Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วดิฉันเผยแพร่บทความเรื่อง “ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลควรยุบสภาภายใน 3 เดือน” เพื่อวิพากษ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ [1] วันนี้ดิฉันขอวิพากษ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยเหตุผลเดียวกัน รัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลอภิสิทธิ์เหมือนกันอย่างไร? ทั้งสองรัฐบาลพยายามหาทางให้แบงค์ชาติเข้ามารับภาระดอกเบี้ยหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเกิดจากวิกฤตการเงินปี 2540 แม้ว่าปัจจุบันอดีตรมต.กรณ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเชิงลบ แต่สมัยอดีตรมต.กรณ์เป็นรมต.คลังอดีตรมต.กรณ์และอดีตรองนายกฯไตรรงค์ก็พยายามผลักภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯให้แบงค์ชาติเหมือนกันแต่ทำไม่สำเร็จก่อนยุบสภา การโยนภาระการคลังให้แบงค์ชาติจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ นโยบายดังกล่าวเหมือนนโยบายของรัฐบาลในประเทศละตินอเมริกาเมื่อ 30-35 ปีที่แล้ว ที่่ให้แบงค์ชาติพิมพ์แบงค์ให้รัฐบาลใช้หนี้จนเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลอภิสิทธิ์เอาใจกองทัพด้วยการเพิ่มงบประมาณกลาโหม งบประมาณกลาโหมปี 2554 ซึ่งจัดสรรโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับช่วงมานั้นมีมูลค่า 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท [2] นอกจากนี้ในระหว่างวิกฤตอุทกภัยที่ผ่านมากองทัพได้ส่งบิลเรียกเก็บค่าบรรเทาวิกฤตจากกระทรวงการคลังเพิ่มเติม (ท่ามกลางกระแส “รักพี่ทหาร”) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็อนุมัติอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณกลาโหมปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 8.6 หมื่นล้านบาทแล้วพบว่างบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้น 8.4 หมื่นล้านบาท คือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โปรดสังเกตว่างบประมาณกลาโหมที่เพิ่มขึ้นมา 8.4 หมื่นล้านบาทนั้นมากกว่าภาระดอกเบี้ยจากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 6.5 หมื่นล้านบาทที่รองนายกฯกิตติรัตน์และโฆษกรัฐบาลอ้างอิงเสียอีก แม้ว่าทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลอภิสิทธิ์บ่นว่าดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯเป็นภาระหนักหนาสาหัส แต่ทั้งสองรัฐบาลไม่เคยบ่นเรื่องภาระจากการเพิ่มงบประมาณกลาโหม ถ้าตัดงบประมาณกลาโหม 6.5 หมื่นล้านบาทเพื่อนำเงินไปชำระดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กองทัพก็ยังจะได้งบประมาณมากกว่ายุคก่อนรัฐประหารถึง 1.9 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 22% ถ้ารัฐบาลคิดว่าการจ่ายดอกเบี้ยนานๆทำให้เสียทรัพยากรและรัฐบาลต้องการให้เงินต้นลดลงเร็วๆ รัฐบาลสามารถลดงบประมาณกลาโหมให้เท่าระดับก่อนรัฐประหารแล้วเอาส่วนต่างไปช่วยแบงค์ชาติชำระเงินต้นของหนี้กองทุนฟื้นฟูไปก่อนก็ได้ การอ้างว่าภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูเป็นภาระทางการคลังอันใหญ่หลวงเป็นเพียงการบิดเบือนประเด็นที่แท้จริง การผลักดันให้แบงค์ชาติีรับภาระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลอภิสิืทธิ์็คือการผลักดันให้แบงค์ชาติรับภาระงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นมาหลังจากรัฐประหารนั่นเอง ระหว่างกระทรวงการคลังและแบงค์ชาติใครควรรับผิดชอบมากกว่ากัน? หนี้กองทุนฟื้นฟูฯเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ประเด็นขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังและแบงค์ชาติเกิดจากการออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯฉบับปี 2541 และฉบับปี 2545 กำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยระบุให้แบงค์ชาติเป็นผู้ชำระเงินต้นส่วนกระทรวงการคลังรับชำระดอกเบี้ย ทำให้รัฐบาลอ้างว่าเป็นภาระหนี้ที่ธปท.ต้องรับผิดชอบ บ้างก็ยกเหตุผลว่าแบงค์ชาติต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้กำกับสถาบันการเงินที่บกพร่องจนหนี้เสียมากมาย ดิฉันคิดว่าการที่แบงค์ชาติเป็นผู้ชำระเงินต้นนั้นก็ชดเชยในส่วนนี้แล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็ร่วมก่อหนี้เสียโดยการอนุมัติให้เปิดเสรีทางการเงิน แม้ว่าแบงค์ชาติเป็นผู้ตัดสินว่าธนาคารใดได้ใบอนุญาตประกอบวิเทศธนกิจ แต่การเปิดเสรีทางการเงินต้องผ่านการอนุมัติของรัฐบาล ถ้าฝ่ายการเมืองเสนอนโยบายแย่ๆแล้วแบงค์ชาติตอบสนองฝ่ายการเมืองเพราะกฎหมายอนุญาตให้รมต.คลังปลดผู้ว่าฯแบงค์ชาติได้ ก็แปลว่าฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือแบงค์ชาติ ฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าก็น่าจะต้องรับผิดชอบมากกว่า อย่างไรก็ดี อดีตผู้ว่าฯเริงชัย มะระกานนท์โดนฟ้องร้องให้จ่ายค่าเสียหาย 1.86 แสนล้านบาท ศาลชั้นต้นตัดสินให้มีความผิดแต่ศาลอุทธรณ์ตัิดสินให้ยกฟ้อง คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดเพราะต้องรอศาลฎีกาตัดสิน แต่ยังไม่มีอดีตรมต.คลังคนไหนโดนดำเนินคดีจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ความล้มเหลวของการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือปรส.เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯต้องรับภาระสูง กองทุนฟื้นฟูฯในบางประเทศ (เช่น สวีเดน)สามารถทำกำไรให้กระทรวงการคลังจากการขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินเพื่อปฎิรูปสถาบันการเงินหลังวิกฤตการเงิน ชัดเจนว่าความล้มเหลวของปรส.คือความล้มเหลวของฝ่ายรัฐบาล แต่คดีปรส.เพิ่งจะสืบพยานกันเมื่อปี 2 ปีที่แล้ว แล้วเราควรปล่อยให้ฝ่ายรัฐบาลรวบรัดออกกฎหมายผลักภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูหรือ? สุดท้ายแล้วภาระการคลังจะตกอยู่กับผู้เสียภาษีผ่านอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะทำให้เงินบาทอ่อนลงแต่็นั่นก็จะไม่้มีผลดีต่อผู้ส่งออก เพราะอัตราเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย โดยหลักการแล้วหนี้กองทุนฟื้นฟูฯมาจากสถาบันการเงิน ดังนั้นสถาบันการเงินก็น่าจะมีส่วนร่วมในการชำระหนี้ ถ้ากังวลว่าสถาบันการเงินจะผลักภาระให้ผู้บริโภคโดยการขึ้นค่าธรรมเนียม รัฐบาลและแบงค์ชาติสามารถออกกฎเพื่อป้องกันได้ อาทิ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่างๆ ปัจจุบันค่าธรรมเนียมในระบบธนาคารไทยก็สูงกว่ามาตรฐานสากลอยู่แล้ว การกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมไม่น่าจะทำให้ธนาคารไทยขาดทุน อย่างมากก็ทำให้กำไรลดลงเท่านั้น ปริศนาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โปรดสังเกตว่าไม่มีการรายงานสรุปให้ชัดเจนว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูมีอัตราดอกเบี้ยเท่าไรและมีโครงสร้างอายุหนี้อย่างไรบ้าง? ทั้งๆที่อายุหนี้และอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญต่อการประเมินสภาพหนี้ ถ้าเราใช้ข้อมูลยอดหนี้และภาระดอกเบี้ยก็พอจะคำนวณอัตราดอกเบี้ยดอกเฉลี่ยได้ จากข้อมูลที่รายงานโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก [3] หนี้กองทุนฟื้นฟูฯมีเงินต้น 1.4 ล้านล้านบาท แบงค์ชาติได้ชำระเงินต้นไปแล้ว 3 แสนล้านบาท ดังนั้นยังเหลือเงินต้น 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนข้อมูลภาระดอกเบี้ยจากฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่ชัดเจน รองนายกฯและรมต.คลังให้ข่าวไม่ตรงกัน รองนายกฯกิตติรัตน์ให้ข่าวว่าภาระดอกเบี้ยคือปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท แต่รมต.ธีระชัยให้ข่าวว่าปีนี้ภาระดอกเบี้ยคือ 4.5 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดปริศนาว่าภาระดอกเบี้ยเป็นเท่าไรกันแน่? ถ้ารัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยปีละ 6.5 หมื่นล้านบาทตามที่รองนายกฯให้ข่าวก็แปลว่าอัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.91% (= 65,000/1,100,000) แต่ถ้ารัฐบาลจ่ายดอกเบี้ย 4.5 หมื่นล้านบาทตามที่รมต.คลังให้ข่าวก็แปลว่าอัตราดอกเบี้ยเพียง 4.09% (= 45,000/1,100,000) ความไม่สอดคล้องกันระหว่างข้อมูลจากรมต.คลังและรองนายกฯนั้นมีนัยยะสำคัญดังต่อไปนี้ อัตราดอกเบี้ย 4.01% เป็ันอัตราที่ต่ำ อัตรานี้สูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร 30 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯเพียง 1% นี่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่หนักหนาสาหัสสำหรับรัฐบาลทีมีหนี้สาธารณะราวๆ 40% ของ GDP ประเทศยุโรปที่มีปัญหาภาระดอกเบี้ยจริงๆคือประเทศที่จ่ายดอกเบี้ยถึง 7% และยอดหนี้สาธารณะมากมายกว่านี้ แล้วทำไมรัฐบาลต้องตีโพยตีพายว่าจ่ายดอกเบี้ยไม่ไหว? อัตราดอกเบี้ย 5.91% จัดว่าไม่ต่ำ แต่ถ้ารัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยด้วยอัตรานี้จริงๆก็น่า้สงสัยว่าหนี้มีอายุเท่าไรและเงื่อนไขอย่างไรทำไมถึงปรับโครงสร้างหนี้ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่านี้ไม่ได้? พันธบัตรรัฐบาลไทยปีที่แล้วก็ไม่ได้มีอัตราดอกเบี้ยเท่านี้ แม้แต่พันธบัตร50 ปีของรัฐบาลไทยที่ออกจำหน่ายปีที่แล้วยังให้ดอกเบี้ย 4.85% ที่สำคัญวงเงินส่วนใหญ่ของพันธบัตรรัฐบาลปีที่แล้วเป็นพันธบัตรที่ดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 2.80%-3.85% ไม่ใช่ 4.85% หนี้กองทุนฟื้นฟูฯมีเงื่อนไขอย่างไรถึงจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยตลาดถึง 2%-3% ปัจจุบันเจ้าหนี้ของกองทุนคือใคร? ทำไมเจ้าหนี้กองทุนฟื้นฟูถึงได้ดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยตลาด? ดิฉันสรุปไม่ได้ว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯมีอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยเท่าไรกันแน่? ทั้งสองกรณีมีคำถามให้รัฐบาลต้องตอบสาธารณชน บทสรุป เมื่อเปรียบเทียบนโยบายการคลังของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลอภิสิทธิ์แล้ว ทั้งสองรัฐบาลมีศักยภาพในการก่อวิกฤตเงินเฟ้ออย่างทัดเทียมกัน เนื่องจากดิฉันเคยเสนอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาเพราะความพยายามใช้นโยบายการคลังที่จะนำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะ“สองมาตรฐาน”ดิฉันจึงเสนอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาด้วยเหตุผลเดียวกัน ถ้ารัฐบาลยืนยันว่ารายจ่ายรัฐบาลมากจนรายรับรัฐบาลไม่พอจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลก็ต้องปฎิรูประบบภาษีและระบบจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีความสนใจในการปฎิรูประบบภาษี อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุผลทางการเมืองรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงจะไม่ยุบสภาภายใน 3 เดือนเหมือนที่รัฐบาลอภิสิทธิในอดีตไม่ยุบสภาภายใน 3 เดือน รัฐบาลยิ่งลักษณ์คงจะพยายามใช้นโยบายเดียวกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าฐานเสียงจะเห็นว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญกับกองทัพมากกว่าผู้เสียภาษีเช่นเดียวกันกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ หมายเหตุ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลควรยุบสภาภายใน 3 เดือน ประชาไทออนไลน์ 30 มีนาคม 2553 งบประมาณโดยสังเขป สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี Thailand’s Government Scraps Plan to Transfer Legacy Debt to Central Bank, Bloomberg, December 30, 2011 ข้อมูลดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ออกจำหน่ายในปี 2554 จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net