Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ครม.รัฐบาลปู อนุมัติงบ 2,000 ล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคนเสื้อแดง อ้างว่าช่วยทุกกลุ่มทุกสี เฉลี่ยรวมรายละ 7.75 ล้าน ฝ่ายค้าน รมว.ยุติธรรมเงา ถาวร พรรคประชาธิปัตย์ ร้องรัฐบาลทบทวนการจ่ายเงินเยียวยาชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 47 “อภิสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายค้าน ปชป. ข้องใจนำภาษีจ่ายเยียวยาคนเผาเมือง” “เฉลิม รองนายกฯ ชงจ่ายเยียวยา 3 จว.ใต้ ปัดให้แต่เสื้อแดง” นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวออนไลน์ เพื่อประชาชน หรือ เพื่อคนของตน หรือ แค่“เล่น”การเมือง หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการประสานงานและติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธาน ให้ชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนปี 49 ถึง 53 วงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือจะได้รับการเยียวยาสูงสุดรวมรายละ 7.75 ล้านบาท ถือว่าเป็นการเยียวยาจิตใจประชาชนคนไทยของรัฐบาลปู 1 ที่สามารถสร้างคะแนนเสียงต่อคนเสื้อแดงให้พุ่งสูงขึ้นได้ในพริบตา แต่ในประเทศที่ถูกเรียกว่า “ไทย” ไม่ได้มีเพียงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์รัฐประหาร และการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง เท่านี้ การตัดสินใจให้ความช่วยเหลือชดเชยในครั้งนี้ ไม่ได้มองออกไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองหลวง พื้นที่ชายแดน ความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน มีมากมายหลายเท่า ซึ่งชีวิตของวีรชนที่ถูกสละวิญญาณออกจากร่างทิ้งไว้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นับหลายพันคน เพียงพริบตาเดียวเช่นกันคะแนนเสียงรัฐบาลปู 1 ก็ตกลง การมอบเงินหลักล้านแก่ผู้ที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่อ้างว่าจากเหตุการณ์ชุมนุมเหลือง-แดง รัฐบาลไม่สามารถควบคุมความคิดของประชาชนได้ว่า เงิน 7.75 ล้านบาท ว่าเป็นการปูนบำเหน็จแก่คนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยจนสามารถจัดตั้งรัฐบาล สังเกตได้จากการออกมาให้ข่าวของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ที่ออกมาเรียกร้องเงินเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตเป็นประเด็นที่พูดกันมาในช่วงของการหาเสียงพรรคเพื่อไทยก็ได้เปิดประเด็นและพูดถึงในเรื่องเอาไว้เช่นกัน มันเป็นเหมือนกับการสัญญา ซึ่งเป็นการคุยกันกับบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรค แต่ไม่ได้เป็นนโยบายที่ครอบคลุมทั่วทุกกลุ่มสี และพื้นที่ขัดแย้งทางการเมือง สอดคล้องกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. ที่ออกมากล่าวถึง เรื่องเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ทางพรรคเพื่อไทยเคยคุยกันตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 10 ล้านบาท 2 แกนนำ นปช. ออกมาพูดบนผลประโยชน์ของคนเสื้อแดงถือเป็นผู้มีบุญคุณต่อแกนนำคนเสื้อแดงที่สามารถเข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติ และพรรคเพื่อไทยให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลและกุมเสียงข้างมากในสภาได้อีกด้วย แต่ยังไม่ทันข้ามวันของการแถลงทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีเงา ก.ยุติธรรม กล่าวในประเด็นที่มติครม.ปู อนุมัติชดเชยเงินเยียวยา2,000 ล้านบาท ว่า เป็นการกำหนดกรอบไว้เฉพาะแก่ผู้ชุมนุมปี 47 เป็นต้นมา ถาวร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเงินเยียวยาแก่เหยื่อความรุนแรงจากเหตุการณ์ใต้ตั้งแต่ปี 47 ที่มีการเสียชีวิตจำนวนมากในสมัยรัฐบาลทักษิณอีกด้วย เช่นเดียวกับ หัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มองประเด็นนี้ว่ารัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนว่าเหยื่อที่จะได้รับการเยียวยาจากนโยบายของรัฐบาล หากเป็นการเยียวยาเหยื่อทางการเมืองแล้วอีก 5,000 ชีวิตจากเหตุการณ์ชายแดนใต้ รวมทั้ง 2,000 ศพจากการฆ่าตัดตอนยาเสพติด ต้องให้เกิดความเสมอภาคกันทุกกลุ่มกรณี จะให้นำเงินภาษีประชาชนไปจ่ายแจกแก่กลุ่มคนบางกลุ่มไม่ได้ สงครามน้ำลายในการเล่นเกมการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ เป็นการนำเอาความสูญเสียของประชาชนทั้งที่มีเชื้อชาติ ศาสนาที่ต่างและคล้ายกัน เป็นการเดินเกมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มคะแนนเสียง และก็เป็นเครื่องมือในการลบภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายได้อีกด้วย การลงมติของครม. เพื่อช่วยเหลือเยียวยา จ่ายค่าชดเชย ค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล และค่าอื่นๆรวมรายละ 7.75 ล้านบาท เห็นได้ชัดถึงให้ความช่วยเหลือที่มีมาตรฐานที่ต่างกัน หรือที่ได้ยินกันบ่อยคือ “2 มาตรฐาน” ระหว่างเหตุการณ์ชุมชนของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่เกิดการสูญเสียต่อประชาชนผู้ร่วมชุมนุม และประชาชนบริเวณโดยรอบของสถานที่ชุมนุม ร้านค้า บ้านเรือน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โครงสร้างทางสังคม สภาพจิตใจ เหตุการณ์จากทั้งสองกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นความคิดเห็นต่างทางด้านการเมือง และถือว่าส่วนใหญ่เป็นคน “ไทย” ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือจึงเป็นการมอบสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่ส่งผลให้ตนได้สามารถยืนเด่นในฐานะนักการเมือง รัฐมนตรีได้เท่านั้น แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่ “พวกเดี่ยวกัน” คงต้องรอส่วนที่เหลือจากอภิสิทธิ์ชนเสียก่อน สำหรับเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อนต่อเกมการเมือง ที่ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยเป็นคนเชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาที่ต่างกันกับคนส่วนใหญ่และรัฐบาลจากส่วนกลาง ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เชื้อสายมลายู รวมทั้งคนไทยจากนอกพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิม ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่แห่งนี้ถือได้ว่ามีระเบียบของการช่วยเหลือเป็นต้นฉบับสำหรับการเยียวยากรณีอื่นในประเทศไทย แต่หลังการออกมาแถลงมติของครม.ที่มีการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้มากกว่าสองเท่ากับการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นการย้ำการแบ่งระดับชั้นของ“รัฐไทย” ไม่ว่าจะมีใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม การมองเห็นความต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง และปัจจัยอื่น เป็นตัวชี้วัดการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนา การเยียวยา และในด้านอื่นๆ และการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อมติครม.รัฐบาลปู ของสองแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามนำประเด็นการเยียวยาคนเสื้อแดง เชื่อมกับการเยียวยากรณีเหตุการณ์ใต้ เป็นเกมการเมืองที่สลับสับเปลี่ยนการเล่นมาตลอด พรรคใดเป็นรัฐบาลอีกฝ่ายจะหยิบยกประเด็นชายแดนใต้ขึ้นมาโจมตี เมื่อตนมีคะแนนมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะถูกอีกฝ่ายกล่าวหาในประเด็นเดียวกัน แต่สิ่งที่ตนเองได้พูดในสมัยที่เป็นฝ่ายค้านกลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติแต่อย่างใดเมื่อได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ใช่เพียงความจริงใจในกรณีของการจ่ายเงินเยียวยาเท่านั้น ที่ทั้ง “รัฐไทย” และ “รัฐบาลไทย” สามารถแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มลายูเท่านั้น การยอมรับในความคิดเห็นต่างทางการเมือง ความต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา ถือเป็นการเยียวยาความเข้าใจของรัฐไทยต่อชาวมลายูในพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถยุติ เหตุร้าย ความสูญเสีย เด็กกำพร้า หญิงหม้าย ผู้ต้องสงสัย จำเลย และการคอรัปชั่นในโครงการของรัฐเองได้อีกด้วย แต่เกมที่รัฐบาลปู พยายามลดกระแสการออกมาวิจารณ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาคนเสื้อแดง คือ การออกมาประกาศให้วันตรุษจีน เป็นวันหยุดราชการประจำปีสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีประชากรเชื้อสายจีนอยู่จำนวนหนึ่งแต่น้อยกว่าชาวมลายูที่เป็นคนส่วนมาก และชาวไทยที่รองลงมา ถือว่าเป็นการมองเห็นความสำคัญในความต่างทางด้านเชื้อชาติของรัฐบาลชุดนี้ แต่การเรียกร้องให้มีการปิดในวันสำคัญทางวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เคยมีการยื่นเสนอต่อรัฐบาลหลายรัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลทักษิณอีกด้วย แต่ข้อเรียกร้องของคนส่วนมากในพื้นที่ที่มีความต่างในหลายๆด้าน ได้รับการตอบรับน้อยและช้ามาก แต่สำหรับกลุ่มคนที่สามารถให้ผลประโยชน์แก่รัฐได้ รวมทั้งมีความเชื่อและเหมือนกันหลายๆด้านแล้วย่อมได้รับการตอบรับที่เร็วกว่า การมองเห็นความสำคัญของวันสำคัญๆทางวัฒนธรรมของคนมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้ว่าจะประกาศให้เป็นวันหยุดหรือไม่ และการมองเห็นความคิดเห็นที่ต่างทางด้านการเมืองการปกครอง หรือ ระบอบการปกครอง ที่เป็นแนวคิดที่สันติ หรือ รุนแรง รัฐจำเป็นที่ต้องเปิดพื้นที่การยอมรับในใจตนเอง(ผู้ปกครอง)เสียก่อนว่า มีแนวคิดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง และพื้นที่เวทีทางการเมือง หรือเวทีพูดคุย เจรจากับกลุ่มแกนนำตัวจริงของขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ก็จะเกิดขึ้นตามมา จะส่งผลให้การทิ้งงบประมาณลงมาไม่สิ้นเปลืองหรือศูนย์เปล่า และไม่จำเป็นที่ต้องทุ่มเงินเยียวยาเพื่อพวกพ้องให้เกิดปัญหาตามมาจนเกิดเป็นเกมการเมืองสาดน้ำลายใส่กันเกิดขึ้น การเยียวยาสังคมด้วยความจริงใจ และยอมรับ คือ จิ๊กซอว์หนึ่งที่จะต่อให้เห็นคำว่า “สันติภาพ” ในพื้นที่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net