Skip to main content
sharethis

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการคนใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดเวทีพบปะกับ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา นักกิจกรรม นักวิชาการ นักการเมือง และข้าราชการในท้องถิ่น กว่า 100 คนจากจังหวัดยะลา เพื่อพูดคุยปัญหาชายแดนใต้เมื่อเร็วๆนี้ แนวคิดของการจัดงานแบบเปิดบ้าน (open house) ครั้งนี้ก็เพื่อที่จะย้อนกลับไปมองอดีตใน 8 ปีที่ผ่านมา และร่วมกันขบคิดหาทางที่จะขับเคลื่อนเดินหน้าไปด้วยกัน เป็นที่น่าสนใจว่า วันที่จัดงานเพื่อพบปะพูดคุยในครั้งนี้คือวันที่ 4 มกราคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 8 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหารของกองพันพัฒนาในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำพานายตำรวจหนุ่ม ทวี สอดส่อง มาสู่ใจกลางชายแดนใต้ อาจจะกล่าวได้ว่าทวีไต่เต้าในอาชีพราชการของเขาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้โดยแท้ การไล่ล่าผู้ต้องหาในคดีความไม่สงบในภาคใต้ การออกหมายจับครูสอนศาสนาหลายคนและผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญอย่างเช่น ซาแปอิง บาซอร์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนอิสลามธรรมวิทยาจังหวัดยะลา เกิดขึ้นในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ การดำเนินการแบบนี้อาจจะทำให้ผู้นำท้องถิ่นหลายคนเกิดความรู้สึกไม่สู้ดีต่อเขาเท่าใดนัก แต่มันเป็นผลดีในทางอาชีพราชการเพราะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เห็นเขาเป็นมือดีคนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ ถึงวันนี้ ทวี สอดส่อง เติบโตอย่างมากในอาชีพราชการของเขาและได้กลับมาภาคใต้อีกครั้ง หลายคนเชื่อว่าเขาจะพยายามที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หลายคนที่เข้าร่วมเวทีในวันนั้นพูดด้วยใจเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ พวกเขาพูดถึงการปรับปรุงการศึกษาเพื่ออนาคตของลูกหลานในรุ่นต่อไป และพูดถึงว่าคนในภูมิภาคที่พูดภาษามาเลย์จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของกลุ่มอาเซียนกันอย่างไร นายตำรวจจากสถาบันการศึกษาท้องถิ่นคนหนึ่ง พูดว่า เขาคิดถึงวันเก่าๆที่ชาวไทยพุทธและชาวมาลายูมุสลิมเคยอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขโดยปราศจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เขาอยู่ในพื้นที่นานพอจะเห็นว่าความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนสองเชื้อชาติอย่างไร อีกข้อเสนอแนะก็คือการให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน รองจากภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เลวเพราะว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่จังหวัดสงขลาไปจนถึงมินดาเนา (Mindanao) ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์นั้นพูดภาษามาเลย์ แต่รัฐบาลไทยในช่วงการบริหารของทักษิณ ชินวัตร ได้ปฎิเสธความคิดของการให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาทำงานในจังหวัดของภาคใต้ที่มีการพูดภาษานี้กันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความคิดที่จะบอกให้ประเทศไทยเสนอให้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการภาษาที่สองของอาเซียนดูจะห่างไกลความจริงอยู่สักหน่อย การจะพูดว่าเห็นคุณค่าของภาษาในระดับภูมิภาคแต่ไม่สนใจจะนำพาการใช้งานในระดับท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกเอามากๆเลย สำหรับคนในพื้นที่นั้น, ภาษายาวี (ภาษามาเลย์ที่เขียนด้วยอักษรอาราบิค) เป็นมากกว่าถ้อยคำทางภาษาเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันในความหมายที่แคบๆ แต่มันคือความภูมิใจในวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ เหนือสิ่งอื่นใด ภาคใต้สุดของไทยนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ในโลกนี้ที่ยังใช้ตัวอักษรยาวีอยู่ ที่อื่นๆส่วนใหญ่ใช้ตัวอักษรโรมันกันหมดแล้ว ในที่ประชุมวันนั้นส่วนใหญ่ก็จะเห็นตรงกันว่าคนมาลายูแถบนั้นไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน พวกเขาอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติที่เราเรียกกันว่าชาติไทยนี่แหละ เพียงแต่ว่าเขาก็อยากจะสร้างในแบบของเขาเท่านั้นเอง และเวทีแบบนี้ก็เป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่จะมาคุยกันว่าแบบที่เขาจะสร้างนั้นเป็นอย่างไร คนไทยไม่กี่คนที่จะเข้าใจว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นเงื่อนไขของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความขัดแย้งที่มีพื้นฐานมาจากความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์อย่างที่เห็นในภาคใต้นั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในหลายที่ในโลกนี้ ความขัดแย้งอันเกิดจากกระบวนการในสร้างชาติก่อให้เกิดความรู้สึกแบบการผนวกดินแดนเพื่อเข้ายึดครอง คนไทยจำนวนมากมองว่า การที่คนมาลายูปฏิเสธที่จะผสมกลมกลืนเข้ากับคนส่วนใหญ่ในชาติว่าเป็นความอตัญญูต่อสิ่งที่ชาติไทยได้หยิบยื่นให้ และพวกนี้ขอบแว้งกัดคนที่ป้อนข้าวป้อนน้ำอยู่เรื่อย สิ่งที่รัฐบาลไทยหลายต่อหลายชุดที่ผ่านมาไม่เข้าใจก็คือ การให้ทานนั้นไม่เหมือนกับการมอบอำนาจ รัฐบาลชอบคิดว่าส่งคนดีๆไปทำงานในภาคใต้นั้นก็เพียงพอแล้ว แต่รัฐบาลไม่ค่อยเข้าใจว่าคนที่เขาคิดว่าตัวเองตกเป็นอาณานิคมนั้นมองเจ้าอาณานิคมว่า ต่อให้เป็นเจ้าอาณานิคมที่ใจบุญแค่ไหน ก็เป็นเจ้าอาณานิคมอยู่วันยันค่ำ ความตั้งใจอันดีนั้นไม่ใช่นโยบาย บางที ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของการประชุมวันนั้นก็คือคำกล่าวปิดพิธีของเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่นั่นเอง เมื่อทวีพูดถึงข้อเรียกร้อง 7 ข้ออันโด่งดังของ ฮัจจี สุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวมาเลย์ปัตตานีที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพราะกล้าที่จะออกมาพูดถึงข้อตกลงสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีผ่านมาแล้ว ทวี พูดว่า เมื่อไม่นานมานี้การพูดถึงข้อเรียกร้อง 7 ประการนี้ถูกมองว่าเป็นกบฎ มันก็จริง แต่กาลเวลาก็เปลี่ยนแปลงไป หลายต่อหลายคนพูดว่าจะต้องมีการเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อสักสองปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้อีกเช่นกัน แต่มาวันนี้บรรดา เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ เอ็นจีโอทั้งนอกและในประเทศต่างหาทางที่จะคุยกับผู้นำขบวนการก่อความไม่สงบเหล่านี้ เด็กหนุ่มจากจังหวัดนราธิวาสคนหนึ่งได้ยืนขึ้น และซักถามข้อสงสัยว่ารัฐจะเต็มใจยอมรับฝ่ายการเมืองของผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่ ถ้าหากพวกเขาปรากฏโฉมหน้าขึ้นมาสักวันหนึ่ง สิ่งที่ชายผู้นี้ไม่รู้หรืออาจจะแกล้งไม่รู้ก็คือว่า มีการประชุมลับอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มที่เรียกว่า ผู้ไกล่เกลี่ย และ กลุ่มที่เรียกว่า ผู้นำการแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่มีใครที่จะทำให้ใครเชื่อได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลสั่งการกับนักรบผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้จริง ทวียอมรับว่าเขาอาจไม่เป็นตัวเลือกแรกหากว่าคนในท้องถิ่นมีหนทางบอกได้ว่าใครควรจะเป็นผู้นำศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำงานอย่างเต็มความสามารถที่เปลี่ยนสิ่งต่างๆ และจะพยายามให้ในสิ่งที่คนในพื้นที่ร้องขอแต่ไม่เคยได้รับมาก่อน แต่ก็คงไม่ง่ายนักเพราะหลายคนที่นี่คงยังไม่ให้อภัยกับการที่เขาเคยไล่ล่าครูสอนศาสนาและผู้ก่อความไม่สงบอย่างที่เขาเคยทำในปี 2547 มากกว่านั้นก็คือว่าเจ้าหน้าที่หลายคนยังแอบกระซิบกระซาบว่าสิ่งที่ชาวมาเลย์ในพื้นที่เชื่อมาตลอดก็คือว่า ข้อกล่าวหาต่อ ซาแป อิง เป็นการสร้างเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง ทวี ได้พูดถึงมหาวิทยาลัยอิสลามของรัฐในชายแดนภาคใต้ และประกาศว่ารัฐบาลเพิ่งได้อนุมัติเงิน 175 ล้านบาทเพื่อ ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมสันติภาพ กล่าวว่า การอนุมัติเงินช่วยเหลือของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงไม่เข้าใจพลวัตรของสังคม รัฐมีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ชุมชนตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของรัฐ และจับอาวุธต่อต้านมัน คำพูดของทวีอาจจะฟังดูปรองดอง แต่อังคณาบอกว่าคนควรจะตัดสินเขาจากการกระทำไม่ใช่คำพูด เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ อ่านเรื่องเกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ www.seasiainconflict.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net