้ผู้หญิง ทำให้ “หลังบ้าน” คิดถึงแต่ความร่ำรวยหรือผลประโยชน์ของครอบครัวตนเองเท่านั้น กลายเป็นแรงผลักให้เกิดการเบียดบังผลประโยชน์สาธารณะได้ ผู้หญิงในฐานะภรรยาถูกมองในฐานะปัจจัยเร้าหรือกดดันให้ชายที่เป็นสามีเกิดพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ เพราะผู้หญิงสนใจแต่ประโยชน์สุขเฉพาะของครอบครัวตนเอง ความเห็นแก่ตัวของผู้หญิงกับความต้องการจะสร้างครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความเสื่อมถอยของผู้ชายที่มีบทบาททางเพื่อประโยชน์ส่วยรวม เมื่อผู้นำต้องการจะครอบครองทรัพย์สิน เพื่อสะสมความร่ำรวยและสร้างฐานะครอบครัว ผู้นำก็จะหมดสภาพความเป็นผู้ปกป้องประชาชน แรงกดดันต่อผู้นำยังมาจาก “หลังบ้าน” เมื่อภรรยาบ่นว่าดูแคลนเขาถึงความไม่เอาไหนอันเนื่องมาจากไม่สนใจแสวงหาทรัพย์สินทำให้ไม่มีหน้ามีตาเมื่อเทียบกับภรรยาในครอบครัวอื่น “หลังบ้าน” ในฐานะแม่ตำหนิสามีให้ลูกฟัง ทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าในความซื่อสัตย์และดูแคลนพ่อของตนเอง ลูกชายเริ่มท้าทายพ่อที่แม่บอกว่าไม่เอาไหนและพยายามแสดงว่าตนเองเป็น “ผู้ชาย” มากกว่า[6] ภาพของภรรยาในฐานะ “หลังบ้าน” จึงกลายเป็นปัจจัยบ่อนทำลายความดีงามของผู้ชายโดยกระตุ้นให้ผู้ชายคำนึงถึงผลประโยชน์ของครัวเรือนเครือญาติมากกว่า เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งและหน้าตาของครัวเรือนเอง[7] คุณสมบัติที่ทำให้ผู้หญิงเป็นที่รักและยกย่องในครัวเรือนในฐานะแม่และเมีย ได้แก่การให้ความสำคัญกับประโยชย์สุขของสมาชิกในครัวเรือนและเครือญาติ กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงถูกมองอย่างหวาดระแวงและดูแคลน ลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไม่เหมาะกับกิจกรรมทางการเมือง ในความหมายของการกำหนดกติกาและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์สุขสาธารณะ ในขณะที่ “หลังบ้าน” ถูกมองอย่างหวาดระแวง หลายคนเชื่อว่า “หลังบ้าน” สามารถจะเล่นบทบาทคู่คิดของผู้ชายที่มีอำนาจ และเหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้เช่นเดียวกัน โดยสนับสนุนสามีให้อยู่ในร่องในรอยของหลักจริยธรรมและความดีงามสำหรับผู้ครองอำนาจ ประเด็นนี้ถูกหยิบยกโดยนักทฤษฎีสตรีนิยม เช่น Mary Wollstonecraft ว่าผู้หญิงควรมีโอกาสหาความรู้และฝึกฝนผ่านการเรียนหนังสือเพื่อที่จะเล่นบทบาทคู่คิดของสามีได้ เพราะการอบรมให้ผู้หญิงเล่นบทบาทผู้หญิงเพื่อเป็นแม่และเมียในครัวเรือนอย่างสมบูรณ์แบบไมได้เตรียมให้ผู้หญิงทำหน้าที่คู่คิดและคู่ชีวิตของสามี[8] มุมมองนี้บอกเราว่าการเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาของสามีไม่ใช่เรื่องที่ผู้หญิงทุกคนจะทำได้เพียงเพราะเป็นผู้หญิงหรือเป็นภรรยา แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการของผู้หญิงแต่ละคน รวมทั้งลักษณะของความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ อาจกล่าวได้ว่าลักษณะการเป็นเพื่อนคู่คิดและคู่ชีวิตที่ผ่านความยากลำบากและภัยอันตรายระดับเดียวกับที่สามีอย่างท่านอาจารย์ปรีดีต้องเผชิญ เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่พิเศษยิ่ง ความรัก ห่วงใย ใส่ใจทุกข์สุข และการดูแลทีถูกจัดให้เป็นเรื่องหลักของความสัมพันธ์ในครัวเรือน กลายเป็นปัญหาในพื้นที่สาธารณะ หลายคนเชื่อว่าความเอื้ออาทรจะทำให้ความสามารถในการคิดถึงประโยชน์สุขส่วนรวมน้อยลง และไม่สามารถรักษาการคิดและตัดสินโดยยึดหลักการความเป็นสากลไว้ได้ เพราะคนมีแนวโน้มจะย่อหย่อนการบังคับใช้กติกาหรือเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่เราผูกพันหรือมีความหมายในเชิงส่วนตัว ความเอื้ออาทรควรถูกกันออกจากกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะที่ควรยึดหลักความยุติธรรมที่เป็นสากลและไม่เลือกข้างหรือเข้าข้างใคร ผู้หญิงในการเมือง – การข้ามพื้นที่ของผู้หญิง การมีบทบาทในครัวเรือนหรือทำหน้าที่ปกครองดูแลครัวเรือนอาจจะต่างจากความเข้าใจของภาพ “แม่บ้าน” ที่ดูแลบ้านโดยมีสามี (ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน) หาเลี้ยง ในเวลาที่ครัวเรือนเป็นหน่วยการผลิตด้วย การถูกจัดบทบาทหน้าที่ให้อยู่ในครัวเรือนอาจไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็น แต่เมื่อการผลิตย้ายออกจากครัวเรือนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจการค้า “สมัยใหม่” รูปแบบการหาเลี้ยงชีพต้องพึ่งพิงรายได้นอกบ้าน คนที่อยู่ติดกับครัวเรือนต้องเผชิญกับปัญหาการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจดังที่เราได้เห็นจากประสบการณ์ของหญิงชนชั้นกลางหลายกลุ่ม ภาพของผู้หญิงในฐานะ “แม่บ้าน” ที่ถูกจำกัดบทบาทให้เป็นแม่และเมียในครัวเรือน ไม่มีบทบาทโดยตรงในระบบการเมืองถูกมองว่าเป็นเรื่องของอดีต การเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดในทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับที่ทางของผู้หญิงบางกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเลือกวิถีชีวิตของตนเอง ข้อเรียกร้องสำคัญจากการวิพากษ์การจำกัดที่ทางของผู้หญิงไว้ในครัวเรือน คือผู้หญิงควรมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ออกมามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตซึ่งย้ายออกจากครัวเรือนไปมีพื้นที่แยกต่างหาก เพื่อจะทำมาหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการรวมผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางการ ในขณะที่ผู้หญิงบางกลุ่มเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว ผู้หญิงอีกหลายกลุ่มต่างชนชั้นเข้ามามีบทบาทในลักษณะต่าง ๆ ในระบบการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้หญิงในหลายสังคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ถูกคาดหมายให้มีบทบาทในพื้นที่สาธารณะด้วยเหตุผลเรื่องปากท้อง ความพึงพอใจในชีวิต ฯลฯ การแบ่งพื้นที่และการนิยามเพศสภาพเช่นนี้ ทำให้เราเข้าใจผู้หญิงกับการเมืองไทยได้อย่างไร หญิงสามัญชนชาวสยามมีบทบาทในทางเศรษฐกิจมาโดยตลอดและดูจะแยกไม่ออกชัดเจนจากบทบาทหน้าที่ในครัวเรือนนัก ภาพของหญิงที่เป็นผู้ตามหรือ “หลังบ้าน” ดูจะเป็นวิถีของหญิงชนชั้นสูงบางกลุ่ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหญิงชั้นสูงจะเล่นบทบาท “หลังบ้าน” ที่น่ารักไร้พิษสงกันไปทุกคนการจำกัดบทบาทและพื้นที่ของผู้หญิงเช่นนี้ไม่ได้ผลเสียเลยทีเดียว เราได้ยินเรื่องราวของ “หลังบ้าน” ผู้ทรงอิทธิพล สามารถผลักดันความเป็นไปทางการเมืองและสังคมผ่านความสัมพันธ์กับชายที่มีอำนาจ ในหลายสังคมมีเรื่องเล่า (นินทาที่มีวัตถุประสงค์ที่ปะปนระหว่างความเป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อโต้ตอบผู้มีอำนาจมากกว่าในรูปแบบที่ผู้มีอำนาจน้อยกว่าทำได้กับความสนุกไว้ด้วย) เกี่ยวกับผู้หญิงหลังฉากผู้ทรงอิทธิพล ความทรงจำร่วมระดับโลกของ “หลังบ้าน” เหล่านี้ได้แก่ ซูสีไทเฮา (ชื่อของพระนางกลายเป็นคำเรียกการแทรกแซงทางการเมืองและการใช้อำนาจของหลังบ้าน) เป็นต้น อันที่จริงไม่ว่าคนที่จะด่าหรือชม “หลังบ้าน” ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นหรือรับรู้โดยตรงว่าผู้หญิงหลังฉากเหล่านี้ทำอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของผู้หญิงทรงอิทธิพลตั้งแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ มาจนถึงป้าย่ายายและนายใหญ่/นายหญิง มาจากการบอกเราปากต่อปากที่น่าจะเติมสีจนพวกเธอมีอิทธิฤทธิ์น่าหวาดกลัวโดยน้อยคนจะได้เห็นการกระทำหรือการใช้อำนาจของพวกเธออย่างเปิดเผย แต่ผู้คนก็เชื่อว่าพวกเธอกำกับทิศทางของการเมืองจากหลังฉากหลังบ้าน โดยไม่เคยเห็นเต็มตา บางคนถูกเล่าถึงความเมตตา เฉลียวฉลาด บางคนในฐานะนางมารหาประโยชน์ ไม่ว่าจะอย่างไรพวกเธอเหมือนเทพหรือปีศาจที่ไม่เคยมีใครรู้ด้วยตา แต่พลังอำนาจเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง ผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” ถูกมองอย่างหวาดระแวงเพราะพวกเธออาจทำให้เกิดการข้ามพื้นที่ของค่านิยมให้ความสำคัญกับครัวเรือน-เครือญาติเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะ ภาพลักษณ์เช่นนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่สำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่การเมืองในฐานะ “นักการเมือง” หรือ “นักเลือกตั้ง” การเมืองในฐานะกระบวนการกำหนดกติกาและนโยบายสาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รวมเอาผู้หญิงและคนหลายกลุ่มไว้ด้วย แต่ถูกผูกขาดโดยผู้ชายกลุ่มเล็กที่มีภูมิหลังทางสังคมใกล้เคียงกันมายาวนาน ผู้หญิงและคนหลายกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อจะถูกรวมเข้าสู่ระบบการเมืองต้องแข่งขันและทำงานในบริบทที่วิถีปฏิบัติ กติกาและภาษาที่ใช้ถูกกำหนดและผลิตซ้ำโดยผู้ชายและเพื่อผู้ชายกลุ่มเล็ก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่รอดในบริบทเช่นนี้ ผู้หญิงในระบบการเมืองที่เป็นทางการจำนวนหนึ่งเรียนรู้และรับกติกาและหลักการแบบผู้ชาย เพื่อจะให้สู้ได้และเป็นที่ยอมรับ แปลว่าผู้หญิงต้องกลายเป็นผู้ชายเพื่อจะให้ประสบความสำเร็จในกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะ แม้เมื่อผู้หญิงจำนวนมากมายได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะ ดูเหมือนพวกเธอไม่ได้นำหลักและวิธีการที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงมาด้วย ผู้นำหญิงหลายคนที่มักถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้หญิงในการเมืองเพราะพวกเธอก้าวขึ้นเป็นผู้นำรัฐได้ มีลักษณะความเป็นหญิงเหล็กที่เข้มแข็ง พร้อมใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งและการบริหารงานมากกว่าผู้นำชายหลายคน ฯลฯ แล้วผู้หญิงสามารถจะเป็นผู้หญิงในความหมายของการทำงานโดยอาศัยลักษณะหรือยึดหลักการที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะยึดลีลามหานิยมที่เชิดชูลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นชายอย่างความเป็นอิสระไม่เชื่อมโยงหรือพึ่งพิงใคร เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้นำหญิงจะเปลี่ยนความหมายของอำนาจและการใช้อำนาจให้เป็นเรื่องของการแบ่งปันอำนาจมากกว่าการยึดกุมอำนาจไว้ที่ตนเอง หรือดึงและสนับสนุนลักษณะดี ๆ ของคนให้ได้แสดงออกมากกว่าจะเน้นความสำคัญของตนเองในฐานะคนเก่งที่ใครต่อใครเป็นได้เพียงลูกน้องหรือผู้ตาม[9] การมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงอาจจะไม่ได้เปลี่ยนกติกา หลักการและวิถีปฏิบัติของพื้นที่ได้ชัดเจนนัก แต่ผู้หญิงต่างหากเป็นฝ่ายต้องปรับและเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับพื้นที่นั้น ๆ ได้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่และหลักการที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ที่สัมพันธ์กับเพศสภาพ คือการแบ่งนี้ทำให้ค่านิยมบางเรื่องเท่านั้นกำกับการมองโลกและการกระทำของคนในพื้นที่เฉพาะ ผลที่ตามมาคือการขาดดุลยภาพในวิธีคิดของมนุษย์หรือไม่ การตั้งคำถามทำนองนี้ที่หลายท่านคุ้นเคยกันคือ การที่วิธีการมองโลกโดยมีมนุษย์ที่มุ่งแสวงประโยชน์ด้านวัตถุและการพิชิต-แข่งขัน-เอาชนะเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การทำลายล้างโลกธรรมชาติและการใช้ความรุนแรงระหว่างมนุษย์อย่างกว้างขวาง ประเด็นที่ถูกหยิบยกเสมอคือ การมองโลกและให้คุณค่าเฉพาะบางแง่มุม โดยไม่รวมลักษณะที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไว้ด้วย กลายเป็นผลเสียต่อมนุษย์โดยรวมหรือไม่ มนุษยชาติและชุมชนทางการเมืองอยู่ได้โดยการแข่งขัน การเอาชนะ การยึดกุมอำนาจ และความเป็นอิสระหรือการไม่พึ่งพิง? หรือแท้ที่จริงแล้วการให้คุณค่ากับลักษณะเหล่านั้นแต่เพียงอย่างเดียวต่างหากที่ทำให้มนุษย์โดยรวมยากลำบาก และการอยู่รอดของมนุษย์ต้องอาศัยความเอื้ออาทรที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงด้วย การที่กติกาและหลักการของพื้นที่สาธารณะนอกครัวเรือนไม่เปลี่ยนนัก กระทบการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้หญิงมากมายในพื้นที่สาธาณะอยู่มาก ความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทที่ทางที่เหมาะสมของผู้หญิงในฐานะแม่-เมียในครัวเรือน ที่มีคุณลักษณ์ต่างจากผู้ชายซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในพื้นที่สาธารณะเพื่อหาเลี้ยงและเป็นผู้นำครัวเรือน ทำให้ผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ มีตำแหน่งที่เป็นทางการเมืองในการเมืองและระบบเศรษฐกิจต่างก็เผชิญกับความคาดหวังหรือการตัดสินโดยมาตรฐานที่ขัดแย้งกันเอง ผู้นำทางการเมืองและนักบริหารหญิงถูกเรียกร้องและคาดหวังให้ทำงานด้วยลีลาแบบผู้ชาย อยากให้ผู้หญิงเป็นเหมือนผู้ชาย แต่ก็ต้องการให้แสดงความเป็นหญิงด้วย การสำรวจของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) พบว่าคนจำนวนไม่น้อยอยากให้ผู้หญิงในตำแน่งผู้นำพร้อมแข่งขัน เด็ดขาดห้าวหาญ แต่ก็ไม่ชอบเมื่อพวกเธอเจ้าเล่ห์และแสวงหาอำนาจเต็มที่โดยละเลยจะแสดงความใส่ใจหรือเห็นใจผู้อื่น คนไม่ชอบที่ผู้นำหญิงเข้มแข็งเกินไป แต่ก็ไม่ชอบเมื่อเธอแสดงอาการที่ถูกจัดว่าเป็นความอ่อนแอ คนไม่ชอบที่ผู้หญิงเจ้าอารมณ์แต่ก็ไม่ชอบเมื่อเธอไม่แสดงอารมณ์[10] กติกาและหลักการของพื้นที่สาธารณะทำให้การแสดงอารมณ์ของผู้หญิงเป็นปัญหา ร้องไห้ก็ถูกมองว่าอ่อนแอ น้ำตาของผู้หญิงทำให้หลายคนอึดอัดเพราะไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร เมื่ออารมณ์หลายประเภทปรากฏในพื้นที่สาธารณะจึงดูผิดที่ผิดทางสำหรับกติกาที่เรียกร้องการใช้เหตุผล ไม่หวั่นไหวด้วยอารมณ์ นอกจากนี้ ผู้หญิงในตำแหน่งที่มีอำนาจบางคนถูกมองว่าขึ้นสู่ตำแหน่งนั้นได้เพราะสิทธิพิเศษ หรือเส้นสายดีมากกว่าความสามารถของตนเอง ภาพลักษณ์และความคาดหวังที่ขัดแย้งกันเองนี้เพิ่มความยุ่งยากให้ผู้หญิงในการทำงานในพื้นที่สาธารณะ ในสังคมไทยแม้เมื่อมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยเชื่อว่าที่ทางของผู้หญิงและผู้ชายในทางการเมืองไม่เหมือนกัน ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงในชุมชนทางการเมืองยังเป็นไปโดยสอดคล้องกับความเชื่อว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ชีวิตออกเป็นอาณาบริเวณสาธารณะและอาณาบริเวณส่วนตัว – ผู้หญิงกับบ้าน หรือคาดหวังให้ผู้หญิงเล่นบทบาทคล้าย ๆ ในครัวเรือนในพื้นที่สาธารณะ เช่นชอบให้ผู้หญิงเล่นบทบาทแม่/ป้า/พี่สาวที่คอยดูแลเรื่องกินอยู่และความรู้สึกของคนในที่ทำงาน เป็นต้น การเล่นบทบาทดูแลและเป็นฝ่ายสนับสนุนปนสงเคราะห์โดยผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะอาจจะได้รับการชี่มชมชื่นชอบจากบางคน (แม้ว่าหลายเวลาจะปนอาการรำคาญและอึดอัด เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูกหลายคู่) แต่ไม่ใช่ลักษณะที่ถูกให้ค่าว่าเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงาน สำหรับคนที่หวังจะก้าวหน้าในองค์กรหรือสถาบันในระบบตลาดหรือการเมืองที่เป็นทางการแบบนักเลือกตั้ง ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยไม่สามารถจะเล่นบทบาทดูแลคนอื่นเช่นนั้นได้ จึงถูกประณามเมื่อการกระทำและการสัมพันธ์กับผู้อื่นของเธอไม่สอดคล้องกับความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทเชิงเพศสภาพ ภาพรวมของชีวิตทางสังคมของคนทำให้เราเห็นว่า การจัดแบ่งและจำกัดลักษณะ บทบาทและหลักการเฉพาะของแต่ละกลุ่มที่ทำให้โลกดูมีระบบระเบียบตามจินตนาการหมู่ของคน แท้ที่จริงไม่ได้เป็นระเบียบและแบ่งแยกกันเด็ดขาดชัดเจนในเรื่องการดำเนินชีวิต กิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนมากมาย ในเวลานี้ผู้หญิงมากมายเข้าไปมีบทบาทต่างๆ กันในพื้นที่สาธารณะ และไม่ได้จำกัดบทบาทเพียงความเป็น “หลังบ้าน” ผ่านโยงใยความเป็นแม่-เมีย-ลูกสาว-พี่สาว-น้องสาว แต่การให้คุณค่ากับลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ลักษณะอย่างความเอื้ออาทรถูกให้คุณค่าในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ยังจำกัดอยู่กับวงศาคณาญาติและมิตรภาพ แต่คนหลายกลุ่มไม่ชอบที่ความเอื้ออาทรในโยงใยความสัมพันธ์นี้จะปรากฏในกระบวนนโยบายและการบริหารจัดการสาธารณะ ปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นมาโดยตลอดคือการข้ามพื้นที่ไปมาของผู้คนและหลักการ/ค่านิยมในการกำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ คนบางกลุ่มได้รับการสนับสนุนให้เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในบางพื้นที่ เช่นความพยายามเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ เป็นต้น แต่หลักการในการกำกับพื้นที่ยังเป็นเช่นเดิม จึงดูเหมือนว่ามีแต่ตัวคนที่ข้ามพื้นที่ไป และถูกบีบบังคับโดยสถานการณ์ให้รับวิถีปฏิบัติของพื้นที่ที่ตนเองได้ข้ามไป การข้ามพื้นที่ของหลักการถูกมองว่าเป็นปัญหา เช่นความเชื่อว่าการครองอำนาจและใช้อำนาจในพื้นที่สาธารณะถูกทำให้อ่อนแอลงได้โดยความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างผู้มีอำนาจมากกว่าและผู้มีอำนาจน้อยกว่า หรือความแตกต่างของอำนาจในความสัมพันธ์ทำให้ความรักดูจริงน้อยลง เป็นต้น ความเอื้ออาทรกับชีวิตทางสังคม การใคร่ครวญถึงบทบาทของผู้หญิงในการเมืองจากที่ทางในครัวเรือนถึงการมีส่วนร่วมทางตรงในฐานะพลเมืองของรัฐ ทำให้เราได้เห็นการต่อสู้ผลักดันและความพยายามจะรวมผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมือง แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการให้คุณค่าลักษณะและหลักการที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง เรารวมผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมือง แต่ไม่ได้คิดถึงการรวมเอาแง่มุมหลายประการของความเป็นหญิงเข้าสู่พื้นที่การเมืองด้วย ในขณะเดียวกันการพิเคราะห์การดำเนินการทางการเมืองเพื่อผลักดันกติกาและนโยบายสาธารณะ ทำให้เราได้เห็นการข้ามพื้นที่ของความสัมพันธ์และหลักการที่กำกับพฤติกรรม เราได้เห็นการเอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว พี่น้อง และพวกพ้อง และจัดการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง ระบบการเมืองต่างๆ พยายามสร้างและปรับเปลี่ยนกลไกต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและเอาผิดกับการกระทำเช่นนี้ ความเชื่อว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ทางสังคมที่กำกับโดยหลักการต่างชุดกัน และเป็นพื้นที่ของคนต่างเพศสภาพ ทำให้เราคาดหวังและประเมินการกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะตามหลักการของพื้นที่สาธารณะ เมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ เราคาดหวังว่าคนจะวางโยงใยความสัมพันธ์ส่วนตัวอันซับซ้อนของความผูกพันทางอารมณ์และเครือญาติทิ้งไว้ที่บ้าน แล้วปฏิบัติหน้าที่ในฐานะปัจเจกที่คิดใคร่ครวญและเลือกเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องเพื่อนฝูง คำถามที่น่าคิดต่อก็คือ แล้วมนุษย์แยกตนเองออกจากโยงใยความสัมพันธ์รอบตัวเขาได้หรือไม่ หรือแท้ที่จริงตัวตนของเขาถูกนิยามโดยโยงใยความสัมพันธ์ที่มีความหมายในชีวิต ที่เขาและเธอพาไปด้วยทุกหนทุกแห่งเมื่อทำกิจกรรมหรือเกี่ยวข้องกับผู้อื้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของชีวิตทางสังคม การมองโลกและการเลือกของเราถูกกำกับอยู่โดยโยงใยความสัมพันธ์นี้ เพราะเราแยกตัวตนของเราออกจากโยงใยความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเป็นเราไม่ได้ เราจึงมีแนวโน้มจะเห็นญาติเรา เพื่อนเรา ดีกว่าคนอื่น แต่ผู้คนก็ไม่ได้รังเกียจการช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้ออาทรไปเสียทุกเรื่องในพื้นที่สาธารณะ และเห็นประโยชน์ของลักษณะความสัมพันธ์เหล่านี้ในบางสถานการณ์ ตัวอย่างที่น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจประเด็นนี้คือ เมื่อวิกฤติน้ำท่วมในปีพ.ศ. 2554 กระทบกรุงเทพมหานคร เกิดการกว้านซื้อของอุปโภคบริโภคจนนำไปสู่สภาพการขาดแคลนสินค้าราวกับเกิดสงครามใหญ่ คำอธิบายที่น่าสนใจว่าทำไมจึงเกิดการกักตุนลักษณะนี้ได้แก่ ความตื่นตระหนกของชนชั้นกลางไทย ที่เป็นห่วงตนเองและครอบครัว พยายามจะทำทุกอย่างเพื่อประกันความอยู่รอดและอยู่ดีเหมือนในเวลา “ปกติ” (หมายถึงเวลาที่ไม่เกิดวิกฤติที่สั่นคลอนโลกและความเคยชินของพวกเธอและเขา) เราตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยไม่เหมือนคนญี่ปุ่นที่เอื้อเฟื้อและคิดถึงผู้อื่นด้วยแม้ในยามประสบภัย และพยายามสื่อ “สาร” สำคัญให้คนไทยคิดถึงคนอื่นด้วย คิดถึงแต่ตนเองและครอบครัวไม่ได้ เราได้เห็นการช่วยเหลือกันของเพื่อนบ้านที่ก่อนน้ำจะท่วมไม่สนใจแม้จะทำความรู้จักกัน เราได้เห็นการอาสาให้ความช่วยเหลือของเครือข่ายภาคประชาชน ที่เข้าถึงผู้ประสบภัยมากมายในหลายพื้นที่ ผู้มีจิตอาสาเหล่านี้ดูจะคิดถึงความอยู่รอดและทุกข์สุขของคนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ การช่วยเหลือกันทั้งในระดับชุมชนและการอาสาของเครือข่ายภาคประชาชนทำให้หลายคนอยู่รอดได้ เมื่อเผชิญสถานการณ์วิกฤติ เราอยากให้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งใหญ่ที่นำไปสู่การปะทะด้วยความรุนแรง เราอยากให้คนเห็นความเชื่อมโยงกัน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนร่วมชาติ ดูเหมือนว่า เราไม่ได้หวาดกลัวความเอื้ออาทรนอกครัวเรือนไปเสียทีเดียว และเห็นประโยชน์ของความเชื่อมโยงกันและดูแลช่วยเหลือกันในหลายสถานการณ์ คำถามที่น่าจะต้องคบคิดต่อในเวลาที่เอื้ออำนวยต่อการชวนคิดในประเด็นนี้คือ เราควรจะใคร่ครวญเกี่ยวกับที่ทางและคุณค่าของความเอื้ออาทรในชีวิตทางสังคมการเมืองหรือไม่ หรือว่าจะกระตุ้นเร้าให้คนเอื้ออาทรต่อกันในยามวิกฤติแล้วก็กลับไปสู่วิธีคิดและการมองโลกแบบเดิมต่อไปเมื่อภัยอันตรายลดลง หรือเราจะคิดใหม่เกี่ยวกับหลักการที่เราจัดวางไว้ในพื้นที่สาธารณะโดยเชื่อมโยงกับบทบาททางเพศสภาพของผู้หญิง เพื่อจะทำให้ความเอื้ออาทรได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ เช่นเดียวกับความยุติธรรม เสรีภาพ และหลักการอื่น ๆ ที่เราเชิดชูให้คุณค่า สิ่งที่เราหวาดหวั่นไม่น่าจะใช่ความเอื้ออาทรโดยตัวเอง เราเห็นปัญหาของความเอื้ออาทรที่จำกัดอยู่แต่กับคนในครอบครัว เครือญาติและเพื่อนฝูง แต่ก็เห็นประโยชน์ของความเอื้ออาทรที่ขยายออกนอกวงศ์วานว่านเครือ ไปรวมเอาคนอื่นอีกมากมายไว้ด้วย ความเอื้ออาทร (ที่ไม่ได้เป็นไปโดยงดงามราบรืนและเป็นสุขตลอดเวลา แต่มีความอึดอัด ขัดแย้งและเหน็ดเหนื่อยปะปนอยู่ด้วยมาก คนที่เคยเลี้ยงเด็กหรือดูแลคนชราน่าจะพอนึกภาพออก)[11] ที่เป็นฐานสำคัญของโยงใยความสัมพันธ์ที่มีความหมายในชีวิตเรา ประคับประคองเราให้อยู่รอดและอยู่ดีทั้งทางกายและจิตใจ จำกัดอยู่ในความสัมพันธ์ส่วนตัวนี้ โดยไม่ได้ขยายไปสู่แวดวงที่ใหญ่กว่า จนกลายเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อพวกพ้องพี่น้องของเราและคนอื่น การจำกัดวงความเอื้ออาทรในความสัมพันธ์ส่วนตัวกลายเป็นข้อจำกัดในเวลาที่ผู้คนเผชิญวิกฤติที่ชีวิตไม่ได้เป็นไปตาม “ปกติ” แต่เผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบความอยู่รอดของตนและสมาชิกในครัวเรือน น่าสนใจว่าในยามวิกฤติ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันที่ขยายขอบเขตไกลไปกว่าวงศ์วานว่านเครือต่างหากที่ทำให้มนุษย์อยู่รอด ความเอื้ออาทรในชีวิตทางสังคมไม่ควรจำกัดอยู่ในครัวเรือน แต่น่าจะครอบคลุม “คนอื่น” ไว้ด้วย และทำให้เราคิดถึงความอยู่รอดและอยู่ดีของผู้คนอีกมากมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเครือญาติหรือเพื่อนฝูงของเราได้ การพูดถึงที่ทางและการให้คุณค่ากับความเอื้ออาทรอาจถูกมองว่าไร้เดียงสาในสายตาคนทื่เชื่อว่ามนุษย์มีองค์ประกอบที่ไม่น่ารักและเห็นแก่ตัว เราไม่สามารถจะเปลี่ยนความเป็นมนุษย์ได้และควรจะปลดปล่อยผู้คนออกจากกรอบกติกาที่กดดัน กดขี่ บังคับให้คนต้องซ่อนเร้นหรือบิดเบือนความเป็นมนุษย์ของตนเอง ภาพของมนุษย์เช่นนี้อาจจะสะท้อนความเคยชินจากการมองโลกไม่ครบถ้วน ที่เบียดขับลักษณะหลายประการของมนุษย์ไปเก็บไว้ในพื้นที่ส่วนตัวโดยเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงและไม่ถูกให้คุณค่า ข้อเสนอว่าด้วยที่ทางของความเอื้ออาทรที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงนี้ ไม่ได้ฝากความหวังให้คนเป็นคนดีเพื่อโลกนี้จะได้ดีขึ้น แต่เสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการมองและให้คุณค่ากับความเอื้ออาทรที่มีความหมายเชิงครอบคลุมและไม่จำกัดผู้ที่เป็นเป้าหมายของความอาทร ว่าจะต้องเป็นคนในครัวเรือนและแวดวงของเราเท่านั้น จากการมองว่าความเอื้ออาทรไม่มีที่ทางในการต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาชนะ เพราะจะทำให้คนพ่ายแพ้ เราน่าจะมองความเอื้ออาทรในฐานะรูปแบบการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมที่ทำให้คนอยู่รอดไปด้วยกัน การปรับคุณค่าของความเอื้ออาทรในชีวิตทางสังคมการเมืองจะเป็นไปได้ ต้องไม่ติดกรอบและติดกับกรอบการแบ่งเพศสภาพและการให้คุณค่ากับลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นชายมากกว่าลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง และมองทะลุการจำกัดหลักการของแต่ละพื้นที่ที่ทำให้ชีวิตทางสังคมของคนขาดดุลยภาพ การคิดใคร่ครวญถึงประสบการณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และทัศนะของท่านเกี่ยวกับผู้หญิงในการเมืองทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นหญิง การแบ่งพื้นที่ของชีวิตทางสังคม และหลักการเฉพาะของแต่ละพื้นที่นั้น การข้ามพื้นที่ของคนและหลักการดำเนินไปในรูปแบบต่างๆ เราอยู่ในเวลาที่เชื่อกันว่าผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองโดยตรงได้ แต่ก็ไม่หลุดจากกรอบการแบ่งเพศสภาพและพื้นที่ ข้อเสนอของดิฉันไม่ใช่การเพิ่มจำนวนหรือนำผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่การเมืองภาครัฐ หรือการกำหนดกติกาของสังคมการเมือง การรวมผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมืองโดยไม่รวมหลักการหลายประการที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงมาด้วยไม่ทำให้ชีวิตทางสังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่สิ่งที่น่าจะเป็นคือการรวมเอาลักษณะและหลักการที่เชื่อมโยงกับความเป็นผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่สาธารณะให้ได้ผสมผสาน ปะทะสังสรรค์ ทัดทานและถ่วงดุล หลักการความยุติธรรมแบบแห้งแล้งไม่เห็นใจคน //////////////////////////////////////////////// [1] งานของ Susan Moller Okin

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net