ข่ายเกษตรพันธสัญญาภาคเหนือ เสนอ ครม.สัญจร หยุดดำเนินคดีกับเกษตรกร

เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม(ภาคเหนือ) ยื่นข้อเสนอผ่านผู้ว่าฯเชียงใหม่ เสนอประเด็นแก้ไขปัญหาจากระบบเกษตรพันธสัญญาต่อที่ประชุมครม.สัญจร เว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่า วันนี้ (12 ม.ค.55) เวลาประมาณ 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม(ภาคเหนือ) ประกอบไปด้วยตัวแทนเกษตรพันธสัญญาจากการเลี้ยงสุกร แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)และกลุ่มข้าวโพด จำนวน 10 คน ยื่นหนังสือแก่ มล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อผลักดันเป็นประเด็นในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสัญจรในจังหวัดเชียงใหม่ นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง เลขานุการเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม(ภาคเหนือ) กล่าวว่า การยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ เพื่อให้มีการผลักดันประเด็นนี้เข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ เพราะผู้ว่าฯเป็นพ่อเมือง ต้องนำความเดือดร้อนของลูกบ้านลูกเมืองไปพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ แม้ไม่อำนาจจัดการในเชิงนโยบาย แต่สามารถส่งผ่านได้ \เครือข่ายพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ได้ไปยื่นข้อเสนอรอบแรกต่อนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็รับข้อเสนอและรับปากว่าจะผลักดันเรื่องนี้ โดยจะไปตั้งกระทู้สดในสภา แต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เรื่องนี้เลยเงียบหายไป\" \"หลังจากนั้นก็ได้ไปยื่นกับนายนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสส.ภาคเหนือ เพื่อจะผลักดันเข้าสู่ ครม.\" นายโชคสกุล กล่าว \"ปัญหาเกษตรพันธสัญญาเป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมมานาน และก็ไม่มีใครกล้านำมาเปิดเผย แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เกษตรพันธสัญญาเป็นระบบผลิตอาหารเพื่อคนทั้งหลาย คนทั้งหลายต้องพึ่งการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา แต่มันเป็นการทำลายล้างสังคม โดยที่สังคมไม่รู้สึกตัว จะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อตัวเองเจอปัญหา ที่ดินดินถูกยึด ถูกขายทอดตลาด ครอบครัวแตกแยกถึงขั้นบ้านแตกสาแหรกขาด ลูกก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องออกกลางคันเพราะไม่มีรายได้ของพ่อแม่ อันนี้คือความโหดร้ายของเกษตรพันธสัญญา\" \"ถ้าไม่มีการแก้ไข ทั้งเรื่องที่ดิน ชีวิต ครอบครัว จะล้มสลายไปโดยอัตโนมัติ เพราะว่ามันเป็นระบบที่เหมือนกับผีดิบดูดเลือด ที่ค่อยๆสูบไปทีละน้อย มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีการร่วมมือจากนโยบายของรัฐเปิดช่องให้กลุ่มทุนที่ผลิตทางด้านอาหาร เข้ามาฮุบทางอ้อม ถ้าใครไม่ได้มาศึกษาตรงนี้จะไม่รู้ว่ามันเป็นการทำลายล้างสังคมโดยที่สังคมไม่รู้สึกตัว\" \"บ้านเราปกครองด้วยกฎหมาย จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องเริ่มจากกฎหมาย และคนที่มีอำนาจแก้ก็คือรัฐ เวลาจะแก้กฎหมายรัฐต้องฟังเสียงของคนที่มีปัญหาถึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด ถ้าไม่ฟังก็เหมือน \"เกา ไม่ถูกที่คัน\" เมื่อรัฐออกกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรแล้ว เราก็ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกกฎระเบียบให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป\" นายโชคสกุล กล่าวทิ้งท้าย ///////////// ข้อเสนอต่อรัฐบาลของเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ) 1. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนแก่เกษตรกรเกษตรพันธสัญญาจึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้ 1.1 จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเกษตรระบบพันธสัญญา โดยมีองค์ประกอบของตัวแทนเกษตรกรผู้เสียหายเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากนักวิชาการด้านกฎหมาย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรพันธสัญญา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.1.1 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดการดำเนินคดีทางกฎหมายกับเกษตรกรเกษตรพันธสัญญา 1.1.2 ให้บริษัทดำเนินการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากระบบเกษตรพันธสัญญา 2. เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรเกษตรพันธสัญญา โดยรัฐบาลจะดำเนินการสร้าง \"กลไกกลางทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิเกษตรกรเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม\" กลไกดังกล่าวที่มีองค์ประกอบและสัดส่วนของตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเกษตรพันธสัญญา 40% ตัวแทนผู้ประกอบการ 20% ตัวแทนภาครัฐ 20% ตัวแทนนักวิชาการ 10% และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตร 10% กลไกดังกล่าวทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1) ส่งเสริมการทำธุรกิจแบบหุ้นส่วน 2) เตรียมความพร้อมเกษตรกรให้มีความเท่าทันโดยการสนับสนุนความรู้ ความเข้าใจ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ด้านต่างๆ ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรพันธสัญญา 3) กำหนดนโยบาย กฎหมาย สัญญาที่เป็นมาตรฐานกลางที่เป็นธรรม 4) กำกับ ดูแล และบังคับใช้การคุ้มครองสิทธิเกษตรกร ในการทำสัญญาเพื่อเป็นหลักประกันทางด้านรายได้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับการถูกใช้ทรัพยากรของเกษตรกรและรวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งด้านวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และพลังงาน 5) รับเรื่องร้องเรียน ดำเนินการฟ้องแทน ไกล่เกลี่ย และเยียวยาเกษตรกรผู้เสียหาย เหตุผล 1) เนื่องจากระบบเกษตรพันธสัญญาในปัจจุบันเป็นไปในลักษณะที่กลุ่มทุนสร้างช่องว่างทางสัญญา เพื่อความได้เปรียบในการลงทุน เนื่องจากเกษตรกรต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาระต่างๆ ได้แก่ ภาระจากการถูกใช้ทรัพยากร เช่น ที่ดิน โรงเรือน รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เป็นต้น ภาระทางสังคม เช่น ปัญหาการถูกต่อต้านจากชุมชน การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้กระทบกับชุมชน เป็นต้น ซึ่งรายได้ที่ได้จากข้อสัญญาจะอยู่ในรูปแบบ 2 รูปแบบ คือ 1. ราคาประกันในการรับซื้อ ซึ่งจะต่ำกว่าราคาตลาดที่กลุ่มทุนคาดการณ์ ซึ่งถ้าเกิดกรณีราคาประกันสูงกว่าราคาตลาด กลุ่มทุนจะยกเลิกการรับซื้อ เพราะเป็นข้อตกลงทางวาจาเท่านั่น 2. ค่าจ้างที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการของเกษตรกรและต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่ทางกลุ่มทุนกำหนด ทั้ง 2 รูปแบบ เกษตรกรต้องเสาะหาหรือนำทรัพยากรที่มีอยู่ มาเพื่อผลิตผลผลิตให้กับกลุ่มทุน โดยไม่มีการตอบแทนหรือชดเชยการถูกใช้ทรัพยากรนั้นๆเลย ซึ่งการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มทุน ไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวในข้อสัญญาใดๆเลย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นึกถึงและไม่รู้ถึงวิธีการทำสัญญา ทำให้เสียเปรียบและประสบปัญหาหนี้สินกับกลุ่มทุนและสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อมาลงทุน จึงต้องมีหน่วยงานกลางซึ่งควรเป็นภาครัฐทำหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลการทำสัญญาให้เป็นธรรม เนื่องจากรูปแบบสัญญาแบบเดิม เกษตรกรเสียเปรียบและแบกรับภาระต้นทุนการผลิตครึ่งหนึ่งแทนกลุ่มทุน จึงควรเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาสัญญาให้เป็นไปในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มทุนกับเกษตรกร โดยให้ประเมินราคาทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรมีเป็นทุนของเกษตรกร วัตถุดิบต่างๆ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เทคโนโลยี การบริหาร การตลาด ตลอดจนปัจจัยการผลิตที่เป็นของกลุ่มทุนให้ประเมินราคาเป็นทุน และให้แบ่งส่วนรายได้ตามสัดส่วนของทุนแต่ละฝ่ายอย่างเป็นธรรม 2) ตามข้อเสนอปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ข้อที่ 3) ว่าด้วยเรื่อง การเข้าถึงและการคุ้มครองสิทธิและโอกาสของเกษตรกร ข้อย่อย ข้อที่ 3.2 เกษตรกรในระบบพันธสัญญา ซึ่งกล่าวว่าโดยพฤตินัยยังมีเกษตรพันธสัญญาจำนวนมากที่ทำกันแบบปากเปล่าไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เป็นช่องทางให้บริษัทธุรกิจการเกษตรที่ไร้ธรรมาภิบาลฉวยโอกาสขูดรีดเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรได้โดยง่าย จึงมีข้อเสนอให้รัฐ 3.2.1 เตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรพันธสัญญาให้มีความพร้อม ด้วยการจัดระบบการให้ความรู้ความเข้าใจในพันธสัญญาด้วยวิธีการต่างๆ เช่นฝึกอบรม ทำคู่มือให้ศึกษา มีโทรศัพท์สายด่วนให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรอย่างพอเพียงก่อนที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา 3.2.2 ปรับปรุงแก้ไขพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรม ด้วยหลักปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้ - \"ความเป็นหุ้นส่วน\" โดยบริษัทผู้ประกอบการและเกษตรกรร่วมกันทำข้อตกลง ร่วมกันรับความเสี่ยงอย่างเท่าเทียมกัน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม\" - \"ความโปร่งใส\" โดยให้มีตัวแทนหน่วยงานของรัฐและองค์กรท้องถิ่น หรือองค์กรที่เกษตรกรเห็นสมควร ร่วมเป็นพยานรับรู้ในการทำพันธสัญญา และเกษตรกรถือสัญญาคู่ฉบับไว้ด้วย 3.2.3 พัฒนาระบบการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามพันธสัญญา - ให้มีการจดทะเบียนบริษัทผู้ประกอบการเกษตรพันธสัญญา และแจ้งรายการทำพันธสัญญากับหน่วยงานด้านยุติธรรม - ให้มีหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางของรัฐดูแลตรวจสอบการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญาที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพโดยหน่วยงานด้านยุติธรรมและกลุ่มองค์กรเกษตรกร - ศึกษาวิจัยข้อมูลห่วงโซ่ต้นทุนและกำไรเพื่อการกำหนดต้นทุนการผลิต ราคารับซื้อผลผลิต และราคาขายที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกร บริษัท พ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภค 3.2.4 พัฒนากลไกทางกฎหมาย - จัดตั้งกลไกกลางระดับชาติ เพื่อไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกรพันธสัญญา ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่เสียเปรียบ หรือต้องการออกจากระบบพันธสัญญา - ศึกษาและพัฒนาระบบกฎหมายเพื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกร บริษัทและภาคีอื่นๆ ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรม เสนอไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม 2555 (นายสากล จินะกาศดี) ประธานเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ) (นายปภาวิน มิ่งขวัญ) รองประธานเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ) (นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง) เลขานุการเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ)"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท